สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์น่าสนใจมากมาย อีกทั้งยังส่งอิทธิพลที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเราหลายต่อหลายอย่าง ทั้งแนวคิด อุดมการณ์ และการผสมผสานทางวัฒนธรรม
‘WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ’ หนังสือของ ‘มนสิชา รุ่งชวาลนนท์’ ได้เล่าเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้อย่างครบรส แม้ว่าใครจะเห็นคำว่าประวัติศาสตร์แล้วเตรียมหาว แต่เราขอบอกว่าเล่มนี้จะไม่เหมือนหนังสือประวัติศาสตร์เล่มอื่นที่คุณเคยอ่าน เพราะนอกจากจะสนุกจนวางไม่ลงแล้ว มนสิชายังพาเราไปมองสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในสิ่งของ ซึ่งหลายมุมเราอาจนึกไม่ถึงว่าเกี่ยวกันได้ และหลายต่อหลายเรื่องก็เปิดโลกเราอย่างคาดไม่ถึง
และเพื่อความครบอรรถรส สำหรับใครที่อ่านหนังสือจบแล้วอารมณ์ไม่จบ หรือกำลังจะอ่านแต่อยากบิลด์อารมณ์ตัวเองเสียก่อน พวกเราขอนำเสนอภาพยนตร์ที่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นฉากหลัง เพื่อปูทางผู้อ่านไปสู่ช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทุกเรื่องที่เราเลือกมานั้น ล้วนเชื่อมโยงและเข้ากันกับตอนต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้อย่างลงตัว จะดูจบแล้วมาอ่าน หรืออ่านจบแล้วมาดู ไม่ว่าจะอย่างไหนก็สนุกเหมือนกันหมด
ถ้าพร้อมแล้วก็หยิบป๊อปคอร์นคอ์นพร้อมผ้าห่มนุ่มๆ และย้อนเวลาไปสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปพร้อมๆ กันกับพวกเรา
ส่วนใครมีหนังสงครามเรื่องอื่นๆ อยากแนะนำพวกเรา ก็คอมเมนต์ป้ายยามากันได้เลยนะ :->
The Monuments Men → Chapter 2: โมนา ลิซ่า และดอกทานตะวัน
เคยสงสัยกันไหมว่างานศิลปะชิ้นสำคัญของโลกรอดพ้นจากไฟสงครามมาได้อย่างไร?
หลายคนคงพอรู้ว่า ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ผู้นำสูงสุดของประเทศเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ที่คลั่งไคล้ศิลปะมากคนหนึ่ง และหนึ่งในความฝันของเขาคือการทำให้ประเทศตนกลายเป็นศูนย์กลางด้านศิลปะของโลก ซึ่งด้วยความตั้งใจนี้เอง ที่ทำให้เขามอบหมายให้กองทัพนาซีตั้งหน่วยเฉพาะกิจสำหรับทำการ ‘ปล้นชิง’ งานศิลปะชิ้นสำคัญ โดยพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ที่เก็บรักษาภาพ ‘โมนา ลิซ่า’ อันโด่งดังเอาไว้
หากอยากรู้ว่าชะตากรรมของภาพวาด ‘โมนา ลิซ่า’ และงานศิลปะสำคัญชิ้นอื่นๆ เช่น ชุดภาพวาดดอกทานตะวันของ ‘วินเซนต์ แวน โกะห์’ เป็นอย่างไรในช่วงสงคราม เราขอแนะนำให้ทุกคนไปตามอ่านกันต่อในหนังสือ แต่ถ้าใครเกิดติดใจและชื่นชอบเรื่องราวการพางานศิลปะลี้ภัยจากกองทัพนาซี คุณอาจจะสนุกไปกับ ‘The Monuments Men’
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของหน่วยพิเศษเฉพาะกิจของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ประกอบไปด้วยทหาร ภัณฑารักษ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ซึ่งรวมทีมกันขึ้นมาเพื่อปกป้องงานศิลปะชิ้นสำคัญของโลกให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของกองทัพนาซี โดยพวกเขาต้องแอบแฝงตัวไปตามพื้นที่ในครอบครองของข้าศึกอย่างลับๆ และค่อยๆ ลำเลียงขนย้ายงานศิลปะเหล่านั้นไปสู่พื้นที่ปลอดภัย
เหตุการณ์ในภาพยนตร์นี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับเรื่องในตอนที่ 2 ที่ชื่อว่า ‘โมนา ลิซ่าและดอกทานตะวัน’ แทบจะเป๊ะๆ ใครอยากรับรู้เรื่องนี้อย่างรอบด้าน ก็แนะนำให้ทั้งดูทั้งอ่านกันไปเลย
ตามไปดูกันได้ที่ https://www.netflix.com/title/70283196
Inglourious Basterds → Chapter 4: เครื่องแบบของวายร้าย
