The Soundtrack of Crying in H Mart บทเพลงบันดาลใจในพื้นที่ให้เศร้า

22 ธันวาคม 2022 | by salmonbooks

CRYING IN H MART พื้นที่ให้เศร้า’ คือหนังสือเล่มล่าสุดและเล่มสุดท้ายของปีนี้ที่แซลมอนภูมิใจนำเสนอให้ทุกคนได้อ่านกัน

หนังสือเล่มนี้เป็นบทบันทึกถึงความผูกพัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว การรับมือกับการสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รัก และช่วงเวลาแห่งการเติบโตของ ‘มิเชลล์ ซอเนอร์’ (Michelle Zauner) ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน นักร้องและมือกีตาร์ของวงดนตรีอินดี้ร็อกที่หลายคนอาจจะรู้จักอย่าง ‘Japanese Breakfast’

วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปสำรวจเพลย์ลิสต์หรือบทเพลงที่มิเชลล์ได้รับแรงบันดาลใจระหว่างเขียนหนังสือ พร้อมกับอินไซด์ว่าแต่ละบทเพลงเกี่ยวข้องกับแต่ละเรื่องใน ‘CRYING IN H MART’ อย่างไร แถมใครที่เป็นแฟนมิเชลล์ในนาม Japanese Breakfast ก็ไม่ควรพลาด เพราะเธอบอกอีกด้วยว่าในเล่มมี Easter Egg เกี่ยวกับวงอยู่เพียบ

‘Little Big League’ คือวงดนตรีของมิเชลล์ก่อนจะมีวง ‘Japanese Breakfast’

ตอนทำวงนี้ มิเชลล์อายุราว 25 ปี และต่อให้เธอดิ้นรบกับวงนี้พอสมควร แต่ Little Big League ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร แถมถึงจุดหนึ่งเธอก็ต้องตัดสินใจพักวงเพื่อไปดูแลแม่ที่ป่วยอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงการค้นพบอาการป่วยของอึนมี ผู้เป็นน้า ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าแม่ของเธอ นอกจากนี้ มิเชลล์ยังเอาชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อบทหนึ่งใน ‘CRYING IN H MART’ ซึ่งในฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า ‘ความมืด’ ด้วย

หนึ่งในความทรงจำช่วงที่มิเชลล์เป็นวัยรุ่นคือการดาวน์โหลดเพลงจาก LimeWire (โปรแกรมดาวน์โหลดเพลงซึ่งเป็นที่นิยมช่วงทศวรรษ 2000) และโต้เถียงกับตัวเองและชาวเน็ตว่าเพลง ‘Everlong’ ในเวอร์ชั่นอะคูสติกดีกว่าเวอร์ชั่นต้นฉบับหรือไม่

แล้วเธอก็ได้คำตอบว่าเวอร์ชั่นอะคูสติกนั้นทำให้ได้ยินเนื้อเพลงลื่นไหลมากกว่า จนทำให้มิเชลล์รู้สึกราวกับว่า เธอเป็นนักวิจารณ์ที่ฉลาดเอามากๆ

ช่วงอายุประมาณ 13-14 ปีเป็นช่วงเวลาที่มิเชลล์เข้าสู่โลกของดนตรี ในวัยนั้นเธอคิดว่าคลาสสิกร็อกคือแนวเพลงที่ดีที่สุด ทำให้เธอฟังแต่เพลงแนวนี้ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่วัย 15-16 ปี เธอได้ฟังเพลงของวง ‘Modest Mouse’ แล้วรู้สึกว่า ‘นี่แหละคือแนวเพลงที่เธอชอบ!’

