อาคิเต็ก-เจออะไร: ส่องความเป็นไทยที่อาคิเต็ก (ไป) เจอ

27 กรกฎาคม 2021 | by salmonbooks

พอไม่ได้ออกไปไหนนานๆ ทุกคนอาจกำลังรู้สึกเบื่อ เราเลยจะให้ ‘ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’ สถาปนิกขี้สงสัยพาทุกคนไปสำรวจสิ่งปลูกสร้างและข้าวของในเมืองไทย ผ่านเนื้อหาที่คัดมาจากหนังสือ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ว่าสถาปัตย์ที่เราเจอะเจอมันถูกสร้างมาด้วยแนวความคิดแบบไหน ตอบโจทย์พฤติกรรมแบบใด แล้วทำไมสิ่งใกล้ตัวเหล่านี้ถึงได้กลายเป็นเอกลักษณ์ และมีความเป็นไทยแฝงอยู่มากเหลือเกิน

อาคิเต็ก-เจอซุ้มวินมอเตอร์ไซค์

ช่วงที่ผ่านมา เทรนด์การออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตย์ที่เรียกว่า ‘โคเวิร์กกิ้งสเปซ’ (co-working space) หรือพื้นที่สำหรับนั่งทำงาน ซึ่งไม่ใช่ทั้งร้านกาแฟและไม่ใช่ทั้งออฟฟิศ เป็นที่นิยมมากสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ แต่ ‘คอยเวิร์กกิ้งสเปซ’ หรือพื้นที่สำหรับนั่งคอยลูกค้าเรียกไปทำงานของเหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็เป็นอาชีพฟรีแลนซ์เช่นกัน ดูจะมีจำนวนมากกว่า

พื้นที่ที่เราพบเห็นได้ตามปากซอยเหล่านั้น ถือเป็นงานอินทีเรียดีไซน์กลางแจ้งที่จัดสรรพื้นที่บนทางเท้าให้กลายเป็นห้องนั่งเล่นเพื่อรอลูกค้า โดยนอกจากจะให้ความสำคัญกับการออกแบบที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ และพื้นที่แขวนป้ายเลขคิวแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็สำคัญ เช่น เก้าอี้พลาสติกที่เอาไว้นั่งคอย (บางวินฯ ยกโซฟามาเลย) กระติกน้ำขนาดใหญ่ไว้แบ่งกันจิบน้ำเย็นดับกระหาย กระทั่งพวกสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ตั้งแต่วิทยุ เครื่องเสียง โทรทัศน์ และที่มักขาดไม่ได้ก็คือแผ่นเกมกระดานหมากรุก เอาไว้สร้างความผ่อนคลายให้เหล่านักบิดระหว่างคอยเวิร์กกิ้ง เหมือนเป็นห้องนั่งเล่นจริงๆ

ถ้าลองสังเกตดีเทลดีๆ เราจะเห็นความคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ สะท้อนอยู่ในการจัดแจงออกแบบห้องนั่งเล่นในแต่ละซุ้ม ซึ่งเหล่าพี่วินฯ พิสูจน์ให้เห็นว่าห้องนั่งเล่นไม่จำเป็นต้องมีผนังหรือกำแพงกั้นก็ได้ และแม้บางเวลาเราอาจไม่เห็นตัวเหล่าพี่วินฯ แต่ซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ก็มักมีร่องรอยทั้งเก้าอี้และของใช้จิปาถะเหลือไว้ให้เห็นเสมอ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการใช้งานทางสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน เป็นการยืนยันว่าพื้นที่สาธารณะตรงนี้ถูกใช้งานจริง โดยกลุ่มคนที่คอยให้บริการเพื่อแก้ปัญหาการเดินทาง ซุ้มวินมอเตอร์ไซค์จึงอาจถือว่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากกลไกของการพัฒนาเมืองที่แท้จริงเลยล่ะ

อาคิเต็ก-เจอศาลพระภูมิ

คนไทยรับการบูชาเทพเทวดามาจากศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ดังนั้น การสร้างวิมานหรือการตั้งศาลให้เทพเทวดามาอาศัยเพื่อกราบไหว้ จึงยืมรูปแบบสถาปัตยกรรมหรืองานประดับของวิหารเทวาลัยที่โด่งดังของจังหวัดต่างๆ มาใช้ไฟฉายย่อส่วนให้เล็กลง เช่น พระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี หรือพระราชวังบางปะอินที่อยุธยา

