ช่วงเวลาแห่งการรีแคปชีวิตส่งท้ายปีวนมาอีกครั้ง เราแซลมอนบุ๊กส์ก็อยากรีแคปกับเขาบ้าง แต่ขอมาในรูปแบบการเล่าถึงเบื้องหลังการทำต้นฉบับทั้ง 22 เล่ม เป็น fun fact เล็กๆ ที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน
ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยหนังสือแปลที่ #ให้เสียงภาษาไทยโดยแซลมอนบุ๊กส์ ทำหนังสือเกี่ยวกับหมาเล่มแรก ความสนุกของการทำต้นฉบับที่เราก็ไม่รู้ว่านักเขียนเป็นใคร ต้นฉบับเล่มนั้นที่เกิดจากการไปส่องตอนทำต้นฉบับเล่มนี้ การเบิ้ลชื่อหนังสือสี่ครั้งบทหน้าปกมีที่มายังไง ต้นฉบับที่ดองไว้นานหลายปี และอีกหลายเรื่องของเล่มนั้นที่เราอยากเล่าให้ฟัง
ถือเป็นการจับมือทุกคนย้อนไปดูหนังสือที่พวกเราปิดเล่มทันเวลา และปล่อยออกมาให้ได้จับจองตั้งแต่ต้นปีถึงท้ายปีอีกครั้ง
ท้ายที่สุด พวกเรารู้สึกดีใจและขอบคุณทุกคนมากที่พาหนังสือเรากลับบ้านตลอดปีนี้ แล้วพบกับหนังสือเล่มใหม่ของเราอีกทีปีหน้า ส่วนปีนี้ ถ้าใครยังขาดเล่มไหน ก็ไปซื้อมาเพิ่มกันได้เลย! : )
ถ้าใครสังเกตแฮชแท็กของพวกเรา ก็อาจจะเคยผ่านตา #ให้เสียงภาษาไทยโดยแซลมอนบุ๊กส์ กันบ้าง ซึ่งเจ้าแฮชแท็กนี้ เราเพิ่งมาใช้กันแบบจริงจังปีนี้เอง เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เพราะว่าเรากลับมาทำหนังสือแปลอีกครั้ง แล้วระหว่างที่ปิดเล่มก็ดันนึกถึงประโยคสุดคลาสสิกของทีมพากย์พันธมิตร พอหนังสือเสร็จจริงเลยนำมาดัดแปลงเป็นแฮชแท็กอย่างที่ทุกคนเห็น
เล่มแรกที่ใช้แฮชแท็กนี้คือ ‘NORMAL PEOPLE ปกติคือไม่รัก’ นวนิยายที่พวกเราลุ้นกันตั้งแต่ตอนทำ เพราะกลัวว่าปล่อยออกมาแล้วคนอ่านจะงงว่าทำไมอยู่ดีๆ แซลมอนหันมาทำนิยายแปล แถมเนื้อเรื่องยังดูเป็นวัยรุ่นวุ่นรัก แต่ก็ด้วยการเล่าเรื่องที่ชวนติดตามของ แซลลี รูนีย์ รวมถึงการแปลและการตั้งชื่อไทยสุดติดหูของ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ ก็เลยทำให้ NORMAL PEOPLE เป็นหนึ่งในเล่มที่มีคนอ่านเยอะมากกกกก จนล่าสุดต้องพิมพ์ครั้งที่ 3 (และมีการแอบเปลี่ยนสีปกนิดหน่อย)
ก็อยากเชียร์ให้ใครที่ยังไม่ได้อ่านมาลิ้มลองกัน เผื่อจะตั้งตนเป็นแฟนคลับรูนีย์แบบพวกเรา
10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI บ้านนี้หมาไม่เห่า
ขอเขียนเป็น 10 ข้อเกี่ยวกับเล่มนี้
ข้อ 1 เป็นหนังสือเกี่ยวกับหมาเล่มแรกของแซลมอน
ข้อ 2 ท่าน บ.ก.บห. ไปเห็นโพสต์ของ บะหมี่ (พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด) วาดการ์ตูนลายเส้นกวนๆ ระบายความในใจถึงหมาที่บ้าน เลยชวนมาเขียน
ข้อ 3 เป็นการกลับมาทำคอมิกที่เหมือนพาพวกเราย้อนกลับไปช่วงยุคแรกๆ ของแซลมอนที่ทำคอมิกเยอะมากๆ (และหวังว่ามันจะทำให้นักอ่านได้กลิ่นอายความเป็นแซลมอนยุคบุกเบิกเช่นเดียวกัน)
ข้อ 4 การทำต้นฉบับใช้เวลาตั้งแต่มิถุนายน ปี 2021 ตีพิมพ์มีนาคม 2022 เก็บรายละเอียดในเล่มเยอะมากๆ ทั้งของนักเขียนและกราฟิกฯ (ตาแตก1)
ข้อ 5 ตอนแรกก็กังวลว่าเรื่องของหมาหนึ่งตัวจะเล่าอะไรได้ ไปๆ มาๆ มีวีรกรรมซ่าถึง 10 บท ทั้งที่เพิ่งเลี้ยงมายังไม่ถึงปี!
ข้อ 6 สนุกตั้งแต่ชื่อหมา นางชื่อเม่าไห่ เพราะเป็นพันธ์ุบาเซนจิที่โดดเด่นเรื่องการไม่เห่า (ก็เลยชื่อเม่าไห่…)
ข้อ 7 เป็นหนังสือที่ทุกคนอ่านได้ ทาสแมวอ่านดี ทาสหมาอ่านสนุก
ข้อ 8 แม้จะตั้งชื่อว่าเกลียด แต่พอเอาเข้าจริง ก็เป็นการเกลียดแบบรักมากกกก
ข้อ 9 เคยคิดว่าตอนจัดงานหนังสือที่บางซื่อ อยากให้บะหมี่พาเม่าไห่มาแจกลายเซ็น แต่สถานที่ไม่อำนวย (มีใครอ่านจบแล้วอยากเจอเหมือนกันบ้างมั้ย)
ข้อ 10 อ่านแล้วคิดถึงหมาที่บ้านหรืออยากเลี้ยงหมา 300%
- เป็นเล่มที่ไลลาเขียนเสร็จก่อน แต่ตีพิมพ์หลัง ‘Life in Flight Mode ไฟลต์ (ไม่) บังคับ’ (แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เสนอสำนักพิมพ์เรานะ) กว่า ‘มะนิลาฯ’ จะได้ลืมตาดูโลกก็หลังจากเล่มแรกสี่ปี และเรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นไปแล้วเจ็ดปี
- ทีแรกทีมมีความกังวลอยู่บ้างว่า ถ้าเรื่องราวในเล่มผ่านไปนานแล้วจะยังน่าสนใจอยู่ไหม แต่ด้วยคอนเซปต์ที่ไลลาตั้งใจจะเล่าประสบการณ์การไปฝึกงานและใช้ชีวิตที่มะนิลา มากกว่าจะพาเที่ยวสถานที่ฮิตๆ อีกทั้งกระแสย้ายประเทศ ไปเรียนต่อ หรือไปพักอกพักใจต่างบ้านต่างเมืองกำลังมาในช่วงนั้น เราเลยคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเพื่อน หรือกระทั่งให้กำลังใจคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ได้ เพราะไลลาในตอนนั้นก็ไม่มั่นใจเลยแม้แต่นิด
- ในบทแรกและบทสุดท้าย มีบางท่อนบางประโยคที่โยงกลับไปถึง ‘Life in Flight Mode’ แม้จะไม่ได้มีผลต่อการรับรู้เรื่องราว แต่ถ้าได้อ่านทั้งสองเล่มก็จะเห็นเส้นทางชีวิตของไลลามากขึ้น
- แปลสั้นๆ จากข้อด้านบนได้ว่า ควรซื้ออ่านทั้งสองเล่มเลย อิอิ
i don’t want a new chapter, i like the old one.
