มรดกตลกคาเฟ่: ๔ ทรัพย์สินทางความฮา องค์ประกอบความฮาสามัญของตลกแบบไทยๆ

4 มิถุนายน 2019 | by salmonbooks

คุณเคยนึกสงสัยไหมว่า คณะตลกเชิญยิ้ม-ชวนชื่น รวมถึงดาวตลกอีกหลายท่านที่คุณเห็นในรายการทีวีหรือภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง พวกเขาเริ่มต้นเส้นทางสายขำขันจากไหนกัน?

ย้อนกลับไปประมาณยี่สิบปีก่อน ‘คาเฟ่’ คือแหล่งสังสรรค์ยอดนิยมยามค่ำคืน ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย คาเฟ่ยังเป็นสถานที่บ่มเพาะรูปแบบการแสดงตลก เป็นสถานที่ปล่อยของทดลองความคิดสร้างขำ เป็นสถานที่แจ้งเกิดที่เปลี่ยนให้ตลกคนหนึ่งกลายเป็นดาวตลกผู้มากชื่อเสียงและเงินทอง

น่าเสียดายที่ในเวลาต่อมา องค์ประกอบสำคัญบางอย่างของ ‘ตลกคาเฟ่’ หายไป วงการซบเซาลงถึงขีดสุด ดาวตลกแถวหน้าที่มีชื่อเสียงก็ย้ายเข้าสู่วงการบันเทิงแบบเต็มตัว บางส่วนที่ยังไม่เปลี่ยนอาชีพก็ต้องย้ายไปทำการแสดงในสถานที่อื่นๆ เช่น ร้านหมูกระทะ สถานที่ทำมาหาเลี้ยงชีพของ ‘ตกผลึก’ หัวหน้าคณะ ‘ตลกพิลึก’ ตัวละครจากนวนิยาย ‘มรดกตกผลึก’ ของ ‘จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

ว่าแต่สิ่งไหนที่หายไป และสิ่งไหนที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน? ขอเชิญทุกท่านรับชม 4 ทรัพย์สินทางความฮา องค์ประกอบความฮาสามัญของตลกแบบไทยได้ ณ บัดนี้~

ทุกวันนี้เรามีรายการตลกหลากหลายแนวให้เลือกชมอย่าง ‘เฟดเฟ่’ แก๊งเพื่อนชายคึกคะนองที่รวมตัวกันสร้างเสียงหัวเราะบนยูทูบ ตลกครีเอทีฟแบบแก๊ง ‘เสือร้องไห้’ หรือตลกซิทคอมอย่าง ‘แก๊งสามช่า’ ‘ตลก 6 ฉาก’ และ ‘บริษัทฮาไม่จำกัด’

แต่ในยุคก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนที่คอยสร้างเสียงหัวเราะด้วยรูปแบบโชว์บนเวทีที่มีเพียงไมโครโฟนและอุปกรณ์ประกอบการแสดงไม่กี่ชิ้น ทำการแสดงภายใน ‘คาเฟ่’ สถานบันเทิงที่เปรียบเสมือนกับช่องยูทูบของเหล่าตลกในปัจจุบัน คนกลุ่มนั้นจึงถูกขนานนามตามชื่อของสถานที่ทำการแสดงว่า ‘ตลกคาเฟ่’

ด้วยความที่ตลกคาเฟ่เป็นการทำแสดงสดบนเวที ไม่มีการตัดต่อ ใส่กราฟิกหรือสเปเชียลเอฟเฟกต์ใดๆ พวกเขาจึงต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวบวกกับรูปแบบการเล่นมุกเป็นทีมในการสร้างสรรค์แต่ละโชว์ ทำให้ตลกในยุคปัจจุบันยึดถือเป็นรากฐานในการเล่นตลก เพราะรูปแบบการเล่นตลกคาเฟ่นั้นเปิดกว้าง และสามารถนำไปต่อยอดแต่งเติมรายละเอียดได้มากมาย