เล่ากันว่าการออกแบบศาลยุคแรกๆ ทางกรมศิลปากรส่งช่างฝีมือกระจายตัวไปตามที่ต่างๆ เพื่อสร้างและกำหนดรูปแบบศาลเทพเทวดาที่ถูกต้องตามขนบประเพณีให้เป็นตัวอย่างกับร้านขายศาลทั่วไป ก่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตย์ศาลทรงมาตรฐาน และตกทอดเป็นมรดกมาถึงทุกวันนี้

สิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดรูปแบบศาลก็คือ ยศถาบรรดาศักดิ์ของเทพเทวดาที่จะมาประทับ โดยทั่วไปแล้วศาลจะแบ่งได้เป็นสามประเภท

  1. ศาลเทพ: เจ้าของวิมานนี้คือเหล่าเทพชั้นสูงของฝั่งพราหมณ์ เรามักเรียกศาลเทพเหล่านี้ว่า ‘ศาลพระพรหม’ เนื่องด้วยว่าท่านเป็นเทพยอดนิยมในการเชิญมาบูชา ขออะไรก็มักจะได้รับสิ่งนั้น คนทั่วไปจึงนิยมตั้งท่านไว้บูชาหน้าสำนักงานหรืออาคารสำคัญ
  2. ศาลพระภูมิ: ศาลนี้จะเป็นของใครไม่ได้นอกจากองค์พระภูมิ ตามความเชื่อนั้นองค์พระภูมิมีฐานะเป็นรุกขเทวดา หรือเทวดาที่สถิตตามต้นไม้ คำว่า ภูมิ หมายถึงดิน องค์พระภูมิสำหรับคนไทยก็คือเทวดาที่ปกปักรักษาที่ดินนั้นๆ
  3. ศาลเจ้าที่: ศาลนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าศาลตายาย ซึ่งก็คือบ้านของดวงวิญญาณที่อยู่ในสถานที่ตรงนั้นมาก่อน หรือผีเจ้าที่นั่นเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นศาลประเภทไหน ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็ต้องมีความสูงของตัวศาลเท่ากับตำแหน่งระดับสายตาของเจ้าของบ้าน ส่วนระดับแท่นวางจานของไหว้ก็ต้องอยู่เหนือริมฝีปากของเจ้าของบ้าน และตามคติความเชื่อของการตั้งศาลก็คือต้องมีการทำแท่นฐานรองพื้นศาลด้วย โดยการทำแท่นนี้จะเป็นตัวช่วยในการปรับระดับความสูงศาลให้เข้ากับสรีระเจ้าของบ้าน จึงไม่แปลกที่เราอาจจะรู้สึกว่าบางศาลนั้นสูงกว่าระดับสายตาของเรา

ถ้าวิเคราะห์ในมุมของสถาปนิก ความสูงระดับนี้จะสะดวกเมื่อยืนจุดธูปและเอื้อมมือไปปักในกระถาง เห็นและหยิบจับของเซ่นไหว้ภายในศาลได้ง่าย รวมถึงได้สบตากับเทพเทวดาที่เราบูชาอย่างเต็มที่เวลาขอพร

ขนาดพื้นที่รอบศาลก็น่าสนใจ เนื่องจากต้องมีการวางอุปกรณ์ตกแต่งศาลให้มีความสมบูรณ์และขลังมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหล่าตุ๊กตาบริวาร ตั้งแต่พระราม นางรำ สนมบ่าวชาย-หญิง ม้าและช้างที่เป็นพาหนะ รวมถึงวางโอ่งเงินโอ่งทองไว้ช่วยเรื่องเก็บเงินทอง ตบท้ายด้วยการพาดพวงมาลัยและพันผ้าสามสีเพื่อความลงตัว ซึ่งช่างที่ผลิตศาลก็จะคิดระยะโดยรอบเผื่อไว้ให้วางสิ่งเหล่านี้เพียงพอมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบของศาลจะมีให้เลือกมากมายตามความพอใจ แต่ความพอใจนั้นก็อาจต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นๆ ด้วย เช่น อาจารย์ประจำตระกูล หรือซินแสประจำบ้าน นั่นทำให้เราอาจได้ศาลที่หน้าตาไม่ถูกใจเท่าไร แต่ก็จะได้ความสบายใจที่เทวดาประจำบ้านของเราได้อยู่สบายและถูกหลักตามตำรา

