มาฟังเหล่าสิ่งของเล่าเรื่องกันเถอะ!
ใครจะคิดว่าสิ่งของธรรมดาๆ ที่เราอาจเห็นกันอยู่ทุกวัน มันมีเรื่องราวอะไรซุกซ่อนอยู่มากกว่านั้น วันนี้แซลมอนเลยขอหยิบเอาเรื่องเล่าของสิ่งของที่น่าสนใจจากหนังสือหลากหลายเล่มของเรามาแบ่งปันกับคุณผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสำคัญของชาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การประดิษฐ์เครื่องฉายภาพยนตร์ การค้นพบหูฟังเป็นครั้งแรก ความเป็นมาของรถกับข้าวที่วิ่งตามหน้าบ้านเรา ไปจนถึงเรื่องลึกลับของเก้าอี้ต้องคำสาป
ไม่มีอะไรจะอธิบายความรักในการดื่มชาของประเทศอังกฤษได้ดีกว่าเหตุการณ์ในปี 1942 ขณะที่อังกฤษตกเป็นรองฝ่ายอักษะแทบทุกทาง แทบไม่เหลือพันธมิตร และกลายเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังต่อสู้กับกองกำลังนาซีในทวีปยุโรป จักรวรรดิอังกฤษใกล้ล่มสลายเต็มที และสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษทำก็คือ ตัดสินใจเหมาชาที่มีอยู่ทั้งหมดในตลาด!
ท่ามกลางประวัติศาสตร์การรบอันยาวนาน ชาสร้างให้กองทัพอังกฤษแตกต่างจากชาติอื่น ขณะที่หลายประเทศเลือกดื่มไวน์ เบียร์ หรือวอดก้า ชาวอังกฤษกลับเลือกดื่มชาที่นอกจากจะมีน้ำหนักน้อย ขนย้ายได้ง่าย ไม่แตกหักเสียหาย เหมือนขวดไวน์หรือแอลกอฮอล์ชนิดอื่น นอกจากนี้ ยังลดปัญหาติดเหล้าของเหล่าทหาร และเป็นการเตรียมพวกเขาให้พร้อมก่อนลงสนามรบได้ด้วย เพราะชาช่วยให้ตื่นตัวและยังช่วยลดความเครียดจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า การปลูกฝังการดื่มชากับกิจวัตรประจำวัน จึงเป็นหนึ่งในการสร้างระเบียบให้กองทหารอังกฤษทุกสมัย
จากหนังสือ ‘WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ’ โดย ‘มนสิชา รุ่งชวาลนนท์’
ช่วงปี 1890 พี่น้องสกลาดานอฟสกี (Skladanowsky brothers) ประดิษฐ์คิดค้นกล้องถ่ายภาพของตนเองขึ้น ก่อนจะปรับปรุงอุปกรณ์นี้ให้กลายเป็นเครื่องฉายภาพยนตร์ที่พวกเขาให้ชื่อว่า ไบโอสคอป (Bioscop)
เครื่องฉายไบโอสคอปมีสองเลนส์ ใช้ฟิล์มขนาด 54 มม. จำนวนสองรีล วิ่งประสานจนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวความเร็ว 16 เฟรมต่อวินาที เมื่อพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาของไบโอสคอปก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ามันมีความแตกต่างจากเครื่องฉายอื่นๆ ในห้วงเวลาเดียวกันที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้วัสดุจำพวกไม้เป็นส่วนประกอบ เช่น เฟือง หรือกลักฟิล์ม และเพราะไบโอสคอปของสกลาดานอฟสกีสร้างขึ้นจากโลหะแทบทุกชิ้นส่วน จึงส่งผลให้เครื่องฉายของพวกเขามีราคาในการผลิตต่อหน่วยมากมายมหาศาล
อีกทั้งฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ที่สกลาดานอฟสกีใช้ในเวลานั้นยังปราศจากรูหนามเตย นั่นทำให้การจัดการควบคุมเป็นไปได้ยาก และก่อให้เกิดข้อผิดพลาดขณะทำงาน ทำให้ฟิล์มเลื่อนหลุด หรือหมุนผิดสปีด
ภาพยนตร์ของสกลาดานอฟสกีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนประกอบของการแสดงที่เต็มไปด้วยสีสันและความบันเทิงใจแบบมหรสพโรงใหญ่ที่มีคณะนักร้อง นักเต้น นักดนตรี และมีภาพเคลื่อนไหวเป็นฉากหลัง โดยกลไกของไบโอสคอปถูกออกแบบมาให้ฉายภาพที่มีความยาวไม่กี่วินาทีวนซ้ำไปมาได้นับไม่ถ้วนครั้ง
