SALMON BOOKS OF 2022

22 ธันวาคม 2022 | by salmonbooks

ช่วงเวลาแห่งการรีแคปชีวิตส่งท้ายปีวนมาอีกครั้ง เราแซลมอนบุ๊กส์ก็อยากรีแคปกับเขาบ้าง แต่ขอมาในรูปแบบการเล่าถึงเบื้องหลังการทำต้นฉบับทั้ง 22 เล่ม เป็น fun fact เล็กๆ ที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยหนังสือแปลที่ #ให้เสียงภาษาไทยโดยแซลมอนบุ๊กส์ ทำหนังสือเกี่ยวกับหมาเล่มแรก ความสนุกของการทำต้นฉบับที่เราก็ไม่รู้ว่านักเขียนเป็นใคร ต้นฉบับเล่มนั้นที่เกิดจากการไปส่องตอนทำต้นฉบับเล่มนี้ การเบิ้ลชื่อหนังสือสี่ครั้งบทหน้าปกมีที่มายังไง ต้นฉบับที่ดองไว้นานหลายปี และอีกหลายเรื่องของเล่มนั้นที่เราอยากเล่าให้ฟัง

ถือเป็นการจับมือทุกคนย้อนไปดูหนังสือที่พวกเราปิดเล่มทันเวลา และปล่อยออกมาให้ได้จับจองตั้งแต่ต้นปีถึงท้ายปีอีกครั้ง

ท้ายที่สุด พวกเรารู้สึกดีใจและขอบคุณทุกคนมากที่พาหนังสือเรากลับบ้านตลอดปีนี้ แล้วพบกับหนังสือเล่มใหม่ของเราอีกทีปีหน้า ส่วนปีนี้ ถ้าใครยังขาดเล่มไหน ก็ไปซื้อมาเพิ่มกันได้เลย! : )

NORMAL PEOPLE ปกติคือไม่รัก

ถ้าใครสังเกตแฮชแท็กของพวกเรา ก็อาจจะเคยผ่านตา #ให้เสียงภาษาไทยโดยแซลมอนบุ๊กส์ กันบ้าง ซึ่งเจ้าแฮชแท็กนี้ เราเพิ่งมาใช้กันแบบจริงจังปีนี้เอง เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เพราะว่าเรากลับมาทำหนังสือแปลอีกครั้ง แล้วระหว่างที่ปิดเล่มก็ดันนึกถึงประโยคสุดคลาสสิกของทีมพากย์พันธมิตร พอหนังสือเสร็จจริงเลยนำมาดัดแปลงเป็นแฮชแท็กอย่างที่ทุกคนเห็น

เล่มแรกที่ใช้แฮชแท็กนี้คือ ‘NORMAL PEOPLE ปกติคือไม่รัก’ นวนิยายที่พวกเราลุ้นกันตั้งแต่ตอนทำ เพราะกลัวว่าปล่อยออกมาแล้วคนอ่านจะงงว่าทำไมอยู่ดีๆ แซลมอนหันมาทำนิยายแปล แถมเนื้อเรื่องยังดูเป็นวัยรุ่นวุ่นรัก แต่ก็ด้วยการเล่าเรื่องที่ชวนติดตามของ แซลลี รูนีย์ รวมถึงการแปลและการตั้งชื่อไทยสุดติดหูของ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ ก็เลยทำให้ NORMAL PEOPLE เป็นหนึ่งในเล่มที่มีคนอ่านเยอะมากกกกก จนล่าสุดต้องพิมพ์ครั้งที่ 3 (และมีการแอบเปลี่ยนสีปกนิดหน่อย)

ก็อยากเชียร์ให้ใครที่ยังไม่ได้อ่านมาลิ้มลองกัน เผื่อจะตั้งตนเป็นแฟนคลับรูนีย์แบบพวกเรา

10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI บ้านนี้หมาไม่เห่า

ขอเขียนเป็น 10 ข้อเกี่ยวกับเล่มนี้

ข้อ 1 เป็นหนังสือเกี่ยวกับหมาเล่มแรกของแซลมอน

ข้อ 2 ท่าน บ.ก.บห. ไปเห็นโพสต์ของ บะหมี่ (พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด) วาดการ์ตูนลายเส้นกวนๆ ระบายความในใจถึงหมาที่บ้าน เลยชวนมาเขียน