อาคิเต็ก-เจอร้านขายของชำ

ขณะที่เทรนด์การออกแบบร้านค้าทั่วโลกจะค่อนไปทางมินิมอล นิยมตกแต่งภายในสไตล์ชีวิตดีแบบฮุกกะ (Hygge) ซึ่งเป็นการออกแบบที่มักใช้วัสดุไม้จริง มักจัดแสงด้วยแสงไฟโคมเหลืองนวลแบบวอร์มไวต์ หรือวิถีจัดการพื้นที่จากอิทธิพลของ ‘มาริเอะ คนโดะ’ (Marie Kondo) เจ้าของหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว (The Life-Changing Magic of Tidying Up) ที่กล่าวว่า หัวใจของการจัดพื้นที่นั้น คือการไม่สะสมสิ่งของหรือเอาสินค้ามาดองจนเยอะเกิดเหตุ เพราะความสวยงามของบ้านหรือร้านจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพื้นที่มีอากาศหายใจ และมีพื้นที่ว่างพอให้แสงธรรมชาติพาดผ่านลงมา 

แต่พื้นที่ร้านขายของแบบไทยนั้นโนสนโนแคร์ แซงทางโค้งเทรนด์การออกแบบเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง โฟกัสเพียงว่าจะวางของในพื้นที่แคบๆ ให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้โดยไม่ต้องสนพื้นที่ว่างใดๆ แถมไม่สนด้วยว่าสินค้าจะเป็นหมวดหมู่เดียวกันหรือไม่ 

การจัดการพื้นที่ให้แออัดแต่กลับสามารถใช้งานได้จริง นับเป็นเรื่องเซอร์เรียลสำหรับการออกแบบ และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเมื่อได้เห็นร้านที่พื้นที่อัดแน่นมากๆ แต่ก็ยังค้าขายได้อย่างช่ำชอง เช่น ร้านหนึ่งมีของเยอะเกินจนขึ้นไปเอาของที่สต็อกไว้ชั้นบนลำบาก ทำให้เวลาเติมของหน้าร้านต้องเอาเชือกผูกลังใส่ของแล้วโยนลงมาทางหน้าต่างชั้นสอง โดยมีคนรอรับอยู่ที่หน้าร้านด้านล่าง และไม่ลืมที่จะชี้แจงลูกค้าบริเวณนั้นด้วยความเคารพว่า “ระวังของจากด้านบนนะครับ” หรือว่าร้านขายตุ๊กตาที่วางสินค้ากองกับพื้นเยอะเกินไปจนไม่มีที่ให้คนขายยืน ซึ่งวิธีจัดการเอาตัวเข้าไปในร้านของพ่อค้าแม่ขายก็ง่ายมากๆ คือปีนขึ้นไปนั่งทับบนตุ๊กตาเลย พอมีคนมาเลือกซื้อก็กระโดดลงมาขาย จบ 

แม้ว่าความคอลลาจพื้นที่ขายของแบบไทยๆ จะดูอีนุงตุงนัง รกไร้ระเบียบ แต่เราก็อยู่กับมันได้อย่างสงบสุข และก็สนุกกับการได้คุ้ยของในพื้นที่อันคับแคบพร้อมกับการหลบรถมอเตอร์ไซค์ไปด้วย คล้ายสำนวนที่ว่า คับที่อยู่ได้ แต่คับใจอยู่ยาก

สถาปัตยกรรมอาจเป็นเพียงพื้นที่ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของพื้นที่รกวุ่นวายจนบดบังงานสถาปัตยกรรมจึงถือเป็นเรื่องปกติสุดๆ เพียงแต่ถ้ากิจกรรมตรงนั้นเกิดจากคนไทย ก็ต้องเป็นพวกเราคนไทยที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาพื้นที่แบบนี้ให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้นไปด้วยกัน เพื่อที่พวกเราจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์แบบนี้เอาไว้ได้ในอนาคต