คณะตลกคาเฟ่ที่เป็นตัวจี๊ดในยุคนั้นก็ได้แก่ ‘เด่นเด๋อเทพ’ ที่ประกอบไปด้วย เด่น ดอกประดู่, เด๋อ ดอกสะเดา และ เทพ โพธิ์งาม ‘เชิญยิ้ม’ คณะตลกที่หลายคนน่าจะรู้จักและยังสามารถรับชมความฮาได้ตามรายการโทรทัศน์ รวมถึงคณะ ‘ชวนชื่น’ ของ ‘พ่อดม’ อุดม ชวนชื่น ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมความตลกภายในครอบครัวที่ส่งทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น

เรียกได้ว่างานไหนมีพวกเขาก็ต้องมีขำกลิ้งจนตกเก้าอี้

ลองนึกถึงเวลาที่เราเล่นมุกกับเพื่อนแล้วไม่มีใครช่วยรับ-ส่งมุกสิ… แค่คิดก็จืดสนิทแล้วใช่มั้ย?

อย่างที่บอกไปว่าการเล่นมุกหรือเล่นตลกคาเฟ่ให้ประสบความสำเร็จนั้น ความสามารถเฉพาะตัวก็สำคัญ แต่การทำงานเป็นทีมจะช่วยให้ทุกอย่างไหลลื่นลงล็อก จึงทำให้เกิดระบบการเล่นตลกแบบ ‘ปู ชง ตบ ขยี้’ ที่มาจากลำดับการรับ-ส่งมุกระหว่างคน 2 คนขึ้นไป ซึ่งแต่ละคณะก็มักจะกำหนดหน้าที่ประจำให้กับสมาชิกแต่ละคนไว้ด้วย โดยในปัจจุบันก็ยังคงเห็นรูปแบบการเล่นตลกเช่นนี้อยู่

ถ้าอยากรู้ว่าต้องปูชงตบขยี้กันยังไง ลองดูตัวอย่างมุกจากหนังสือ ‘มรดกตกผลึก’ นวนิยายจังหวะสามช่าที่ว่าด้วยชีวิตของตลกหนุ่มผู้ได้รับมรดกแบบไม่คาดคิด (เอ้า ขายของเฉย) ประกอบการทำความเข้าใจ

A: “เห็นคุณคนนี้แต่งตัวธรรมดาๆ นี่จริงๆ ผ้าขี้ริ้วห่อขี้ เอ้ย…ห่อทองนะครับเนี่ย …ล่าสุดก็เพิ่งได้รับมรดกมาหลังหนึ่ง (ปู)
B: “คฤหาสน์?” (ชง)
A: “เปียโน! “(ตบ)
B: “สู้คนนี้ไม่ได้ คุณตกผลึก ได้มรดกมาหลายล้านปอนด์” (ปู)
A: “เงินปอนด์อังกฤษ?” (ชง)
B: “ขนมปังปอนด์ ไอ้สัด!!!” (ตบ)
C: “นี่มันคนหรือปลาสวาย” (ขยี้)

ตึกโป๊ะ!

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างสีสัน (และเสียง) ให้กับการแสดงตลกก็คือ ‘อุปกรณ์ประกอบการแสดง’ เช่น ‘กลอง’ ที่คอยตีประกอบการรับ-ส่งมุก อีกทั้งเป็นเสียงสัญญาณกลายๆ ให้ผู้ชมระเบิดเสียงหัวเราะให้แก่มุกตลกชุดนั้นๆ

‘ถาด’ ที่แต่เดิมใช้ฝาปี๊ปก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นถาดสแตนเลสบางๆ ใช้ตีหัวเมื่อคนในคณะตอบคำถามผิด หรือพูดผิด

นอกจากนี้ ‘ท่อยาง’ และ ‘พัดฟีเจอร์บอร์ด’ ก็จัดเป็นอุปกรณ์ยอดฮิตที่ใช้ประกอบการแสดง เพราะสามารถใช้ฟาดใส่ตัวได้เต็มแรงแบบไม่ต้องกลัวเจ็บ สร้างความขบขันปนสะดุ้งให้ทั้งคนเล่นและคนดูไปในเวลาเดียวกัน