ข้อ 3 เป็นการกลับมาทำคอมิกที่เหมือนพาพวกเราย้อนกลับไปช่วงยุคแรกๆ ของแซลมอนที่ทำคอมิกเยอะมากๆ (และหวังว่ามันจะทำให้นักอ่านได้กลิ่นอายความเป็นแซลมอนยุคบุกเบิกเช่นเดียวกัน)

ข้อ 4 การทำต้นฉบับใช้เวลาตั้งแต่มิถุนายน ปี 2021 ตีพิมพ์มีนาคม 2022 เก็บรายละเอียดในเล่มเยอะมากๆ ทั้งของนักเขียนและกราฟิกฯ (ตาแตก1)

ข้อ 5 ตอนแรกก็กังวลว่าเรื่องของหมาหนึ่งตัวจะเล่าอะไรได้ ไปๆ มาๆ มีวีรกรรมซ่าถึง 10 บท ทั้งที่เพิ่งเลี้ยงมายังไม่ถึงปี!

ข้อ 6 สนุกตั้งแต่ชื่อหมา นางชื่อเม่าไห่ เพราะเป็นพันธ์ุบาเซนจิที่โดดเด่นเรื่องการไม่เห่า (ก็เลยชื่อเม่าไห่…)

ข้อ 7 เป็นหนังสือที่ทุกคนอ่านได้ ทาสแมวอ่านดี ทาสหมาอ่านสนุก

ข้อ 8 แม้จะตั้งชื่อว่าเกลียด แต่พอเอาเข้าจริง ก็เป็นการเกลียดแบบรักมากกกก

ข้อ 9 เคยคิดว่าตอนจัดงานหนังสือที่บางซื่อ อยากให้บะหมี่พาเม่าไห่มาแจกลายเซ็น แต่สถานที่ไม่อำนวย (มีใครอ่านจบแล้วอยากเจอเหมือนกันบ้างมั้ย)

ข้อ 10 อ่านแล้วคิดถึงหมาที่บ้านหรืออยากเลี้ยงหมา 300%

MABUHAY MANILA มะนิลามาเมคอัพ

i don’t want a new chapter, i like the old one.

หนึ่งในเรื่องที่เราปวดหัวมากที่สุดตอนทำเล่มนี้ ไม่ใช่การคอมเมนต์ต้นฉบับ (เพราะต้นฉบับเล่มนี้สนุกมากกกก) (ไม่เชื่อเหรอ) (ก็ต้องลองซื้อ) แต่เป็นตอนคิดว่าเราจะสื่อสารกับผู้อ่านยังไงไม่ให้งงจนเกินไป เพราะด้วยคอนเซปต์ที่โชติกาวางเอาไว้ มันสุ่มเสี่ยงมากๆ แค่พูดนิดเดียวก็สปอยล์แล้ว

ถ้าสังเกตเลยจะเห็นว่าเวลาพูดถึงหนังสือเล่มนี้ เราจะไม่เล่าเรื่องย่ออะไรมาก เพราะฉะนั้น ในโพสต์นี้เราก็จะไม่เขียนอะไรไปมากกว่านี้ ไม่งั้นเดี๋ยวจะสปอยล์คนที่ยังไม่ได้อ่าน

เอาเป็นว่าเราขอพูดถึงหน้าปกแล้วกัน เล่มนี้ออกแบบโดย NJORVKS (อ่านว่า นิว-ย้อก) อาร์ตไดเรกเตอร์ประจำสำนักพิมพ์ ที่หลังจากเอาต้นฉบับไปอ่านและนอนตกผลึกในโจทย์ที่ได้รับ ก็มาพร้อมแบบปกจำนวนหนึ่ง โดยในจำนวนนั้นมีปกแบบที่เราเห็นไฟนอลกันอยู่ด้วย ซึ่งบอกเลยว่าเห็นแค่ครั้งแรก บ.ก.กับนักเขียนก็เคาะผ่าน เพราะนอกจากจะให้ความรู้สึกสวยเท่ หน้าปกนี้ยังแฝงกิมมิกที่เชื่อมโยงกับธีมของเรื่องสั้นด้วย

การเบิ้ลชื่อหนังสือสี่ครั้ง แล้วมีการเซ็นเซอร์ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย เพื่อให้อ่านได้ประโยคที่แตกต่างกัน ในทางหนึ่งก็ไม่ต่างกับเรื่องสั้นของโชติกาที่แต่ละเรื่องมีความต้องอ่านติดกันเป็นทอดๆ นอกจากนี้ การทำให้แต่ละชื่ออ่านได้ไม่เหมือนกัน ก็อาจสัมพันธ์กับชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดี

ก็แหม เราไม่ได้อยากได้ new chapter นี่ มี old one ตั้งหลายอันที่ถูกใจเรามากกว่า และต่อให้จะเป็นกังวลว่าคนจะสับสนชื่อหนังสือมั้ย แต่เราก็เชื่อว่ามันเป็นปกที่เมื่อปล่อยออกไปน่าจะดึงดูดให้คนหันมาสนใจได้ไม่มากก็น้อย (ส่วนจะจริงหรือไม่ ต้องขอให้นักอ่านช่วยกันบอก)

บันทึกภาษาไทยของผม

โอฮาโยโกไซมัสสสส (โค้งหนึ่งที) ในส่วนของเล่มนี้นั้น เกิดจากพวกเราติดตามเพจ บันทึกภาษาไทยของผม ของคุณอิซากะอยู่แล้ว เลยได้เห็นมุมมองที่มีต่อประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งอาหาร ผู้คน การขนส่ง และการใช้ชีวิต ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินพบอยู่ทุกวี่วัน แต่พอเป็นการเล่าผ่านสายตาจากคนญี่ปุ่น บางเรื่องกลับน่าเอ็นดู บางเรื่องก็ชุบชูใจ บางเรื่องตลกขบขัน ไปจนบางเรื่องก็สะท้อนความสุดจะไทยแลนด์โอนลี่ และซ่อนปัญหาในเมืองเอาไว้เหมือนกัน แถมการเล่าที่เป็นบันทึกลายมือน่ารักๆ ก็เหมาะกับพวกเราที่เป็นสำนักพิมพ์น่ารักส์ๆ (เรื่องนี้ให้คนอื่นเขาพรูดดดด) เราก็เลยทักไปชวนคุณอิซากะมาบันทึกเป็นเล่มซะเลย

แต่ช้าก่อน ใช่ว่าจะรวบรวมบันทึกทั้งหมดมาตู้มใส่หนังสือเฉยๆ เพราะเรามาเขย่าๆ จัดหมวดหมู่ และให้คุณอิซากะเขียนเล่าเพิ่มเติมต่อจากหน้านั้นๆ ด้วย ส่วนการทำนั้น ตอนแรกตั้งใจกันว่าจะให้ในเล่มเป็นลายมือคุณอิซากะทั้งหมดเพื่อคงความเป็นบันทึกแบบ 300% แต่พอได้รู้ว่าคุณอิซากะใช้เวลาในการเขียนต่อแผ่นนานหลายชั่วโมง ความคิดนี้จึงต้องพับเก็บไปเงียบๆ… แต่! เรามันสู้ คุณอิซากะก็สู้ พวกเราเลยเสนอให้คุณอิซากะทำฟอนต์ลายมือตัวเองขึ้นมา ปรากฏว่าได้ฟอนต์แต่เกิดมหกรรมสระเด้งอีก คราวนี้เลยต้องถอยทัพ กลับมาใช้ฟอนต์ปกติตามเดิม โดยกราฟิกฯ ก็พยายามหาฟอนต์ที่ให้เหมือนใกล้เคียงลายมือสุดๆ เพื่อให้คงความเป็นบันทึกให้ได้มากที่สุดด้วย

MATCH POINT เรื่องราวกีฬาที่มากกว่าผลการแข่งขัน

DEAR PORTLAND

อะไรทำให้เรานำบันทึกข้อความขนาดสั้นและภาพชุดใหญ่จัดเต็มถึงเมืองพอร์ตแลนด์ที่เคยตีพิมพ์ในปี 2015 กลับมาตีพิมพ์ใหม่?

นั่นเพราะหลังรับบทแอดมินเพจแซลมอนบ่อยๆ และเป็นนักสืบโซเชียลฯ ตามฟีดแบ็กในบางครั้ง เรามักจะได้รับเรื่องจากมิตรนักอ่านและแฟนคลับพี่เบนซ์ตามหา ‘DEAR PORTLAND’ เสมอ วันแล้ววันเล่า คนแล้วคนเล่า จนเรา (ในฐานะนักอ่านที่เลิฟเล่มนี้สุดๆ) ก็เป่าหู เอ้ย ทำการรายงานสาส์นต่อท่านพี่ บ.ก.บห.เป็นระยะๆ