หนึ่งในเรื่องที่เราปวดหัวมากที่สุดตอนทำเล่มนี้ ไม่ใช่การคอมเมนต์ต้นฉบับ (เพราะต้นฉบับเล่มนี้สนุกมากกกก) (ไม่เชื่อเหรอ) (ก็ต้องลองซื้อ) แต่เป็นตอนคิดว่าเราจะสื่อสารกับผู้อ่านยังไงไม่ให้งงจนเกินไป เพราะด้วยคอนเซปต์ที่โชติกาวางเอาไว้ มันสุ่มเสี่ยงมากๆ แค่พูดนิดเดียวก็สปอยล์แล้ว
ถ้าสังเกตเลยจะเห็นว่าเวลาพูดถึงหนังสือเล่มนี้ เราจะไม่เล่าเรื่องย่ออะไรมาก เพราะฉะนั้น ในโพสต์นี้เราก็จะไม่เขียนอะไรไปมากกว่านี้ ไม่งั้นเดี๋ยวจะสปอยล์คนที่ยังไม่ได้อ่าน
เอาเป็นว่าเราขอพูดถึงหน้าปกแล้วกัน เล่มนี้ออกแบบโดย NJORVKS (อ่านว่า นิว-ย้อก) อาร์ตไดเรกเตอร์ประจำสำนักพิมพ์ ที่หลังจากเอาต้นฉบับไปอ่านและนอนตกผลึกในโจทย์ที่ได้รับ ก็มาพร้อมแบบปกจำนวนหนึ่ง โดยในจำนวนนั้นมีปกแบบที่เราเห็นไฟนอลกันอยู่ด้วย ซึ่งบอกเลยว่าเห็นแค่ครั้งแรก บ.ก.กับนักเขียนก็เคาะผ่าน เพราะนอกจากจะให้ความรู้สึกสวยเท่ หน้าปกนี้ยังแฝงกิมมิกที่เชื่อมโยงกับธีมของเรื่องสั้นด้วย
การเบิ้ลชื่อหนังสือสี่ครั้ง แล้วมีการเซ็นเซอร์ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย เพื่อให้อ่านได้ประโยคที่แตกต่างกัน ในทางหนึ่งก็ไม่ต่างกับเรื่องสั้นของโชติกาที่แต่ละเรื่องมีความต้องอ่านติดกันเป็นทอดๆ นอกจากนี้ การทำให้แต่ละชื่ออ่านได้ไม่เหมือนกัน ก็อาจสัมพันธ์กับชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดี
ก็แหม เราไม่ได้อยากได้ new chapter นี่ มี old one ตั้งหลายอันที่ถูกใจเรามากกว่า และต่อให้จะเป็นกังวลว่าคนจะสับสนชื่อหนังสือมั้ย แต่เราก็เชื่อว่ามันเป็นปกที่เมื่อปล่อยออกไปน่าจะดึงดูดให้คนหันมาสนใจได้ไม่มากก็น้อย (ส่วนจะจริงหรือไม่ ต้องขอให้นักอ่านช่วยกันบอก)
โอฮาโยโกไซมัสสสส (โค้งหนึ่งที) ในส่วนของเล่มนี้นั้น เกิดจากพวกเราติดตามเพจ บันทึกภาษาไทยของผม ของคุณอิซากะอยู่แล้ว เลยได้เห็นมุมมองที่มีต่อประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งอาหาร ผู้คน การขนส่ง และการใช้ชีวิต ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินพบอยู่ทุกวี่วัน แต่พอเป็นการเล่าผ่านสายตาจากคนญี่ปุ่น บางเรื่องกลับน่าเอ็นดู บางเรื่องก็ชุบชูใจ บางเรื่องตลกขบขัน ไปจนบางเรื่องก็สะท้อนความสุดจะไทยแลนด์โอนลี่ และซ่อนปัญหาในเมืองเอาไว้เหมือนกัน แถมการเล่าที่เป็นบันทึกลายมือน่ารักๆ ก็เหมาะกับพวกเราที่เป็นสำนักพิมพ์น่ารักส์ๆ (เรื่องนี้ให้คนอื่นเขาพรูดดดด) เราก็เลยทักไปชวนคุณอิซากะมาบันทึกเป็นเล่มซะเลย
แต่ช้าก่อน ใช่ว่าจะรวบรวมบันทึกทั้งหมดมาตู้มใส่หนังสือเฉยๆ เพราะเรามาเขย่าๆ จัดหมวดหมู่ และให้คุณอิซากะเขียนเล่าเพิ่มเติมต่อจากหน้านั้นๆ ด้วย ส่วนการทำนั้น ตอนแรกตั้งใจกันว่าจะให้ในเล่มเป็นลายมือคุณอิซากะทั้งหมดเพื่อคงความเป็นบันทึกแบบ 300% แต่พอได้รู้ว่าคุณอิซากะใช้เวลาในการเขียนต่อแผ่นนานหลายชั่วโมง ความคิดนี้จึงต้องพับเก็บไปเงียบๆ… แต่! เรามันสู้ คุณอิซากะก็สู้ พวกเราเลยเสนอให้คุณอิซากะทำฟอนต์ลายมือตัวเองขึ้นมา ปรากฏว่าได้ฟอนต์แต่เกิดมหกรรมสระเด้งอีก คราวนี้เลยต้องถอยทัพ กลับมาใช้ฟอนต์ปกติตามเดิม โดยกราฟิกฯ ก็พยายามหาฟอนต์ที่ให้เหมือนใกล้เคียงลายมือสุดๆ เพื่อให้คงความเป็นบันทึกให้ได้มากที่สุดด้วย
MATCH POINT เรื่องราวกีฬาที่มากกว่าผลการแข่งขัน
- ด้วยความที่เว็บไซต์ Main Stand ไม่ได้ทำแค่รายงานผลหรือวิเคราะห์การแข่งขันกีฬา แต่ยังเขียนบทความว่าด้วยชีวิตของนักกีฬาและเกร็ดความรู้ที่อยู่รอบสนามได้น่าสนใจ เมื่อมานั่งคิดคอนเซปต์หนังสือที่จะทำด้วยกัน เลยกลายเป็น ‘เรื่องราวกีฬาที่มากกว่าผลการแข่งขัน’
- ทาง Main Stand กลับไปรวบรวมและคัดบทความที่น่าจะเข้ากับคอนเซปต์มาให้ พอเราเปิดไฟล์เข้าไปดูก็เจอกับลิงก์บทความ 125 ชิ้น (…) คือถ้าทีม Main Stand ไม่คัดเลือกให้ก่อน ก็ไม่รู้เลยว่าชาวแซลมอนและลูปต้องใช้เวลาอ่านต้นฉบับนานแค่ไหน
- อ้อ เล่มนี้ออกในนามของ Loupe Editions สำนักพิมพ์บ้านใกล้เรือนเคียงของพวกเรา ถ้าใครยังไม่ได้ติดตามฝากกดไลก์หนึ่งจึ้ก
- ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหน้าปกหนังสือเล่มนี้รวมหลายชนิดกีฬาเข้าด้วยกัน ลองไปถอดรหัสกันดูนะว่ามีกีฬาอะไรบ้าง
อะไรทำให้เรานำบันทึกข้อความขนาดสั้นและภาพชุดใหญ่จัดเต็มถึงเมืองพอร์ตแลนด์ที่เคยตีพิมพ์ในปี 2015 กลับมาตีพิมพ์ใหม่?
นั่นเพราะหลังรับบทแอดมินเพจแซลมอนบ่อยๆ และเป็นนักสืบโซเชียลฯ ตามฟีดแบ็กในบางครั้ง เรามักจะได้รับเรื่องจากมิตรนักอ่านและแฟนคลับพี่เบนซ์ตามหา ‘DEAR PORTLAND’ เสมอ วันแล้ววันเล่า คนแล้วคนเล่า จนเรา (ในฐานะนักอ่านที่เลิฟเล่มนี้สุดๆ) ก็เป่าหู เอ้ย ทำการรายงานสาส์นต่อท่านพี่ บ.ก.บห.เป็นระยะๆ
พวกเราสุมหัวคุยกัน ตบตีกัน (เดี๋ยวๆ) ว่าจะนำกลับมาตีพิมพ์หรือไม่ ว่าแล้วก็ยกเหตุผลทั้งห้ามาวางที่โต๊ะ
หนึ่ง—หนังสือบันทึกประสบการณ์ที่เล่าถึงเมืองพอร์ตแลนด์มีน้อยมาก สอง—เมืองคุณภาพชีวิตดีขนาดนี้ต้องถูกบอกต่อหรือพานักอ่านไปเที่ยวทิพย์สิ สาม—แฟนคลับที่เพิ่งรู้จักพี่เบนซ์อาจไม่ทันซื้อ คงมีคนตามหา อยากได้ไปสะสม หรือเล่มเก่าหาย เพื่อนยืมแล้วไม่คืน เล่มเหลืองแล้ว ฯลฯ สี่—พี่เบนซ์บอกว่าเมืองพอร์ตแลนด์มันดีเกินไปปปปปปปปปป ห้า—เราก็ว่ามันดีย์ย์ย์ย์ถ้านำกลับมาพิมพ์ใหม่
ถึงอย่างนั้น ภายในใจพวกเราก็ยังกล้าๆ กลัวๆ เลยต้องไปซาวนด์เสียงแฟนๆ นักอ่านอีกสักรอบว่าอยากให้นำกลับมาตีพิมพ์หรือไม่ และในที่สุดแต่นแต๊นนนนก็ได้พิมพ์สอง พร้อมเปลี่ยนปกใหม่ไฉไลกว่าเดิม
- ความสนุกในการทำต้นฉบับเล่มนี้คือ เราไม่รู้เลยว่านักเขียนที่เราได้อ่านงานนั้นคือใคร และจนถึงเวลานี้ ที่หนังสือวางขายแล้ว เราก็ยังไม่รู้อีกว่าเขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน เพราะ วัน รมณีย์ ถือคติว่าจะไม่ติดต่อกับสำนักพิมพ์โดยตรง มีตัวแทนในการติดต่อประสานงานระหว่างทำต้นฉบับ ส่วนในเรื่องการออกมาแจกลายเซ็นหรือประชาสัมพันธ์หนังสือนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะนักเขียนคนนี้เขาอยากให้นักอ่านสนใจที่เนื้องานของเขาเพียงอย่างเดียว (ซึ่งบอกเลยว่าลีลาจัดมาก) (และเราเสียดายที่ไม่ได้เจอเขา เพราะอดบอกต่อหน้าว่าเขียนหนังสือสนุกมากกกก)
- #หลงยุคหลุดสมัย เป็นหนังสือขนาดจิ๋วๆ มีจำนวนไม่ถึงร้อยหน้า ซึ่งเป็นความตั้งใจของเราที่อยากลองทำหนังสือขนาดพอดีคำ อ่านได้แป๊บเดียวจบ ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากลองทำหนังสือในราคาประหยัด กับอีกส่วนก็เพราะมันเป็นโปรเจกต์ที่เราเรียกว่า แซลมอนซาชิมิ ที่ไม่ได้หมายถึงขายปลา แต่หมายถึงการเอาต้นฉบับที่นักเขียนเพิ่งเขียนเสร็จสดๆ ใหม่ๆ มานำเสนอแก่ผู้อ่าน เพราะเราคิดว่ามันน่าจะให้รสชาติอีกแบบ อย่างน้อยๆ ก็น่าจะสดกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาปรุงแต่งมาก (ถ้าเกิดทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กจริงจัง อาจต้องใช้เวลาในการผลิตนานกว่านี้) อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเขียนเยอะ เหมาะสำหรับผู้ที่มีไอเดียมันๆ แต่อยากเขียนเล่าสั้นๆ ซึ่งเล่มนี้ของวัน รมณีย์ ก็เป็นเล่มแรกของโครงการดังกล่าว
- สำหรับหน้าปกนั้น NJORVKS อาร์ตไดฯ ของเราตั้งใจว่าจะทำปกทุกเล่มของแซลมอนซาชิมิให้เป็นซีรีส์ คือมันจะมีเทมเพลตบางอย่างคลุมเอาไว้ เอามาเรียงวางด้วยกันแล้วจะงดงามเป็นกลุ่มก้อน แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้เรายังไม่มีซาชิมิเล่ม 2 ไอเดียของ NJORVKS เลยยังไม่เห็นภาพ ก็คิดว่าปีหน้าคงจะมีต้นฉบับสดๆ แบบนี้ออกมาอีกนะ
HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้มาจากทาง dtac เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการไซเบอร์บูลลี่จากวัยรุ่นได้จำนวนหนึ่ง แล้วก็ทำเป็น สัญญาใจวัยเจนฯ Z ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ซึ่งจะมีสัญญาใจทั้งหมด 23 ข้อ แบ่งหมวดแบ่งอะไรกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ราวกับกำลังอ่านรัฐธรรมนูญยังไงยังงั้น
