‘FATHER 1ST TIME’ คุยกับ ‘รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์’ กับการเป็นคุณพ่อมือใหม่ในยุคที่ใครๆ ก็ไม่อยากมีลูก

28 เมษายน 2024 | by salmonbooks

หากพูดเรื่องการมีลูกในวงสนทนา เชื่อว่ามากกว่าครึ่งจะต้องอยู่ทีมไม่อยากมี ซึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ความยังไม่พร้อมส่วนตัว หรือเหตุผลส่วนบุคคลอื่นๆ

แต่หากถามเรื่องนี้กับ ‘บอม—รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์’ นักการเงิน นักวิชาการ นักเขียน และนักแปล เขาจะจับคุณนั่งลงแล้วถามว่ามีเวลาว่างสัก 2-3 นาทีไหม (ไม่ใช่!) 

นอกจากอาชีพหลักของบอมที่เพิ่งบอกไปในย่อหน้าที่แล้ว เขายังพ่วงตำแหน่งคุณพ่อมือใหม่ที่ได้การรับรองจากเจ้าลูกชายวัยกำลังซนมาอีก 1 อัตรา และนักเขียนมือใหม่เจ้าของหนังสือ FATHER AND SUM บันทึกออมรัก ฉบับคุณพ่อนักออมเงิน บันทึกประสบการณ์การเป็นพ่อคนครั้งแรก ซึ่งตอบคำถามว่าทำไมเขาถึงอยากมีลูกในยุคที่ใครๆ ก็ส่ายหัวปฏิเสธ พ่วงมากับการแปล HOW TO MONEY ทำเงินนี้ให้ดีที่สุด ฮาวทูวางแผนการเงินตั้งแต่ขั้นตอนแรก โดยทั้งสองเล่มนี้เพิ่งวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 ที่ผ่านมา

หลังทำภารกิจแจกลายเซ็นที่บูธ Salmon Books K08 เสร็จสิ้น เราก็ชวนบอมมาพูดคุยถึงชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังกลายเป็นคุณพ่อ รวมไปถึงการป้ายยาหนังสือทั้งสองเล่มแบบตรงไปตรงมา ขายจริงจังและจริงใจสุดๆ

I
โตมายังไง

คุณเติบโตมากับครอบครัวแบบไหน

ผมเติบโตมาในครอบครัวราชการ พ่อแม่เป็นข้าราชการทั้งคู่ เลยต้องย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ ตามงานของคุณพ่อซึ่งเป็นผู้พิพากษา 

ผมเกิดที่ราชบุรี อยู่ที่นั่นได้ 6 ปีก็ย้ายไปสงขลา อยู่ได้อีก 2 ปีก็ย้ายไปกาญจนบุรี แล้วก็ย้ายมานครปฐมซึ่งเป็นที่สุดท้ายแล้ว เพราะพ่อไปทำงานในส่วนกลางแล้ว

พอย้ายบ่อยมาก เปลี่ยนโรงเรียนบ่อยมาก เลยรู้สึกว่าจำอะไรไม่ค่อยได้ เพื่อนสมัยเด็กของผมจะตัดสักช่วง ม.ต้น จุดที่ตลกคือพอย้ายหลายจังหวัดก็จะมีสำเนียงของหลายจังหวัดมาผสมกัน

พอจะจำได้ไหมว่าตัวเองตอนเด็กมีพฤติกรรมการใช้เงินแบบไหน

ถ้าตอนเด็ก ต้องเรียกว่าประหยัดตามพ่อ เขาโตมากับครอบครัวคนจีน ต่อให้พอทำงานแล้วจะมีรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ก็ยังเป็นคนประหยัดมาก ผมเลยติดนิสัยว่าถ้ามีเงินเหลือก็ให้เก็บเป็นหลัก

แล้วจากจุดไหนที่ทำให้คุณสนใจเรื่องเงินจนเข้าไปศึกษาต่อด้านนี้ในมหาวิทยาลัย

จริงๆ ตอนเข้ามหาวิทยาลัยผมไม่ได้สนใจเรื่องเงินเลย อยากเป็นผู้พิพากษาเหมือนพ่อ แต่พ่อบอกว่าอย่าไปเรียนเลย มันยากลำบาก กว่าจะสอบได้ ดูถูกลูกตัวเองมาก (หัวเราะ) แล้วส่วนตัวผมไม่อยากเป็นหมอเพราะกลัวเลือด ก็เลยลองไปสอบตรงคณะบัญชีฯ เพราะตอน ม.ปลายเรียนสายวิทย์-คณิตมา

