MY LIFE AS MIRANDA JULY สารพัดบทบาท ผลงานหลากรสชาติ จาก ‘มิแรนดา จูลาย’

25 เมษายน 2024 | by salmonbooks

“ในหนังสือที่ฉันเขียน เซ็กซ์ไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบที่คุณคาดคิดว่ามันจะเป็น มันมักเกิดขึ้นอย่างปุบปับ ฉันอยากแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะฉันไม่คิดว่าผู้หญิงเราจะมีความมั่นคงนักหรอกเมื่อพูดถึงเรื่องนี้”

‘ฉูดฉาด’ ‘ร้อนแรง’ ‘ตัวแม่’ คือส่วนหนึ่งของคำนิยามที่หลายคนนึกถึงเมื่อเอ่ยชื่อ ‘มิแรนดา จูลาย’ (Miranda July) นักเขียนชาวอเมริกันผู้ขึ้นชื่อด้านการเสกพล็อตและตัวละครที่ไม่เหมือนใคร หญิงสาวเจ้าของผลงาน ‘NO ONE BELONGS HERE MORE THAN YOU จงเติมคุณในช่องว่าง’ และนวนิยายเล่มล่าสุดที่เราเพิ่งตีพิมพ์อย่าง ‘THE FIRST BAD MAN เธอที่ร้าย’

ไม่ว่าใครที่ได้ลองอ่านผลงานของเธอ ย่อมพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงงานเขียนที่ ‘อินดี้’ มาพร้อมพล็อตที่แตกต่างและแหวกแนว ไปจนถึงการบรรยายถึงฉากเซ็กซ์ที่มาแบบปุบปับ คาดเดาไม่ได้ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า นอกจากหมวกนักเขียนแล้ว จูลายยังสับเปลี่ยนบทบาทเป็นทั้งนักเขียนบท ผู้กำกับ ไปจนถึงอาร์ติสท์สุดเท่ในเวลาเดียวกัน

วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปรู้จักตัวตนและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีเอกลักษณ์ในแบบที่ใครเห็นก็ต้องตะโกนออกมาดังๆ เป็นชื่อของมิแรนดา จูลาย

JULY AS FILMMAKER

ก่อนอื่นเลย เชื่อไหมว่ามิแรนดา จูลาย ไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ ศิลปินมากความสามารถของเราคนนี้มีชื่อตามบัตรประชาชนว่า ‘มิแรนดา เจนนิเฟอร์ กรอสซิงเจอร์’ (Miranda Jennifer Grossinger) ส่วนนามสกุล ‘จูลาย’ นั้น เธอใช้ตามชื่อตัวละครในเรื่องสั้นที่เพื่อนของเธอเขียน 

จูลายเกิดและเติบโตในเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เธอเข้าศึกษาที่ University of California, Santa Cruz ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปตามความใฝ่ฝันของตัวเองในพอร์ตแลนด์บนเส้นทางสายศิลปิน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้จูลายเริ่มเป็นที่รู้จักคือ โครงการ ‘Joanie 4 Jackie’ เครือข่ายภาพยนตร์ใต้ดินสำหรับผู้หญิงเพื่อผู้หญิงที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงได้ส่งต่อและแลกเปลี่ยนผลงานซึ่งกันและกัน ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในยุคสมัยที่ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อกับภาพยนตร์ และต่อมาโครงการนี้ก็ขยายผลจนเกิดเป็นนิทรรศการรวมผลงานจากเหล่าศิลปินหญิงจากหลายประเทศทั่วโลก 

เวลานั้น จูลายจึงได้เริ่มต้นเส้นทางในวงการภาพยนตร์​ด้วยการทำหนังสั้น เช่น ‘Atlanta’ (1996), ‘The Amateurist’ (1997), ‘Nest of Tens’ (1999) ‘Getting Stronger Everyday’ (2001) ซึ่งเธอมีส่วนร่วมในการแสดงและกำกับด้วยทุกเรื่อง

ส่วนภาพยนตร์ขนาดยาวนั้น จูลายริเริ่มเขียนบท กำกับ และแสดงใน ‘Me and You And Everyone We Know’ (2005) บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ริชาร์ด’ เซลล์ขายรองเท้าพ่อหม้ายลูกสองผู้แบกรับภาระมากมายในชีวิต อยู่มาวันหนึ่งเขาได้พบกับศิลปินสาวชื่อว่า ‘คริสเตียน’ (รับบทโดยมิแรนดา จูลาย) จนได้สานสัมพันธ์และก่อเกิดเป็นความรักขึ้นมาระหว่างกัน