พวกเราสุมหัวคุยกัน ตบตีกัน (เดี๋ยวๆ) ว่าจะนำกลับมาตีพิมพ์หรือไม่ ว่าแล้วก็ยกเหตุผลทั้งห้ามาวางที่โต๊ะ

หนึ่ง—หนังสือบันทึกประสบการณ์ที่เล่าถึงเมืองพอร์ตแลนด์มีน้อยมาก สอง—เมืองคุณภาพชีวิตดีขนาดนี้ต้องถูกบอกต่อหรือพานักอ่านไปเที่ยวทิพย์สิ สาม—แฟนคลับที่เพิ่งรู้จักพี่เบนซ์อาจไม่ทันซื้อ คงมีคนตามหา อยากได้ไปสะสม หรือเล่มเก่าหาย เพื่อนยืมแล้วไม่คืน เล่มเหลืองแล้ว ฯลฯ สี่—พี่เบนซ์บอกว่าเมืองพอร์ตแลนด์มันดีเกินไปปปปปปปปปป ห้า—เราก็ว่ามันดีย์ย์ย์ย์ถ้านำกลับมาพิมพ์ใหม่

ถึงอย่างนั้น ภายในใจพวกเราก็ยังกล้าๆ กลัวๆ เลยต้องไปซาวนด์เสียงแฟนๆ นักอ่านอีกสักรอบว่าอยากให้นำกลับมาตีพิมพ์หรือไม่ และในที่สุดแต่นแต๊นนนนก็ได้พิมพ์สอง พร้อมเปลี่ยนปกใหม่ไฉไลกว่าเดิม

#หลงยุคหลุดสมัย

HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้มาจากทาง dtac เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการไซเบอร์บูลลี่จากวัยรุ่นได้จำนวนหนึ่ง แล้วก็ทำเป็น สัญญาใจวัยเจนฯ Z ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ซึ่งจะมีสัญญาใจทั้งหมด 23 ข้อ แบ่งหมวดแบ่งอะไรกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ราวกับกำลังอ่านรัฐธรรมนูญยังไงยังงั้น

ตอนแรก dtac มาคุยกับเราว่าอยากนำเสนอสัญญาใจนี้ออกไป แต่ดันเปิดช่องว่าทำในรูปแบบใดก็ได้ เราเลยฟุ้งๆ ว่าถ้างั้นเอาสัญญาใจแต่ละข้อมาตีความใหม่ดีมั้ย เป็นการนำเสนอเรื่องไซเบอร์บูลลี่อีกหลายๆ ด้าน บางเรื่องอาจเป็นผู้ถูกกระทำ บางเรื่องอาจเป็นคนกระทำเสียเอง ซึ่งโชคดีที่ dtac ดันสนใจและเอาด้วย หนังสือเล่มนี้เลยถือกำเนิด

แต่ด้วยความที่อยากให้สัญญาใจถูกเล่าเรื่องโดยคนรุ่นใหม่หรือคนที่คลุกคลีกับโซเชียลฯ พวกเราเลยระดมสมองจนคิดได้ว่าควรถือโอกาสนี้ไปชักชวนนักเขียนที่ยังไม่เคยร่วมงาน แต่อาจเคยผ่านตา หรือเคยติดตามผลงานพวกเขาในฐานะนักอ่านมาก่อน ด้วยเหตุนี้ เราเลยได้ร่วมงานกับ JittiRain, serene seabond, summer december, afterday, ตัวแม่* เป็นครั้งแรก (แถมยังเผยแพร่ 3 เรื่องสั้นในเล่มลง readAwrite เป็นครั้งแรกอีกด้วย)

อ้อ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเล่มนี้มีหน้าปกสองแบบ โดย NJORVKS ผู้ออกแบบปกเล่มนี้บอกว่า ตั้งใจคัดเอาอีโมจิที่มักถูกมอง/ใช้ในแง่ลบ เพราะเป็นอึบ้างล่ะ เป็นหมูบ้างล่ะ มานำเสนอในมุมใหม่ คือถ้าอีโมจิสองตัวนี้มีชีวิตจิตใจ ก่อนหน้านี้มันก็อาจหมดความมั่นใจ เสียเซลฟ์ เพราะมักถูกกดใช้ในบริบทไม่ดี การนำมาขึ้นหน้าปกหนังสือเล่มนี้ เลยเป็นเหมือนการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับอีโมจิทั้งสองตัว คือเป็นอึแล้วยังไง เป็นหมูมันไม่ดีตรงไหน อย่ามาบูลลี่กัน เพราะฉันมั่นใจในตัวเอง

uninspired by current events: sorry stories

everywhere girl

หิมาลัยต้องใช้หูฟัง (RE-COVER EDITION)

