SNEAK PEAK: ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

5 เมษายน 2021 | by salmonbooks

ทุกชีวิตล้วนมีความหวัง แต่ใช่ว่าทุกชีวิตจะเป็นได้ดังหวังเสมอไป

‘ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย’ เป็นบรรณาธิการ และนักเขียนสารคดีประจำสำนัก The101.world ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดผลงาน ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ หนังสือใหม่ล่าสุดของพวกเรา

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยบทความเชิงสารคดีที่ปาณิสลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจชีวิตของมนุษย์ ด้วยการเข้าไปคลุกคลี พูดคุย ใช้เวลาร่วมกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม เพื่อสำรวจความฝันและความหวังของผู้คน

มนุษย์ผู้มีหวังเหล่านั้นมีใครบ้าง แล้วทำไมปาณิสถึงต้องไปพบและพูดคุยกับพวกเขา?

สั่งซื้อหนังสือ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงคนเดียว’ เพื่อพบกับความหวังและความฝันที่ผู้คนเหล่านั้นอยากมีเอาไว้ในครอบครองได้ที่นี่


สมหมาย (นามสมมติ) พยายามดิ้นรนด้วยการยื่นสิทธิเยียวยา ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ของรัฐบาล เพื่อรับเงิน 5,000 บาทมาประทังชีวิต แต่ทำกี่ครั้งๆ ก็ไม่สำเร็จ “เราเจอใครก็ขอยืมโทรศัพท์เขาสมัคร แต่ไม่ได้เลย เด้งออกตลอด บอกแต่ว่าเครือข่ายล่ม ให้รอ ไม่ไหวนะ ชีวิตเราต้องมานั่งรอเงิน 5,000 บาท”

ระหว่างที่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ สมหมายตระเวนหาที่นอนตามใต้สะพาน “นอนตรงที่ตำรวจไม่กวนเราตอนกลางคืน” สมหมายว่า “เราดูว่าวันนี้ถ้าตำรวจมา เราก็จะย้ายไปอีกที่หนึ่ง เขาบอกให้ไปนอนในซอย แต่ในซอยก็มีคนนอนกันเป็นพรืดเลย เราก็ต้องไปหาที่นอนใหม่ เพราะไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่ลำบาก แต่ตำรวจเขาก็ไม่อยากให้มีภาพไม่ดีใช่ไหม ก็ต้องทำ เราพูดแบบเป็นกลาง ไม่ได้โจมตีรัฐบาลเลยนะ เราเหนื่อยแล้ว ต้องแบกเสื้อผ้าเดิน”

“แล้วรถแจกข้าวจะมาอีกเมื่อไร” ฉันถาม

“ไม่รู้ ก็คือการรอคอยน่ะ อนาคตที่มองไม่เห็น ถ้ามีก็กิน ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกิน กินแต่น้ำไง ฉันยังขอน้ำเขากินเลย”

— บางส่วนจากตอน ‘ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน’


“ไม่มีใครหรอกที่ใฝ่ฝันอยากเป็นหญิงขายบริการมาตั้งแต่เด็ก” จ๋า เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปรยให้ฟัง

“จุดเริ่มต้นอยู่ที่ครอบครัว ถ้าเขาเจอปัญหาพ่อแม่แยกทาง บ้านยากจน ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ แล้วอยู่ในสังคมที่ไม่ดี เขาก็อาจเลือกเดินทางนี้ได้ เป็นปัญหาที่สังคมก็รู้กันมานาน แต่ไม่เคยแก้ได้” เธออธิบายต่อ

“เคยถามหญิงบริการวัยรุ่นเหมือนกันนะว่า มีอะไรกับแฟนแล้วทำไมยังขาย เขาตอบว่า ก็เสียไปแล้ว เอากลับคืนมาได้ไหม ทำไมหนูไม่มาขายให้มีเงินใช้จ่ายดีกว่า ก็พ่วงเรื่องวัตถุนิยมขึ้นมาอีก เราก็กลับมาถามฝั่งแฟน ไม่เสียใจเหรอที่แฟนไปนอนกับคนอื่น เขาก็ตอบว่า ก็มันคิดแบบนั้นพี่ รักกันอยู่ที่ใจ เซ็กซ์ทำเงินได้ก็ทำสิ

“ถามว่าเด็กคิดแบบนี้ผิดไหม ไม่ผิด แต่สังคมผู้ใหญ่ในยุคก่อนรับไม่ได้ ก็เหมือนตีกันอยู่ข้างใน ทุกอย่างเลยออกมาครึ่งๆ กลางๆ”