ตอนนั้นมีการสอบ SMART-I เหมือนรับตรงของบัญชีฯ พอไปสอบแล้วได้คะแนนดีก็เลยเอาอันนี้แล้วกัน ซึ่งพ่อก็มองว่าบัญชีฯ เป็นคณะที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะมันเป็นวิชาชีพ ถ้ามีวุฒิบัญชีบัณฑิตก็ไม่อดตาย

แปลว่าตอนเลือกคณะ คุณไม่ได้เลือกด้วยตัวเอง?

ใช่ คือผมเป็นเด็กต่างจังหวัดทั่วๆ ไปเลย ถามว่าตัวเองชอบอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเรียน ชอบอ่านหนังสือ โชคดีว่าตอนไปสอบเข้าคณะบัญชีฯ ได้คะแนนดีระดับที่เข้าได้อันดับ 1 ของคณะ แล้วได้ทุนเรียนฟรีจนถึงปริญญาเอก

ตอนเข้าไปเรียนเหมือนเป็นหลักสูตรใหม่ที่เลือกเรียนได้สองเอก เอกบัญชีมีแต่เพื่อนผู้หญิง ขณะที่เอกการเงินมีเพื่อนผู้ชายเยอะ ผมเลยไปลองเรียนทางนั้นแล้วก็รู้สึกว่าชอบ เรียนได้เหมือนกัน จบมาก็เลยมีสองเอกคือบัญชีบัณฑิตที่เอกบัญชีกับเอกการเงิน

แล้วหลังจากนั้นได้ประกอบอาชีพด้านการเงินต่อไหม

ไม่ได้ทำเลย งานแรกที่ทำคือเจ้าหน้าที่สื่อสารงานอนุรักษ์ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตอนนั้นอยู่ดีๆ ก็อินกับงานเขียนและงานสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีมีเหตุผล ก่อนเรียนจบผมเคยไปสมัครฝึกงานที่นิตยสารสานแสงอรุณ ซึ่งเป็นมูลนิธิในเครือ Plan ซึ่งตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว 

ด้วยความที่องค์กรไม่ได้ใหญ่มาก ฝ่ายสื่อสารมีอยู่สองคนคือผมกับหัวหน้า ดังนั้นจะทำเองหมดเลย ถ่ายรูป เขียน แปล ดูแลเฟซบุ๊ก ตัดวิดีโอ 

ตอนก้าวขาเข้าไปฝั่งงานมูลนิธิ ผมไม่เคยคิดว่าความรู้การเงินและบัญชีที่มีจะสามารถประยุกต์กับตัวงานด้านนั้นได้ แต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนนั้นมีการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์พอดี แล้วมีพาร์ตการเงินที่ไม่มีคนดูแล เขาเลยเรียกเราไปทำ จุดนั้นเลยเห็นช่องว่างว่าความเชี่ยวชาญของตัวเองพอจะช่วยเรื่องพวกนี้ได้

สรุปคืองานชิ้นนั้นกลายเป็นการเปิดตัวผมในฐานะนักวิชาการด้านการเงินได้ยังไงไม่รู้ (หัวเราะ) ผมต้องไปพูดตามเวที หรือตอนสำนักแผนนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมารับฟังความคิดเห็นจากมูลนิธิสืบฯ ผมก็ต้องไปพรีเซนต์ด้านการเงิน มันก็สนุกดี เป็นประสบการณ์ใหม่ ปัจจุบันถ้ามีเรื่องพวกนี้มูลนิธิสืบฯ ก็ยังเรียกตัวผมไปช่วยอยู่

ตอนนั้นที่คุณพ่ออยากให้เรียนการเงินก็เพราะอยากให้ลูกจบมามีวิชาชีพ แล้วไปทำงานมูลนิธิแบบนี้ ไม่โดนวีนเหรอ

