ค้นหาความจริง (ที่อาจไม่มีจริง) ในผลงานของ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’

9 กรกฎาคม 2019 | by salmonbooks

เรื่อง: ธีรภัทร์ เจนใจ


ความจริงแรกที่เราอยากบอกก่อนเข้าสู่บทสัมภาษณ์คือ ในทีแรกเราตั้งใจจะไปพูดคุยกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับ นักเขียนบท ถึงที่มาที่ไปของ โซทรู้ธ หนังสือที่ดูซับซ้อนทั้งเนื้อหาและการออกแบบที่สุดเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์แซลมอน และถือโอกาสพูดคุยถึงผลงานภาพยนตร์ชิ้นล่าสุดของเขา โดยใช้ ‘ความจริง’ คำที่ผู้คนมักจะแปะป้ายเรียกสิ่งที่สะท้อนออกมาจากผลงานของคงเดช เป็นประเด็นหลักเชื่อมโยงผลงานทั้งสองชิ้นเข้าไว้ด้วยกัน

ความจริงถัดมาเกิดขึ้นในวันที่เราไปพบคงเดช… เขาไม่ได้อยู่คนเดียว วันนั้นเราพบ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ และ มิวสิค—แพรวา สุธรรมพงษ์ สองไอดอลสาวจากวง BNK48 ผู้เป็นนักแสดงนำในเรื่องด้วย เธอทั้งสองถูกนัดมาให้สัมภาษณ์กับสื่อเจ้าอื่นๆ ก่อนหน้า แต่เมื่อคงเดชชวนให้เข้าร่วมวงสนทนาด้วย พวกเธอก็ไม่ปฏิเสธ และแน่นอนว่าเราเองก็ไม่ปฏิเสธโอกาสดีๆ ที่จะได้ทำความรู้จักพวกเธอในอีกมุมหนึ่ง

ความจริงข้อที่สาม คือบทสัมภาษณ์นี้ถูกแบ่งครึ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกว่าด้วยความจริงเกี่ยวกับภาพยนตร์ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ส่วนที่สองพูดคุยถึง โซทรู้ธ หนังสือที่ชวนตั้งคำถามกับสิ่งที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ว่ามันมีความจริงอยู่ในนั้นบ้างหรือเปล่า ซึ่งทั้งสองส่วนเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่เราก็คิดว่าคุณจะยังคงอ่านและทำความเข้าใจได้

ความจริงข้อสุดท้าย คือสิ่งที่คงเดชพูดไว้ในตอนหนึ่งของการสนทนาว่า “อย่าเอาจริงเอาจังกับมัน (ความจริง) นักเลย เพราะมันเป็นเรื่องที่มีสาระพอๆ กับไร้สาระ” ฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องสนใจ กระทั่งเชื่อเรื่องที่เราบอกข้างต้นก็ได้ เพียงอ่านและรับรู้เรื่องราวเบื้องหลังผลงานทั้งสองชิ้นของคงเดชต่อไปนี้อย่างใจเย็นก็พอ

ที่ตรงนั้น…มีอะไรเกิดขึ้น?

เท่าที่ดูจากทีเซอร์และเทรลเลอร์ ประเด็นความสัมพันธ์ของเด็กสาวสองคนค่อนข้างเด่นชัด สนใจอะไรในความสัมพันธ์รูปแบบนี้?

คงเดช: จริงๆ ในหนังมีหลายประเด็นมาก ความสัมพันธ์ของเด็กสาวสองคนเป็นเพียงเรื่องหนึ่งในนั้น หนังเรื่องนี้มันเป็นจักรวาลรอบตัวเด็กสาวที่กำลังจะไปต่างประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จึงได้ทบทวนว่ามีอะไรที่ยังค้างคาอยู่ในชีวิตบ้าง เรื่องครอบครัว ภารกิจ ความสัมพันธ์กับเพื่อน เป็นเหมือนการสำรวจชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่งที่รู้สึกไม่ fit in กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ ไม่ belong และคิดว่าที่ที่กำลังจะไปน่าจะดีขึ้น โดยมีเพื่อนสนิทคอยช่วยเหลือและตระเวนจัดการสะสางเรื่องบางอย่างก่อนจะเดินทาง