— บางส่วนจากตอน ‘เปิดตา ‘ตีหม้อ’: สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด’


ทุกคนล้วนออกมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่กดทับในทุกอณูของสังคม แต่ในสายตาของคนที่เห็นต่าง ผู้คนเหล่านี้กลายเป็นเด็กเมื่อวานซืนที่โดนหลอกมา ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ทั้งที่หากมองในมุมของคนหนุ่มสาว เขาอาจตอบว่า ก็เพราะเข้าใจประวัติศาสตร์นี่แหละ เลยออกมาเรียกร้อง

“เรามาร่วมชุมนุมเพราะรู้ว่าระบอบที่มีอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนถูกกดขี่มานานมากแล้ว รัฐประหารซ้ำๆ ประเทศไทยก็ไม่ไปไหนสักที การออกมาเหมือนเป็นการแสดงจุดยืนของเราด้วย ว่าเราจะไม่เอาระบอบแบบเดิม เราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง”

“เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรที่จะออกมาพูดในสิ่งที่เราต้องการจะพูด ออกมาเป็นในสิ่งที่เราต้องการจะเป็น แล้วเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกคนในสังคม ไม่ใช่แค่คนที่มีเงิน ไม่ใช่แค่คนที่มีการศึกษา แต่คนที่ทำงานกลางคืนก็ควรจะได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน ได้รับสิทธิการช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนกัน”

“หนูแค่อยากแต่งงาน มีชีวิตครอบครัวที่ดี เลยอยากมีสวัสดิการรัฐที่ดี เราเรียกร้องทางการเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า”

— บางส่วนจากตอน ‘เด็กเมื่อวานซืน’


เช้าวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวการปะทะกันที่ฝั่งเกาลูน ตอนเช้าวันนั้นเหตุการณ์ดูสงบเรียบร้อย ก่อนที่ตอนบ่ายจะมีการเดินประท้วงขนานใหญ่ในย่านซุนวาน

ผู้ชุมนุมหลายคนบอกกับฉันว่า ที่ออกมาประท้วงเพราะไม่พอใจที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน “ดูเหมือนตำรวจจะกลายเป็นศัตรูกับประชาชนไปแล้ว” คู่แม่-ลูกพูดกับฉันระหว่างการเดินประท้วง

“คิดว่าข้อเรียกร้องของคุณจะเป็นไปได้ไหม การประท้วงครั้งนี้จะสำเร็จเหรอ” ฉันถาม

“ไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก ได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”

ท่ามกลางฝนชุ่มฉ่ำและเสียงตะโกน “Free Hong Kong” ดังลั่นตลอดทาง ประโยคถัดจากนี้ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ฉันถามต่อไปว่า “You want freedom for Hong Kong, right?”

หญิงสาวตอบสั้นกระชับว่า “Not me, but we.”

— บางส่วนจากตอน ‘ฮ่องกงปิดปรับปรุง: จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง?’


ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กคนหนึ่งจะเอาตัวรอดในโลกที่ทุกอย่างดูเหมือนจะไม่เป็นใจ เมื่อบางวันเขาต้องท้องร้องเพราะหิวข้าวตลอดคาบเรียน จะเอาสมาธิที่ไหนมาจดจ่อบนกระดาน หรือเมื่อเย็นย่ำ กลับบ้านไปก็ไม่มีอะไรให้ทำ เพราะพื้นที่บ้านมีไว้ให้นอนหลบฝนเท่านั้น หลายครั้งความฝันความหวังของพวกเขาค่อยๆ ดับลง เพราะเขาเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเนื้อหาที่เรียนไม่ได้เลย

“บางวิชามันยาก เรียนแล้วไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็เบื่อ ครูถามผมก็ตอบไม่ได้ ผมก็เลยนอนหลับหนีดีกว่า” ต้น (นามสมมติ) เด็กหนุ่มจากแก๊ง ม.3 ที่ว่ากันว่าเป็นตัวแสบของโรงเรียนบอกกับเรา หากดูภายนอก พวกเขาคงดูไม่น่าไว้ใจ และหลายคนคงเหนื่อยที่จะคาดหวังกับพวกเขาแล้ว แต่เมื่อมองเข้าไปในแววตา พวกเขาก็มีความฝันและพยายามดิ้นรนจะไปในเส้นทางของตัวเอง

“จบ ม.3 ผมว่าจะไปสอบเรียนสายอาชีพ ผมชอบคอมพ์ ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนแล้วก็ทำงานได้เลย”