วีนสิ (ตอบทันที) คือผมเคยเถียงกับพ่อแม่ไปรอบนึง ตอนนั้นประมาณปี 2 เกิดบ้าคลั่งอยากลาออกไปเรียนคณะวนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่พวกเขาไม่ยอม เพราะเห็นว่าเราเรียนได้แล้วมีเกรดเฉลี่ยเริ่ดหรู เราก็ยอมเรียนให้ จนเรียนจบก็เป็นจุดตัดว่าต่อไปนี้จะไม่ยอมแล้ว หลังจากนี้เราจะทำในสิ่งที่อยากทำ

ผมก็บอกไปตรงๆ ว่านี่เป็นอาชีพสุจริตนะ ไม่ได้ไปทำอะไรไม่ดี เขาก็ยอมแต่ยังแอบคาดหวัง ผมทำงานไปสักพักก็มักจะโดนถามว่าจะเรียนต่อหรือยังๆ เพราะถ้าเรียนจบมาสองปีแล้วไม่ต่อ จะโดนตัดสิทธิ์ทุนไปเลย

ตอนนั้นผมทำงานที่มูลนิธิฯ มาประมาณปีกว่า ผ่านจุดพีกคือเขื่อนแม่วงก์ไปแล้ว ก็รู้สึกว่าอิ่มตัว ไม่ค่อยน่าตื่นเต้น เลยลาออกไปเรียนต่อ

เรียนต่อด้านการเงินเหมือนเดิม?

ใช่ๆ ผมเบนเข็มมาด้านการเงินเต็มตัว เพราะรู้สึกว่ายังมีพื้นที่ให้สำรวจอีกเยอะ ทั้งในแง่งานเขียนและอื่นๆ ขณะที่บัญชีมันค่อนข้างแคบ ซึ่งเข้าใจได้เพราะเป็นวิชาชีพที่เฉพาะทาง

เราเรียนต่อ ป.โทที่ธรรมศาสตร์เหมือนเดิมเพราะเรียนฟรี ค่าเทอมมันแพง (หัวเราะ) แล้วก็ได้เจอแฟนตอนเรียนต่อนี่แหละ เขาจบสถาปัตย์แล้วมาเรียนการเงิน ผมเลยได้ช่วยติว พอดีพวกเรามีแนวคิดคล้ายๆ กัน เป็นคนชิลๆ ไปๆ มาๆ ก็เลยคบแล้วได้แต่งงานกัน

II
เรื่องจริงหลังแต่ง

พอแต่งงานแล้ว คุณวางแผนเรื่องการมีลูกยังไง

หลังจากเรียนจบ ป.โท ผมก็ได้ทำงานที่ธนาคารข้ามชาติ ซึ่งเวลาแย่มาก งานเครียดมาก แต่ค่าตอบแทนสูง ก็คุยกับแฟนว่าถ้าพวกเราจะมีลูก อยากเลี้ยงลูกเอง ผมต้องลาออกจากงาน แล้วมาช่วยธุรกิจที่บ้านของแฟน ตรงนี้เป็นจุดที่เปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน จากทำงานออฟฟิศ ใช้ความเชี่ยวชาญ ต้องออกมาทำงานคลินิกแว่นตาซึ่งไม่มีความรู้เลย

แต่ถ้าผมไม่ออกจากงาน ภาระในการเลี้ยงดูลูกจะตกเป็นของแฟนคนเดียว พอตกลงกันได้ผมก็ลาออกทันที แฟนคงเห็นแล้วว่าผมเอาจริง เขาเลยรู้สึกว่าผมน่าจะดูแลลูกได้ ดูแลเขาได้ เลยยอมมี 

ท่ามกลางปัญหามากมายในโลกใบนี้ ทำไมถึงอยากมีลูก

มันจะมีมุมภายในกับภายนอกเนอะ มุมภายในของผมคือค่อนข้างเห็นแก่ตัวเลย มันจะมีหนังสือสักเล่ม คุ้นๆ ว่าเป็นของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) เขาบอกว่า “ถ้าอยากรู้ว่ารักแบบไม่มีเงื่อนไขเป็นยังไง รู้สึกได้แบบเดียวจากการมีลูก” แล้วผมอยากจะมีประสบการณ์นั้นสักครั้งในชีวิต 