เสน่ห์ในผลงานของจูลายปรากฏชัดตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะการแสดงออกของตัวละครที่มักถูกมองว่าแปลกและเพี้ยน ทว่าความบ้าๆ เหล่านั้นกลับทำให้ผู้ชมได้สำรวจความบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะคว้ารางวัล Camera d’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และรางวัล Special July Prize จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์มาครอง

ตัวละครที่มักสื่อสารแบบแปลกๆ​ อารมณ์ขันประหลาดๆ​ องค์ประกอบสุดพิลึกพิลั่น แต่ก็ตรึงคนดูเสียอยู่หมัด ถูกจูลายนำมาพัฒนาให้มีเอกลักษณ์ยิ่งขึ้นในภาพยนตร์สองเรื่องถัดมาอย่าง ‘The Future’ (2011) เรื่องราวของ ‘เจสัน’ และ ‘โซฟี’ (รับบทโดยจูลายอีกเช่นเคย) คู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมานานจนเริ่มรู้สึกถึงความชินชาต่อกัน​ จึงตัดสินใจรับแมวมาเลี้ยง​เพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ๆ​ ในชีวิตคู่ ไปจนถึงภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเธออย่าง ‘Kajillionaire’ (2020) ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวผู้เติบโตมาในครอบครัวที่พยายามเสี้ยมสอนให้เธอเป็นคนลักเล็กขโมยน้อย

JULY AS WRITER

สำหรับงานเขียน จูลายมีผลงานทั้งเรื่องแต่งและ non-fiction โดยหนังสือเล่มแรกสุดของเธออย่าง ‘Learning To Love You More’ (2007) ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการชื่อเดียวกันที่จูลายทำปี 2002 ร่วมกับ ‘ฮาร์เรลล์ เฟลตเชอร์’ (Harrell Fletcher) ซึ่งทั้งคู่ทำการทดลองในโลกออนไลน์ ด้วยการตั้งมิชชั่น 70 ข้อ เช่น ‘ลองเขียนบทสนทนาทางโทรศัพท์ที่คุณอยากมี’ ‘ลองถ่ายรูปใต้เตียงของคุณโดยใช้แฟลช’ จากนั้นให้คนทางบ้านส่งภาพการทำสิ่งต่างๆ มาให้ แล้วจูลายกับเฟลตเชอร์จะคัดเลือกมาโพสต์บนเว็บไซต์และตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา(หากใครสนใจสามารถเข้าไปชมได้ที่ learningtoloveyoumore.com

นอกจากนี้ ยังมี ‘It Chooses You’ (2011) ซึ่งเกิดขึ้นจากตอนที่จูลายกำลังตื้อตันกับการเขียนบทภาพยนตร์ อยู่ๆ ก็เกิดไอเดียโทรศัพท์ไปคุยกับคนแปลกหน้าเพื่อจะขอสัมภาษณ์ชีวิตของพวกเขา และได้ต่อยอดมันจนออกมาเป็นหนังสือ It Chooses You ที่บันทึกฉากชีวิตธรรมดาซึ่งเธอได้รับรู้จากบทสนทนากับเหล่าบุคคลที่ไม่รู้จัก

ถัดมาที่เรื่องแต่งกันบ้าง และจะไม่พูดถึง ‘NO ONE BELONGS HERE MORE THAN YOU จงเติมคุณในช่องว่าง’ ก็คงไม่ได้ ผลงานรวม 16 ของผู้คนที่รู้สึกแปลกแยกกับสังคมรอบข้าง และความเว้าแหว่งภายในที่ต้องการใครสักคนมาเติมเต็ม ตั้งแต่นักว่ายน้ำหญิงที่ผันตัวมาสอนว่ายน้ำในเมืองที่ไม่มีสระว่ายน้ำ เรื่องเคยรักใคร่ของคนรักเก่าและคนรักปัจจุบัน ด้วยรสชาติแปลกใหม่ที่ทำให้ทุกคนทั้งอึ้งและวางไม่ลงในขณะเดียวกัน ถือเป็นผลงานที่ทำให้หลายคนอ่านจบแล้วกลายเป็นแฟนคลับของจูลายไปทันที

ต่อด้วย ‘THE FIRST BAD MAN เธอที่ร้าย’ นวนิยายขนาดยาวเล่มแรกของจูลายซึ่งเราเพิ่งตีพิมพ์ไปสดๆ ร้อนๆ (แปลโดย ณวรา) เรื่องราวความรักชวนอึดอัดกระอักกระอ่วน นวนิยายที่เต็มไปด้วยรสชาติเหนือจินตนาการ กระตุกต่อมศีลธรรม ผลงานขึ้นชาร์ตขายดีของ The New York Times แม้นวนิยายเล่มนี้จะบรรยายฉากเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าจูลายแต่งเรื่องนี้ขึ้นในช่วงที่เธอกำลังตั้งครรภ์ เรื่องราวระหว่าง ‘เชอริล’ และ ‘คลี’ ยังสะท้อนประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความเป็นแม่-ลูก และเรื่องของครอบครัวอีกด้วย

