สำรวจชีวิตหญิงไทยยุค 2480 ผ่านตัวละครในนวนิยาย ‘สาวไห้’

9 กรกฎาคม 2021 | by salmonbooks

มีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของเนื้อเรื่อง

หลังครบรอบ 89 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยไปเมื่อเดือนก่อน เราก็นึกสงสัยว่าผู้คนหลังยุคการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกๆ นั้น พวกเขามีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร

เราจึงขอชวนทุกคนขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปส่องความเป็นไทยและเรื่องราวในอดีตช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ผ่าน ‘สาวไห้’ นวนิยายของ ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2486 ก่อนที่แซลมอนจะนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ในโครงการ ‘Salmon Selected’ เมื่อต้นปีนี้

เนื้อหาภายในเล่มบอกเล่าวิถีชีวิต ความรัก และความผิดหวังของ ‘กรรณิการ์ บุษราคัม’ หญิงสาวผู้ใฝ่ฝันอยากใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยมองข้ามขนบที่สังคมคาดหวัง อีกทั้งยังสะท้อนความผันผวนในประเทศไทยช่วงที่วัฒนธรรมใหม่ๆ ถาโถมเข้ามา ผ่านชีวิตอันลิงโลดของกรรณิการ์ ตั้งแต่ความสนใจที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย การเลือกอาชีพทำงาน การเดินทาง และความสัมพันธ์ของเธอ รวมถึง ‘สำนวนสะวิง’ และ ‘ความขบถและแหวกแนว’ ของผู้เขียนที่ปรากฏในรูปแบบตัวอักษรซึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากสังคมในยุคนั้นเช่นกัน

ถ้าอยากรู้ว่าประเทศไทยในสมัยนั้นเป็นยังไง กรรณิการ์ใช้ชีวิตอย่างไรถึงดูเป็นสาวหัวสมัยใหม่ในเวลานั้น กระโดดขึ้นไทม์แมชชีนไปดูด้วยกันเลย! :->

เมื่อได้ชื่อว่าเป็นนางเอกในวรรณกรรมยุคที่ความเป็นสมัยใหม่เริ่มผลิบาน ทำให้นอกจากกรรณิการ์จะเป็นหญิงสาวแรกรุ่นที่มีรูปลักษณ์สวยงามแล้ว เธอยังถือเป็นหญิงยุคแรกๆ ที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนอีกด้วย ยิ่งเมื่อได้เจออาจารย์อย่าง ‘ราศี สิทธิการิยะ’ หนุ่มนักเรียนนอกดีกรีอักษรศาสตรบัณฑิต ซึ่งถ่ายทอดความรู้และเสรีภาพทางความคิดให้กับกรรณิการ์เสมอ ก็ทำให้เธอเกิดคิดฝันอยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่สาวร่วมสมัยคนอื่นๆ ไม่ค่อยมีใครคิดหรือมีโอกาสได้ทำเช่นนั้นมากนัก

ถึงตรงนี้ เริ่มสงสัยกันไหมว่าทำไมในช่วงทศวรรษ 2480 จึงมีตัวละครหญิงที่ได้รับการศึกษาปรากฏเด่นอยู่ในวรรณกรรม ทั้งที่ยุคก่อนหน้านี้ บทบาทของผู้หญิงในสังคมก็ยังดูเหมือนว่าผูกติดอยู่กับการเป็นลูกสาว การเป็นภรรยา และการเป็นแม่เท่านั้น 

หากย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) สืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453-2468) การปฏิรูปการศึกษาเป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาสังคมไปสู่ความทันสมัย ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีการวางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ที่กำหนดให้เด็กทุกคนต้องเข้าโรงเรียน 

เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงช่วงปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ต่อยอดนโยบายและให้ความสำคัญกับการศึกษามากยิ่งขึ้น เด็กหญิงและสาวรุ่นในยุคนั้นจึงมีโอกาสได้เล่าเรียน ไม่จำเป็นต้องอุดอู้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำงานบ้าน และดูแลครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้ความรู้มาประกอบอาชีพในทางที่สนใจได้ เหมือนกับที่กรรณิการ์เลือกทำอาชีพนักเขียนตามความฝัน แถมยังได้เป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์เสียด้วย!