ในมุมข้างนอก ผมคิดว่ายุคสมัยไหนก็มีปัญหาทั้งนั้น มีวิกฤตน้ำมันแพง วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ แต่คนรุ่นพวกเราก็เติบโตมาได้แบบปกติ ปัจจัยภายนอกมีผลอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้สลักสำคัญขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือการจัดการเรื่องภายในบ้าน ถ้าในบ้านเราพร้อม มีเวลา มีทรัพยากร ถ้าพร้อมก็มีได้

‘มีลูกเมื่อพร้อม’ คิดเห็นยังไงกับวลีนี้

คำว่าพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ บางคนที่ไม่อยากมี เขาอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อมสักที ไม่พร้อมเรื่องเวลาหรือเงิน ซึ่งผมเคยคุยกับแฟนว่าเราคาดหวังมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา คาดหวังว่าจะส่งลูกเรียนอินเตอร์ คงต้องอายุ 40-50 ปีถึงค่อยมี แต่ถ้าปรับความคาดหวังลงมาที่ส่งเอกชนธรรมดา หรือว่าไปเรียนโรงเรียนรัฐก็ได้ การมีลูกจะเป็นการตัดสินใจที่ง่ายขึ้นมากในเรื่องบัดเจ็ต 

ส่วนตัวผมโตมาโรงเรียนรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่โรงเรียนดังอันดับหนึ่งของจังหวัด เลยรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นปัจจัยหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเวลาจากพ่อแม่ การเลี้ยงดู และความมั่นคงของคนในครอบครัวมากกว่า

ผมเชื่อว่าว่าทุกๆ กลุ่มรายได้ มีผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กหรือบริการที่ตอบโจทย์อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือเรื่องเวลา ผมโชคดีที่จัดสรรเวลาได้ แต่หลายๆ คนในยุคนี้ที่พ่อแม่ทำงานทั้งคู่ ก็จะเป็นเรื่องยากแล้ว

หลังจากมีน้องเข้ามา ชีวิตประจำวันของคุณบอมเปลี่ยนแปลงไปยังไง

บอกตรงๆ แบบไม่โลกสวย มีลูกคือภาระ ถ้าใครจะมีคือทำใจได้เลย

ช่วงแรก ตอนเล็กๆ คือภาระทางเวลา เพราะเขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราต้องสลับกันดูตลอด 

พอโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นภาระทางอารมณ์ ไม่เอา ไม่กิน ไม่ไป ไม่อาบน้ำ ไม่ทำอะไรทั้งนั้น เราก็ต้องควบคุมสติให้ดี เลี้ยงลูกเชิงบวก แต่ความเป็นจริงจะอยากบวกกับลูกตลอด (หัวเราะ) นึกสภาพเราทำงานทั้งวัน ต้องรองรับความเครียดต่างๆ นานา เลิกเรียนไปรับกลับบ้าน ต้องรองรับอารมณ์ลูกอีก

ถ้าเทียบกับด้านเวลาและอารมณ์ ภาระเรื่องเงินถือเป็นส่วนน้อยไปเลย ถ้าตอนเด็กๆ ให้นมแม่ก็ประหยัดเยอะมาก แต่ถ้าไม่มีเวลาก็อาจจะต้องเป็นนมผงซึ่งแพงขึ้นมา ส่วนค่าใช้จ่ายจิปาถะ ผมว่ามันแล้วแต่เรานะ เขาไม่ได้ใส่เสื้อผ้าเยอะ อาหารการกินก็กินคล้ายๆ กับพ่อแม่ เงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายทุกๆ ปีคือค่าเล่าเรียน ตรงนี้ก็แล้วแต่ระดับความคาดหวังของเรา 

บางคนคิดว่าลูกเป็น long-term investment คุณคิดเห็นกับประเด็นนี้ยังไง

ผมมองลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเราไม่อยากถูกปฏิบัติแบบไหน ก็อย่าทำแบบนั้นกับลูก 

ผมไม่เคยมองว่าลูกเป็น long-term investment แต่มองว่าเขาเป็นปัจเจกบุคคลที่เรามีหน้าที่รับผิดชอบจนกว่าจะโต แล้ววันหนึ่งเขาก็จะไปทำอะไรของเขาเอง 

