คุยกับ ‘PPONG’ ถึงหนังสือ ‘HAVE A GOOD DIE วันนี้คือวันตายของเจ้า!’

4 ธันวาคม 2021 | by salmonbooks

สวัสดีนักอ่านทุกท่าน ขอต้อนรับเข้าสู่รายการแซลมอนโชว์ที่มาพบกับทุกท่านแบบเฉพาะกิจ เพราะวันนี้เรามีแขกรับเชิญเป็นนักเขียนหน้าใหม่เจ้าของผลงาน ‘HAVE A GOOD DIE วันนี้คือวันตายของเจ้า!’ นั่นก็คือ ‘PPONG’ เจ้าของเพจ ‘PONG 4KOMA Everyday’

ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญทุกท่านไปทำความรู้จักและรับฟังที่มาที่ไปของการ์ตูนแก๊ก 4 ช่องตลกร้ายที่ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติของชีวิตอย่าง ‘ความตาย’ ได้เลยครับ (พิธีกรผายมือ พร้อมเสียงเอกเฟกต์ปรบมือดังสนั่น)

SALMON: ก่อนอื่นเลย รบกวนแนะนำตัวกับท่านผู้ชมหน่อยจ้ะ

PPONG: สวัสดีครับ ผมชื่อพี่โป้ง (PPONG) ปัจจุบันเขียนการ์ตูน 4 ช่องลงเพจ ‘PPONG 4KOMA Everyday’ ทุกวันครับ ก่อนหน้านี้เคยเป็นนักเขียนในแวดวงการ์ตูน ทีนี้พอมีโควิด-19 เมื่อปี 2020 ก็ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ไปเห็นสมุด 4 ช่องวางขายอยู่ในร้านหนังสือก็เกิดไอเดียว่าอยากเขียนอะไรแผลงๆ ตลกร้ายหน่อยๆ เกี่ยวกับความตาย เป็นการ์ตูน 4 ช่องลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ลงได้สักพักก็ตัดสินใจเปิดเพจ

SALMON: ว่าแต่ทำไมถึงหยิบประเด็นเรื่องความตายที่ดูซีเรียสมาทำเป็นแก๊กให้ขบขันล่ะ

PPONG: คือผมมีรากมาจากการเขียนการ์ตูนสยองขวัญกับการ์ตูนหักมุมตลกร้าย พอตั้งท่าจะเขียนการ์ตูน 4 ช่อง ซึ่งคนจะติดกับภาพการ์ตูนขำขันแบบ ‘ขายหัวเราะ’ ผมเลยอยากลองเขียนการ์ตูน 4 ช่องให้เป็นเรื่องสยองขวัญบ้าง ใช้ชื่อซีรีส์ว่า ‘วันนี้พี่โป้งเป็นอะไรตาย’ ถ้าย้อนไปดูแก๊กแรกๆ ในเพจจะเห็นว่ามันดูสยองขวัญมากกว่าขบขัน

แต่ทีนี้การเล่าเรื่องตลกกับเรื่องสยองขวัญมันมีรูปแบบการเล่าแบบเดียวกัน ถ้าเจาะลึกเรื่อง storytelling จะพบว่ามันใช้รากเดียวกันเลย เรื่องผีหลายๆ เรื่องเล่าออกมาแล้วกลายเป็นตลก หรือเรื่องตลกบางครั้งกลับให้ความรู้สึกสยอง พอผมเขียนแก๊กไปเรื่อยๆ ความตลกก็ค่อยๆ เข้ามาผสมกับความสยอง จนกลายเป็นแนวตลกร้ายน่ะครับ

SALMON: แล้วทำไมต้องเป็นเรื่องความตายด้วย มันมีความน่าสนใจยังไงเหรอ

PPONG: ความตายเป็นเรื่องซีเรียสสำหรับคนส่วนใหญ่ ทุกคนมักจะหลีกหนี ไม่อยากเผชิญหน้า หรือพูดถึงมันนัก ผมเองก็เป็นคนซีเรียสมาก เคยมองความตายด้วยมุมมองแบบนั้นเหมือนกัน ทีนี้พอผมได้ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับความตายมา ก็พบว่ามันมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้เรามองความตายในแบบขบขัน หรือผ่อนคลายกว่าที่เป็นได้ 