Modest Mouse เป็นวงฮอตฮิตในกลุ่มเธอและเพื่อนๆ จนมิเชลล์นับถือ ‘ไอแซก บร็อก’ (Isaac Brock นักร้องนำและนักแต่งเพลงของ Modest Mouse) เป็นดังเทพเจ้า เป็นเหมือนนักกวีสุดคูลในยุคของพวกเธอ เขาทั้งมีพลัง เท่ เซ็กซี่ และมีความกล้าหาญ ช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความกังวลและว้าวุ่น Modest Mouse เลยเป็นวงดนตรีที่เธอรักมาก

ในบท ‘ไวน์อยู่ไหนนะ?’ (Where’s the Wine?) ที่พูดถึงการตกหลุมรักในบทเพลงของมิเชลล์ เธอได้พูดถึงการรู้จัก ‘คาเรน โอ’ (Karen O) นักร้องนำวง Yeah Yeah Yeahs เป็นครั้งแรกจากดีวีดีของเพื่อน

การได้ดูคาเรนในดีวีดีวันนั้นทำให้ชีวิตของมิเชลล์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คาเรนทั้งพ่นน้ำใส่ตัวเองและหยิบจับไมโครโฟนในแบบที่มิเชลล์ไม่เคยเห็นมาก่อน ที่สำคัญเธอยังเป็นลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกันเหมือนกันกับเธอ

ในยุคที่ชายผิวขาวเป็นใหญ่ การเห็นศิลปินหญิงลูกครึ่งแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก มิเชลล์รู้สึกว่าเธอมีอะไรเหมือนกันและเชื่อมโยงถึงตัวคาเรน ศิลปินคนนี้จึงถือเป็นบุคคลต้นแบบที่มีความสำคัญในชีวิตของมิเชลล์

ในบท ‘ไวน์อยู่ไหนนะ?’ (Where’s the Wine?) มิเชลล์พูดถึงคนคนหนึ่งชื่อ ‘นิก ฮอว์เลย์-เกมเมอร์’ (Nick Hawley-Gamer) หนุ่มสุดคูลที่มีวงดนตรีของตัวเองชื่อ The Barrowites ในช่วงมัธยมต้น ซึ่งเขามีส่วนอย่างมากในการทำให้มิเชลล์อินกับดนตรีมากขึ้น

ช่วงนั้นมิเชลล์ไปหาซีดีของ The Barrowites มาฟัง และหนึ่งในนั้นก็มีเพลงชื่อว่า ‘Molly’s Lips’ ซึ่งมิเชลล์สงสัยว่าใครคือมอลลี ใช่แฟนเก่าของนิกหรือเปล่า ก่อนจะรู้ในภายหลังว่ามันคือการคัฟเวอร์บทเพลงของวง ‘Nirvana’ (ซึ่งอันที่จริงแล้ว ฉบับของ Nirvana ก็คัฟเวอร์มาจากวง ‘The Vaseline’ อีกทีหนึ่ง)

เพลง ‘After Hours ’ของ ‘The Velvet Undergroud’ เป็นหนึ่งในเพลงที่มิเชลล์นำมาคัฟเวอร์ในช่วงที่เริ่มเล่นดนตรีตอนอายุ 16

มิเชลล์ชอบเสียงของ ‘โม ธักเกอร์’ (Moe Thucker มือกลองประจำวง) เธอบอกว่ามีเสียงของนักร้องร็อกผู้หญิงไม่กี่คนที่จะสามารถร้องตามได้อย่างง่ายๆ และในบท ‘ไวน์อยู่ไหนนะ?’ (Where’s the Wine?) มิเชลล์ก็เล่าเรื่องที่เธอหัดเล่นเพลงนี้ให้นิกฟังที่ใต้ต้นไม้ในสนามฟุตบอลของโรงเรียนด้วย

โชว์แรกในฐานะนักดนตรีของมิเชลล์จัดแสดงที่ WOW Hall (สถานที่จัดงานในยูจีน รัฐโอเรกอน) เป็นการเล่นเปิดให้กับ ‘Maria Taylor’ ซึ่งตอนนั้นมิเชลล์อายุ 16 ปี และเธอรักเพลงในอัลบั้มนี้มากๆ