เรื่องการเงินของพ่อแม่ในตอนแก่ก็ต้องดูแลตัวเอง ทำไมเราต้องไปคาดหวังกับคนที่อายุน้อยกว่าเรา 30 ปีว่าวันหนึ่งเขาจะโตมาแล้วดูแลเราตอนแก่ได้นะ ในเมื่อวันนี้เรามีเวลาอีก 30 ปีก่อนที่เขาจะโตในการบริหารจัดการเงินของตัวเอง 

แล้วถ้าไม่ได้คาดหวังในเรื่องของเงิน แต่คาดหวังให้เรียนเก่ง ทำงานดีๆ

หลายคนคิดว่าถ้าเรียนเก่งก็จะจบมาได้งานดีๆ รายได้เยอะๆ แต่จริงๆ เป้าหมายสุดท้ายของชีวิตในทางเศรษฐศาสตร์คือทำให้อรรถประโยชน์สูงสุด ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือความสุข 

ถ้าเราตั้งเป้าที่ความสุข ถามว่าผมอยากให้ลูกโตไปเป็นแบบไหน ความคาดหวังเดียวคืออยากให้เขารู้จักตัวเอง แล้วใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

คำว่าอยากให้เรียนเก่งๆ รายได้สูงๆ ทำอาชีพดีๆ บางทีต้องย้อนกลับมาว่ามันทำให้ชีวิตของเขาหรือตัวเราเองมีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า ส่วนตัวผมเองหลังจากทำงานแบงก์มา รายได้สูงจริง แต่ไม่มีความสุขเลย แล้วคิดว่าถ้าวันหนึ่งลูกต้องมาอยู่ในสภาพแบบนี้ มันอาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้

บางทีสังคมมีมุมมอง ค่านิยม หรือกรอบความเชื่อบางอย่าง แต่ในความเป็นจริง เราก็อยากให้ลูกมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบทำอะไร แล้วถ้าอาชีพนั้นเลี้ยงตัวเองได้ มันก็ยิ่งตอบโจทย์เข้าไปอีก

พ่อแม่ไม่มีกำลังทรัพย์ แต่ลูกอยากไปเรียนต่างประเทศ อันนี้ถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ไหม

หลายครอบครัวชอบบอกว่าต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก ซึ่งผมคุยกับแฟนว่าไม่เห็นด้วย เราต้องเลือกสิ่งที่เหมาะที่สุดให้กับลูกต่างหาก เหมาะในที่นี้คือเหมาะในบัดเจ็ต ตอนนี้ถ้าจะส่งไปเรียนอินเตอร์ ค่าเทอมปีละสี่ห้าแสน ก็ทำได้ แต่ชีวิตจะไม่มีความสุขเลย เพราะต้องประหยัดทุกอย่าง มีกำลังส่งแค่ไหนก็เท่านั้น เอาที่มันเหมาะและสบายใจ 

ถ้าทุกอย่างขึ้นกับลูก แล้วความสุขของพ่อแม่อยู่ตรงไหน กลายเป็นการมองลูกเป็นการลงทุน ทุ่มทุกอย่างไปกับลูก แล้วถ้าลูกทำให้คุณผิดหวังล่ะ มันไม่ควรหรือเปล่า แต่ละคนก็ควรมีชีวิตของตัวเอง มีความชอบที่ไม่เหมือนกัน ครอบครัวที่เพอร์เฟกต์จึงไม่ใช่ครอบครัวที่ทุ่มให้ลูกคนเดียว แต่คือครอบครัวที่ทุกคนแฮปปี้ที่จะอยู่ด้วยกัน 

กรณีที่ลูกอยากไปเรียนต่างประเทศ แต่กำลังทรัพย์ของพ่อแม่ไม่พอ ผมว่าทางออกคือทุกคนต้องคุยกัน หาทางเลือก อาจจะเป็นการสอบชิงทุนหรือโปรแกรมอื่นๆ คือไม่ได้ปฏิเสธแต่ช่วยซัพพอร์ตในทางอื่นแทน