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนแบบนี้เป็นเรื่องที่เราสนใจมาสักพัก เราคิดว่าหลายๆ คน…แต่คงพูดไม่ได้ว่าทุกคน น่าจะมีเพื่อนแบบนี้สักคนในชีวิต เพื่อนที่เรารักมันน้อยกว่าที่มันรักเรา เพื่อนสนิทบางคู่น่าจะเคยพบกับเรื่องว่า ความรักที่มีให้กันและกันมันไม่เท่ากัน พอถามใครก็มักจะพบว่าหลายคนมีประสบการณ์ร่วมแบบนี้ อีกอย่างที่สนใจคือ เงื่อนไขอะไรที่ทำให้คนที่สนิทกัน รักกัน เลือกเดินทางชีวิตไปคนละแบบ

แล้วทำไมน้องๆ ทั้งสองคนถึงมา fit in กับหนังเรื่องนี้ได้

คงเดช: โจทย์แรกเริ่มคือเราจะทำหนังร่วมกับทาง BNK48 เราก็ต้องเริ่มมองหาคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวน้องๆ ในวงก่อน เราก็เริ่มแคสต์ ซึ่งตอนที่เจอน้องทั้งสองคน เราก็ไม่ลังเลอีกแล้วว่าจะเอาใครมาเพิ่ม

อะไรที่ทำให้มั่นใจขนาดนั้น?

คงเดช: อื้อหืม… (นิ่งคิด) น้องทั้งคู่มีอินเนอร์ชัด คือวิธีแคสต์ของเราจะเป็นการนั่งคุยกันก่อน คุยเสร็จก็จะโยนสถานการณ์หนึ่งให้เขาลองด้นสดดู เช่น ต้องคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้คุยกันมานาน เราจะไปจากที่นี่แล้วจะบอกเพื่อนยังไง หรือเราจะรั้งเพื่อนที่กำลังจะจากไปยังไง น้องๆ ก็จะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวนั่นแหละในการด้นสดให้เราดู แล้วทั้งคู่มีทัศนคติที่ดีมากๆ สำหรับเรา ดีมากๆ สำหรับเราในที่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นคนอ่อนโยนอะไรอย่างนั้นนะ แต่เป็นทัศนคติที่ดีมากๆ ในฐานะมนุษย์วัยสาวคนหนึ่ง โคตรดีเลย สองคนนี้แหละตอบโจทย์มากๆ

เป็นอย่างไรบ้างกับการเปลี่ยนบทบาทจากคนบนเวทีมาเป็นนักแสดงหนัง

เจนนิษฐ์: เหมือนได้กลับมาเป็นคนปกติ เวลาอยู่บนเวทีเราก็จะมีด้านที่เป็น performer เพื่อที่จะแสดงร้องเต้น ซึ่งมันก็เป็นคนละบุคลิกกับเวลาที่เราอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว ระหว่างการไปออกกองทำให้เราได้กลับมาเป็นตัวเราที่ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้เป็นคนให้ความสุขกับใคร เป็นช่วงเวลาที่ได้วางชีวิตไอดอลทิ้งไปก่อน

มิวสิค: เหมือนกัน เพราะแฟนคลับก็คงจะไม่ได้เห็นเราในมุมนี้ ซึ่งการมาเล่นหนังเรื่องนี้ก็คงจะทำให้แฟนคลับทุกคนได้เห็นภาพเราในมุมปกติที่ไม่ได้เป็นคนบนเวทีบ้าง

ตัวละครที่เล่นเหมือนหรือต่างจากตัวจริงของเราไหม?

เจนนิษฐ์: ค่อนข้างมีความเหมือนตัวเอง คือเป็นคนที่รักตัวเอง ก็รักเพื่อนด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องเลือกรักตัวเองไว้ก่อน จะอธิบายยังไงดี…(นิ่งคิด) มีบางคนในชีวิตจริงของเราที่เสียสละตัวเองมากเหลือเกิน เวลาเห็นแบบนั้น เราจะตั้งคำถามว่า แล้วนี่คุณไม่ห่วงตัวเองบ้างเหรอ คุณรักตัวเองบ้างก็ได้นะ

คงเดช: ชอบคำตอบมาก (หัวเราะ)