อาคิเต็ก-เจอเรือคลองแสนแสบ

ขณะที่เทรนด์การออกแบบร้านค้าทั่วโลกจะค่อนไปทางมินิมอล นิยมตกแต่งภายในสไตล์ชีวิตดีแบบฮุกกะ (Hygge) ซึ่งเป็นการออกแบบที่มักใช้วัสดุไม้จริง มักจัดแสงด้วยแสงไฟโคมเหลืองนวลแบบวอร์มไวต์ หรือวิถีจัดการพื้นที่จากอิทธิพลของ ‘มาริเอะ คนโดะ’ (Marie Kondo) เจ้าของหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว (The Life-Changing Magic of Tidying Up) ที่กล่าวว่า หัวใจของการจัดพื้นที่นั้น คือการไม่สะสมสิ่งของหรือเอาสินค้ามาดองจนเยอะเกิดเหตุ เพราะความสวยงามของบ้านหรือร้านจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพื้นที่มีอากาศหายใจ และมีพื้นที่ว่างพอให้แสงธรรมชาติพาดผ่านลงมา 

แต่พื้นที่ร้านขายของแบบไทยนั้นโนสนโนแคร์ แซงทางโค้งเทรนด์การออกแบบเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง โฟกัสเพียงว่าจะวางของในพื้นที่แคบๆ ให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้โดยไม่ต้องสนพื้นที่ว่างใดๆ แถมไม่สนด้วยว่าสินค้าจะเป็นหมวดหมู่เดียวกันหรือไม่ 

การจัดการพื้นที่ให้แออัดแต่กลับสามารถใช้งานได้จริง นับเป็นเรื่องเซอร์เรียลสำหรับการออกแบบ และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเมื่อได้เห็นร้านที่พื้นที่อัดแน่นมากๆ แต่ก็ยังค้าขายได้อย่างช่ำชอง เช่น ร้านหนึ่งมีของเยอะเกินจนขึ้นไปเอาของที่สต็อกไว้ชั้นบนลำบาก ทำให้เวลาเติมของหน้าร้านต้องเอาเชือกผูกลังใส่ของแล้วโยนลงมาทางหน้าต่างชั้นสอง โดยมีคนรอรับอยู่ที่หน้าร้านด้านล่าง และไม่ลืมที่จะชี้แจงลูกค้าบริเวณนั้นด้วยความเคารพว่า “ระวังของจากด้านบนนะครับ” หรือว่าร้านขายตุ๊กตาที่วางสินค้ากองกับพื้นเยอะเกินไปจนไม่มีที่ให้คนขายยืน ซึ่งวิธีจัดการเอาตัวเข้าไปในร้านของพ่อค้าแม่ขายก็ง่ายมากๆ คือปีนขึ้นไปนั่งทับบนตุ๊กตาเลย พอมีคนมาเลือกซื้อก็กระโดดลงมาขาย จบ 

แม้ว่าความคอลลาจพื้นที่ขายของแบบไทยๆ จะดูอีนุงตุงนัง รกไร้ระเบียบ แต่เราก็อยู่กับมันได้อย่างสงบสุข และก็สนุกกับการได้คุ้ยของในพื้นที่อันคับแคบพร้อมกับการหลบรถมอเตอร์ไซค์ไปด้วย คล้ายสำนวนที่ว่า คับที่อยู่ได้ แต่คับใจอยู่ยาก

สถาปัตยกรรมอาจเป็นเพียงพื้นที่ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของพื้นที่รกวุ่นวายจนบดบังงานสถาปัตยกรรมจึงถือเป็นเรื่องปกติสุดๆ เพียงแต่ถ้ากิจกรรมตรงนั้นเกิดจากคนไทย ก็ต้องเป็นพวกเราคนไทยที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาพื้นที่แบบนี้ให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้นไปด้วยกัน เพื่อที่พวกเราจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์แบบนี้เอาไว้ได้ในอนาคต