แม้กองทัพนาซีจะถูกมองเป็นตัวร้ายจากการสร้างวีรกรรมโหดเกินมนุษย์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจเผลอใจไปแอบปลื้ม คือเครื่องแบบสุดเนี้ยบเท่ของพวกเขา ที่หากใครได้เคยเห็นตามสารคดีหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ก็คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่ามันช่างดูลงตัว ทรงเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก แต่ขณะเดียวกันก็แผ่รัศมีความน่าเกรงขามอย่างชอบกล
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครื่องแบบของพวกเขาโดดเด่นเกินหน้าเกินตาชาติอื่นในช่วงสงคราม เป็นเพราะมันถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ‘ฮิวโก บอส’ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำที่ตั้งตามชื่อของเขาว่า ‘Hugo Boss’ แม้ปัจจุบันเราอาจคุ้นเคยแบรนด์นี้จากสูทเรียบขรึมและร้านของแบรนด์ที่ตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หากแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง ‘ฮิวโก’ กลับเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคนาซีคนสำคัญ อีกทั้งยังเป็นนักออกแบบที่อยู่เบื้องหลังการสร้างลุคเท่ๆ ให้กับเครื่องแบบของหลายหน่วยงานภายใต้สังกัดรัฐบาลนาซี หนึ่งในนั้นคือกองกำลังพิทักษ์ฮิตเลอร์ หรือหน่วย SS หนึ่งในหน่วยงานที่โหดร้ายที่สุดในช่วงเวลานั้น ผู้มักปรากฏตัวพร้อมเครื่องแบบสีดำอันน่าเกรงขาม
หากใครนึกภาพไม่ออกว่าเครื่องแบบของกองทัพนาซี โดยเฉพาะหน่วย SS นี้เหล่ท่อหล่อเท่ขนาดไหน เราขอแนะนำให้ลองชมภาพยนตร์ ‘Inglourious Basterds’ ที่หยิบเอาสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นฉากหลัง แต่แต่งแต้มเอาเรื่องราวในจินตนาการเติมใส่เข้าไป กลายเป็นประวัติศาสตร์ในโลกคู่ขนานที่อลหม่านและเกิดเรื่องตกกระไดพลอยโจนขึ้นมากมายไปหมด
ตัวภาพยนตร์เล่าถึงสองเหตุการณ์คู่ขนาน ระหว่างปฏิบัติการแฝงตัวของแก๊งล่านาซีที่จัดตั้งโดยกองทัพสัมพันธมิตร กับหญิงสาวชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการตามล่า ที่สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา และรอวันแก้แค้นกองกำลังของฮิตเลอร์อยู่เสมอ เรื่องราวต่อจากนั้นจะจบลงอย่างไร ขอแนะนำให้ทุกคนไปดูต่อกันเอาเอง แต่ที่สำคัญ อย่าลืมสังเกตเครื่องแบบของเหล่านาซี ผู้ปรากฏตัวคราวใด ก็สัมผัสได้ถึงรัศมีความน่ากลัวผสมกับความเท่แบบวายร้ายไปเสียทุกที
ตามไปดูกันได้ที่ https://www.netflix.com/title/70108777
The Pianist → Chapter 11: ดนตรีอะไรเป็นภัยต่อชาวเยอรมัน
นอกจากจะนิยมงานศิลปะแล้ว จอมเผด็จการอย่าง ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ยังชื่นชอบดนตรีเป็นอย่างมาก โดยนักประพันธ์ที่เจ้าหนูฮิตเลอร์ในวัยเด็กติ่งเป็นพิเศษคือ ‘ริชาร์ด วากเนอร์’ ผู้โด่งดัง ความติ่งของเขาไม่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์ก็ทำทุกวิถีทางในการสนับสนุนศิลปินที่เขากรี๊ดกร๊าด หนึ่งในนั้นคือการบัญญัติให้ดนตรีของวากเนอร์เป็นหนึ่งในผลงานที่ชาวอารยันควรฟัง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลนาซีเอาจริงเอาจังกับเรื่องดนตรีมาก พวกเขาถึงขนาดมีลิสต์ที่แบ่งอย่างชัดเจนว่าเพลงใดเป็นอารยันและเพลงใดไม่เป็นอารยัน หรือแม้แต่อุดมการณ์ของนักแต่งเพลงคนไหนที่พวกเขาไม่ต้องการให้สื่อสารไปยังผู้ฟัง ซึ่งหากใครสนใจเรื่องนี้ก็ไปอ่านแบบเต็มๆ ได้ในหนังสือ
ถึงอย่างนั้น ก็ขอเล่าอีกสักนิดว่าหนึ่งในแนวเพลงที่โดนแบนในช่วงนั้น คือเพลงจากนักประพันธ์ที่มีเชื้อสายยิว ซึ่งพอพูดถึงชาวยิว ดนตรี และสงคราม ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึง ‘The Pianist’ ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องจริงของ ‘วลาดิสลาฟ สปิลมัน’ นักเปียโนเชื้อสายยิวชาวโปแลนด์ ที่ก่อนสงครามมาถึง เขาเคยมีอาชีพเล่นเปียโนตามสถานีวิทยุ แต่ภายหลังที่กองทัพเยอรมนีบุกเข้ามายังโปแลนด์ ชีวิตของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ภาพยนตร์เรื่องนี้จำลองบรรยากาศของสงครามออกมาได้อย่างหดหู่ สมจริง และยิ่งมาบวกกับฝีมือการแสดงอันไร้ที่ติของ ‘เอเดรียน โบรดี’ ทำให้มันถูกยกขึ้นหิ้งให้เป็นหนึ่งในหนังสงครามที่ควรค่าแก่การลองรับชมสักครั้งหนึ่ง