ตอนนั้นระหว่างรอขึ้นแสดง มาเรีย เทย์เลอร์ เดินเข้ามาในห้องที่มิเชลล์นั่งอยู่และพูดประโยคว่า ‘ไวน์อยู่ไหนนะ?’ (Where’s the Wine?) ซึ่งนี่ก็คือที่มาให้มิเชลล์นำมาใช้เป็นชื่อบทในหนังสือ

มิเชลล์อินกับบทเพลงของ ‘ลีโอนาร์ด โคเฮน’ (Leonard Cohen)’ ตอนที่เริ่มโตขึ้น มิเชลล์มีแผ่นเสียงของโคเฮนและเล่นมันด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เธอตกแต่งด้วยการเพนต์ลายจุด (ซึ่งเธอรู้สึกว่ามันน่าเกลียด)

มิเชลล์ชอบเพลง ‘Chelsea Hotel #2’ โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า “We are ugly, but we have the music.” (เราล้วนน่าเกลียด แต่เรามีเสียงดนตรี) เธอรู้สึกว่าเพลงท่อนนี้คือเธอเลย! นอกจากนี้ การฟังเพลงของโคเฮนทำให้เธอรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นเด็กวัยรุ่นที่ฉลาดและเหนือกว่าเพื่อนคนอื่นๆ

หนึ่งในโมเมนต์ดีๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากแม่ของมิเชลล์ป่วย คือการอยู่บนรถและได้ฟังเพลง ‘Tell Him’ หลังจากพาแม่ไปหาหมอ

ตอนเด็กๆ มิเชลล์และแม่มักเปิดเพลงนี้และเต้นไปด้วยกัน เธอเชื่อว่าแม่และลูกสาวทุกคนจะมีเพลงๆ หนึ่งที่พวกเขาจะฮัมมันออกมา และการเปิดเพลงนี้ในรถวันนั้นก็เป็นเรื่องน่าจดจำสำหรับมิเชลล์ เพราะนอกจากจะได้ร้องไปกับแม่แล้ว เธอยังจำถึงเหตุการณ์นั้นได้ชัดเจนและนำมาบันทึกไว้ในหนังสือด้วย

มิเชลล์ไม่เคยรู้จักเพลงนี้เลยจนกระทั่งได้พบกับ ‘ปีเตอร์’ ว่าที่สามีที่บาร์ชื่อ 12 Steps Down เธอเจอเขาตอนอายุ 23 ปี และเขาก็เหมือนคนบ้าๆ บอๆ ที่กำลังร้องเพลงความยาวเจ็ดนาทีครึ่งในสถานที่ที่มีคนรอร้องเพลงอยู่เต็มไปหมด จนทำให้มิเชลล์เกิดความรู้สึกในแวบแรกกับปีเตอร์ว่า “ไอ้บ้านี่มันใครเนี่ย”

เพลงนี้เป็นเพลงที่มิเชลล์เต้นในงานแต่งของตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นเพลงที่ดูแปลกไปสักหน่อยสำหรับงานมงคลสมรส หากว่าเธอและปีเตอร์คลั่งใคล้ ‘The Capenters’ มาก และเพลงนี้ก็ทำให้เธอนึกถึงวันแรกของความสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังเป็นเพลงที่มิเชลล์ร้องคาราโอเกะที่เวียดนามด้วย

ในบทที่ 15 มิเชลล์เขียนถึงตอนที่เธอไปเวียดนามและมีปัญหากับพ่อ เธอเลยแยกกับพ่อแล้วไปบาร์คาราโอเกะ ก่อนจะกับหญิงสาวชาวเวียดนามผู้เลือกเพลงนี้ขึ้นมาร้อง ซึ่งในเวลานั้นมันปลอบโยนมิเชลล์ผู้ที่เพิ่งผ่านช่วงเวลาที่หนักหน่วง และทำให้เธอรู้สึกเบิกบานขึ้น