อาคิเต็ก-เจอที่ห้ามจอด

เป็นเรื่องปกติที่น่าแปลกว่า ที่จอดรถริมทางสาธารณะในบ้านเรา เพียงวางวัตถุใดๆ ลงไป พื้นที่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นที่จอดไม่ได้ทันทีในเชิงปฏิบัติ เหมือนเป็นที่จอดรถฟรีที่ไม่ฟรีจริง การสร้างพื้นที่ให้เกิดสัญญะโดยไม่มีตัวอักษรว่าตรงนี้ห้ามจอดนะครับ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในเชิงการสร้างพื้นที่รูปแบบหนึ่ง ว่าเราสามารถเป็นเจ้าที่เจ้าของข้างทางได้ง่ายๆ เพียงแค่วางของลงไปที่หน้าบ้านเลยหรือ

ความน่าสนใจสำหรับการได้เห็นที่กั้นป้องกันการฟรีพาร์กกิ้งโดยทั่วไปนั้น อยู่ตรงที่เราจะพบว่าวิธีออกแบบนั้นมีลักษณะเป็นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ ซึ่งค่อนข้างมีความหลากหลายและมีความครีเอทีฟประมาณหนึ่ง จากการที่ได้ไปสำรวจและสังเกตมา ทำให้แบ่งประเภทได้ดังนี้

  1. แท่งไม้หรือท่อพีวีซี ที่ด้านฐานหล่อเป็นก้อนคอนกรีตทรงถัง: รูปแบบนี้จะเป็นลักษณะการกั้นที่จอดแบบเบสิก นอกจากดูเข้าใจง่ายว่าตรงนี้ห้ามจอด ด้วยตัวคอนกรีตก้อนที่ปลายพื้นเองค่อนข้างมีน้ำหนัก ทำให้คนที่คิดจะมายกออกต้องคิดอีกทีว่าควรยกไหม เพราะมันหนัก
  2. แท่นกั้นประกอบแบบดีไอวาย: ที่กั้นอีกรูปแบบที่เจอบ่อยๆ คาดว่าเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องจากข้อ 1 เพราะเป็นการประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาเอง เพียงแต่ไม่ได้เลือกวัสดุเป็นคอนกรีต แต่จะนำเศษไม้เหลือใช้หรือเศษเหล็กต่างๆ มาสร้างหน้าที่ใหม่อันทรงคุณค่า
  3. เก้าอี้ไม้หรือเก้าอี้พลาสติก: นอกจากเก้าอี้จะมีไว้นั่งแล้ว ทั้งเก้าอี้ไม้และเก้าอี้พลาสติกยังสามารถเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ซึ่งในการสร้างพื้นที่ห้ามจอดเอง เราจะพบการใช้เก้าอี้พลาสติกบ่อยมากๆ เข้าใจได้ว่ามันเบาและก็ยกไปมาง่าย ตอนไหนไม่ให้จอดก็เอามานั่ง นึกใจดีตอนไหนก็แค่ยกไปเก็บ 
  4. อุปกรณ์เบ็ดเตล็ด: หากสามข้อที่ผ่านมานั้นยากไป ก็เอาของใกล้ๆ ตัวนั่นแหละนำมาใช้ ไม่ว่าจะราวตากผ้า กระถางต้นไม้ ถังปี๊บ เศษไม้พาเลต ยางรถยนต์ หรืออะไรก็ได้ที่จะพอคิดออก

จากทั้งหมดที่ได้ออกไปสำรวจและเจอมานั้น เข้าใจได้ว่ารูปแบบเหล่านี้มักจะถูกพัฒนาและลอกเลียนวิธีการใช้งานมาจากพวกรั้วกั้นและกรวยจราจรนี่แหละ

แม้ว่าจะไม่สามารถเคาะได้ว่าวิธีการใช้วัตถุกั้นรถเหล่านี้มีความชอบธรรมแค่ไหน และด้วยวัฒนธรรมรถยนต์ส่วนตัวของบ้านเราที่มีปริมาณมาก ก็คงไปสัมพันธ์กับสาเหตุการเกิดขึ้นของพื้นที่ห้ามจอดเหล่านี้ทั่วบ้านเมือง

แต่ในเชิงรูปแบบการใช้พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมแล้ว นี่นับเป็นรูปแบบการใช้พื้นที่ที่น่าสนใจและควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาทางออกของงานออกแบบที่ดีต่อใจของทุกฝ่าย ทั้งคนอยากจอดและคนที่ห้ามจอด


architecture salmonbooks อาคิเต็กเจอ

RELATED ARTICLES

VIEW ALL