แต่เนื่องจากเครื่องไบโอสคอปมีความซับซ้อน ทำจากโลหะราคาสูงมาก ประกอบกับการรับชมภาพยนตร์ของสกลาดานอฟสกีถูกเห็นเป็นเพียงไม้ประดับของการแสดง จึงทำให้รายการโชว์ที่ปารีสในปี 1895 ของพี่น้องสกลาดานอฟสกีถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยภาพยนตร์ของพี่น้องลูมิแยร์ (Lumière brothers) ที่เราน่าจะคุ้นชื่อกันในบทบาทของบิดาแห่งวงการภาพยนตร์
จากหนังสือ ‘ศิลปะของความผิดหวัง’ โดย ‘กิตติพล สรัคคานนท์’
การค้นพบ ‘หูฟัง’ ของ ‘นาธาเนียล บอลด์วิน’ (Nathaniel Baldwin) ในปี 1910 พลิกประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของเสียงที่มีมากว่าสองพันหกร้อยปีได้ และอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ‘เสียง’ กลายเป็นเรื่องส่วนตัวในปริมณฑลส่วนตัวโดยแท้จริง แม้ว่าแรกเริ่มนวัตกรรมชิ้นนี้จะถูกขายให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ ประมาณหนึ่งร้อยชุดในคืนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มขึ้น นอกนั้นแล้วก็ถูกนำไปใช้กับการส่งโทรเลขและใช้งานโทรศัพท์ แต่ต้องบอกว่ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะหูฟังที่ผลิตขึ้นมาแบบง่ายๆ ของบอลด์วินนั้น คุณภาพเสียงไม่ได้ดีมาก คือถ้าเอาไปใช้ฟังเพลงก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง
หูฟังแบบสเตอริโอ ซึ่งมีคุณภาพเสียงดีกว่าหูฟังของบอลด์วิน เก็บรายละเอียดเสียงได้ดี และสามารถใช้ในการฟังเพลงได้จริงๆ ถูกประดิษฐ์ขึ้นราวปี 1958 (รุ่นแรกที่ผลิตคือ SP/3) โดย ‘จอห์น ซี. คอสส์’ (John C. Koss) นักดนตรีแจ๊ซชาวมิลวอกีที่ชื่อของเขากลายเป็นยี่ห้อหูฟัง Koss ซึ่งยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน
หูฟังของคอสส์นั้น นอกจากจะพัฒนาคุณภาพของเสียงแล้ว ยังมีการเปลี่ยนดีไซน์และวัสดุที่ใช้ คือนำพลาสติกมาใช้ทำตัวหูฟัง (ขณะที่บอลด์วินใช้ข้าวของในห้องครัว) หลังจากนั้นการออกแบบหูฟังในลักษณะนี้ก็ถูกนำไปใช้ที่ญี่ปุ่น และการผลิตหูฟังก็กระจายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นสารพัดยี่ห้อ ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และต่อมาก็ทั้งโลก จนปัจจุบันหูฟังถูกแบ่งแยกย่อยเป็นสารพัดแบบ
อย่างไรก็ตาม จุดพีกของโลกแห่งหูฟังจริงๆ น่าจะอยู่ราวๆ ปี 1979 เมื่อบริษัท Sony ของญี่ปุ่นออกเครื่องฟังเพลงชนิดพกพา ซึ่งต้องใช้คู่กับหูฟังที่เรียกว่า Sony Walkman ทำให้ทุกคนสามารถฟังเพลงได้ทุกที่โดยไม่ต้องไปรบกวนหูใคร
โลกของเสียงที่เคยเป็นเรื่องในพื้นที่สาธารณะ ก็ได้กลายมาเป็นเรื่องของปริมณฑลส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ เพราะหูฟังถูกใช้งาน ‘ส่วนตัว’ ในพื้นที่ ‘อันเป็นส่วนรวม’ ได้ทุกที่ทุกเวลา
ความยิ่งใหญ่ของหูฟังนั้น ในแง่หนึ่งก็คือ การทำให้จินตนาการที่เราคาดไม่ถึงกลายเป็นจริงได้ มันคือการพลิกความเป็นไปได้ของความเข้าใจที่เรามีต่อเสียงไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นในแง่หนึ่งมันจึงเป็นเสมือน ‘จินตกรรมที่ถูกทำให้จับต้องได้’ อีกแบบหนึ่ง
จากหนังสือ ‘ดรามา สุตรา’ โดย ‘กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช’