มิวสิค: เราชอบที่ เบลล์ เป็นคนทุ่มสุดตัว โดยเฉพาะเรื่องเพื่อน จนบางทีเราเองยังสงสัยเลยว่าทำไมเบลล์ถึงต้องทุ่มเทขนาดนี้ เบลล์กับเราอาจจะไม่ได้มีคาแรคเตอร์ที่ตรงกันเท่าไหร่ แต่การได้สวมบทบาทเบลล์มันกลับเพิ่มความกล้าให้เรา เพราะบางเหตุการณ์ ถ้าเป็นมิวสิคก็คงไม่กล้าเข้าไปช่วยเพื่อนได้มากขนาดนั้น พอเราได้สวมบทบาทและเล่นในสถานการณ์บางอย่าง ก็รู้สึกอยากมีความกล้าแบบนั้นบ้าง

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดระหว่างการถ่ายทำ

เจนนิษฐ์: ของมิวสิคน่าจะเป็นเรื่องนอน (หัวเราะ) มิวสิคนอนตลอดเวลา จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับเรา เพราะเวลาเดินทางไปออกงานกับ BNK48 มิวสิคก็เป็นคนเดียวที่หลับตลอดทาง คอหักตลอด

มิวสิค​: ขนาดว่าเราไม่ค่อยเจอคิวถ่ายในช่วงเช้าหรือดึกด้วยนะ เป็นเจนนิษฐ์มากกว่าที่มักจะเจอคิวถ่ายช่วงเช้าๆ แต่หนูเป็นคนเดียวที่หลับในฉาก แอบงีบระหว่างที่พี่ๆ เขากำลังเซ็ตอยู่ แล้วมันเป็นฉากที่เราต้องเป็นคนพูดก่อน

คงเดช​: พอเราสั่งแอคชั่นปุ๊ป… เฮ้ยๆ ทำไมมันเงียบวะ (หัวเราะ)

มิวสิค: แล้วมุมที่เจนนิษฐ์ยืน กล้องมองไม่เห็น เราก็เลยโดนเจนนิษฐ์เอามือมาทุบปั้กๆ (หัวเราะ) ช่วงนั้นก็ต้องพยายามตั้งสติดีๆ อีกเรื่องที่ยากและกังวลก็คงเป็นเรื่องบท เพราะตัวละครที่เล่นมีบางอย่างที่ต้องทำได้ เช่น เล่นกีต้าร์ ขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน ก็ต้องฝึก พยายามทำให้เหมือนกับว่าเราทำสิ่งนี้ได้อยู่แล้ว ก็เลยมีเครียดบ้าง แต่ฉากขี่มอเตอร์ไซค์ก็แอบคิดว่าเจนนิษฐ์น่าจะเก่งกว่า เพราะต้องซ้อนแล้วทำหน้านิ่งๆ แบบไม่กลัวตก (หัวเราะ)

คงเดช: คือเราก็ไม่ได้มีเวลาให้ซ้อมเท่าไหร่ น้องมีงานเยอะกันอยู่แล้ว เวลาที่เราเคยคิดวางแผนว่าจะให้น้องมาทำเวิร์คช็อปก็เลยเหลือน้อย เราก็ต้องจัดคอร์สเร่งรัดภายในไม่กี่วันก่อนถ่าย

ดูเหมือนว่า ‘เช็กลิสต์’ จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้ แล้วถ้ากลับมาสำรวจเช็กลิสต์ในชีวิตจริง ตอนนี้มีอะไรที่อยากทำบ้าง

มิวสิค: อยากทำอะไรอีกเยอะมาก อยากลองไปต่างประเทศคนเดียวด้วย อยากลองทำคลิป vlog พาไปเที่ยวในแบบของเรา แต่ก็ยังไม่พร้อม เช่นเราอยากไปเที่ยวโซนยุโรปมากๆ ซึ่งถ้าจะไปก็ต้องมีเวลาสัก 15 วันถึงจะคุ้ม แต่เราก็ยังติดงาน มีเวลาว่างก็ใช้พักผ่อนมากกว่า

เจนนิษฐ์: มีหลายเรื่องมากเลย แต่ยังทำไม่ได้ เพราะยังโตไม่พอที่จะทำ การไปเที่ยวรอบโลกก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยากทำ และเชื่อว่าใครๆ ก็อยากทำ