ในฐานะประชาชน คุณบอมอยากเห็นนโยบายเกี่ยวกับเด็กแบบไหนจากภาครัฐ

ควรจะซัพพอร์ตมากกว่า 600 บาทต่อเดือน (หัวเราะ) ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือการมี daycare สำหรับเด็ก ไม่ว่าจะในที่ทำงาน หรือศูนย์ดูแลเด็กเล็กของรัฐบาลที่ราคาประหยัดและคุณภาพสูง สามารถดูแลลูกให้สอดคล้องกับเวลาของพ่อแม่

ยกตัวอย่างเพื่อนผมอยู่ออสเตรเลีย เขาสามารถส่งลูกวัยขวบกว่าๆ ไปที่ศูนย์ดูแลฯ ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ซึ่งมันแมตช์กับเวลาทำงานของเขา ตรงนี้สำคัญนะ บางคนไม่อยากมีลูกเพราะรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการเวลาได้ แล้วไม่มีเงินมากพอจะจ้างพี่เลี้ยง นี่คือยุคที่พ่อแม่ต้องทำงาน กว่าจะส่งเข้าเตรียมอนุบาลได้คือสองขวบขึ้นไป แล้วช่วงที่ว่างไว้คือการต้องตัดสินใจว่าใครคนหนึ่งต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก ยุคสมัยนี้ผู้หญิงมีการศึกษา มีรายได้ทัดเทียมกับผู้ชาย เขากำลังอยู่ในช่วง prime ของชีวิต เส้นทางกำลังสดใส มีอนาคตไกล ชอบงานที่ตัวเองทำ มีรายได้ มีอิสระ มีสังคม ทำไมเขาต้องเสียสละออกจากงานเพื่อดูแลลูก 

รัฐบาลจึงควรออกแบบกลไกที่ซัพพอร์ตพ่อแม่ที่ต้องทำงานสองคน โดยไม่ได้หวังว่าส่งไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง หรือให้สักคนออกจากงาน 

III
ชีวิตทำงาน

ในฐานะที่คุณประกอบอาชีพนักวิชาการ นักการเงิน นักเขียน นักแปล และคุณพ่อในเวลาเดียวกัน อยากรู้ว่าแบ่งเวลาในชีวิตยังไง

ถ้าช่วงที่ลูกปิดเทอมคือหายนะมากเลย แต่ถ้าปกติก็คือผมทำงานทุกวัน จริงๆ เป็นวิธีการทำงานที่แย่ อย่าเลียนแบบเลย เวลาทำงานคือเวลาที่ลูกนอน

ผมจะทำงานตอนเช้า ตื่นตีสี่มาทำงานถึงประมาณหกโมงแล้วก็ไปเตรียมข้าว ส่งลูกไปโรงเรียน พอส่งเสร็จก็กลับมาเคลียร์งานต่อ แต่เพราะผมทำงานอิสระเลยสบายหน่อย งานวิจัย งานเขียน งานแปล คือวินัยส่วนตัวล้วนๆ เลย ซึ่งมันไม่ง่ายหรอก ต้องใช้ความบากบั่นพอสมควร 

อีกสิ่งสำคัญคือเวลาทำงาน ผมเข้า flow ได้เลย ไม่ต้องอารัมภบท และไม่ทำงานนาน เพราะลิมิตตัวเองอยู่ที่หนึ่งชั่วโมง เกินจากนั้นจะไปหาอย่างอื่นทำ

คุณบอมเป็นทั้งนักเขียนและนักแปลเลย ในความเห็นของคุณบอม งานเขียนและงานแปลมีความยากง่ายต่างกันยังไง

ผมคิดว่างานแปลไม่ใช่งาน generate content มันเป็นการอ่านแล้วถ่ายทอดออกไป โดยเฉพาะงานแปลฝั่ง non-fiction ที่ไม่ต้องใช้พลังมากเท่าไหร่ สิ่งสำคัญคือแปลแล้วอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า ขณะที่การเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ต้องเริ่มตั้งแต่หาไอเดีย

แต่ก่อนคุณเขียนลงเว็บไซต์จะเป็นบทความเชิงวิชาการ พอออกหนังสือเล่มแรกกลับกลายเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ FATHER AND SUM บันทึกออมรัก ฉบับคุณพ่อนักออมเงิน มีที่มายังไง