เว็บไซต์ Wikipedia ให้ความหมายของรถพุ่มพวงไว้ว่า “รถกระบะหรือรถมอเตอร์ไซค์ที่เปิดท้ายขายของสดหรือของแห้ง ผัก ผลไม้ โดยที่สินค้ามักจะห้อยเป็นพวงๆ จับเป็นกลุ่มสินค้าไว้ทั่วตัวถังรถ วิ่งไปขายตามชุมชนต่างๆ ในหมู่บ้าน ตามพื้นที่ก่อสร้าง ไปจนถึงบ้านเดี่ยว”
ส่วนชื่อของ ‘รถพุ่มพวง’ นั้นมาจากลักษณะการจัดสินค้าที่เป็นแบบห้อยถุงโตงเตงท้ายกระบะ เป็นพุ่มเป็นพวงล้อไปกับชื่อนักร้องลูกทุ่งหญิงในตำนานอย่าง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’
การมีอยู่ของรถกับข้าวเริ่มคึกคักหลังยุคฟองสบู่แตก ประมาณ พ.ศ. 2539-2540 ซึ่งก็มีบางคนบอกว่าเคยเห็นรถกับข้าววิ่งขายก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งต้นกำเนิดรถเร่พวกนี้น่าจะมาจากพวกหาบเร่ แผงลอย หรือรถเข็น ที่เริ่มจากการมีอะไรขายก็นำไปเร่ขาย รถกับข้าวก็มีหลักการคล้ายๆ กัน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจากการเดิน การเข็น มาเป็นการใช้รถกระบะแทน
ถ้ามองว่ารถกับข้าวคือตลาดที่เร่ขายได้ด้วยการใช้รถกระบะ เราก็จะพบวิธีคิดในการจัดสรรข้าวของให้เข้ากับท้ายกระบะ ซึ่งก็คือการดิสเพลย์สินค้าที่จะทำยังไงให้เห็นง่ายและช้อปสะดวก ท้ายกระบะนั้นค่อนข้างมีพื้นที่จำกัด การซ้อนทับของมากเกินไปอาจทำให้สินค้าบางชนิดช้ำได้ ทำให้การเกี่ยวแขวนถุงในแนวตั้งคือวิธีแก้ปัญหายอดนิยม ซึ่งการแบ่งของเป็นถุงๆ ห้อยไว้นั้นนอกจากจะช่วยในการแยกประเภทสินค้าให้หาง่ายแล้ว ยังง่ายต่อการคิดราคาอีกด้วย
จากหนังสือ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ โดย ‘ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’
ตั้งแต่มะเขือเทศไป ‘ขึ้นฝั่ง’ ที่ยุโรปราวศตวรรษที่ 16 มันก็ถูกมองว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ มาโดยตลอด เพราะช่วงเวลานั้นเป็นยุคแห่งการล่าแม่มด คนยุคนั้นเชื่อกันว่า ถ้าหากจะบินได้ (โดยใช้ไม้กวาด) พวกแม่มดจะต้องเอาขี้ผึ้งพิเศษมาทาถูที่ไม้กวาดของตัวเองเสียก่อน เจ้าขี้ผึ้งที่ว่านี้ทำมาจากพืชร้ายกาจหลายชนิด คือเฮมล็อก (Hemlock เป็นยาพิษที่ ‘โสคราติส’ (Socrates) ดื่มจนตาย) ไนต์เฉด (Nightshade) เฮนเบน (Henbane) และแมนเดรก (Mandrake) ซึ่งสามชนิดหลังนี้เป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับมะเขือเทศเป็นอันมาก
ยุคนั้นยังเชื่อกันอีกว่า พวกแม่มดนำขี้ผึ้งเหล่านั้นมาทาถูตัวเองด้วย แต่ไม่ใช่ทำเพื่อให้บินได้ ทว่าทาถูเพื่อให้ ‘แม่มด’ สามารถ ‘แปลงร่าง’ เป็น ‘มนุษย์หมาป่า’ (werewolf) ได้
แต่เมื่อเริ่มแยกแยะกันได้แล้วว่ามะเขือเทศไม่ใช่แมนเดรกหรือไนต์เฉด (แม้จะคล้ายกัน) ผู้คนก็ไปค้นตำราของ ‘กาเลน’ (Galen) นักปราชญ์ยุคโรมันโบราณ ที่เป็นทั้งแพทย์ นักพฤกษศาสตร์ และนักปรัชญา ซึ่งกาเลนเขียนตำราเล่าถึงพืชพรรณต่างๆ ในโลกหล้านี้เอาไว้ทั้งหมด แบ่งพืชไว้เป็นประเภทต่างๆ และอรรถาธิบายในรายละเอียดไว้อย่างพิสดาร
กาเลนเคยพูดถึงพืชชนิดหนึ่งเอาไว้ มีชื่อเป็นภาษาโรมัน λῠκο-πέρσιον ซึ่งแปลว่า wolf อะไรสักอย่าง (wolf-something) คนเลยร่ำลือกันว่า มะเขือเทศคือผลไม้ที่กาเลนบอกว่าเป็น wolf peach หรือลูกพีชหมาป่า เสร็จแล้วก็จับมะเขือเทศ (หรือลูกพีชหมาป่า) โยงเข้ากับแม่มดทันที!