DEAR INDIA มาหาภารตะ

คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms. Kent & Me

ตอนทำเล่ม #HARSHTAG พวกเราต้องเอาเรื่องสั้นบางส่วนไปลงใน readAwrite เลยเป็นโอกาสให้ได้สำรวจตลาดว่านักเขียนไทยทุกวันนี้เล่าเรื่องกันแบบไหน เราอ่านงานชิ้นนั้นชิ้นนี้อยู่พักใหญ่ ก่อนไปสะดุดเข้ากับงานของคนคนหนึ่งที่มีนามปากกาว่า LADYS (ลาดิด)

ด้วยการเล่าเรื่องที่นิยมสร้างฉากหลังเป็นยุโรปหรือคลุมเครือในบรรยากาศ ทั้งยังใช้ชื่อตัวละครค่อนไปทางตะวันตก ทำให้แวบแรกเราสงสัยว่าลาดิดคือคนไทยหรือเปล่า จนกระทั่งไปลองหาข้อมูล ก็พบว่าลาดิดเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ขยันผลิตผลงานออกมาเหลือเกิน ออกหนังสือมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ที่สำคัญ บางเล่มพวกเราก็เคยเห็น แต่ตอนนั้นคิดกันไปเองว่านี่คงเป็นหนังสือแปลแน่ๆ!

กระทั่งแน่ใจแล้วว่าคือคนไทย จึงลองติดต่อไปทาบทามแล้วขอต้นฉบับสักเล่ม ซึ่งโชคดีเหลือเกินที่ตอนนั้นลาดิดกำลังเขียนนวนิยายเรื่องใหม่พอดี และต่อให้ตอนนั้นจะปล่อยลง readAwrite แค่ไม่กี่ตอน แต่ลาดิดก็เล่าเรื่องให้เราฟังแบบไม่มีปกปิด เราเลยคิดว่าต้องลุยกันสักตั้ง ขอเป็นฝ่ายตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้สักหน่อย และด้วยความว่องไว้ในการเขียนต้นฉบับของลาดิด ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เสร็จอย่างรวดเร็ว จนพวกเราแทบไม่ทันตั้งตัว

ป.ล. หน้าปกเล่มนี้วาดโดย จัง ผู้เขียน ใต้แสงธูป

INSIGHT JOB สิ่งมีชีวิตคิดโฆษณา

NO ONE BELONGS HERE MORE THAN YOU จงเติมคุณในช่องว่าง

สารภาพตามตรงว่าตอนกลับมาทำหนังสือแปลอีกครั้ง เรากะว่าจะทำแค่เล่มต่อเล่ม ถ้า NORMAL PEOPLE เวิร์กค่อยไปมองเล่มอื่นต่อ แต่ด้วยความที่ช่วงนั้นโควิด-19 ระบาด ต้อง WFH เลยมีโอกาสอ่านหนังสือที่กองอยู่เต็มบ้าน และก็คิดว่า เฮ้ย สงสัยต้องลองวัดดวง ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลกันอีกสักหน่อย

‘No one belongs here more than you’ คือหนึ่งในหนังสือที่เราซื้อลิขสิทธิ์ช่วงนั้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่าเราเองเป็นแฟนคลับมิแรนดา จูลาย ติดตามดูหนังเธอมาแล้วไม่รู้กี่เรื่อง และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะเราซื้อรวมเรื่องสั้นของเธอมาดองไว้ที่บ้านนานแล้ว เพิ่งจะอ่านจบก็ช่วงโควิดนี่แหละ

แม้จะมีเรื่องราวที่อาจพูดได้ว่าเพี้ยนๆ และชวนงง แต่ภายใต้ความมึนๆ เหล่านั้น เราพบว่าเรื่องสั้นของจูลายโดดเด่นในการพูดถึงชีวิตคน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความสัมพันธ์ แง่ของการเติบโต แง่ของความเคว้งคว้าง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยกลางคน เราเลยคิดว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้ น่าจะเป็นรสชาติในแบบที่นักอ่านแซลมอนน่าจะชอบ ก็เลยเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ และซุ่มแปลกันมาเรื่อยๆ ขณะที่ฝ่ายอาร์ตก็ซุ่มเลือกให้จูนจูนเป็นคนวาดภาพปก ซึ่งจูนจูนก็วาดมาเยอะจนพวกเราทำใจลำบาก เลือกเป็นภาพปกไปแล้วยังไม่หนำใจ ขอเอาภาพอื่นๆ ทำเป็นโปสต์การ์ด สุ่มแจกไปให้กับทุกเล่มเลย