คงเดช: แต่คนโตๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะไปเที่ยวรอบโลกได้ทุกคนนะ

เจนนิษฐ์: ใช่ๆ แต่ก็ยังอยากไปอยู่ดี อยากไปในที่ที่คนไม่ค่อยไปกัน อยากเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมส์ด้วย บัันจี้จัมพ์ พาราชู้ต แล้วก็อยากเปิดธุรกิจอะไรสักอย่าง

แล้วถ้าพบว่าเราไม่สามารถจัดการเช็กลิสต์ได้สำเร็จทุกข้อ เราจะดีลกับตัวเองยังไง

เจนนิษฐ์: ช่างมัน มันทำอะไรไม่ได้แล้ว เราไปเสียเวลากับเรื่องแบบนี้ ชีวิตจะไม่มีความสุข มัวแต่ยึดติด ไม่ได้ทำอย่างอื่นพอดี

มิวสิค: เราเรียกมันว่าสิ่งที่อยากจะทำมากกว่า ในชีวิตเราคงไม่มีอะไรเป็นอย่างใจหวังทุกเรื่อง อยากทำ แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่ามันจะสำเร็จทุกเรื่อง ทำให้ดีที่สุดในแบบฉบับของเรา อะไรที่ทำไม่ได้ก็ปล่อย ละเว้นมันไปดีกว่า อย่ายึดติดกับมันมาก

คงเดช: เอาเข้าจริงเราค้นพบว่า การพบว่าตัวเองทำไม่ได้ก็เป็นการเรียนรู้ชนิดหนึ่ง ต้องเรียนรู้ว่าเราทำไม่ได้ทุกอย่าง

ค้นพบอะไรบ้างจากการทำงานน้องๆ

คงเดช: เราไม่ได้ติดตาม BNK48 แบบเป็นจริงเป็นจังมาก่อน แต่ก็เห็นอยู่ตลอดนะ เห็นแบบที่ไม่ได้จำชื่อใคร เพราะมีเยอะเกิน น้องบางคนที่ออกสื่อให้เห็นบ่อยๆ ก็จะพอจำหน้าได้ เจนนิษฐ์กับมิวสิคก็เป็นหนึ่งในคนที่เราจำหน้าได้ แต่ก็รู้จักแค่นั้น ไม่ได้มี perception อะไร แต่พอเราเจอน้องที่เป็นตัวจริงๆ เราพบว่า… คือเราไม่ได้คาดหวังอะไรก่อนหน้าที่จะเจอกัน ไม่ได้มีภาพอะไร เราไม่ได้เจอน้องตอนที่อยู่บนเวที เรามาเจอตัวจริงๆ เลย เด็กอายุสิบแปดที่กำลังเผชิญชีวิตต่างๆ ถ้าถามว่าค้นพบอะไรจากการทำงานกับน้องๆ ก็ต้องตอบว่าเราค้นพบตั้งแต่วันแรกที่เจอกันเลยว่า เด็กสองคนนี้มีของ มีอินเนอร์ที่ดี ขบถกว่าที่คิด …เออว่ะ มันไม่เหมือนภาพรวมทั้งวงที่เราเคยเห็น จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่สองคนนี้ น้องๆ คนอื่นในวงที่เราเคยเจอตอนแคสต์ก็เหมือนกัน เราพบว่า นี่ก็เด็กผู้หญิงธรรมดาๆ นี่แหละ ไม่ได้เป็นอะไรหรอก บางทีภาพที่เคยเห็นมันก็เป็นภาพที่คนข้างนอกมาจัดวางให้

ในความเป็นจริงแล้วมีความจริงอยู่จริงๆ หรือเปล่า?