จุดเริ่มต้นของเล่มนี้มาจากคอลัมน์ของเว็บไซต์ The Potential ตอนนั้นผมสนใจเรื่องการเงินกับลูก ลูกแบบเด็กเล็กเลย ไปเสิร์ชดูแล้วไม่เคยมีใครเขียน เลยไปเสนอกับทางนั้น ซึ่งก็ออกมาเป็นบทความสอนการเงินให้ลูก และมีบางส่วนที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัว จากตรงนั้นเลย develop ต่อให้เป็นหนังสือเล่มนี้

ในยุคนี้คนไม่ค่อยอยากมีลูกด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เลยอยากมาแชร์ว่ามีลูกมันแย่อย่างที่คิดไหม แล้วถ้าอยากมีลูก ในมุมของของการเงินควรจะเตรียมตัวอะไรบ้าง 

ผมเชื่อว่าลึกๆ ในใจบางคนอยากมีลูก แต่ด้วยสื่อต่างๆ หรือค่านิยมในอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเอื้อกับการมีลูกเท่าไหร่ ซึ่งหนังสือที่ผมเขียนก็ถือว่าเป็นอีกมุมมองหนึ่งว่ามีลูกแล้วต้องเจออะไรบ้าง ให้คนอ่านได้ลองเลี้ยง virtual ลูกไปกับเรา

แล้วเล่ม HOW TO MONEY ทำเงินนี้ให้ดีที่สุด เกี่ยวกับอะไร

ผมคิดว่าเขาเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนระดับมัธยมฯ ที่สนใจเรื่องการเงินแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เล่มนี้เป็นคู่มือที่อ่านง่ายมาก จะเริ่มต้นเก็บเงินยังไง ทำธุรกิจยังไง หรือลงทุนยังไง ตรงท้ายบทก็จะมีบทสัมภาษณ์เล็กๆ และมีแบบฝึกหัดที่เอาไปทำได้จริงๆ หน้าตาของหนังสือค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ที่อ่านง่ายและสนุก

ตอนแปลก็สนุก เพราะต้องพยายามใส่ความเจ๊าะแจ๊ะเข้าไปหน่อย ให้รู้สึกว่าอ่านแล้วเหมือนคุยกับพี่สาวอยู่

ลองอ่านบางบทดูแล้วค่อนข้างมีความ american-based คุณบอมคิดว่าสามารถปรับใช้กับบริบทของไทยได้ไหม

หลายๆ บทโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและภาษีคืออเมริกันจ๋ามากเลย ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันคือช่องว่างของหนังสือแปล เพราะบริบทของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่อ่านๆ ไปผมว่าเราได้ไอเดีย 

ต่อให้หลายอย่างนำมา apply กับประเทศไทยไม่ได้ อย่างเช่นสมัครทหารเพื่อรับทุนการศึกษา อันนี้ของไทยอาจจะไม่ได้มีให้เห็นมากเท่าไหร่ แต่อย่างเรื่องการฝึกงานหรือไปทางสายอาชีพ ผมมองว่าเป็นจุดที่หลายคนมองข้าม การศึกษาสายวิชาชีพในไทยมักถูกมองด้วยอคติบางอย่าง ซึ่งถ้าเรามองในมุมอื่นหรือจากในเล่มนี้ จริงๆ แล้วเป็นทางเลือกนะ ในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ปิดตัวเองอยู่กับสายสามัญ ไปสายอาชีพก็เติบโตได้ 

พอเป็นหนังสือด้วยมุมมองต่างประเทศก็เป็นการเปิดโอกาสให้เห็นทางเลือกอื่นๆ ถ้าอ่านหนังสือไทยๆ ออปชั่นพวกนี้อาจจะไม่โผล่ขึ้นมาก็ได้ 

หนังสือทั้งสองเล่มเป็นเรื่องการเงินทั้งคู่ ทำไมคนเราต้องอ่านหนังสือการเงิน

มนุษย์เรียนรู้เรื่องการเงินหลังการสร้างบ้าน หาอาหาร ทำปศุสัตว์ ตัวเราไม่ได้คุ้นเคยเรื่องการเงินหรือแนวคิดเกษียณอายุ เพราะสมัยก่อนคนไม่ได้อายุยืนมาก 50-60 ก็ตายละ ตอนนี้คือต้องอยู่ต่อถึง 80-90 ปี ดังนั้นการที่คนจำนวนมหาศาลอายุเกิน 80 ปีคือเรื่องใหม่ แล้วเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตถึงวันนั้นได้ถ้าเราไม่เริ่มต้นบริหารจัดการเงินตั้งแต่วันนี้ เพราะเราไม่รู้เราเลยต้องอ่าน ต้องเรียนรู้กับมันให้เยอะขึ้น 

