ในยุคที่การเดินทางเป็นไปโดยสะดวก และการติดต่อสื่อสารถึงกันทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว การมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์บางอย่างอาจไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คิดนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ในยุคที่การเชื่อมต่อเข้าหากันไม่เป็นไปได้ง่ายเช่นทุกวันนี้ การที่คนจากประเทศไทยจะไปปรากฏตัวอยู่ในเหตุการณ์ดังระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่าหลายเหตุการณ์สุดคลาสสิก กลับมีคนไทยไปร่วมเป็นหนึ่งในสักขีพยาน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้โดยสารบนเรือที่ถูกตอร์ปิโดยิงในสงครามโลก การเป็นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่การไปเป็นอาจารย์ให้นักปฏิวัติ!
สำหรับวันนี้ เราคัดมาเน้นๆ เฉพาะเรื่องราวของ 3 การปฏิวัติและรัฐประหารครั้งสำคัญของโลก ที่เคยมีคนไทยไปเห็นมาด้วยตาตัวเอง บางคนก็เป็นเพียงผู้สังเกตการ ในขณะที่บางคนถึงกับไปเจอผู้นำการปฏิวัติด้วยตนเอง จะมีเหตุการณ์อะไรกันบ้าง ตามพวกเรามาดูกันเลย :->
เหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution)
อากาศหนาวเย็น ความอดอยาก และการถูกกดขี่โดยชนชั้นนำ เป็นสามส่วนผสมสำคัญที่ปะทุไฟปฏิวัติในประเทศรัสเซีย แต่กว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะสำเร็จโดยสมบูรณ์ ก็ต้องใช้ความพยายามผลัดเปลี่ยนผู้มีอำนาจถึงสามคราวด้วยกัน
‘ราชวงศ์โรมานอฟ’ (House of Romanov) เป็นวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองรัสเซียมาอย่างยาวนาน จนล่วงเลยมาถึงรัชสมัยของ ‘พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2’ (Tsar Nicholas II) ผู้ที่มองจากภายนอกดูเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง หากความเป็นจริง พระองค์กลับเป็นนักบริหารที่อ่อนแอ เพราะในยุคสมัยของพระองค์ มีการปล่อยให้ข้าราชบริพารหลายคนมีอิทธิพลในราชสำนัก ทั้งยังมีแนวนโยบายการปกครองที่เด็ดขาดและลิดรอนเสรีภาพของประชาชนในทุกทาง
จนในที่สุดประชาชนชาวรัสเซียก็ไม่อาจทนต่อไปไหว พากันรวมกลุ่มเดินขบวนอย่างสันติไปยังพระราชวังฤดูหนาวอันเป็นที่ประทับของพระองค์ โดยหวังเรียกร้องเพียงความเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่กำลังทุกข์ยาก
แม้เวลานั้นพระองค์จะไม่ได้ประทับอยู่ที่นั่น แต่ก็ได้จัดให้กองทหารรักษาพระองค์ให้การต้อนรับพวกเขาอย่างดี ด้วยการใช้กระสุนปืนไล่กราดยิงผู้เดินขบวน ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนเหตุการณ์ครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่า ‘วันอาทิตย์นองเลือด’ หรือ Bloody Sunday และกลายเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของไฟแห่งการปฏิวัติ
หลังเหตุการณ์จบลง เกิดกระแสความโกรธแค้นในหมู่ประชาชนชาวรัสเซียจำนวนมาก ทำให้พระองค์จำต้องยอมจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาดูมา (DUMA) ขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงประกันเสรีภาพในการแสดงความเห็นให้แก่ประชาชน อีกทั้งสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกด้วย การโอนอ่อนของพระองค์นี้ ทำให้ประชาชนมองว่าพวกเขาดำเนินการปฏิวัติสำเร็จลุล่วง และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองลงไปได้สักพัก
แม้ประเทศจะมีสภาดูมา และประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่อำนาจก็ยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม และมาเริ่มชัดเจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อุบัติขึ้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ตัดสินใจไปบัญชาการรบยังแนวหน้า และแต่งตั้งให้พระราชินีของพระองค์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ณ เวลานั้นการเมืองภายในประเทศเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ในขณะที่กองทัพรัสเซียเองก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสงคราม เสบียงที่มีอยู่ก็เริ่มร่อยหรอ ส่งผลให้ประชาชนผู้หิวโหยเริ่มก่อการจราจล
