KNOW MY PAIN เสียงจากเพื่อนหญิงพลังหญิงที่ไม่ศิโรราบต่อความอยุติธรรม

18 เมษายน 2024 | by salmonbooks

‘KNOW MY NAME นามไม่สมมติ’ คือบันทึกชีวิตในช่วงเวลาอันเปราะบางและต้องเข้มแข็งที่สุดของ ‘ชาแนล มิลเลอร์’ ภายหลังถูกล่วงละเมิดในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เหตุการณ์ที่เปลี่ยนสถานะของหญิงธรรมดาผู้กำลังเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ให้กลายเป็นเหยื่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ

ระหว่างตัวอักษรที่บอกเล่าชีวิตขณะต้องสูญเสียงาน เสียเวลาขึ้นศาล เสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต เผชิญหน้ากับกระบวนการทางกฎหมายที่บิดเบี้ยว รับมือกับฝ่ายจำเลยที่บ่ายเบี่ยงข้อกล่าวหา แบกรับอคติจากสังคมที่มีต่อผู้ถูกกระทำ ไปจนช่วงเวลาที่ต้องประคับประคองหัวใจตัวเองไม่ให้แหลกสลาย หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และไม่สยบยอมต่อผู้ที่ทำร้ายพวกเธอ นอกเหนือจากเรื่องราวของชาแนล เราขอพาทุกคนไปรับฟังเสียงจากเพื่อนหญิงพลังหญิงกับเรื่องราวของพวกเธอที่แข็งแกร่งและน่ายกย่องอย่างถึงที่สุด

‘แอนเดรีย คอนสแตนด์’ (Andrea Constand) อดีตนักบาสเกตบอล ระบุว่าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2004 ตอนนั้นเธอกับ ‘บิล คอสบี’ (Bill Cosby) นักแสดงตลกชื่อดังของสหรัฐฯ รู้จักกันในฐานะเพื่อน เธอเดินทางไปปรึกษาคอสบี้เรื่องการลาออกจากงาน วันนั้นเขายื่นยาสีฟ้าให้เธอกิน โดยอ้างว่าจะช่วยให้เธอผ่อนคลายลง ทว่าไม่กี่นาทีหลังจากกินยาดังกล่าว คอนสแตนด์กลับสูญเสียประสาทการรับรู้โดยสิ้นเชิง 

หลังจากที่เธอกลับมาได้สติก็พบว่ากำลังถูกคอสบีล่วงละเมิดทางเพศ แม้เธอจะแจ้งความไปตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ แต่ทนายประจำเขตกลับปฏิเสธที่จะตั้งข้อหา อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวก็ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในปี 2015 เนื่องจากอัยการของคอนสแตนด์ยื่นหลักฐานใหม่เพิ่มเติม ทำให้มีการไต่สวนคดีใหม่ กระทั่ง 14 ปีหลังเกิดเหตุ วันที่ 26 เมษายน 2018 คอสบีถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ 

ตอนหนึ่งของบันทึกในเล่ม ชาแนลกล่าวถึงความกล้าหาญของคอนสแตนด์ว่า “คุณคงคิดว่าแอนเดรีย คอนสแตนด์ จะเหนื่อยล้าและยอมแพ้หลังจากการไต่สวนอันล้มเหลวแสนทรหด … แต่ในวันที่ 26 เมษายน 2018 คำตัดสินของการพิจารณาคดีครั้งที่สองถูกอ่านออกเสียง แขนของคอสบีไพล่ที่หลังของเขา ผู้หญิงมากกว่าห้าสิบคนเข้าร่วมกับเธอ ประกาศว่า ไม่ คอสบี คุณทำไม่ได้”

การเปิดโปงพฤติกรรมคุกคามทางเพศของ ‘ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน’ (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์มือทองแห่งวงการฮอลลีวูด เริ่มต้นเมื่อ ‘แอชลีย์ จัดด์’ (Ashley Judd) นักแสดงชาวอเมริกันให้ข้อมูลกับสำนักข่าว The New York Times ว่า ครั้งหนึ่งเธอมีนัดกินอาหารเช้าที่โรงแรมกับไวน์สตีน แต่กลายเป็นว่าเขาเชิญเธอขึ้นไปบนห้อง ปรากฏตัวด้วยชุดคลุมอาบน้ำ ทั้งยังพยายามจะนวดร่างกายของเธอ และเอ่ยชักชวนให้เธอเข้าไปดูเขาอาบน้ำ

ในปี 2017 สำนักข่าว The New York Times ยังเผยแพร่สกู๊ปข่าวเพิ่มเติมโดยระบุว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไวน์สตีนมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในวงการมาอย่างตลอด เหยื่อจำนวนมากต้องยอมจำนนไม่ปริปากว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งจากการข่มขู่ด้วยกฎหมาย อำนาจ และพยายามใช้เงินปิดปาก