เอาง่ายๆ คือสมองของเราไม่คุ้นกับการมองไปข้างหน้าไกลๆ ซึ่งการเรียนรู้เรื่องการเงินหรือการลงทุนจะช่วยให้เรามองเห็นภาพชัดขึ้นว่าต้องบริหารจัดการยังไง

ขอส่งท้ายให้คุณบอมขายของสักหน่อย

จริงๆ ขายไม่เก่งเลย (หัวเราะ) เล่ม FATHER AND SUM เป็นหนังสือที่มีชีวิตชีวา ผมมีลูกเร็ว เพื่อนก็ยังไม่มีประสบการณ์ ไปถามพ่อแม่เขาก็จำไม่ได้แล้ว อีกอย่างบริบทก็ไม่เหมือนกัน บางทีไปหาในเน็ตก็ยังไม่ค่อยละเอียด หรือมีมุมมองแตกต่างหลากหลาย เล่มนี้ถือเป็นบันทึกตั้งแต่วันที่ลูกคลอดจนถึงวันที่เขาไปโรงเรียน คนเป็นพ่อแม่ต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง 

รวมถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างการที่แม่ถูกคาดหวังให้เป็นคนเลี้ยงลูก ผมอยากลบมายาคตินี้มากๆ ถ้ามองในมุมความเท่าเทียมทางเพศ เราไม่ควรให้หน้าที่การทำงานในบ้านเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ในครอบครัวสมัยใหม่พ่อแม่ควรสลับบทบาทกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นความคิดแบบ gender-based อย่างผู้ชายทำงานหาเงิน หรือผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูก มันล้าสมัยไปแล้ว ยุคนี้ในเมื่อพ่อแม่ทำงานหาเงินได้เหมือนกัน พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงลูกได้เหมือนกัน

ถ้าสมมติเป็นคนโสด ไม่มีลูก คิดว่าอ่านเล่มนี้จะได้อะไรไหม

อ่านแล้วอาจจะอยากมีลูกก็ได้ แต่ถ้าไม่อยากมีก็ถือเป็นประสบการณ์ที่รู้ไว้แล้วไม่เสียหาย ไปดูวิบากกรรมของคนที่แต่งงานแล้วมีลูก อีกมุมหนึ่งคืออาจจะทำให้เขาเห็นอกเห็นใจคนมีลูกมากขึ้น บางทีพ่อแม่อาจจะแค่อยากไปกินอาหารอร่อยๆ ในห้าง แต่ลูกดันแหกปากโวยวาย ถ้ามีคนเข้าใจว่าส่วนนี้มันเป็น factor ที่ควบคุมไม่ได้ ก็จะดีมากเลยครับ 

ขออีกสักเล่ม

HOW TO MONEY เป็นก้าวแรกสำหรับคนที่อยากเรียนรู้ด้านการเงิน ต่อให้เล่มนี้จะมีทาร์เก็ตเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมฯ แต่ผมเชื่อว่าอ่านก่อนอายุ 30 ปีก็ไม่เสียหาย ยิ่งสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเงิน แล้วรู้สึกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองช่างทุกข์ทรมาน ผมเข้าใจเลยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จับต้นชนปลายได้ถูกด้วยการดูคลิปหรือฟังเสวนา เล่มนี้จะช่วยได้ เพราะมันปูพื้นฐานตั้งแต่การทำงาน วิธีการจัดการเงินในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการลงทุน 

อย่างตอนนี้วัยทำงานจะเน้นเรื่องการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งมันเป็นแค่มิติเดียว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการหารายได้กับการใช้จ่าย เป็นการบริหารจัดการเงินที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่เราอาจจะไม่รู้หลักการ หรือไม่ใส่ใจมาก แล้วไปคาดหวังกับการเอาเงินไปลงทุนแทน


salmonbooks

RELATED ARTICLES

VIEW ALL