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จบ ม.ต้นแล้วอยากจะเรียนต่อเสมอไป เด็กหนุ่มอีกคนบอกความต้องการของเขาด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “จบจากที่นี่แล้ว ผมจะไปเรียนสัก ผมอยากเป็นช่างสัก” เขาเงียบไปครู่หนึ่งแล้วว่า “ไม่อยากเรียนแล้ว”

— บางส่วนจากตอน ‘50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม’


ฉันนั่งคุยกับคนซื้อหวยหลายคน ร้อยทั้งร้อยไม่เคยคิดว่าตัวเองจะถูกรางวัลใหญ่ แต่ก็เล่นด้วยความคาดหวังว่าสักวันจะเข้าเป้า และได้ขยับเลื่อนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาบ้าง

“ป้าหาเช้ากินค่ำ จะหาเงินก้อนได้จากไหน จะซื้อรถเข็นมาขายของสักคันป้าก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เอาเงินมาซื้อหวยก็ยังพอได้หวังบ้างว่าจะมีเงินก้อนเข้ามา”

ไม่ใช่แค่ป้าขายน้ำคนเดียวที่พูดแบบนี้ หลายคนที่หาเช้ากินค่ำ และถูกจัดว่าเป็นชนชั้นล่างเมื่อวัดจากรายได้ ก็คิดแบบเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไม่ขยัน ไม่ใช่ว่านอนอยู่บ้านรอรัฐมาช่วย ไม่ใช่ว่าไม่ประหยัด แต่ทำทุกอย่างแล้ว ขวนขวายทุกอย่างแล้ว สถานะทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้เลื่อนขึ้นมาง่ายๆ

หวยจึงกลายเป็นความหวัง ถึงแม้พวกเขาจะรู้ว่าไม่มีหวังก็ตาม

— บางส่วนจากตอน ‘พรุ่งนี้ใครรวย?: หวย—ความหวังในช่องว่างของชนชั้น’


“ถ้ามาดูม้าแบบไม่เล่นพนัน ยังจะสนุกอยู่ไหมคะ” ฉันถาม

“ก็สนุก แต่มันไม่เร้าใจ เล่นนิดๆ หน่อยๆ พอให้หัวใจเต้น” คุณลุงเงียบไปแล้วพูด “แต่เราก็ต้องรู้ตัวนะ การพนันมันน่ากลัว จะไปหวังรวยกับมันไม่ได้ อย่าไปจมปลัก อย่าเอาทั้งชีวิตไปลง เล่นให้เหมือนงานอดิเรก”

มีเจ้าของคอกม้าหลายคอกที่เคยโด่งดังถึงขีดสุดลงทุนกับการแทงม้าจนหมดตัว สุดท้ายไม่เหลือแม้แต่คอก บางคนเดินออกจากสนามม้าต้องยืมค่ารถจากร้านเช่ากล้องหน้าสนาม เพราะทั้งเนื้อทั้งตัวเหลืออยู่ 20 บาท

“สำหรับลุง การมาสนามม้าไม่ใช่เรื่องของการพนันหรอก แต่เราได้มาเจอเพื่อน ได้มาดูม้าแข่ง ได้อยู่กับบรรยากาศเก่าๆ เหมือนสมัยยังหนุ่ม สมัยนี้เล่นออนไลน์ก็ได้ แต่คิดดูสิ หนูว่ามันสนุกไหมล่ะ”

คุณลุงพูดจบแล้วเดินลงไปใกล้สนาม

“เดี๋ยวลุงขอไปดูม้าหน่อยนะ ขอให้สนุก”

— บางส่วนจากตอน ‘ใครใคร่ค้าม้า ค้า — ใครใคร่เล่นม้า เล่น’


ทั้งที่มีเสน่ห์ดึงดูดขนาดนั้น มีความมันและออกอาวุธกันขนาดนั้น มีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืนขนาดนั้น ทำไมมวยไทยจึงยังยึดโยงอยู่กับแค่นักพนันและชาวต่างชาติที่แวะเข้ามาดูเป็นครั้งคราว

“ที่น้องคิดมันก็ถูก แต่ฟังพี่นะ มวยอยู่ได้เพราะการพนันนี่แหละ ถ้าไม่มีเซียนมวยมาดู ก็ไม่มีใครมาดูแล้ว” เซียนมวยคนหนึ่งพูดกันฉัน

