จะมีอะไรน่าตื่นเต้นเท่ากับเรื่องราวจากชีวิตจริงของคน
หลังจากเราไปไล่ดูหนังสือหมวดเรื่องจริงที่เคยตีพิมพ์ ก็พบว่าเรื่องเล่าส่วนใหญ่เต็มไปด้วยเรื่องราวของบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ วันนี้เราเลยถือโอกาสหยิบเรื่องราวบางส่วนมาเล่าเพื่อเรียกน้ำย่อยให้กับคุณผู้อ่าน
พร้อมแล้วไปดูกัน
อิวะ โทกุริ
นักจัดรายการวิทยุผู้ฉาวโฉ่ที่สุดในสงครามแปซิฟิก
แอน หรือ Orphan Ann เป็นชื่อในการออกอากาศของ อิวะ โทกุริ (Iva Toguri) ชาวญี่ปุ่นสัญชาติอเมริกันที่จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นนักจัดรายการที่ฉาวโฉ่ที่สุดในสงครามแปซิฟิก
โทกุริเกิดที่สหรัฐฯ เป็นลูกสาวของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นฐานไปตามหาอนาคตใหม่ในลอสแอนเจลิส ก่อนที่พ่อแม่จะส่งเธอกลับญี่ปุ่นไปช่วยดูแลญาติที่กำลังป่วยหนัก และหลังจากนั้นไม่นานสหรัฐฯ ก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางกลับลอสแอนเจลิสได้
โทกุริได้งานใหม่ในปี 1943 เป็นพนักงานพิมพ์ดีดของ Radio Tokyo (สถานีโทรทัศน์ NHK ในปัจุบัน) ทำให้เธอได้พบกับพันตรี ชาร์ลส์ คูเซนส์ (Charles Cousens) นักโทษทหารชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกทางญี่ปุ่นบังคับให้จัดรายการวิทยุในภาษาอังกฤษเพื่อทำลายขวัญทหารสัมพันธมิตร
คูเซนส์และเพื่อนร่วมงานคิดรายการที่ว่าขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า The Zero Hour มีความยาว 75 นาที ออกอากาศแค่ในทวีปอเมริกาเหนือและตอนใต้ของแปซิฟิก ความเกรียงไกรของญี่ปุ่นที่ถูกทำให้เวอร์เกินจริง กับน้ำเสียงของผู้ประกาศหญิงที่ดูเล่นใหญ่ตลอดเวลา ทำให้รายการที่ว่ามีสภาพเป็นรายการขบขันมากกว่าช่องทางทำลายขวัญกำลังใจทหารอเมริกัน จนโทกุริถูกตั้งชื่อเล่นให้อย่างลับๆ ว่า ‘กุหลาบโตเกียว’ (Tokyo Rose)
หลังญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม โทกุริให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอเมริกันในฐานะอดีต Tokyo Rose ผู้โด่งดัง การเปิดเผยตัวของเธอเป็นที่สนใจในญี่ปุ่น และนั่นทำให้เธอถูกติดตามตัวจนพบ ก่อนถูกจับ และตัดสินจำคุกโดยฝ่ายอเมริกันที่เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นอยู่ในขณะนั้น ข้อหาของเธอคือ ให้การสนับสนุนกิจการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกองทัพญี่ปุ่น
หลังได้รับการปล่อยตัวในปี 1948 โทกุริเดินทางกลับบ้านเกิดในสหรัฐฯ แต่ตอนนั้นกระแสต่อต้านชาวญี่ปุ่นรุนแรงมาก เธอถูกจับอีกครั้งในข้อหาทรยศต่อชาติ เพราะเธอถือสัญชาติอเมริกัน แต่กลับทำงานให้ญี่ปุ่นที่เป็นศัตรู
เรื่องราวของโทกุริยังไม่จบ ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ใน ‘WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ’ โดย ‘มนสิชา รุ่งชวาลนนท์’
หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล
คนไทยที่เกือบได้ขึ้นเรือไททานิก
ในปี 1911 หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ต้องเข้ารับตำแหน่งอัครราชทูตพิเศษประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ ท่านชายพร้อมครอบครัวออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยการโดยสารเรือนวนตุงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อไปต่อเรือเออร์เนส ไซมอนที่ท่าเรือสิงคโปร์มุ่งสู่ปลายทางคือเกาะอังกฤษ
เมื่อหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์เดินทางถึงกรุงลอนดอน ก็พำนักอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะออกเดินทางไปรายงานตัวกับ วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น