เร็วๆ นี้ จูลายกำลังจะตีพิมพ์นวนิยายเล่มใหม่ ‘ALL FOURS’ พร้อมสอดแทรกแง่คิดของวัยกลางคนที่ประสบปัญหา ‘Mid-life Crisis’ กับเรื่องราวของศิลปินสาวที่ประกาศว่าจะขับรถข้ามประเทศจากแอลเอไปนิวยอร์ก เธอออกจากทางด่วนเพียงลำพัง นอนในโมเทลธรรมดาๆ และดำดิ่งสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่แตกต่างไปจากที่เธอเคยมีมาอย่างสิ้นเชิง แค่เรื่องย่อก็ชวนอ่านแล้ว รอติดตามงานเขียนเล่มใหม่ของเธอได้ในปี 2024 นี้เลย

แต่ระหว่างรอเล่มใหม่ มาอ่านผลงานของจูลายที่ให้เสียงภาษาไทยโดยแซลมอนบุ๊กส์กันไปพลางๆ กันก่อนได้นะ นี่แหนะ ขอขายตรงหน่อยสักหนึ่งแมตช์ 

JULY AS AN ARTIST

นอกเหนือไปจากภาพยนตร์และงานเขียน จูลายยังเป็นศิลปินที่สร้างผลงานอันน่าตื่นตาตื่นใจมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน Performance Art นิทรรศการ ผลงานศิลปะ ออกแบบแอพพลิเคชันและเว็บไซต์ หรือแม้แต่การเนรมิตสิ่งของล้อไปกับเรื่องราวในงานเขียนของเธอเอง

ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาของจูลาย เช่น งานนิทรรศการ ‘Eleven Heavy Things’ (2009) จัดขึ้นในงานเทศกาลศิลปะนานาชาติ ‘Venice Biennale’ ประกอบด้วยผลงานประติมากรรม 11 ชิ้น ที่จูลายออกแบบเองทั้งหมด และตั้งใจให้ผู้เข้าชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งของชิ้นนั้นได้ และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะนั้นๆ ด้วยคอนเซปต์ที่ว่างานทุกชิ้นจะไม่มีทางเป็นผลงานที่สมบูรณ์ได้ หากปราศจากผู้ชมที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับมัน

หรืออย่างงานนิทรรศการจัดแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกของเธอใน ‘Miranda July: New Society’ ที่นำเสนอผลงานของจูลายตลอดระยะเวลาหลายปีในเส้นทางการเป็นศิลปิน แต่นอกเหนือจากผู้เข้าร่วมจะได้รับชมผลงานเก่าๆ ของเธอแล้ว ความพิเศษของงานนี้คือ จูลายได้เปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ ‘F.A.M.I.L.Y.’ (Falling Apart Meanwhile I Love You) ซึ่งจะฉายวิดีโอ Performance Art ที่เธอออกแบบและแสดงร่วมกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถอูเบอร์ เซลล์ขายตรง คนที่ได้โต้ตอบกันทางอินสตราแกรม พิเศษไปกว่านั้นคือ เธอเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ได้ เพียงถ่ายคลิปวิดีโดตามกติกาที่เธอตั้งไว้ก็มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานที่นำมาจัดแสดงในงานนี้

จุดร่วมหนึ่งที่เราสังเกตเห็นได้จากทุกผลงานในแต่ละแขนงของจูลาย คือการที่เธอพยายามโอบรับให้ ‘Nobody’ ได้เป็น ‘Somebody’ และมีส่วนร่วมในงานผลงานของเธออยู่เสมอ รวมถึงการเลือกหยิบเอามุมมองของคนตัวเล็กตัวน้อยที่อาจเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่เดินสวนกันเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับงานของเธอ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในความเป็นจูลายที่ทำให้เราได้รับรู้ว่า ในความธรรมดาของชีวิตล้วนมีแง่งามซ่อนอยู่เสมอ

ผลงานของจูลายยังมีอีกมากมากก่ายกองที่เราคงไม่อาจยกมาพูดถึงได้ทั้งหมด ถ้าใครสนใจอยากติดตามผลงานของเธอเพิ่มเติม สามารถเข้าไปชมคลังรวบรวมผลงานของจูลายแบบเต็มๆ ได้ที่ mirandajuly.com/category/art/ เลยยยย


salmonbooks

RELATED ARTICLES

VIEW ALL