“จะว่าเสพติดความรุนแรงก็ไม่เชิงนะ ผมมองในเชิงศิลปะมากกว่า คนตีกันแบบมีศิลปะ มีกติกา แล้วเรายังวางเดิมพันได้ด้วย จะมีอะไรสนุกกว่านี้อีก” บางเซียนมวยว่าไว้

“ผมดูมวยมาตั้งแต่อายุ 17 ถึงตอนนี้อายุ 80 ถ้าเอาเงินค่าเข้าชมมาวางเรียงจากหน้าราชดำเนิน ผมว่ายาวถึงสนามหลวง”

— บางส่วนจากตอน ‘ปล่อยหมัด ขัดศอก ตอกเข่า: วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย’


ลุงฐาพัช เจ้าของบ้าน บอกชัดเจนว่า “ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่เราต้องดูผลกระทบทางนิเวศให้ครบถ้วน ไม่ใช่ทำให้แม่น้ำกลายเป็นท่อน้ำเสียเหมือนอย่างทุกวันนี้”

คูคลองที่พาดผ่านชุมชนบ้านปูนกลายเป็นสีดำสนิท เต็มไปด้วยสารเคมีจากโรงตีเหล็กทางต้นน้ำ รวมถึงช่วงของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณบ้านปูนก็ไม่มีปลาผ่านมานานแล้ว น้ำที่ซัดตรงตลิ่งมีเศษขยะลอยมาติดให้เห็นจนชินตา

“คุณไปดูสิ ตรงแม่น้ำทางสะพานพุทธก่อนจะมาถึงพวกผม น้ำใส ปลาสวาย ปลาดุก ว่ายเต็ม แต่ตรงบ้านปูนไม่มีเลย จับไม่ได้ เพราะระบบนิเวศเสียไปหมดแล้ว” ลุงฐาพัชอธิบายให้เห็นภาพ แล้วพูดต่อว่า

“ยังไม่นับว่าถ้าทำทางเลียบแล้วจะไปบดบังทัศนียภาพ วัด วัง หมู่บ้าน ตลอดเส้นแม่น้ำที่มีมาตั้งนาน วิวแบบนี้กลายเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ไปแล้ว เราจะเอาอะไรไปบังทำไม”

— บางส่วนจากตอน ‘ชั่วชีวิตคนลุ่มน้ำบางกอก เมื่อเวลาไม่อยู่ข้างเรา’


“เสียดาย ถ้าเอ่ยคำว่าสีหนุวิลล์ในกัมพูชา นี่คือเป้าหมายที่ทุกคนจะมาเที่ยวให้ได้สักครั้งในชีวิต” ชายวัยสามสิบต้นๆ ที่อยู่สีหนุวิลล์มาตั้งแต่เด็กเล่าถึงบรรยากาศที่นี่เมื่อหลายปีก่อนให้ฟัง

คำว่า ‘เสียดาย’ ในที่นี้ย่อมไม่ใช่ใดอื่น นอกจากการเปลี่ยนแปลงของสีหนุวิลล์หลังจากทุนจีนรุกเข้ามาเมื่อปี 2561

“ก่อนหน้านี้เป็นเมืองเงียบๆ สองข้างทางมีต้นไม้ใหญ่ร่มเย็น แต่ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ผมไม่คิดเลยว่าจะเกิดขึ้นจริง” เขาว่า

คำว่าเงียบและต้นไม้ใหญ่ ไม่ใกล้เคียงกับภาพที่เห็นตอนนี้แม้แต่น้อย มีเพียงตึกสูงที่ผุดขึ้นมาเหมือนไม่มีวันหมดสิ้น บางอาคารสร้างเสร็จใหญ่โตโอ่โถง ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นคาสิโนและโรงแรม ถนนเดิมโดนเลาะออก กลายเป็นทางดินที่กำลังจะกลายเป็นถนนใหม่ในไม่ช้า มองไปรอบๆ ถ้าจะเห็นตัวอักษรเขมรอยู่บ้างก็ตรงทะเบียนรถที่วิ่งอยู่ทั่วเมืองเท่านั้น นอกนั้นถูกรุกคืบด้วยตัวอักษรจีนใหญ่ยักษ์คล้ายการประกาศศักดา

— บางส่วนจากตอน ‘อาณาจักรคาสิโน เบียร์หนึ่งดอลลาร์ และราคาชีวิตของสีหนุวิลล์’


เมื่อถามว่า ถ้าไฟไม่ติดแล้วอยู่กันอย่างไร ป้าตอบด้วยท่าทีสบายๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติอย่างที่สุดว่า “ก็จุดตะเกียง”