ระหว่างประทับ ณ กรุงลอนดอน ท่านชายสั่งตัดชุดสูทยูนิฟอร์มสำหรับสวมใส่ในงานพิธี พร้อมทั้งจองตั๋วเรือเดินสมุทรลำหมาดใหม่โดยสารไปสู่สหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายน 1912 ซึ่งวันที่จะออกเดินทาง ท่านชายต้องไปยังร้านตัดสูทแห่งนั้นก่อน และนั่นทำให้แผนการที่ตระเตรียมไว้ต้องสะดุดลง เนื่องจากช่างประจำร้านตัดสูทยูนิฟอร์มไม่ทันตามกำหนด หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์จึงจำเป็นต้องยกเลิกตั๋วเรือโดยสาร ซึ่งมีกำหนดออกจากท่าเรือเซาแธมป์ตันตอนเที่ยงวันพุธที่ 10 เมษายน
แต่การตัดสินใจแก้ปัญหากลับกลายเป็นโชคดีของท่านชาย เพราะชื่อของเรือลำที่จองตั๋วไว้คือ ‘อาร์เอ็มเอส ไททานิก’ เรือเดินสมุทรลำใหญ่ที่สุดของโลก ที่เกิดอุบัติเหตุแฉลบภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราวหกร้อยกิโลเมตร จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมมีผู้เสียชีวิตราว 1,500 ราย
ติดตามเรื่องราวของคนไทยที่คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของโลกเพิ่มเติมได้ใน ‘THAIS IN WORLD HISTORY ผจญไทยในแดนเทศ’ โดย ‘อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’
ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน
นักเตะจอมเจ็บไข้ได้ป่วย
ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน (Darren Anderton) กองกลางชาวอังกฤษผู้โด่งดังกับสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์สในยุค 90s เป็นต้นตำรับของนักเตะจอมเจ็บไข้ได้ป่วย เขาโดนสื่ออังกฤษตั้งฉายาให้ว่า ‘Sicknote’ ที่แปลว่า จดหมายลาป่วย หรือถ้าแปลให้แรงกว่านั้นก็คือ ‘ไอ้แข้งขี้โรค’ เหตุผลก็เพราะเขาแทบไม่เคยได้ลงสนามติดกันเกินกว่าห้านัด ลงเล่นได้ไม่นาน สักพักก็เจ็บต้องพักรักษาตัว พอหายกลับมา เล่นได้แป๊บเดียวก็เจ็บ วนไปวนมาอยู่แบบนี้ ทำให้ปีหนึ่งเขาลงเล่นได้ไม่กี่นัด จนสโมสรต้นสังกัดเริ่มเอือมระอา
แต่อันที่จริงก่อนที่แอนเดอร์ตันจะเจ็บรัวๆ แบบนี้ สื่อเคยยกย่องให้เขาเป็นดาวรุ่งอัจฉริยะ เป็นนักเตะที่มีความเร็ว เทคนิคดี จ่ายบอลคม คือครบเครื่องมาก เล่นปีกขวาเป็นตำแหน่งหลัก แต่ก็เล่นมิดฟิลด์ตัวกลางได้ด้วย
ย้อนกลับไปในปี 1992 เขาเป็นดาวรุ่งที่ระเบิดฟอร์มสุดยอดกับพอร์ตสมัธ ทีมระดับดิวิชั่น 2 ของอังกฤษ จนทำให้สเปอร์สไม่ลังเลที่จะควักเงินสองล้านปอนด์ซื้อเขามาร่วมทัพ และในปี 1995 แมนฯ ยูไนเต็ดก็เคยยื่นข้อเสนอ เพื่อขอกระชากตัวแอนเดอร์ตันไปเข้าทีม แต่สเปอร์สไม่ยอมขาย พร้อมต่อสัญญาฉบับใหม่ให้แอนเดอร์ตันเป็นนักเตะที่รับค่าเหนื่อยแพงที่สุดของสโมสรในเวลานั้น (ทีมปีศาจแดงได้แต่เจ็บใจ เลยต้องปั้นดาวรุ่งที่ชื่อเดวิด เบ็คแฮม ขึ้นมาแทน)
ด้วยเหตุนี้ ประธานสโมสรของสเปอร์สในตอนนั้นจึงไม่พอใจถ้าแอนเดอร์ตันไม่ได้ลงสนาม จะไปไล่บี้กดดันนักกายภาพบำบัด ว่าทำไมถึงทำให้แอนเดอร์ตันลงเล่นไม่ได้ นักกายภาพบำบัดไม่อยากทำให้เจ้าของทีมไม่พอใจ เวลาแอนเดอร์ตันฟิตแค่ 70-80 เปอร์เซนต์ ก็จะบอกว่าสามารถลงเล่นได้ ซึ่งตัวแอนเดอร์ตันเอง แม้จะรู้สึกเจ็บ แต่เมื่อนักกายภาพบอกแบบนั้น ก็ไม่อยากจะสงสัย ทนฝืนเล่นไป
ปี 1997 สเปอร์สเปลี่ยนโค้ชใหม่เป็น คริสเตียน โกรสส์ (Christian Gross) กุนซือชาวสวิตเซอร์แลนด์ โกรสส์เข้ามาคุมทีมในช่วงที่สเปอร์สต้องลุ้นหนีตาย เขาเลยกดดันมาก ต้องส่งนักเตะที่ดีที่สุดลงสนามทุกเกม แปลว่าแอนเดอร์ตันโดนคำสั่งให้ต้องลงเล่น และก็เหมือนเดิมคือเขาไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าบอก แม้ว่าตัวเองจะไม่สมบูรณ์เต็มร้อย