พระเจ้าซาร์นิโคลัสกลับมาใช้วิธีการอันรุนแรงในการปราบปรามประชาชนอีกครั้ง แม้สภาดูมาจะยื่นมือเข้ามาขอร่วมช่วยแก้ไขปัญหา แต่พระองค์ก็ยังกีดกันทุกวิถีทาง ทำให้ในที่สุดสภา ประชาชน หรือแม้แต่ทหารต่างหันมาต่อต้านพระองค์ และบีบให้พระองค์ต้องสละราชสมบัติอย่างหมดหนทาง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่า ‘ปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์’ (February Revolution)
แม้ราชวงศ์โรมานอฟจะหมดอำนาจอย่างสมบูรณ์ แต่เรื่องราวไม่จบลงเพียงเท่านั้น เพราะแม้จะล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้แล้ว แต่การแย่งชิงอำนาจในกลุ่มต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น จนกระทั่งท้ายที่สุดชัยชนะตกเป็นของ ‘กลุ่มบอลเชวิก’ (ฺBolshevik) ผู้มีแนวคิดให้รัสเซียเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมี ‘วลาดีมีร์ เลนิน’ (Vladimir Lenin) เป็นผู้นำ
หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในการปฏิวัติครั้งนี้ ซ้ำยังได้เข้าพบเลนินตัวจริงกันอีกด้วย ส่วนพวกเขาจะเป็นใคร และไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติครั้งนี้ได้อย่างไร ไปหาคำตอบเพิ่มเติมในหนังสือ ‘ผจญไทยในแดนเทศ’ ได้เลย
การปฏิวัติจีน หรือการปฏิวัติซินไห่ (Xinhai Revolution)
หากความทุกข์ยากของประชาชนคือชนวนแห่งการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซีย การปฏิวัติในประเทศจีนก็ถือว่าเริ่มต้นด้วยเชื้อเพลิงชนิดเดียวกัน
ก่อนหน้าการปฏิวัติ ประเทศจีนปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มี ‘ฮ่องเต้’ หรือองค์พระจักรพรรดิครองอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว รูปแบบการปกครองนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับพันปี ก่อนจะเผชิญกับภัยคุกคามและแรงต้านที่มากขึ้นเรื่อยๆ และปูทางสู่คราวอวสานในยุค ‘ราชวงศ์ชิง’ (Qing Dynasty)
ช่วงเวลาภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง ประเทศจีนต้องเผชิญกับความความท้าทายจากภายนอกมากมาย ทั้งการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเอกราช ความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นที่ตามมาด้วยความพ่ายแพ้ในอีกหลายสงครามหลังจากนั้น หรือแม้แต่การสูญเสียเกาะฮ่องกงและดินแดนอื่นๆ ให้แก่ชาติตะวันตก ซ้ำร้ายปัญหาภายในประเทศก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
แม้จะมีความพยายามปฏิรูปการปกครองให้จีนมีความทันสมัยมากขึ้นในสมัย ‘จักรพรรดิกวงซวี่’ (Guangxu Emperor) ด้วยการริเริ่มให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ แต่หลังจากทำได้เพียงไม่นานก็ต้องล้มเลิก เนื่องจากไม่ถูกใจ ‘ซูสีไทเฮา’ (Empress Dowager Cixi) ผู้คุมอำนาจที่แท้จริงของราชสำนักในเวลานั้น การปฏิรูปนี้ถูกเรียกว่า ‘การปฏิรูปร้อยวัน’ (Hundred Days’ Reform) ในภายหลัง โดยตัวชื่อก็ได้มาจากอายุขัยอันแสนสั้นของมัน
ภายหลังการปฏิรูปที่ล้มเหลว จักรพรรดิหัวก้าวหน้าผู้นี้ถูกยึดอำนาจโดยพระนางซูสีไทเฮา ก่อนพระองค์จะถูกกักบริเวณให้อยู่แค่เพียงในพระราชวังเป็นเวลากว่าสิบปี หลังจากนั้นพระนางซูสีไทเฮาก็ตั้งตนดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวได้บ่มกระแสต่อต้านราชวงศ์ให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการรวมตัว และเกิดการลุกฮือของกลุ่มสนับสนุนการปฏิวัติมากขึ้น โดยมีผู้นำหลักคือ ‘ดร.ซุน ยัต-เซน’ (Sun Yat-Sen)
หลังจักรพรรดิกวงซวี่สิ้นพระชนม์ พระนางซูสีไทเฮาได้วางตัวให้ ‘จักรพรรดิปู ยี’ (Pu Yi) ที่ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียงสองพรรษขึ้นครองราชย์ต่อ ภายหลังพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้น พระนางก็สิ้นพระชนม์ลงในวันเดียวกัน ในช่วงที่จักรพรรดิปู ยีขึ้นครองราชย์เป็นช่วงที่ประเทศจีนเผชิญหน้ากับคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงขึ้นในทุกวัน และด้วยความที่พระชนมายุยังน้อยทำให้ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินใดๆ ได้ ท้ายที่สุดรัฐบาลของพระองค์จึงพ่ายแพ้แก่คณะปฏิวัติ และพระองค์ก็ถูกบังคับให้สละราชสมบัติในที่สุด
หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ทำให้คณะปฏิวัติสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จคือ ‘หยวนซือไข่’ (Yuan Shi Kai) ผู้นำทางการทหารที่ทรงอำนาจมากในตอนนั้น และยอมแปรพักตร์มาเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติของ ดร.ซุน ยัด เซน เพื่อแลกกับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศจีน แต่ภายหลังทั้งสองเกิดแตกคอกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างสะสมอำนาจของตัวเองและประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างเปิดเผย
หลังขึ้นสู่อำนาจไม่นาน นายพลหยวนซือไข่จบชีวิตลง หากปัญหาต่างๆ ภายในก็หาได้จบลงตาม ประเทศจีนยังคงแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามากมาย ต่างฝ่ายต่างเปิดศึกแย่งชิงอำนาจกันไปมาไม่รู้จบ นายพลตามมณฑลต่างๆ ที่มีกองกำลังทหารในบังคับบัญชาของตนเอง ก็ต่างตั้งตัวเป็นอิสระและเข้าข่มเหงขูดรีดประชาชนอย่างโหดร้าย
ช่วงเวลาโกลาหลดังกล่าว ได้มีคนไทยท่านหนึ่งมีโอกาสไปเห็นกับตาตัวเอง แต่เขาไปเห็นได้อย่างไร และไปเห็นอะไรบ้าง แน่นอนว่าผู้อ่านสามารถไปอ่านต่อได้ในหนังสือ ‘ผจญไทยในแดนเทศ’
การรัฐประหารในอาร์เจนตินา (Liberating Revolution)
เหตุการณ์สุดท้ายอาจไม่สามารถเรียกว่าการปฏิวัติได้เต็มปากเต็มคำ เพราะเป็นเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ ในประเทศ ไม่ได้เป็นการลุกฮือขึ้นมาพลิกแผ่นดินเหมือนอย่างสองเหตุการณ์ก่อนหน้า จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘รัฐประหาร’ เสียมากกว่า หากแต่มันนับเป็นหนึ่งในการรัฐประหารซึ่งเป็นที่รู้จักมากครั้งหนึ่ง เพราะมันคือการล้มล้างรัฐบาลของ ‘ฮวน เปรอง’ (Juan Peron) ผู้โด่งดัง
ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีขวัญใจประชาชนชาวอาร์เจนตินา ฮวน เปรอง เคยเป็นนายพลในกองทัพ และเขยิบขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในภายหลัง ช่วงนั้นเองที่เขาได้พบรักและแต่งงานกับ ‘เอวา เปรอง’ (Eva Peron) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เอวิตา’ (Evita) ดาราสาวชื่อดังของประเทศ ผู้ซึ่งต่อมามีบทบาทในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับเขา จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในที่สุด
เปรองขึ้นชื่อเรื่องการดำเนินนโยบายประชานิยม (populism) เขาออกนโยบายที่เร่งยกระดับคุณภาพชีวิตชนชั้นแรงงานภายในประเทศอย่างรวดเร็วหลายประการ ทั้งการขึ้นค่าจ้าง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนกลุ่มนี้ ยิ่งเมื่อบวกกับการมีสตรีหมายเลขหนึ่งผู้ได้รับฉายาจากมวลชนว่า ‘ราชินีของผู้ยากไร้’ อยู่เคียงข้างกาย ก็ยิ่งทวีความนิยมให้กับเขาอย่างมหาศาล จนกลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล รวมถึงมีการตั้งชื่อเฉพาะให้รูปแบบการปกครองของเขาว่า ‘ลัทธิเปรอง’ (Peronism)
แม้การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้จะทำให้เขาเป็นที่รักของประชาชนจำนวนมาก แต่มันกลับสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล อีกทั้งนโยบายบางอย่างยังไปขัดกับกลุ่มอำนาจเดิม อย่างคณะนักบวชชาวคริสต์นิกายคาทอลิกและกองทัพอาร์เจนตินา ทำให้ใน ค.ศ. 1955 รัฐบาลของเขาถูกรัฐประหารในที่สุด โดยมีชนวนสำคัญมาจากข่าวลือว่าเขาจะอนุญาตให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
ภายหลังการรัฐประหาร เกิดการรวมกลุ่มของผู้ต่อต้านเพื่อโต้กลับกองทัพมากมาย และมีนักเขียนไทยคนหนึ่ง เฉียดเป็นผู้ประสบภัยจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย แต่เขาจะเป็นใคร และจะเฉียดต่อการสูญเสียชีวิตในดินแดนลาตินแค่ไหน คุณผู้อ่านคงต้องไปอ่านเพิ่มกันในหนังสือ ‘ผจญไทยในแดนเทศ’
salmonbooks ผจญไทยในแดนเทศ