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ โซทรู้ธ

เริ่มต้นจากกาย (ปฎิกาล ภาคกาย—บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน) มาสัมภาษณ์เรา หลังจากสัมภาษณ์ก็ถามเราว่ามีเรื่องที่สนใจอยากเอามาเขียนเป็นหนังสือไหม เราก็ยังก้ำๆ กึ่งๆ ไม่แน่ใจว่าจะเขียนอะไรดี น่าจะช่วงกลางปี 2560 เราเริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ อาจจะเป็นเพราะว่าตอนนั้นเราเห็นคนตั้งคำถามกับความจริง หรือมีปัญหา หรือเชื่อกับทุกอย่างง่ายไปหมด ก็คือคนจำนวนมากเริ่มมีปัญหากับความจริงในสังคม ช่วงนั้นเราก็ทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่เล่นกับความจริงอยู่หลายแบบ พบว่าเรามีวัตถุดิบที่จะเขียนพอสมควร ก็เลยโทรไปหากาย เสนอว่าจะเขียนเรื่องนี้ กายเห็นว่าน่าจะสนุกดี ก็เลยเริ่มเขียน

ทำไมถึงเลือกที่จะเล่าประเด็นความจริงผ่านรูปแบบงานสื่อประเภทต่างๆ

เพราะเราว่าตอนนี้ทุกคนมีชีวิตที่ถูกล้อมด้วยสื่อ แล้วทุกคนก็เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายกับสิ่งที่ปรากฎให้เห็นค่อนข้างมาก ว่ามันจริงหรือไม่จริง เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ บางทีเห็นข้อมูลสองด้านแต่ก็ยังจะเลือกเชื่อฝั่งนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันมีอะไรให้เล่นเยอะมาก คือเราไม่จำเป็นต้องโกหกเลย แต่มันก็ไม่ใช่ความจริง มันมีหลายมิติที่น่าสนใจมากๆ พอเราวางโครงสร้าง ดูว่ามีความจริงในมุมไหนบ้างที่อยากเล่า ก็ได้ประมาณ 16-17 บท แต่บางบทคล้ายๆ กันเลยคัดทิ้ง คือเราพยายามเลือกความจริงที่ปะทะกับทุกคนในทุกๆ วัน คัดไปคัดมาก็เหลือ 11 บท แต่ก็แค่ถ่ายทอดออกมาเฉยๆ ไม่พยายามชี้นำ ไม่ตัดสิน โอเคว่ามันอาจจะมีโทนการเขียนที่เสียดสีบ้าง แต่ประเด็นที่อยากบอกก็คือ มึงอย่าไปเอาจริงเอาจังกับมันมาก เพราะมันเป็นเรื่องที่มีสาระพอๆ กับไร้สาระ เราเองก็เคยจริงจังกับการหาคำตอบเรื่องต่างๆ แล้วบางครั้งก็พบว่า แม่งไร้สาระฉิบเป๋งเลย (หัวเราะ)

ตั้งใจสื่อสารกับคนทำสื่อด้วยหรือเปล่า

ไม่นะ เราคิดถึงผู้ชมทั่วไปมากกว่า ถ้าย้อนกลับไปที่คำถามว่าเราเริ่มต้นเรื่องนี้ยังไง ก็อาจจะเป็นตอนที่กายมาสัมภาษณ์เราลงสื่อเมื่อสองปีก่อน เรานั่งอ่านบทสัมภาษณ์ของตัวเองตอนที่มันเผยแพร่แล้ว เราค้นพบว่า เชี่ย ที่กูตอบไปมันไม่ใช่เรื่องจริง คือมันมีเรื่องจริงอยู่ แต่มันก็ปรุงแต่ง ถามว่าที่เราตอบไปเราโกหกเหรอ ก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นความจริงเหรอ มันก็ไม่ใช่ความจริงเว้ย ประโยคนี้มันถูกอีดิตปรับแต่งโดยคนสัมภาษณ์ด้วย การอีดิตก็ไม่ใช่ความจริงแล้วหรือเปล่า มันเลยจุดประกายว่า แม้แต่สิ่งที่เราตอบไปเองแท้ๆ หรือแม้แต่ที่เรากำลังคุยกันอยู่ตอนนี้ ท้ายที่สุดมันก็จะถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฉะนั้นอย่ายึดถืออะไรนักหนาเลย หากคุณได้ดูคลิปหรือบทสัมภาษณ์จากที่ไหนๆ ก็แค่ใจเย็นๆ