คือสุดท้ายเราต้องตายกันทุกคน แต่เรากลับใช้ชีวิตโดยหลีกเลี่ยงความจริงนั้น ซึ่งก็ทำให้ชีวิตไม่เครียดดีครับ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เราใช้ชีวิตในแบบที่เฉออกไปจากความต้องการจริงๆ หลายครั้งคนที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคร้าย เหลือเวลาใช้ชีวิตอีกไม่มาก กลับคิดได้ทันทีว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น อยากเที่ยวรอบโลก แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้คิดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราเอาความตายมาตั้งตรงหน้า ทุกคนจะรู้เลยว่าอยากทำอะไร กล้าทำโดยไม่กลัวว่าจะผิดหวังด้วย ชีวิตมันก็ตลกร้ายแบบนี้

SALMON: กลับมาที่เรื่องหนังสือกันบ้าง จากเขียนการ์ตูนแก๊กลงเพจทุกวันกลายมาเป็นหนังสือ ‘HAVE A GOOD DIE วันนี้คือวันตายของเจ้า!’ ได้ยังไง

PPONG: บ.ก.กายทักมาชวน จำไม่ได้แล้วแฮะว่าตอนนั้นคุยอะไรกันบ้าง ก็คงทำนองว่าสนใจมาออกหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมั้ย ส่วนผมก็รู้จักสำนักพิมพ์แซลมอนอยู่แล้ว เลยตอบตกลงแล้วนัดเจอเพื่อคุยไอเดียร่วมกัน สุดท้ายก็ตัดสินใจใช้คอนเซปต์ของซีรีส์ ‘วันนี้พี่โป้งเป็นอะไรตาย’ ซึ่งเป็นไอเดียต้นกำเนิดของเพจ ผมเลือกหัวข้อนี้เพราะอยากตอบแทนคนที่ติดตามเพจมาตั้งแต่ต้นซึ่งชอบมุกตลกแผลงๆ แบบนี้น่ะครับ

SALMON: ปกติวาดลงเพจเอง โพสต์เอง พอมีทีม บ.ก.มาวุ่นวาย เอ้ย! มาร่วมงานด้วย การทำงานเป็นยังไงบ้าง

PPONG: มีทีมแซลมอนมาช่วยแล้วมันก็ดีอย่าง มีคนช่วยสกรีนแก๊ก ช่วยคอมเมนต์ เพราะบางแก๊กที่ผมเขียนลงเพจไปกลับมาดูอีกทีก็ยังคิดเลยว่ามันดาร์กไปมั้ยนะ พอมาทำเป็นหนังสือก็ต้องเขียนแก๊กด้วยความรับผิดชอบมากขึ้นอีกหน่อย

SALMON: แล้วเวลาเขียนแก๊กลงเพจกับเขียนแก๊กลงหนังสือ วิธีคิดต่างกันมั้ย

PPONG: ต่างกันนิดเดียว แก๊กที่ลงเพจจะอาศัยเรื่องที่สังคมกำลังพูดถึงตอนนั้น เราก็แค่หยิบมาบิดนิดหน่อย เล่าให้ถูกที่ถูกเวลา แต่หนังสือมันไม่มีกาลเวลา ก็ต้องคิดแก๊กให้กว้างๆ ถ้ามีคนมาอ่านในอีกหลายปีข้างหน้าก็ยังต้องเก็ตมุกอยู่ รวมถึงพยายามคิดแก๊กให้เข้ากับแซลมอนด้วย ผมว่าสำนักพิมพ์แซลมอนพูดเรื่องจริงจังได้ แต่ก็ไม่ได้อยากพูดให้เครียด หรือไปถึงขนาดดาร์กคอเมดี้ซึ่งตัวผมจะมีมุมแบบนั้นอยู่บ้าง ก็ต้องปรับให้เข้ากัน