ตอนแรก dtac มาคุยกับเราว่าอยากนำเสนอสัญญาใจนี้ออกไป แต่ดันเปิดช่องว่าทำในรูปแบบใดก็ได้ เราเลยฟุ้งๆ ว่าถ้างั้นเอาสัญญาใจแต่ละข้อมาตีความใหม่ดีมั้ย เป็นการนำเสนอเรื่องไซเบอร์บูลลี่อีกหลายๆ ด้าน บางเรื่องอาจเป็นผู้ถูกกระทำ บางเรื่องอาจเป็นคนกระทำเสียเอง ซึ่งโชคดีที่ dtac ดันสนใจและเอาด้วย หนังสือเล่มนี้เลยถือกำเนิด
แต่ด้วยความที่อยากให้สัญญาใจถูกเล่าเรื่องโดยคนรุ่นใหม่หรือคนที่คลุกคลีกับโซเชียลฯ พวกเราเลยระดมสมองจนคิดได้ว่าควรถือโอกาสนี้ไปชักชวนนักเขียนที่ยังไม่เคยร่วมงาน แต่อาจเคยผ่านตา หรือเคยติดตามผลงานพวกเขาในฐานะนักอ่านมาก่อน ด้วยเหตุนี้ เราเลยได้ร่วมงานกับ JittiRain, serene seabond, summer december, afterday, ตัวแม่* เป็นครั้งแรก (แถมยังเผยแพร่ 3 เรื่องสั้นในเล่มลง readAwrite เป็นครั้งแรกอีกด้วย)
อ้อ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเล่มนี้มีหน้าปกสองแบบ โดย NJORVKS ผู้ออกแบบปกเล่มนี้บอกว่า ตั้งใจคัดเอาอีโมจิที่มักถูกมอง/ใช้ในแง่ลบ เพราะเป็นอึบ้างล่ะ เป็นหมูบ้างล่ะ มานำเสนอในมุมใหม่ คือถ้าอีโมจิสองตัวนี้มีชีวิตจิตใจ ก่อนหน้านี้มันก็อาจหมดความมั่นใจ เสียเซลฟ์ เพราะมักถูกกดใช้ในบริบทไม่ดี การนำมาขึ้นหน้าปกหนังสือเล่มนี้ เลยเป็นเหมือนการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับอีโมจิทั้งสองตัว คือเป็นอึแล้วยังไง เป็นหมูมันไม่ดีตรงไหน อย่ามาบูลลี่กัน เพราะฉันมั่นใจในตัวเอง
uninspired by current events: sorry stories
- คอนเซปต์ที่เพจ uninspired by current events เสนอมาตั้งแต่แรกคือ อยากลองทำหนังสือนิทานเด็ก มีภาพอยู่หน้าซ้าย มีเท็กซ์ให้อ่านสั้นๆ และเว้นวรรคเป็นคำๆ เหมือนแบบฝึกหัดอ่านออกเสียง ซึ่งพอส่งงานดราฟต์แรกมาให้ เราก็ต้องตกใจว่าเพจที่ทำภาพสวยๆ ไอเดียล้ำลึก ยังมีความสามารถในการใช้ภาษาอีกด้วย เพราะเท็กซ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษถูกเขียนมาแบบมีสัมผัสและกิมมิกทุกชิ้น
- อันที่จริง ตอนเริ่มต้นลงมือทำ เราคุยกับอันอินสไปร์ฯ ว่าควรมีที่มาที่ไปเพื่อให้คนกลับไปติดตามว่าแต่ละภาพมันมีความเชื่อมโยงกับอะไรยังไงในชีวิตจริงบ้างมั้ย แต่อันอินสไปร์ฯ บอกว่า ไม่มีดีกว่า เพราะเหตุการณ์พวกนี้มัน uninspired by current events
- กลับไปที่เรื่องต้นฉบับนิดหน่อย พอข้อความประกอบรูปทุกชิ้นถูกเขียนแบบมีสัมผัสสวยงาม ก็เหมือนบีบบังคับให้เราต้องเขียนคำนำสำนักพิมพ์ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งบอกเลยว่าใช้เวลาไม่น้อย…
- จริงๆ เหมือนโชคชะตาขีดเส้นมาให้ได้ร่วมงานกันสักที เพราะเราติดตามผลงานของป่านตั้งแต่ออกหนังสือเล่ม ‘nowhere girl’ กับสำนักพิมพ์ a book ชมผลงานศิลปะต่างๆ ของป่านอยู่บ่อยๆ รวมถึงตามอ่านการเขียนในคอลัมน์ ‘Nowhere Girl’ ที่เผยแพร่ใน a day ซึ่งพอเห็นป่านประกาศว่าจะหยุดเขียน ก็เลยเป็นโอกาสให้ได้ลองทักไปขอต้นฉบับ ด้วยเห็นว่าการเขียนและการเล่าเรื่องเสมือนไดอารี่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเชื่อมโยงกับนักอ่านได้ง่าย
- ด้วยช่วงปลายปี 2019 เกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องอยู่บ้าน เว้นการเดินทาง เป็นช่วงรอยต่อของบ้านเมืองที่เข้าสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยเข้มข้นขึ้นพอดี จากคอลัมน์ที่ป่านมักบันทึกการออกเดินทาง พาเสพศิลปะ-วัฒนธรรมจึงเปลี่ยนไปสู่การใช้คอลัมน์พูดเรื่องละเอียดอ่อน แตะประเด็นสังคมที่ซุกไว้ใต้พรม ความที่เราเห็นว่าประเด็นที่ป่านเขียนระลอกหลังนี้มีความรีเลตกับผู้คน สถานการณ์ในสังคมและการเมือง เป็นไดอารี่ที่บันทึกการเติบโตไปพร้อมๆ กับยุคสมัยที่เรียกร้องสิ่งที่ควรจะเป็น น่าจะเป็นธีมที่แข็งแรง จึงรวบรวมผลงานที่เคยเขียนนำมาขัดเกลาและดีไซน์รูปเล่มให้เฉียบคมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- ส่วนกระบวนการทำต้นฉบับจะมีความแตกต่างจากต้นฉบับทั่วไป เพราะไฟล์การเขียนที่เราได้รับมานั้นเป็นไฟล์โฟโต้ช็อป ทำให้เวลากองบรรณาธิการปรับแก้ไข ปรู๊ฟแก้คำผิด กราฟิกฯ ที่รับผิดชอบเสกเล่มนี้ (ชื่อย่อ ปริม ms.midsummer) จะเป็นผู้ไดคัตคำหรือไม้เอกไม้โท สระอา สระอี และอีกหลายตัวอักษรมาปะติดปะต่อให้เป็นคำหรือประโยคที่ต้องการ แบบคราฟต์กันสุดๆๆๆ