UNTITLED CASE: PIECE / MAKER คน / สับ / สิ่งของ

มนุษย์ 6 ตุลา

CONVERSATIONS WITH FRIENDS แค่เพื่อนคุย 

อันที่จริง เราตั้งใจไว้ว่าหลังจาก NORMAL PEOPLE ผลงานเล่มถัดไปของแซลลี รูนีย์ ที่จะตีพิมพ์คงเป็น ‘BEAUTIFUL WORLD, WHERE ARE YOU’ แต่ด้วยความหนาและความช่วล (intellectual) ของตัวละครที่คุยกัน ทำให้ณัฐชานันท์ (ผู้แปล) บอกว่าขอเวลาหน่อยจ้า ระหว่างนี้เราเลยไม่รอช้า สลับเอา ‘CONVERSATIONS WITH FRIENDS’ ซึ่งเป็นนวนิยายเล่มแรกของรูนีย์มาตีพิมพ์ก่อน

เหตุผลที่เราโยกเล่มนี้มาก่อนได้ ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้ผู้แปลอย่างนัทธมน เปรมสำราญ ที่ดำเนินการอย่างว่องไว จนทำให้แฟนๆ แซลลี รูนีย์ ไม่ต้องรอเล่มถัดไปนาน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะเนื้อหาที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ว้าวุ่นชุลมุนหัวใจ ที่คราวนี้ไม่ได้มีแค่สองตัวละครแบบ ‘NORMAL PEOPLE’ แต่มากันเป็นแก๊งสี่คนที่เราคิดว่าอ่านต่อกันกับเรื่องของคอนเนลล์และแมรีแอนน์คงคุมโทนความปวดขมับในเรื่องเล่าความสัมพันธ์แบบรูนีย์ๆ ได้ดี

นอกเหนือไปจากนี้ เรายังคิดว่าการอ่านเล่มนี้คู่กับ ‘NORMAL PEOPLE’ ก็น่าจะทำให้เห็นพัฒนาการในแง่การเล่าเรื่องของรูนีย์ในช่วงแรกๆ เพราะถ้าเป็น ‘BEAUTIFUL WORLD, WHERE ARE YOU’ เราคิดว่าการเล่าเรื่องของรูนีย์จะเติบโตไปอีกสเต็ป ดังนั้นการอ่านสองเล่มนี้ติดกันจึงเป็นอะไรที่เราเชียร์มาก

DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน

‘DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน’ คือต้นฉบับเล่มสุดท้ายที่มาถึงมือพวกเราก่อนปิดเล่มเดือนตุลาคม ซึ่งตอนนั้นเวลาสำหรับตีพิมพ์ให้ทันงานหนังสือเหลือไม่มาก NJORVKS ผู้เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์จึงรับหน้าที่ในการออกแบบปกเล่มนี้เอง

ถ้าดูหน้าปกเผินๆ อาจจะเห็นเพียงกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับสังคม-การเมือง วางตัวอยู่ในรูปทรงกลม แต่ถ้าสังเกตอีกหน่อยก็จะเห็นว่าตัวหนังสือเหล่านี้มีความโค้งมนเหมือนถูกแปะลงไปบนลูกบอล อีกทั้งเป็นลูกบอลที่ซ้อนกันเหมือนอยู่ในภาชนะอะไรสักอย่าง

เฉลยก็คือ มันมีที่มาจากลูกบอลในเครื่องหมุนวงล้อสลากกินแบ่งฯ นั่นเอง แต่ถูกลดทอนให้เหลือเพียงแค่ลูกบอลและฟอร์มการเรียงตัวของลูกบอล เพื่อล้อไปกับความฝันอันดับต้นๆ ของคนไทย คือการถูกสลากกินแบ่งฯ รางวัลที่ 1 สอดคล้องกับเนื้อหาในเล่มที่พูดถึงหลักการและวิธีการที่จะทำให้ปัญหาในลูกบอลเสี่ยงโชคเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ นั่นเอง

LOST IN THAI EDUCATION โรงเรียนในฝันที่ฉันไปไม่ถึง

CRYING IN H MART พื้นที่ให้เศร้า


salmonbooks

RELATED ARTICLES

VIEW ALL