คือเอาเข้าจริงๆ เราก็เป็นคนทำงานสื่อด้วยเหมือนกัน อย่างบทแรกในหนังสือ เราก็เคยอยู่ในฐานะผู้ให้สัมภาษณ์ บทสองที่ว่าด้วยการทำหนังโฆษณาไวรัลแบบเรียลสุดๆ ซึ่งสุดท้ายก็โดนปรุงแต่ง แต่คนที่ดูก็จะบอกว่าเรียลสัสๆ เราก็เคยทำ เราว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำเพื่อไปบอกอะไรคนทำสื่อหรอก เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครที่สามารถทำให้มันเป็นเรื่องจริงล้วนๆ และธรรมชาติของมนุษย์ก็ต้องการการปรุงแต่งสักเล็กน้อย ถ้าเป็นคนทำสื่อมาอ่านก็คงจะมีสะดุ้งกันบ้าง แต่เราว่าผู้ชมที่มาอ่านก็น่าจะสะดุ้งเหมือนกันตรงที่ว่า เฮ้ย ถ้ามันเป็นแบบนี้เราก็ควรใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบเชื่อ

การเล่าความจริงเพียวๆ มันยากเหรอ?

เราว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบการปรุงแต่ง ชอบใส่จินตนาการเข้าไป หรือชอบการรับรู้สิ่งใดๆ แบบมีรสชาติ เราไม่สามารถรับรู้แบบรับรู้ตรงๆ รับรู้ข้อมูลเพียวๆ แบบเครื่องจักรที่ใช้การป้อนข้อมูล เราเป็นสิ่งมีชีวิต การปรุงแต่ง การมีจินตนาการอาจจะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เราแตกต่างจากหุ่นยนต์ และคุณสมบัติแบบนี้เองที่ทำให้เราไม่สามารถไปสัมผัสความจริงจริงๆ ได้

แล้วทำไมชิ้นงานที่บอกว่าสร้างขึ้นจากเรื่องจริง หรือรายการเรียลลิตี้ ถึงประสบความสำเร็จ

คนกระหายคำว่าความจริง กระหายคำว่า authentic ความจริงแท้ รู้สึกว่ามันมีคุณค่ากว่าของปลอม แต่ว่ามันไม่มีสิ่งนั้นอยู่จริง เราก็เลยโหยหา

ระหว่างเขียนหนังสือกับเขียนบท เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จริงๆ เราก็ชอบเขียนหนังสือนะ อยากจะเขียนเป็นจริงเป็นจังมาโดยตลอด แต่การทำหนังแม่งเหนื่อย แม่งแพง ต้องวุ่นกับคนเยอะ มันก็มีปัจจัยเหล่านี้ที่ทำให้เราไม่สามารถเขียนได้ตลอด เวลาเขียนบทหรือเขียนหนังสือเราจะสร้างโลกของเราขึ้นมา แล้วนั่งทำงานเงียบๆ คนเดียว เวลาเจออะไรบางอย่างระหว่างทางในการเขียน ได้ค้นพบความสุข หรือสถานการณ์อะไรบางอย่างของตัวละคร แม้ว่าเราจะเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเองก็เถอะ แต่พอเราได้เจอ รู้สึกว่ามันเวิร์ค สิ่งเหล่านี้มันทำให้ชีวิตของเราโอเคขึ้น ดังนั้นหมายความว่า สำหรับเรามันเป็นการแวะมาเขียนหนังสือ เป็นการพักผ่อน เป็นรางวัลชีวิต

ในฐานะที่เป็นคนทำสื่อประเภทเรื่องแต่ง ความจริงสำคัญหรือมีบทบาทขนาดไหน

เรามองว่ามันเป็นเรื่องแต่งเสมอนะ แต่เราใช้มันเป็นเครื่องมือในการสะท้อนบางสิ่งที่เกิดขึ้น เวลาใครบอกว่าหนังของพี่แม่งโคตรเรียล เราก็จะรู้สึกว่านี่กูเรียลแล้วเหรอ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เรียลหรอก เราแค่นำเสนอโลกในมุมมองของเรา เพียงแต่เราค่อนข้างจะ concern กับปัจจัยบางอย่าง ตัวละครของเราไม่สามารถรักกันโดยไม่คิดถึงเงินในกระเป๋า ถ้าตัวละครของเราจะไปง้อกันก็ต้องไปด้วยยานพาหนะใดๆ ที่เหมาะสมกับรายได้รายจ่ายด้วย คือเราแค่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่เราเผชิญ แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่จริง

มีเรื่องไหนที่สนใจอยากเอามาเขียนอีกบ้าง?