สาวสวยอย่างกรรณิการ์ไม่โสดแล้วนะ!

หลังจากเรียนจบมัธยมฯ กรรณิการ์ก็ตัดสินใจแต่งงานกับ ‘วโรดม สาระธรรม’ หนุ่มเสื้อเชิ้ตโปโลสีเหลือง กางเกงขาสั้นสีกรมท่า ผู้จูงจักรยานของน้องสาวมาให้กรรณิการ์ปั่นไปเที่ยวด้วยเมื่อครั้งวันวาน ก่อนจะสานสัมพันธ์กันเรื่อยมา (ฮิ้วววว)

แม้งานวิวาห์จะจัดขึ้นแบบสายฟ้าแลบ ทำเอาคุณแม่ของกรรณิการ์ตกอกตกใจและผิดหวังเสียยกใหญ่ แต่ผู้หญิงสมัยนั้นสามารถเลือกคู่ครองของตนเองได้แล้ว ไม่ได้ถูกคลุมถุงชนอย่างที่เห็นบ่อยๆ ในละครพีเรียด ซึ่งการที่สตรีสามารถเลือกคู่ครองได้นั้น มีที่มาจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 กรณีชาวบ้านชื่อ ‘อำแดงเหมือน’ ยื่นฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมให้สตรีสามารถเลือกคู่ครองได้ตามใจต้องการเมื่อมีอายุครบ 20 ปี โดยพ่อแม่ไม่มีสิทธิบังคับให้แต่งงานกับชายใดก็ได้อีกต่อไป (แต่ในความเป็นจริง ลูกสาวในครอบครัวชนชั้นสูงก็ยังต้องฟังพ่อแม่อยู่นะ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของวงศ์ตระกูลนั่นเอง) 

ถึงแม้ว่าสาวๆ ยุคเดียวกับกรรณิการ์จะมีอิสระเลือกคู่ครองเองได้ แต่พวกเธอก็ยังไม่อาจสลัดพันธนาการของขนบธรรมเนียมและจารีตเกี่ยวกับการอยู่กินฉันสามีภรรยาแบบเก่าได้อยู่ดี เพราะใช่ว่าทุกคนในสังคมยุคอภิวัฒน์สยามจะเด็ดค่านิยมดั้งเดิมทิ้งได้ง่ายดายเหมือนเด็ดดอกไม้ สามีหลายคนยังตั้งตัวไม่ทันที่ภรรยาจะเป็นสาวสมัยใหม่ที่ใฝ่หาอิสระ เพราะยังเคยชินกับภรรยาช่างปรนนิบัติ หากภรรยาเป็นสาวสมัยใหม่มากไป ก็จะเสี่ยงกระทบกระทั่งกับสามีได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน 

เอ แล้วชีวิตแต่งงานของกรรณิการ์สาวหัวก้าวหน้าสุดจี๊ดกับวโรดมล่ะ จะเป็นแบบไหนกันนะ ?

ด้วยอาชีพนักเขียนของกรรณิการ์ แรงบันดาลใจถือเป็นสิ่งสำคัญในการรังสรรค์ผลงาน เธอจึงเสาะแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการเติมเต็มฝันอยู่เสมอ หนึ่งในการตามหาแรงบันดาลใจครั้งสำคัญของเธอคือการไปเที่ยว ‘ไซ่ง่อน’ กับ ‘พระองค์เจ้าจักรวาลแว่นฟ้า’ บุคคลที่อาจารย์ราศีแนะนำให้รู้จัก ซึ่งเป็นผู้นำและผู้ร่วมทริปเพียงหนึ่งเดียวในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของกรรณิการ์ 