- ป่านบอกว่าอยากให้หนังสือเป็นปกแข็ง ไอ้เราที่ก็อยากจะทำปกแข็งมานานแล้ว เชื่อว่าหนังสือบางเล่มมันเหมาะแก่การทำปกแข็งเพื่อกางอ่านสะดวก สะใจ แถมสะสมโชว์สวยๆ ในกองดอง นี่สินะ ถึงเวลาของเจ้าแล้ว
- รวมถึงอยากให้หนังสือมีกิมมิกเพิ่ม ก็เลยแนบโปสเตอร์ฝีมือป่านไว้แปะผนังไปด้วย (แกมันจะพรีเมียมไปไหนก่อนนนน)
- ยัง ยังไม่หมด เราทำ tote bag ลายที่วาดโดยป่านขายไปด้วยเลย เรียกว่าเป็นเล่มที่เต็มคาราเบลแห่งปีนี้แล้ว
หิมาลัยต้องใช้หูฟัง (RE-COVER EDITION)
- เล่มนี้เคยพิมพ์กับสำนักพิมพ์ a book ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน เป็นหนังสือยอดฮิตที่ทำให้หมอเก๋อกลายเป็นนักอ่านในดวงใจใครหลายคน
- แต่เชื่อมั้ยว่าตอนนั้นพวกเราเพิ่งได้มาอ่านครั้งแรกก็ตอนทำต้นฉบับเล่มนี้แหละ แถมยังไปอ่าน ‘หิมาลัยต้องกลับไปฟัง’ ซึ่งเป็นเล่มต่อของ ‘หิมาลัยต้องใช้หูฟัง’ ก่อนด้วย แต่ระหว่างทางเราก็ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากน้องฝึกงาน รีเสิร์ชพบว่าชาวนักอ่านหลายคนจัด ‘หิมาลัยต้องใช้ฟัง’ ให้เป็นหนึ่งในหนังสือบันทึกประสบการณ์ในดวงใจ คือที่สุด! แถมหาซื้อไม่ได้แล้ว มือสองราคาแรงกว่า
- เอาจริงๆ พวกเราที่ไม่ได้อ่าน เริ่มจะคันไม้คันมือละ ไหนต้นฉบับคร้าบพี่น้องคร้าบบบบ ทักทายคุยกับหมอเก๋อต่อ
- แม้หนังสือจะตีพิมพ์ไปหลายปี แต่การที่เรานำกลับมาเกลาคำ เรียบเรียงนิด จัดรูปเล่มใหม่ ไม่ใช่เหตุผลอยากอ่านเองนะ แต่เราคิดว่ามีนักอ่านที่อ่านเล่มสองแล้วอยากรู้เรื่องเล่มแรกเหมือนเรา และประสบการณ์ของหมอเก๋อไม่ว่าจะเล่มไหนๆ พวกเราและหลายคนอาจไม่มีทางได้ไปเจอไปทำสิ่งนี้แน่นอน 300% ตัวอักษรของเขาน่าจะยังมีพลังอยู่
- สิ่งที่ยากของเล่มนี้อีกอย่างคือ เลือกรูป เพราะหมอเก๋อถ่ายรูปสวยและเยอะมาก
- อ้อ มุกในเล่มวัดอายุมาก อ่านไประลึกไปว่า ชั้นเกิดทันสิ่งนี้สินะ…
- เป็นหนึ่งในต้นฉบับที่ใช้เวลาเนิ่นนานหลายปี เพราะกระบวนการทำด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกเหตุผลคือ โควิด-19 ตอนนั้นน่าจะระลอกแรกๆ เราคิดว่าสถานการณ์ตอนนั้นคงไม่มีใครมีอารมณ์อยากอ่านหนังสือเดินทางหรอก โรคก็รุนแรง การเดินทางก็ถูกล็อกดาวน์
- ชื่อหนังสือภาษาไทยมาจากปาราวตีเอง เสนอมาชื่อเดียวก็เอาอยู่เลย ทุกคนในทีมรู้สึกว่ามันจบในตัว และยังมีความเล่นคำเล่นเสียงแบบที่แซลมอนชอบใช้
- เรามารู้หลังจากตัดสินใจใช้ชื่อนี้ว่า ‘ภารตะ’ นอกจากจะแปลว่า ประเทศอินเดีย ยังแปลว่าคนอินเดียได้ด้วย ก็เลยยิ่งตรงกับคอนเซปต์ที่ปาราวตีอยากพาคนอ่านเข้าไปใกล้ชิดกับคนอินเดีย มากกว่าจะไปสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์ก
- ตอนจัดรูปเล่ม เรากับปาราวตีกังวลกับจำนวนหน้าที่ค่อนข้างเยอะ กลัวราคาจะแพงเกินไป จึงคิดว่าจะกลั้นใจตัดออก 3 บท แต่ไปๆ มาๆ ก็เสียดาย จัดเต็มจุใจ ไม่ได้ตัดออกเลยสักบท
คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms. Kent & Me
ตอนทำเล่ม #HARSHTAG พวกเราต้องเอาเรื่องสั้นบางส่วนไปลงใน readAwrite เลยเป็นโอกาสให้ได้สำรวจตลาดว่านักเขียนไทยทุกวันนี้เล่าเรื่องกันแบบไหน เราอ่านงานชิ้นนั้นชิ้นนี้อยู่พักใหญ่ ก่อนไปสะดุดเข้ากับงานของคนคนหนึ่งที่มีนามปากกาว่า LADYS (ลาดิด)
ด้วยการเล่าเรื่องที่นิยมสร้างฉากหลังเป็นยุโรปหรือคลุมเครือในบรรยากาศ ทั้งยังใช้ชื่อตัวละครค่อนไปทางตะวันตก ทำให้แวบแรกเราสงสัยว่าลาดิดคือคนไทยหรือเปล่า จนกระทั่งไปลองหาข้อมูล ก็พบว่าลาดิดเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ขยันผลิตผลงานออกมาเหลือเกิน ออกหนังสือมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ที่สำคัญ บางเล่มพวกเราก็เคยเห็น แต่ตอนนั้นคิดกันไปเองว่านี่คงเป็นหนังสือแปลแน่ๆ!