จริงๆ มีเยอะมาก เวลาเราเจอเรื่องอะไรน่าสนใจก็จดเก็บไว้ แต่ถ้าไอเดียพวกนี้ยังไม่รบกวนจิตใจเรามากพอ เราก็จะยังไม่ทำ แต่ถ้ามันรบกวน เราต้องทำมันให้เสร็จ จะได้ปลดล็อก

เลือกยังไงว่าไอเดียไหนจะเอามาทำหนังหรือเขียนหนังสือ เรื่องไหนทำหรือไม่ทำ

พูดยาก เพราะทุกวันนี้เรายังเป็นคนทำหนังอยู่ คนเข้ามาหาเราก็มักจะเป็นเรื่องการทำหนังมากกว่า แต่เวลาเรามีไอเดียเราจะรู้ด้วยตัวเองว่าอันนี้เขียนหนังสือหรือทำหนัง ก็จะจดเก็บไว้ก่อน จนกว่ามันจะรบกวนจิตใจ บางทีจดทิ้งไว้นานมาก กลับมาเปิดดู เอ้ย ดีมากเลย แต่มันเลยเวลาไปแล้ว คือมันไม่ใช่ช่วงชีวิตที่เราสนใจเรื่องนั้นแล้ว หนังใช้เวลาทำเป็นปีๆ เราก็ต้องอยู่กับเรื่องที่เราพร้อมจะหมกมุ่นได้ บางเรื่องเราเองก็รู้สึกว่ามันง่ายเกินไป ไม่มีอะไร ก็จะสงสัยว่าเราจะอยู่กับมันได้เป็นปีเลยเหรอวะ แต่พูดจริงๆ มึงก็ไม่ควรคิดแบบนี้นะ อันนี้บอกตัวเอง มึงไม่ต้องคิดมากบ้างก็ได้ ทำหนังรอมคอมบ้าง ขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ก็พอ มึงไม่ต้องไปสำรวจอะไรมากก็ได้ ชีวิตมึงยังไม่หนักหนาพออีกเหรอ แต่มันอดไม่ได้ว่ะ น่าจะเป็นกรรมของเรา

คิดว่า โซทรู้ธ เอามาทำเป็นหนังได้ไหม?

ที่เห็นชัดที่สุดและดูจะเป็นบทหนังที่สุด คงจะเป็นบทที่ 10 ‘Our own truth’ บทนั้นเราเขียนขึ้นตอนที่หมาของเราเพิ่งตายใหม่ๆ แล้วเราคิดว่าบางทีการตายก็เป็นความจริงอย่างหนึ่งในชีวิต เราก็อุทิศบทนั้นให้หมาของเราที่ตายไป ซึ่งบทนั้นน่าจะมีความเป็นหนังที่สุดแล้ว บทอื่นมันคงยากไปหน่อย อย่างเช่นบทที่ 6 ‘ความจริงเสมือน’ ที่เป็นเรื่องแบบสอบถามร้านเป็ดย่าง อันนั้นคงยากไป

ยังมีเรื่องไหนอีกไหมที่ยังคงอยากรู้ความจริง

เอาเข้าจริงๆ พอเขียน โซทรู้ธ จบ มันทำให้เรากลายเป็นคนไม่อยากรู้ความจริงอะไรอีกแล้ว เหมือนเขียนเอง ถามเอง ตอบเองอยู่ตลอด แล้วก็รู้สึกว่ามันไร้สาระ จริงๆ เราก็ยังมีความคันอยากจะรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม หรืออะไรที่เรากำลังเย้วๆ กันอยู่ตอนนี้ เช่นว่ามนุษย์เราจะปัญญาอ่อนได้ขนาดนี้เชียวหรือ มนุษย์ที่ปัญญาอ่อนจะดูแลบ้านเมือง แล้วเราก็จะปล่อยให้เขาดูแลบ้านเมืองกันจริงๆ เหรอ แต่หลายครั้งความจริงที่เราตั้งคำถาม ถ้าเรารู้แล้วมันจะเจ็บปวดมากกว่า

ขอบคุณรูปภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Where We Belong


Interview

RELATED ARTICLES

VIEW ALL