ตามไปดูกันได้ที่ https://www.netflix.com/title/60025061
The Eight Hundred → Chapter 18: ธงชาติจีนผืนสุดท้ายในเซี่ยงไฮ้
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวในฟากฝั่งเอเชียกันบ้าง หากพูดถึงสมรภูมิสำคัญในจีน หลายคนมักนึกถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองนานกิง หากแต่ในหนังสือ ‘WORLD WAR TOOLS’ มนสิชาได้พาผู้อ่านถอยไปก่อนเหตุการณ์นั้นเล็กน้อย โดยย้อนไปยังหนึ่งสมรภูมิเล็กๆ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกองทัพจีน ในสมรภูมิที่ชื่อว่า ‘สมรภูมิโกดังซื่อหาง’
ช่วงระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาในแผ่นดินจีนอย่างรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพ กองทัพจีนต้องเผชิญกับความเสียหายมหาศาล ซ้ำยังไม่อาจหยุดยั้งการรุกรานของศัตรูได้ กองทัพญี่ปุ่นเดินหน้าบุกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งคืบคลานมาถึงจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ ‘เมืองเซี่ยงไฮ้’
แม้กองทัพจีนจะส่งหน่วยทหารที่ดีที่สุดมาป้องกันเอาไว้ ก็ไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งของกองทัพญี่ปุ่นได้ ท้ายที่สุด ‘นายพลเจียง ไค-เช็ก’ ผู้นำของจีนในตอนนั้น จึงต้องมีคำสั่งให้ถอนกำลัง แต่ยังให้ทิ้งทหารจำนวน 400 นายเอาไว้ เพื่อคอยสกัดกองทัพของผู้รุกราน และอำนวยให้การถอนกำลังเป็นไปอย่างราบรื่น โดยกองทหารกองนั้นตั้งแนวรับอยู่บริเวณ ‘โกดังซื่อหาง’ หรือที่รู้จักในภาษาไทยว่า ‘โกดังสี่ห้าง’
ความสำคัญของพื้นที่นี้มีหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งคือทำเลที่ตั้งของมันที่อยู่ใกล้เขตเช่าของชาติตะวันตกในระดับเพียงแม่น้ำกั้น ทำให้เหล่าชาติตะวันตกที่ยังคงวางตัวเป็นกลาง ณ ขณะนั้น และชาวจีนในเขตเช่าผู้ยังเพิกเฉยต่อภาวะสงคราม สามารถสังเกตสถานการณ์การรบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพจีนได้คมชัดระดับเอชดี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนวางแผนเอาไว้ เพื่อหวังผลจูงใจให้ชาติตะวันตกยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือประเทศจีน อาจเรียกได้ว่านี่เป็นการสละชีวิตกองทหาร เพื่อโฆษณาขอความเห็นใจก็ว่าได้
ท้ายที่สุด ชะตากรรมของกองกำลังทหาร 400 นายนี้จะเป็นอย่างไร เราขอชวนทุกคนไปอ่านต่อในตอนที่ 18 ของหนังสือ ‘WORLD WAR TOOLS’ แต่หากอ่านจบแล้วยังมองไม่เห็นภาพการต่อสู้ที่ชัดเจนมากพอ เราขอแนะนำภาพยนตร์เรื่อง ‘The Eight Hundred’ ให้กับคุณ
ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการจำลองเหตุการณ์การต่อสู้ของกองทหาร 400 นายที่เรากล่าวถึงในย่อหน้าก่อนๆ แต่ที่ตั้งชื่อ ‘The Eight Hundred’ เป็นเพราะทางการจีนให้ข่าวลวงว่ามีทหารตั้งรับอยู่ถึง 800 นายเพื่อให้ข้าศึกไขว้เขว ในภาพยนตร์ฉายภาพการต่อสู้ของทหารอย่างสมจริง และเต็มไปด้วยฉากปลุกใจรักชาติ ระดับที่ว่าถ้าเป็นชาวจีนคงมีน้ำตาไหล แต่สำหรับไท่กั๋วเหรินอย่างเราที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์นั้น ก็นับว่าเป็นหนังสงครามที่ครบเครื่องถึงใจทั้งแอ็กชั่นและดราม่า หรือจะเก็บเอาไว้ดูเพลินๆ ก็คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปอย่างแน่นอน
netflix salmonbooks worldwar worldwartools สงครามโลก สงครามโลกในสิ่งของ