ช่วงทศวรรษ 2480 เป็นเวลาแห่งการต้อนรับวัฒนธรรมใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา ผู้คนในประเทศเริ่มออกไปสัมผัสกับวิถีเส้นทางในดินแดนต่างถิ่นอยู่ไม่น้อย และเมื่อสามารถเข้าถึงการศึกษามากขึ้นโดยไม่จำกัดชนชั้น จึงเกิดเป็นกระแสการส่งนักเรียนไทยไปร่ำเรียนในประเทศต่างๆ ตามมา ซึ่งผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ก็เป็นหนุ่มนักเรียนนอกคนหนึ่งที่สัมผัสวัฒนธรรมต่างชาติมาพอสมควร จึงนำเอาประสบการณ์มาบอกเล่าผ่านตัวละคร รวมถึงพาพวกเขาเดินทางไปโลดแล่นยังต่างแดน สะท้อนให้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่รับเอาแนวคิดหลากมุมมาเกลารวมกับบริบทเดิม

ในการไปเยือนไซ่ง่อนของกรรณิการ์ หญิงสาวได้ท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงในเมืองไซ่ง่อน หรือที่ในปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นครโฮจิมินห์’ เมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นเกียรติให้นักปฏิวัติและประธานาธิบดีนาม ‘โฮจิมินห์’ หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนามใน พ.ศ. 2518 ไม่ว่าจะเป็นถนนรูคาติน่าหรือที่ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ ‘ด่องเขย’ (Dong Khoi Street) กลายเป็นหนึ่งในถนนที่สวยและเก่าแก่ที่สุดของเวียดนาม โรงละครโอเปร่า เฮาส์ (Saigon Opera House) ที่มีอายุกว่าร้อยปี และเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่ตั้งตระหง่านใจกลางโฮจิมินห์ รวมไปถึงโรงแรมกองติเนนตัล (Hotel Continental Saigon) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2423 เมื่อครั้งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่คนชื่นชอบสอดส่องสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสพลาดไม่ได้ 

ดังนั้น หากใครมีโอกาสได้ชะแวบไปเยือนเวียดนามเมื่อไหร่ ก็ลองไปเที่ยวตามรอยกรรณิการ์ได้นะ

ระหว่างรับบทเป็นนักเขียน กรรณิการ์ยังเป็นเหยี่ยวข่าวสาวสายสังคม และมีโอกาสได้สัมภาษณ์เหล่าคนดังอีกด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็นอดีตนางเอกชื่อดังแห่งยุค หรือบุคคลปริศนาที่เคยหายหน้าหายตาไปจากสังคมช่วงหนึ่ง (เอ๊ะ ใครกัน!?) ซึ่งการทำงานนี้ก็เปิดโอกาสให้หญิงสาวก้าวเข้าสู่แวดวงสังคมที่ใหญ่ขึ้น กรรณิการ์เองจึงต้องแวะเวียนไปงานเลี้ยงเพื่อพบปะผู้คนต่างๆ อยู่บ่อยๆ หนึ่งในนั้นคืองานเลี้ยงกลางคืน ณ สวนอัมพรที่เธอได้พบกับบุคคลแห่งโชคชะตาอีกครั้ง :->

การไปงานกลางคืนถือเป็นกิจกรรมการเข้าสังคมยอดนิยมของหนุ่มสาวในยุค 2480 ภายหลังจากช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครอง มีการกำหนดนโยบายที่เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ผนวกกับกระแสวัฒนธรรมอเมริกันที่แพร่หลาย ทำให้งานสังสรรค์รื่นเริงอย่างการเต้นรำหรือลีลาศได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น สาวๆ หนุ่มๆ เลยพากันแต่งตัวสวยหล่อไปอวดโฉมท่ามกลางแสงไฟ เสียงดนตรี และมีบทสนทนากันยามค่ำคืน