หนังสือเล่มนี้จบลงในช่วงที่มิเชลล์เริ่มต้นทำอัลบั้ม ‘Psychopomp’ และนี่เป็นเพลงแรกที่มิเชลล์ทำหลังจากที่แม่จากไป โดย ‘In Heaven’ เล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่มิเชลล์เจ็บปวดและบอบบาง

ช่วงเวลานั้นมิเชลล์เขียนเพลงนี้ในกระท่อมเล็กๆ ของที่บ้าน โดยนอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากการสูญเสียของตัวเอง มิเชลล์ยังได้แรงบันดาลใจจากจูเลีย หมาของครอบครัวด้วย

มิเชลล์เห็นจูเลียเดินไปเดินมาแถวประตูห้องนอนของแม่ ซึ่งแน่นอนว่าจูเลียคงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และมันคงสงสัยว่าแม่ไปไหน หลังจากนั้นจูเลียก็เอาแต่เลียเท้าตัวเอง จนมิเชลล์ต้องพามันไปหาสัตวแพทย์ ก่อนจะได้รับคำตอบว่านี่เป็นการแสดงความรู้สึกเศร้าของจูเลีย

นอกจากนี้ ‘In Heaven’ ยังมีที่มาที่ไปจากคำพูดของเพื่อนๆ พ่อแม่มิเชลล์ที่มักจะพูดว่า “แม่ของเธอไปในที่ที่ดีกว่าแล้ว” “เธอไปสวรรค์แล้ว” ซึ่งมิเชลล์ไม่ได้เชื่อในเรื่องดังกล่าว เธอเลยคิดว่าอะไรๆ อาจจะง่ายกว่านี้ ถ้าเธอเชื่อแบบนั้น และเพลง ‘In Heaven’ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่มิเชลล์ถ่ายทอดออกมา

ช่วงท้ายของ ‘CRYING IN H MART’ มิเชลล์ในนามของ Japanese Breakfast ได้ทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชีย และเธอก็ได้ขึ้นแสดงที่โซล

การทัวร์ครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักเพลงของ ‘ชิน จองฮย็อน’ (Shin Joong Hyun) โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงชื่อดังของเกาหลี เพลงที่เขาแต่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงยุค 60-80 และหนึ่งในเพลงฮิตนั้นมีเพลงชื่อว่า ‘Haenim’

ระหว่างที่มิเชลล์กำลังเดินเล่นกับลุงและป้า ปีเตอร์ก็ถามขึ้นมาว่ารู้จักชิน จองฮย็อน มั้ย แม้ป้าของเธอจะสงสัยว่ามิเชลล์และปีเตอร์รู้จักได้ยังไง แต่นั่นก็นำไปสู่คำตอบที่ว่าป้ารู้จักดี แถมแม่ของมิเชลล์ยังชอบเพลงที่เขาแต่งให้กับวง Pearl Sisters มาก โดยเพลงนั้นชื่อว่า ‘Coffee Hanjan’

มิเชลล์รู้สึกว่าเหตุการณ์นี้เป็นดังเรื่องราวที่ถูกกำหนดไว้ การที่เธอได้รู้จักชิน จองฮย็อน จากคนอื่นนำพามาให้เธอได้รู้จักเพลงโปรดของแม่ ซึ่งสำหรับมิเชลล์แล้ว นี่ไม่ต่างอะไรกับสัญญาณที่บ่งบอกว่าแม่ยังมองดูเธออยู่ และนี่อาจเป็นหนทางที่ทำให้มิเชลล์เชื่อมต่อกับแม่ และจดจำแม่ไว้ได้ตลอดไป

ฟังเพลย์ลิสต์นี้ได้ที่ Spotify และ Youtube

อ้างอิง: gq.com/story/japanese-breakfast-michelle-zauner-crying-in-h-mart-playlist


cryinginhmart

RELATED ARTICLES

VIEW ALL