แหล่งสร้างเสริมความบันเทิงใจของคนยุคนี้ อาจจะเป็นโรงภาพยนตร์ เวทีจัดแสดงคอนเสิร์ต ร้านอาหารบรรยากาศชิลๆ ยามค่ำคืน หรือที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างความบันเทิงบนโลกออนไลน์ ทั้งยูทูบ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม

แต่ถ้าในยุคก่อนหน้านี้ก็คงต้องยกให้ ‘คาเฟ่’ สถานบันเทิงขนาดใหญ่ที่ทุกคนต้องไปรวมตัวกันยามค่ำคืน โดยบรรยากาศภายในคาเฟ่นั้นจะเป็นเหมือนภัตตาคาร มีเวทียกสูงสำหรับโชว์ดนตรี และการแสดง จากคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทย คาเฟ่เป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับนักแสดงตลกมาแล้วนับไม่ถ้วน ทำให้หลายๆ คณะโด่งดังจนถึงขั้นมีแฟนคลับมารอรับชม จนเจ้าของคาเฟ่สามารถต่อยอดรายได้ด้วยการอัดเทปวิดีโอบันทึกการแสดงตลกเพื่อจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง

คาเฟ่ดังในตำนานหลายๆ แห่งจึงเลือกนำเอาการแสดงตลกมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ‘พระราม 9 คาเฟ่’ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พระราม 9 พลาซ่า’) คาเฟ่ที่อัดแน่นด้วยโชว์ของคณะตลกชื่อดังคืนละ 14 โชว์, ‘วิลล่า คาเฟ่’ คาเฟ่ดังในย่านเดียวกัน รวมไปถึง ‘กรุงธนคาเฟ่’ สถานบันเทิงที่ปิดตัวลงเป็นที่สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2556 ก่อนจะเปลี่ยนโฉมเป็นกรุงธนคอมเพล็กซ์ เอนเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ความนิยมของ ‘ตลกคาเฟ่’ ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และกฎหมายควบคุมสถานบันเทิงที่มีส่วนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เมื่อไม่มีผู้ใช้บริการคาเฟ่ อาชีพ ‘ตลกคาเฟ่’ ก็ค่อยๆ หายไป บางคณะต้องยุติอาชีพลง บางคณะพยายามหาลู่ทางทำกินใหม่ เช่น การอัดวิดีโอบันทึกการแสดงตลก หรือพยายามไต่เต้าขึ้นไปอยู่ในจอโทรทัศน์ให้ได้

รวมถึงการย้ายไปเล่นในร้านหมูกระทะ เหมือนกับที่คณะ ‘ตลกพิลึก’ ของ ‘นายตกผลึก’ และชาวคณะยึดถือเป็นแหล่งทำกิน ถึงแม้ค่าตัวที่ได้จะไม่เพียงพอสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่ยุคหนึ่งเคยเป็น แต่พวกเขาก็ยังคงมีจิตวิญญาณของนักแสดงตลกที่พร้อมจะมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมเสมอ

ถ้าคุณอยากรู้ว่า ‘ตลกหมูกระทะ’ ต่างจากการเล่นตลกในคาเฟ่ยังไง? ชีวิตหลังเวทีของชาวตลกจะสนุกสนานเหมือนการแสดงบนเวทีหรือไม่? สามารถหาคำตอบพร้อมๆ กับลุ้นระทึกไปกับการทำภารกิจเผชิญหน้าความผิดพลาดในอดีตของตลกหนุ่ม ‘ตกผลึก’ เพื่อแลกกับการเป็นผู้ได้รับมรดกหลักล้าน ได้ใน ‘มรดกตกผลึก’ นวนิยายคอเมดี้ดราม่า ผลงานจากปลายปากไก่ เอ้ย! ปากกา ของ ‘จักรพันธุ์ ขวัญมงคล’ (เอ้า ขายของอีกแล้ว)

ทดลองอ่านตัวอย่างบางส่วนและสั่งซื้อ ‘มรดกตกผลึก’ ได้ที่ salmonbooks.net/product/comedian/


comedian

RELATED ARTICLES

VIEW ALL