พื้นที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันอย่างพื้นที่เมืองสมัยใหม่และพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เป็นจุดนัดหมายยอดฮิตที่หนุ่มสาวจะมาร่วมกิจกรรมตามรูปแบบวัฒนธรรมสมัยใหม่ อย่างที่ปรากฏในเรื่องคือ ‘สวนอัมพร’ ซึ่งเคยใช้จัดงานรื่นรมย์มาตั้งแต่ในอดีต รวมถึงเคยใช้จัดงานสำคัญใหญ่ๆ อย่างงานกาชาด และงานเมาลิดกลาง (พิธีของศาสนาอิสลาม) ด้วย

จากการได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตานี่เอง เราจึงได้แอบฟังวิธีการพูดคุยและเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยนั้นอยู่หลายช่วงหลายตอน ใครจะลองเอาสำนวนไปใช้กันก็ได้ เห็นผลอย่างไรมาบอกพวกเราด้วยนะ

พอใช้ชื่อเรื่องว่า ‘สาวไห้’ น่าสนใจเหมือนกันว่า ทำไมวิตต์ออกแบบชีวิตกรรณิการ์ให้เป็น ‘สาวไห้’ กันนะ นักเขียนชายอย่างวิตต์กำลังมองผู้หญิงด้วยสายตาแบบไหน จะใช่สายตาของผู้ชายคนหนึ่งจากสังคมชายเป็นใหญ่ที่เห็นว่าผู้หญิงคงมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความขมขื่นหรือเปล่า ? 

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงจะค้านกับอุดมการณ์ของ ‘หนุ่มสำรวย’ (dandyism) ที่หาใช่หมายถึงแค่สไตล์การใช้ชีวิตของวิตต์ไปสักหน่อย เพราะคุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นหนุ่มสำรวยก็คือ การเป็นชายที่รู้จักหญิง ได้ยินเสียง รับรู้ความรู้สึก และความปรารถนาของสตรีเพศ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของบุรุษในการทำความเข้าใจเพศหญิงเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศในสังคม ตามที่ ‘อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู’ ผู้เขียนบทความ ‘สุภาพบุรุษสุดสะวิง: วรรณกรรมชีวิตของวิตต์ สุทธเสถียร’ ได้วิเคราะห์การที่วิตต์สร้างตัวละครหญิงอย่างกรรณิการ์ให้เป็นผู้มีชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องราวผันผวนไว้ท้ายเล่มของ ‘สาวไห้’ ว่า

“…วิตต์เขียนนวนิยายเรื่อง สาวไห้ เมื่อพ.ศ. 2486 ตัวบทเล่าเรื่องของตัวละครสาวสมัยใหม่ที่เพิ่งรู้รสชาติของชีวิตสมรส ตลอดจนรสสัมผัสทางเรือนร่างและกามารมณ์กับชายและกับหญิงด้วยกัน หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การต่อสู้ระหว่างบรรทัดฐานทางศีลธรรมและความคาดหวังของสังคมกับความปรารถนาของกรรณิการ์เอง

“…วิตต์เป็นสื่อกลางให้แก่เสียงพูดจากก้นบึ้งของหัวใจหญิง ในขณะเดียวกันก็ยืม ‘ปาก’ ของกรรณิการ์สื่อสารประเด็นปัญหาทางสังคมด้วย…”

และนี่เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของชีวิตหญิงสาวในยุค 2480 เท่านั้น หากอยากรู้จักชีวิต ความสัมพันธ์ และการต่อสู้กับสายตาสังคมของกรรณิการ์เพิ่มเติม ตามไปอ่านได้ใน ‘สาวไห้’ หรือจะทดลองอ่านตัวอย่างก่อนก็ได้ ที่นี่เลยยยย https://salmonbooks.net/product/girls/ :->

อ้างอิง:

เรื่อง: แก้วสกุล สุพรรณชนะบุรี, ฑิคัมพร สระทองทม


salmonbooks นวนิยาย วิตต์สุทธเสถียร สาวไห้

RELATED ARTICLES

VIEW ALL