กระทั่งแน่ใจแล้วว่าคือคนไทย จึงลองติดต่อไปทาบทามแล้วขอต้นฉบับสักเล่ม ซึ่งโชคดีเหลือเกินที่ตอนนั้นลาดิดกำลังเขียนนวนิยายเรื่องใหม่พอดี และต่อให้ตอนนั้นจะปล่อยลง readAwrite แค่ไม่กี่ตอน แต่ลาดิดก็เล่าเรื่องให้เราฟังแบบไม่มีปกปิด เราเลยคิดว่าต้องลุยกันสักตั้ง ขอเป็นฝ่ายตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้สักหน่อย และด้วยความว่องไว้ในการเขียนต้นฉบับของลาดิด ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เสร็จอย่างรวดเร็ว จนพวกเราแทบไม่ทันตั้งตัว
ป.ล. หน้าปกเล่มนี้วาดโดย จัง ผู้เขียน ใต้แสงธูป
INSIGHT JOB สิ่งมีชีวิตคิดโฆษณา
- แม้ว่าห้องของ Salmon Books กับ Salmon House จะอยู่ห่างกัน 7 ก้าว แต่พวกเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับงานของชาวเฮาส์เลย ผลงานของเฮาส์หลายๆ ชิ้น เราก็เพิ่งรู้จักจากหนังสือเล่มนี้แหละ
- หนังสือเล่มนี้รวบรวมมาจากคอลัมน์ Insight Job ในเว็บไซต์ capital ก็จริง แต่ในเวอร์ชั่นหนังสือก็มีบทใหม่ที่วิชัยเขียนเพิ่ม กระทั่งบทที่เคยเผยแพร่ไปแล้ว วิชัยก็เรียบเรียงและเขียนขยายเพิ่มอีกเยอะ เพื่อทำให้นักอ่านที่อาจไม่คุ้นเคยกับวงการโฆษณายังสามารถอ่านได้เข้าใจ
- วิชัยอยากหาคนวาดภาพประกอบเอง แต่นึกไม่ออกว่าจะชวนใคร เลื่อนฟีดเฟซบุ๊กเล่นๆ ก็เจอแอดโฆษณาเคสโทรศัพท์ที่เป็นลายคาแรกเตอร์น่ารักๆ ซึ่งเป็นแอดที่เฟซบุ๊กยิงมาหลายรอบแล้ว แต่วันนั้นนึกอะไรไม่รู้ กดเข้าไป วิชัยไม่ได้เคสโทรศัพท์ แต่ได้เจ้าของแบรนด์ Ease Around มาวาดภาพประกอบให้แทน
NO ONE BELONGS HERE MORE THAN YOU จงเติมคุณในช่องว่าง
สารภาพตามตรงว่าตอนกลับมาทำหนังสือแปลอีกครั้ง เรากะว่าจะทำแค่เล่มต่อเล่ม ถ้า NORMAL PEOPLE เวิร์กค่อยไปมองเล่มอื่นต่อ แต่ด้วยความที่ช่วงนั้นโควิด-19 ระบาด ต้อง WFH เลยมีโอกาสอ่านหนังสือที่กองอยู่เต็มบ้าน และก็คิดว่า เฮ้ย สงสัยต้องลองวัดดวง ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลกันอีกสักหน่อย
‘No one belongs here more than you’ คือหนึ่งในหนังสือที่เราซื้อลิขสิทธิ์ช่วงนั้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่าเราเองเป็นแฟนคลับมิแรนดา จูลาย ติดตามดูหนังเธอมาแล้วไม่รู้กี่เรื่อง และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะเราซื้อรวมเรื่องสั้นของเธอมาดองไว้ที่บ้านนานแล้ว เพิ่งจะอ่านจบก็ช่วงโควิดนี่แหละ
แม้จะมีเรื่องราวที่อาจพูดได้ว่าเพี้ยนๆ และชวนงง แต่ภายใต้ความมึนๆ เหล่านั้น เราพบว่าเรื่องสั้นของจูลายโดดเด่นในการพูดถึงชีวิตคน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความสัมพันธ์ แง่ของการเติบโต แง่ของความเคว้งคว้าง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยกลางคน เราเลยคิดว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้ น่าจะเป็นรสชาติในแบบที่นักอ่านแซลมอนน่าจะชอบ ก็เลยเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ และซุ่มแปลกันมาเรื่อยๆ ขณะที่ฝ่ายอาร์ตก็ซุ่มเลือกให้จูนจูนเป็นคนวาดภาพปก ซึ่งจูนจูนก็วาดมาเยอะจนพวกเราทำใจลำบาก เลือกเป็นภาพปกไปแล้วยังไม่หนำใจ ขอเอาภาพอื่นๆ ทำเป็นโปสต์การ์ด สุ่มแจกไปให้กับทุกเล่มเลย
UNTITLED CASE: PIECE / MAKER คน / สับ / สิ่งของ
- ตุลาคม 2020 หลังแจกลายเซ็นหนังสือเล่มแรกเสร็จ ทั้งคู่ก็ไฟแรง นัดคุยคอนเซปต์เล่มสองในช่วงสิ้นปี ก็แอบคิดๆ อยู่ว่าไฟจะแรงกันแค่ไหน แต่มกราคม 2021 ก็มีโครงหนังสือเวอร์ชั่น 1 ส่งมาให้ ทีมแซลมอนประทับใจ คิดว่าเล่ม 2 มาปีนั้นแน่ๆ แต่จนจบปี 2021 โฟลเดอร์ต้นฉบับก็ยังอ้างว้าง…
- เวลาผ่านไป 2 ปี เดือนมกราคม 2022 ทีมแซลมอนจึงนัดพูดคุย ล็อกห้อง เอาโคมไฟส่องหน้าโฮสต์ทั้งสอง ตบโต๊ะไปหนึ่งที แล้วบอกว่าปีนี้เล่ม 2 ต้องมาแล้วนะ ก่อนจะโพสต์สัญญาประชาคมลงกลุ่ม Untitled Club by Untitled Case ว่าปีนี้เล่มสองมาแน่ (ดูโพสต์ที่นี่) เพื่อให้สมาชิกช่วยกันกดดันจนเป็นผลสำเร็จในที่สุด ขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย
- เวลาพวกเราเดินไปเจอโฮสต์ทั้งสอง แล้วพี่โจ้ Salmon Podcast ถ่ายภาพเอาไปลงในกลุ่ม UC พร้อมแคปชั่นทำนองว่าพวกเรามาทวงต้นฉบับเล่มสอง อย่าเพิ่งคิดว่านั่นเป็นมุกตลก มันคือเรื่องจริง…
- ก่อนจะมาเป็นชื่อ PIECE / MAKER เคยมีชื่อ Rest in Piece เป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่ลองเสิร์ชแล้วเลยได้รู้ว่ามันมีความหมายเป็นด้านกลับของคำว่า Rest in Peace (เอาไว้ใช้กับคนที่เราเกลียด) ชื่อนี้ก็เลยตกรอบไป
- ตอนที่นัดพูดคุยงานกันครั้งแรก มนุษย์กรุงเทพฯ เคยเสนอว่า จะเขียนบทสัมภาษณ์เพิ่มจากเดิมที่มี 19 ชิ้น เป็น 50 ชิ้น แต่ก็เห็นตรงกันว่าคงจะใช้พลังงานในการทำเยอะมากๆ ก่อนจะลงตัวที่ 38 ชิ้น เพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัว
- หลังจากจัดหน้าเสร็จ ก็คิดว่าดีแล้วที่พวกเราตัดสินใจกันแบบนั้น ถ้าทำบทสัมภาษณ์ 50 ชิ้น หนังสือคงจะหนามากๆ
- ทุกคนน่าจะดูออกว่าสิ่งของเพียงหนึ่งเดียวที่อยู่ปกหน้าคืออะไร แต่อาจสงสัยอยู่บ้างว่าลายเส้นหลายสิบเส้นที่อยู่ปกหลังนั้นคืออะไร โดยคอนเซปต์แล้วก็คือนำบรรยากาศที่รัฐพยายามจะปกปิดเรื่องนี้ ทุกคนอาจเคยเห็นเหตุการณ์เก้าอี้ฟาด แต่ก็ไม่รู้เรื่องราวหรือบริบทที่ชัดเจน แต่บทสัมภาษณ์ในเล่มนี้ช่วยขยายรายละเอียดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จนทำให้เห็นว่าเส้นตรงที่อยู่ไกลๆ เมื่อได้เข้าไปมองใกล้ๆ แล้วคือเค้าโครงของ ‘ผู้คน’ ที่เสียชีวิตในวันนั้นนั่นเอง
CONVERSATIONS WITH FRIENDS แค่เพื่อนคุย
อันที่จริง เราตั้งใจไว้ว่าหลังจาก NORMAL PEOPLE ผลงานเล่มถัดไปของแซลลี รูนีย์ ที่จะตีพิมพ์คงเป็น ‘BEAUTIFUL WORLD, WHERE ARE YOU’ แต่ด้วยความหนาและความช่วล (intellectual) ของตัวละครที่คุยกัน ทำให้ณัฐชานันท์ (ผู้แปล) บอกว่าขอเวลาหน่อยจ้า ระหว่างนี้เราเลยไม่รอช้า สลับเอา ‘CONVERSATIONS WITH FRIENDS’ ซึ่งเป็นนวนิยายเล่มแรกของรูนีย์มาตีพิมพ์ก่อน
เหตุผลที่เราโยกเล่มนี้มาก่อนได้ ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้ผู้แปลอย่างนัทธมน เปรมสำราญ ที่ดำเนินการอย่างว่องไว จนทำให้แฟนๆ แซลลี รูนีย์ ไม่ต้องรอเล่มถัดไปนาน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะเนื้อหาที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ว้าวุ่นชุลมุนหัวใจ ที่คราวนี้ไม่ได้มีแค่สองตัวละครแบบ ‘NORMAL PEOPLE’ แต่มากันเป็นแก๊งสี่คนที่เราคิดว่าอ่านต่อกันกับเรื่องของคอนเนลล์และแมรีแอนน์คงคุมโทนความปวดขมับในเรื่องเล่าความสัมพันธ์แบบรูนีย์ๆ ได้ดี
นอกเหนือไปจากนี้ เรายังคิดว่าการอ่านเล่มนี้คู่กับ ‘NORMAL PEOPLE’ ก็น่าจะทำให้เห็นพัฒนาการในแง่การเล่าเรื่องของรูนีย์ในช่วงแรกๆ เพราะถ้าเป็น ‘BEAUTIFUL WORLD, WHERE ARE YOU’ เราคิดว่าการเล่าเรื่องของรูนีย์จะเติบโตไปอีกสเต็ป ดังนั้นการอ่านสองเล่มนี้ติดกันจึงเป็นอะไรที่เราเชียร์มาก
DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน
‘DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน’ คือต้นฉบับเล่มสุดท้ายที่มาถึงมือพวกเราก่อนปิดเล่มเดือนตุลาคม ซึ่งตอนนั้นเวลาสำหรับตีพิมพ์ให้ทันงานหนังสือเหลือไม่มาก NJORVKS ผู้เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์จึงรับหน้าที่ในการออกแบบปกเล่มนี้เอง
ถ้าดูหน้าปกเผินๆ อาจจะเห็นเพียงกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับสังคม-การเมือง วางตัวอยู่ในรูปทรงกลม แต่ถ้าสังเกตอีกหน่อยก็จะเห็นว่าตัวหนังสือเหล่านี้มีความโค้งมนเหมือนถูกแปะลงไปบนลูกบอล อีกทั้งเป็นลูกบอลที่ซ้อนกันเหมือนอยู่ในภาชนะอะไรสักอย่าง