ฉันไม่แน่ใจว่าเพราะเอาความคิดแบบคนเมืองไปจับหรือเปล่า จึงรู้สึกว่า ดูยังไงป้ามะ เล ก็ไม่น่ามีความสุขได้ ก็ในเมื่อปัจจัยพื้นฐานยังกะพร่องกะแพร่งขนาดนี้ ยังไม่นับว่าเมื่อคุณลุงป่วยก็ต้องใช้เงินรักษาตัวตอนเข้าโรงพยาบาล อาชีพปลูกผักจึงไม่น่าจะเพียงพอกับการอยู่รอดของชีวิต

“จะมองว่าเราเอาสายตาคนเมืองไปจับก็ได้นะ แต่จะมองว่าเป็นความจำยอมก็ได้ เพราะไม่รู้จะดีกว่านี้ได้ยังไง เขาก็เลยมองว่าที่เป็นอยู่นั้นดีแล้ว” พี่ชายจากองค์กรเสมสิกขาลัย (Spirit in Education Movement หรือ SEM) ที่เคยมาหาคุณป้าหลายครั้งแลกเปลี่ยนกับฉัน

— บางส่วนจากตอน ‘ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย’


จากเด็กสาวที่เดินตามแม่มาจากต่างถิ่น จนวันที่แม่กลับไปอยู่ทวายหลายปี โอ๋กำลังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ชีวิตดูเหมือนจะไปได้ดี จนกระทั่งการเข้ามาของโควิด-19 ร้านที่โอ๋ทำงานด้วยต้องปิดชั่วคราวและจนถึงตอนนี้ที่ร้านค้าเริ่มกลับมาเปิดแล้ว เธอก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางร้านให้กลับไปทำงาน

“ชีวิตช่วงที่ไม่มีงานลำบากมาก กลับบ้านไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง เครียดมากเลย แม่ก็บอกว่ากลับมาเถอะ เราบอกว่าตรงชายแดนปิดแล้ว ออกไปไม่ได้ เราก็ไม่อยากกลับด้วย เพราะกลับไปแล้วก็ต้องกักตัวอยู่ดี เหมือนไปทำให้ครอบครัวลำบาก”

ภาวะ ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับโอ๋ แต่คนกว่าครึ่งหนึ่งจาก 200 ครัวเรือนในชุมชนทวายแห่งนี้กลายเป็นคนตกงานที่ลอยคว้างในมหาสมุทร ไร้ที่ยึดเหนื่อย

“เราอยากกลับบ้านนะ เพราะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ทำงาน ถ้าได้ทำงานก็ยังโอเค มีเงินส่งไปให้ที่บ้าน มีเงินจ่ายค่าห้อง ค่ากิน ค่าพาสปอร์ต แต่ตอนนี้งานไม่มี อยู่บ้านน่าจะดีกว่า เพราะเราไม่ต้องจ่ายค่าห้อง แต่ตอนนี้กลับไม่ได้ เขาปิดอยู่”

— บางส่วนจากตอน ‘‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ ชีวิตแรงงานพม่าในกรุงเทพฯ หลังโควิด-19 เมื่อคนทวายไม่อาจกลับบ้าน


“ผู้คนจำนวนมหาศาลไม่เคยได้อยู่บ้าน กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงของความหวัง รับเอาคนทั้งมวลเข้ามาหางานและเงิน เมื่อถึงวันหยุดยาวทีหนึ่ง ผู้คนก็กลับบ้านของพวกเขา หอบเอาความคิดถึง เอา ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ และ ‘หวังว่าจะดีขึ้น’ กลับไปฝากครอบครัว

ปีใหม่ที่ผ่านมา เขาไม่ได้กลับบ้าน อยู่เฝ้ายามที่คอนโด เพราะได้รับค่าจ้างต่อวันมากกว่าเดิมสองเท่าในช่วงวันหยุดยาว

ลุงยามเล่าให้ฟังว่าทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เงินเดือนรวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 9,000-12,000 บาท รวมค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ที่เหลือส่งกลับบ้านให้ครอบครัวและเก็บไว้ใช้เอง หวังว่าวันหนึ่งถ้ามีเงินก้อนมากพอ จะกลับไปทำสวนของตัวเองที่บ้าน

“ผมหวังแบบนี้มายี่สิบกว่าปีแล้ว” คุณลุงยามว่า

— บางส่วนจากตอน ‘New Year: No-Solution? – ปีใหม่ที่ไร้อนาคต?’


RELATED ARTICLES

VIEW ALL