อีกเรื่องคือ ทีแรกผมคิดจะเล่าความตายแบบที่เรียลมากๆ แบ่งหมวดแก๊กเอาไว้ทำนองว่า ‘ตายเพราะแก่’ ‘ตายเพราะอุบัติเหตุ’ คือมองแบบจริงจังเลย แต่ระหว่างที่เขียน การระบาดของโควิด-19 มันก็เริ่มรุนแรงและตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม ผมเลยพยายามปรับเนื้อหาให้ซอฟต์ลง ไม่อยากให้คนอ่านรู้สึกเจ็บปวดหรือหดหู่เกินไป แล้วเพิ่มกิมมิกด้วยการใช้สำนวนเป็นหัวข้อหลักของแต่ละหมวด เช่น ‘คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย’ ก็จะเป็นหมวดที่พูดว่าถ้ามีเพื่อนตายไปด้วยกันจะดีไหมนะ จะได้ไม่เหงา หรือ ‘ตายอดตายอยาก’ ที่พูดถึงความตายกับอาหาร

SALMON: พูดถึงเรื่องหน้าปกกันบ้าง เล่าให้ฟังหน่อยว่ามีที่มาที่ไปยังไง

PPONG: ผมนึกถึงชื่อซีรีส์ ‘วันนี้พี่โป้งเป็นอะไรตาย’ กับภาพรวมของแก๊กทั้งหมด ที่มักจะเป็นเหตุการณ์อะไรบางอย่างแล้วอยู่ๆ พี่โป้งก็ตาย คล้ายๆ กับ ‘Looney Tunes’ การ์ตูนอเมริกันสมัยก่อนที่ตัวละครเปิดประตูไปแล้วเจอเหว ตกลงไปตายแบบไม่มีเหตุผล ผมก็เลยวาดสายพานให้เป็นเส้นนำสายตาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพี่โป้งบ้าง แล้วตอนท้ายของสายพานก็คือจะมีโลงศพเป็นภาพจบ เข้ากับชื่อหนังสือว่า ‘วันนี้คือวันตายของเจ้า!’ ดูรวมๆ แล้วก็จะให้มู้ดของแก๊กตลกร้าย ไร้สาระ ติงต๊องหน่อยๆ

SALMON: คุยกันมาหอมปากหอมคอ ทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้ด้วยการขายหนังสือให้กับผู้อ่านหน่อย

PPONG: มันมีคำของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain นักเขียนเรื่องขำขันชาวอเมริกัน) ว่า “Humor is tragedy plus time.” ความขบขันก็คือเรื่องเลวร้ายในอดีตที่เราใช้เวลากับมันมาระยะหนึ่ง เหมือนเรื่องแย่ๆ หลายเรื่องในชีวิตที่พอเวลาผ่านไป หันกลับไปมองอีกทีก็กลายเป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง

ผมคงบอกไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร แต่พอจะรู้ว่ามันอาจไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือเพิ่งผ่านการสูญเสียมา ผมต้องขออภัยอย่างมากและไม่ได้มีเจตนาที่จะไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแย่ ผมเพียงอยากบอกเล่ามุมมองและประสบการณ์ชีวิตของผมที่มีต่อความตาย ผมเชื่อว่าความตายจะช่วยให้เรากลับมาตั้งคำถามกับชีวิตในทุกๆ แง่มุม พาเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน มันเหมือนเรายืนหน้ากระจก แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกับตัวเองว่าทุกอย่างโอเค มันคือการรู้กับตัวเองว่ามีบางอย่างไม่โอเค แต่ถ้าเราให้เวลามองมันสักนิด เราอาจพบแง่มุมบางอย่างที่บางครั้งก็ทำให้เผลอหัวเราะออกมาได้น่ะครับ

‘วันนี้คือวันตายของเจ้า!’ ก็คงเป็นเครื่องมือเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เราได้เปิดประเด็นความตาย ดึงเรื่องที่ไกลตัวเข้ามาใกล้ขึ้นอีกนิด เปิดโอกาสให้ได้ทำความเข้าใจในลำดับต่อไป

ทดลองอ่านตัวอย่าง หรือสั่งซื้อ ‘HAVE A GOOD DIE วันนี้คือวันตายของเจ้า!’ ได้ที่ https://salmonbooks.net/product/have-a-good-die/


comedian comic have a good die life salmonbooks วันนี้คือวันตายของเจ้า

RELATED ARTICLES

VIEW ALL