เฉลยก็คือ มันมีที่มาจากลูกบอลในเครื่องหมุนวงล้อสลากกินแบ่งฯ นั่นเอง แต่ถูกลดทอนให้เหลือเพียงแค่ลูกบอลและฟอร์มการเรียงตัวของลูกบอล เพื่อล้อไปกับความฝันอันดับต้นๆ ของคนไทย คือการถูกสลากกินแบ่งฯ รางวัลที่ 1 สอดคล้องกับเนื้อหาในเล่มที่พูดถึงหลักการและวิธีการที่จะทำให้ปัญหาในลูกบอลเสี่ยงโชคเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ นั่นเอง
LOST IN THAI EDUCATION โรงเรียนในฝันที่ฉันไปไม่ถึง
- จุดเริ่มต้นคืออีเมลฉบับหนึ่งจาก Teach For Thailand ที่ชวนพวกเราเข้าร่วมโครงการ ‘Teach For Thailand Imaginative Writing Activity’ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษาส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดในหัวข้อ ‘การสร้างตัวตนของเด็กไทยในห้องเรียน’ โดยทีม TFT ต้องการให้เราเป็นผู้คัดเลือกเรื่องสั้นเพื่อนำมาจัดทำเป็นหนังสืออีบุ๊ก
- น้องๆ ส่งเรื่องสั้นเข้ามาเยอะมาก แม้ทีม TFT จะช่วยสแกนให้ก่อนรอบหนึ่ง แต่ก็ยังมีต้นฉบับส่งมาถึงพวกเราร่วมๆ ครึ่งร้อย
- ทีมกองบรรณาธิการแซลมอนมีกันอยู่ 4 คน เราใช้วิธีให้ทุกคนอ่านทุกเรื่อง แล้วเลือกเรื่องที่ชอบ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ต้นฉบับมีความหลากหลาย ทั้งประเด็นและสไตล์การเขียน แต่ก็มีอยู่บางเรื่องที่เราเลือกตรงกันทั้ง 4 คน
- ชื่อหนังสือมาจากการอ่านต้นฉบับแล้วรู้สึกว่า ในบรรดาเรื่องสั้นเหล่านี้ แม้จะหยิบประเด็นชีวิตวัยเรียนที่แตกต่างกันไป เล่าเรื่องทั้งจากในมุมผู้เรียนที่สมหวังและผิดหวัง แต่โดยรวมแล้วก็สัมผัสได้ถึงอาการหลงทาง สับสน ไม่มั่นใจ เลยนึกถึงคำว่า lost in translation ก็เลยลองเอามาเปลี่ยนคำ จนกลายเป็นชื่อที่เราคิดว่าน่าจะสื่อสารกับคนอ่านได้ในทันทีที่เห็น
- หนังสือเล่มนี้ไม่มีขาย แต่มีให้อ่านฟรีที่ TK Read และ readAwrite
CRYING IN H MART พื้นที่ให้เศร้า
- ระหว่างปิดเล่มอื่นๆ ร้อยกว่าเล่ม (แกจะเวอร์เพื่อ) เสียงจากพี่ บ.ก.บห.จะลอยเข้าโสตประสาทเสมอว่า “เล่มนี้มึงต้องร้องไห้แน่ๆ”
- พอเปิดตัวงานแปลอย่างยิ่งใหญ่ด้วย ‘NORMAL PEOPLE ปกติคือไม่รัก’ แซลมอนบุ๊กส์ก็เฟ้นหางานนักเขียนต่างประเทศเพื่อให้เสียงภาษาไทยไม่หยุด ทยอยๆ ปล่อยนิยายและเรื่องสั้นให้ทุกคนได้อ่าน ตอนนี้ก็เลยถึงคราวของบันทึกความทรงจำบ้าง
- เล่มนี้เป็นบันทึกชีวิตของ มิเชลล์ ซอเนอร์ หรือที่ใครฟังเพลงแนวอินดี้หน่อยก็อาจรู้จักเธอจากวง Japanese Breakfast ซึ่งมิเชลล์ได้เล่าถึงช่วงวัยเด็ก ช่วงวัยรุ่นกับการรับมือความสมบูรณ์แบบของแม่ ช่วงย้ายไปห่างไกลครอบครัวเพื่อไล่ตามความฝัน ไปจนถึงช่วงที่ได้รู้ว่าแม่เป็นมะเร็ง ซึ่งนำไปสู่การประคองดูแลความสัมพันธ์ที่มี ขุดความทรงจำเก่าๆ ความผูกพันอาหาร และความรักแบบที่แม่เคยมอบให้อีกครั้ง
- เป็นเล่มที่กองฯ อ่านกันเองแล้วต้องหันหน้ามาบอกกันว่า ไม่ไหวว่ะ อ่านต่อรวดเดียวไม่ได้เลย ซึมไปทั้งวัน ซึ่งความที่เป็นมุมการเลี้ยงดูแบบคนเอเชีย ก็ทำให้พวกเรา (และเชื่อว่านักอ่าน) รีเลตกันอยู่พอสมควร
- นอกจากความเศร้าที่ได้รับ เล่มนี้มิเชลล์เล่าถึงอาหารเกาหลีเยอะมากๆ จึงเป็นปกติที่ระหว่างอ่านคุณจะเกิดอาการอยากกินซุปกิมจิ คิมบับ ซุนดูบูจิเก คเยรันจิม และอาหารเกาหลีอีกหลายเมนูขึ้นมาดื้อๆ เพราะเราก็เป็นตอนปิดเล่ม
- ว่าด้วยการคิดชื่อภาษาไทย ก็โยนไอเดียกันหลายรอบ เพราะส่วนมากจะนิยมให้แปลตรงตัวกับชื่อภาษาอังกฤษ จึงต้องอธิบายการเลือกใช้ชื่อ พื้นที่ให้เศร้า ไปละเอียดยิบ ลุ้นแล้วลุ้นอีกว่าทางเอเจนต์และนักเขียนจะให้ผ่านหรือไม่
- หน้าปกเล่มนี้ได้ ‘มานิตา ส่งเสริม’ มาบรรเลงเสกลายเส้นเท่ๆ พร้อมปกสีขาวเนี้ยบ ซึ่งปกติเราไม่ทำสีขาวบ่อยๆ ด้วยนะ แต่เพราะมานิตาทำให้เราดูว่า เล่มนี้สีขาวเหมาะกว่า ซึ่งคิดไปคิดมาก็รู้สึกว่ามันดูสงบและน่าจะเข้ากับเรื่องราวที่อยู่ในเล่มดี
salmonbooks