ในนัดเจอกับแอสตัน วิลล่า ทั้งๆ ที่มีอาการเจ็บ แต่แอนเดอร์ตันก็มีชื่อเป็นตัวสำรอง แถมยังต้องลงเล่นราวๆ ยี่สิบนาที สุดท้ายเจ้าตัวก็ทนสภาพเลวร้ายไม่ไหว ต้องเข้ารับการสแกน ซึ่งแพทย์ก็ตกใจมาก เพราะกล้ามเนื้อโคนขาหนีบของเขาฉีกขาดสามครั้งในสัปดาห์เดียว แอนเดอร์ตันต้องพักไปสามเดือนเต็มๆ
การบาดเจ็บครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้กับอาการเจ็บออดๆ แอดๆ ของเขา และจากวันนั้น แอนเดอร์ตันก็ไม่เคยกลับไปสู่จุดพีคในอาชีพนักเตะได้อีกเลย
ติดตามเรื่องราวของนักกีฬาที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ผลการแข่งขันในสนามแบบนี้ได้ใน ‘SPORTLIGHT เกมนอกสนาม’ โดย ‘วิศรุต’
คริสโตเฟอร์ ดันช์
หมอผู้นำพาคนไข้ไปสู่ความตาย
คริสโตเฟอร์ ดันช์ (Christopher Duntsch) เป็นคุณหมอผู้มีอนาคตสดใส เพราะจบการศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์ชื่อดังประจำเมืองเมมฟิสในสหรัฐฯ และคณาจารย์พากันยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนักศึกษาแพทย์ที่เรียนเก่งมากคนหนึ่ง
ดันช์มีความฝันว่าอยากทำงานในฐานะประสาทศัลยแพทย์ (neurosurgist) มีหน้าที่หลักๆ คือช่วยเหลือคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องระบบประสาท ไขสันหลัง และสมอง ซึ่งในช่วงเวลาที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่นี้เองที่เขาเริ่มได้รับโอกาสให้ผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหลายต่อหลายคน
แต่แล้วช่วงปี 2006 ดันช์ซึ่งในตอนนั้นกำลังศึกษาวิชาแพทย์และความรู้ด้านการผ่าตัดที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซี ก็ถูกเพื่อนและหมอในโรงพยาบาลสังเกตเห็นว่าเขาเริ่มมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม บางครั้งก็พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ฟังแล้วจับใจความไม่ได้ เพื่อนหลายคนจึงลงความเห็นว่าดันช์น่าจะแอบไปเสพยาเสพติดจำพวกโคเคนจนทำให้การรับรู้และการตัดสินใจของเขาแย่ลง
เมื่อสังเกตอาการจนแน่ใจแล้วว่าดันช์น่าจะทำงานต่อไปไม่ได้แน่ๆ บรรดาแพทย์จึงพยายามเรียกร้องให้ดันช์เข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อพิสูจน์ว่าเขามีสารเสพติดอยู่ในตัวจริงหรือเปล่า แต่ดันช์ก็สามารถเอาตัวรอดจากการกดดันของกลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลสำเร็จ และไม่ต้องเข้ารับการตรวจสอบสารเสพติดในร่างกาย (ที่อาจจะทำให้เส้นทางการเป็นหมอของเขาต้องยุติลง)
ช่วงปี 2011 ดันช์ได้รับเลือกให้ไปประจำสถาบันการแพทย์ในเมืองนอร์ทดัลลัส เขาได้ทำงานเป็นแพทย์ในห้องผ่าตัดตามที่หวังไว้ แต่ขณะเดียวกันนิสัยด้านแย่ๆ ของเจ้าตัวก็เริ่มปรากฏ หมอที่ทำงานร่วมกับดันช์บ่นว่า เขามักพูดจาโอ้อวดความสามารถ โดยบอกว่าเขาคือหมอที่เก่งที่สุดในเมือง แต่ดรามาในที่ทำงานก็ยังถือว่าร้ายแรงน้อยกว่าสิ่งที่เขาทำกับผู้ป่วยในห้องผ่าตัด
มีนาคม ปี 2012 ผู้หญิงคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกบันไดบ้าน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ดันช์ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ แต่แทนที่การผ่าตัดจะลุล่วงไปได้ด้วยดี ผู้ป่วยกลับต้องเผชิญอาการเสียเลือดอย่างหนัก เพราะดันช์ไปผ่าตัดถูกหลอดเลือดบริเวณกระดูกสันหลังจนทำให้เธอต้องเสียชีวิต
ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาบริเวณกระดูกคอเพื่อแก้ปัญหาเรื่องปวดคอและไหล่ การผ่าตัดครั้งนี้ไม่ต่างจากครั้งก่อนหน้า คือดันช์ผ่าตัดโดนหลอดเลือดตรงกระดูกสันหลังส่งผลให้ผู้ป่วยเสียเลือดมาก แต่โชคยังดีที่หมอคนอื่นช่วยชีวิตเธอเอาไว้ได้ แต่ต่อให้รอดพ้นจากการเสียชีวิตในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยรายนี้ก็ต้องอยู่ในขั้นโคม่า ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเป็นผักอยู่หลายวัน ก่อนที่ครอบครัวของเธอจะตัดสินใจให้หมอเอาเครื่องช่วยหายใจออกเพื่อให้เธอจากโลกนี้ไปอย่างสงบ
คำอธิบายที่ดันช์มีต่อสองกรณีนี้คือไม่ได้ตั้งใจ แถมยังอ้างด้วยว่าเป็นอุบัติเหตุ เพราะเขาเห็นอวัยวะสำคัญของผู้ป่วยไม่ชัดเจน
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อหลายสำนักว่าในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้งสองรายแล้ว ดันช์มีส่วนทำให้ผู้ป่วยกว่าสามสิบรายต้องกลายเป็นอัมพาตหรือไม่ก็บาดเจ็บสาหัส
ปี 2014 กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดของดันช์ตัดสินใจยื่นเรื่องฟ้องร้องทางกฎหมายกับโรงพยาบาลที่ดันช์สังกัดอยู่ โดยศาลได้ตัดสินว่าดันช์ผิดจริงในข้อหาตั้งใจทำร้ายร่างกายผู้อื่นและต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตจากคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ติดตามเรื่องชวนขนหัวลุกที่เกิดจากการกระทำของคนด้วยกันเองเพิ่มเติมได้ใน ‘UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก’ โดย ‘ยชญ์ บรรพพงศ์’ และ ‘ธัญวัฒน์ อิพภูดม’
เคที โบวแมน
สตรีผู้อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายหลุมดำครั้งแรกของโลก
เคที โบวแมน (Katie Bouman) เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังการถ่ายภาพหลุมดำครั้งแรกของโลก ทั้งที่เธอไม่ได้เป็นนักดาราศาสตร์ แต่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
โบวแมนเกิดที่เวสต์ ลาฟาเยตต์ รัฐอินเดียน่า ด้วยความที่ ชาร์ลส์ โบวแมน (Charles Bouman) พ่อของเธอเป็นอาจารย์สอนวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูว์ จึงทำให้เธอได้ซึมซับความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก
เมื่อจบมัธยมในปี 2007 โบวแมนก็รู้จักกับ Event Horizon Telescope โครงการศึกษาหลุมดำที่คิดค้นกล้องโทรทรรศน์ซึ่งมีศักยภาพเทียบเท่ากล้องโทรทัศน์วิทยุที่มีขนาดใหญ่เท่าโลก โดยการใช้ภาพถ่ายจากเครือข่ายกล้องโทรทัศน์วิทยุทั่วโลก มาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ ซึ่งต่อมาเธอก็ได้เข้าร่วมทีมและเป็นผู้นำเขียนอัลกอริทึมในปี 2016
สามปีถัดมาในวันที่ 10 เมษายน 2019 กล้อง Event Horizon Telescope ก็ช่วยให้เราได้เห็นภาพหลุมดำขนาดมหึมาใจกลางกาแล็กซีเมสซิเยร์ 87 เป็นครั้งแรก ซึ่งมีมวลขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 6.5 พันล้านเท่า และห่างไกลจากโลกราว 54 ล้านปีแสง
ในอดีต โลกวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสายตานักดาราศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย แต่โบวแมนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกคนมีความสำคัญไม่แพ้กัน ถ้ารู้จักใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของตัวเอง
ติดตามเรื่องของผู้คนที่มีบทบาทในการเปลี่ยนโลกได้ใน ‘THE PEOPLE เรื่องเล่า ‘คน’ เปลี่ยนโลก’ ผลงานของ ‘ทีมนักเขียน THE PEOPLE’ ที่ตีพิมพ์โดย Loupe Editions สำนักพิมพ์เพื่อนบ้านของแซลมอนนั่นเอง
history non-fiction salmonbooks