กว่ามะเขือเทศจะได้รับการยอมรับว่าไม่ใช่พืชที่น่ากลัวและกินได้ก็ปาเข้าไปช่วงกลางศตวรรษที่ 19 หลังจากผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้วยวิธีต่างๆ ของภาคเกษตรกรรม และมีการบริโภคมะเขือเทศมากขึ้นไปอีก เมื่อมีผู้นำไปประกอบอาหารชนิดต่างๆ เช่น ซุปมะเขือเทศหรือพิซซ่า
จากหนังสือ ‘POWERISM’ โดย ‘โตมร ศุขปรีชา’
ในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อน มีเก้าอี้ไม้โอ๊กชื่อว่า Busby’s stoop chair หน้าตาของมันคล้ายกับเก้าอี้ทรงเก่าทั่วไป มีพนักพิงหลังที่สูงและกว้าง พร้อมกับที่วางแขน ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเก้าอี้ที่นั่งสบาย หากแต่ไม่มีใครอยากนั่ง เพราะมีคำบอกเล่าปากต่อปากว่า ใครก็ตามที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้จะต้องเสียชีวิตอย่างปริศนาด้วยคำสาปของเจ้าของเก้าอี้นามว่าบัสบี้
ลือกันว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะเก้าอี้ตัวนี้ราวๆ หกสิบคน!
เวลาล่วงเลยมาถึงปี 1968 บุรุษนามว่า ‘โทนี เอิร์นชอว์’ (Tony Earnshaw) ตัดสินใจซื้อโรงแรมแห่งนี้ ด้วยความที่เป็นคนหัวสมัยใหม่ เขาจึงเปิดให้บริการตามปกติ แต่ในที่สุดเขาก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งพยานของเรื่องเล่า
หลังจากเอิร์นชอว์เข้ามาเป็นเจ้าของโรงแรม มีแรงงานก่อสร้างกลุ่มหนึ่งเข้ามากินอาหารเที่ยง และนั่งเก้าอี้ตัวนั้นตามคำท้าทายของเพื่อน ซึ่งทันทีที่คนงานเหล่านั้นกลับไปยังไซต์งาน คนงานคนที่นั่งเก้าอี้ก็ตกพลัดลงมาจากหลังคาบ้านเสียชีวิตอย่างน่าสยดสยอง
นอกจากนี้ ยังมีชายคนหนึ่งมาแขวนคอตายอยู่ข้างโรงแรม ต้นสายปลายเหตุคืออะไรไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ ก็คือคืนนั้นเขามานั่งดื่มบนเก้าอี้ตัวนั้นจนใกล้สว่างแล้วค่อยลุกออกไป
ในที่สุดเอิร์นชอว์จึงหมดความอดทน นำเก้าอี้ตัวนี้ไปให้พิพิธภัณฑ์เทิร์สก์ (Thirsk Museum) ในเมืองนอร์ท ยอร์กเชียร์ (North Yorkshire) พร้อมบอกให้แขวนไว้เหนือพื้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครไปนั่งและถูกคำสาปของบัสบี้เล่นงานอีก
จากหนังสือ ‘UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก’ โดย ‘ยชญ์ บรรพพงศ์’ และ ‘ธัญวัฒน์ อิพภูดม’
ภาพ: พันธชา ละอองจันทร์
powerism salmonbooks untitledcase worldwartools ศิลปะของความผิดหวัง อาคิเต็กเจอ