นอกจากนี้ มีดาราชื่อดังอีกหลายคนออกมาเปิดเผยว่า ตนก็เป็นผู้ถูกกระทำโดยไวน์สตีนด้วยเช่นกัน เช่น กวินเนธ พัลโทรว์, แองเจลินา โจลี, คาร่า เดอลาวีญ, ลีน่า เฮดี้ ฯลฯ กระทั่งปี 2020 ไวน์สตีนถูกตัดสินว่ามีความผิดในการก่ออาชญากรรมทางเพศ และถูกตัดสินโทษจำคุก 23 ปี

ซึ่งการออกมาเปิดโปงของเหล่าคนดัง ก็ทำให้เกิดแคมเปญ #MeToo ในโลกออนไลน์ เพื่อให้กำลังใจผู้หญิงทุกคนที่เป็นตกเหยื่อ และต้องการให้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ในวงกว้าง ซึ่งก็มีผู้หญิงมากมายที่เข้าร่วมแชร์ประสบการณ์การคุกคามผ่านแฮชแท็กนี้

แท้จริงแล้ว ขบวนการมีทู (Me Too) เริ่มขึ้นจาก ‘ทารานา เบิร์ก’ (Tarana Burke) นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันที่อยากจะช่วยเหลือผู้หญิงผิวดำที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ระหว่างการฟังประสบการณ์ของเด็กสาวคนหนึ่ง เธอรู้สึกจุกจนพูดไม่ออก ได้แต่คิดในใจว่า ‘Me Too’ หรือ ‘ฉันก็เหมือนกัน’ เพราะเบิร์กก็มีประสบการณ์เลวร้ายไม่ต่างกัน

ต่อมาขบวนการมีทูได้พัฒนาเป็นแคมเปญแฮชแท็ก #MeToo บนโลกออนไลน์ เป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกได้บอกเล่าประสบการณ์เลวร้ายที่พวกเธอไม่อาจเอื้อนเอ่ย 

ชัดเจนจากกรณีของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน จากการออกมาบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าคนดังที่ออกมาประณามการกระทำของไวน์สตีน นำมาสู่การใช้แฮชแท็ก #MeToo อย่างท่วมท้นโลกอินเทอร์เน็ต และเริ่มกระจายไปแทบทุกประเทศทั่วโลก

“ทุกครั้งที่ผู้รอดชีวิตโผล่ขึ้นมา ผู้คนมักพูดว่าเธอต้องการอะไร ทำไมถึงใช้เวลานานนัก ทำไมตอนนี้ ทำไมไม่ใช่ตอนนั้น ทำไมไม่เร็วกว่านี้ … ทำไมเราไม่ลองถามล่ะว่า เธอทนกับความเจ็บปวดมานานขนาดนั้นได้อย่างไร”

เมื่อปี 2018 ‘แลร์รี นาสซาร์’ (Larry Nassar) อดีตแพทย์ประจำทีมยิมนาสติกหญิงของอเมริกา ได้รับตัดสินโทษจำคุกถึง 175 ปี หลังจากที่เขาให้การรับสารภาพว่า เคยคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศนักกีฬาผู้หญิงและเด็กจำนวนมากกว่าร้อยคน โดยแอบอ้างว่าเป็นการรักษาทางการแพทย์ รวมถึงครอบครองสื่อลามกอนาจารเกี่ยวกับเด็กจำนวนมาก

หนึ่งในเหยื่อที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมคือ ‘แม็คเคย์ลา มาโรนีย์’ (McKayla Maroney) นักยิมนาสติกเจ้าของเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ปี 2012 เธอระบุว่าถูกนาสซาร์มอมยาและล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี แต่เพราะความฝันในการเป็นนักกีฬาโอลิมปิก เธอจึงต้องทนตกนรกทั้งเป็นนานกว่า 7 ปี

กระทั่งเมื่อเธอหลุดพ้นจากทีมชาติมาได้ เธอจึงจัดสินใจส่งเสียงของตัวเอง พร้อมด้วยผู้หญิงอีกมากที่ตกเป็นเหยื่อ พวกเธอต่างรวมตัวกัน เพื่อให้นาสซาร์ได้รับผลแห่งการกระทำที่ทำลายชีวิตของผู้หญิงมากมายนับร้อยคน

จากบันทึกของชาแนล มิลเลอร์ ในปี 2018 ผู้พิพากษาอาร์รอน เพอร์สกี (Aaron Persky) จากศาลสูงของซานตาคลารา ตัดสินให้ ‘บร็อก เทอร์เนอร์’ มีโทษจำคุก 6 เดือนและภาคทัณฑ์เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งคำตัดสินนี้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้พิพากษาเพอร์สกีตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม จนทำให้เกิดแคมเปญลงชื่อถอดถอนผู้พิพากษาคนนี้

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากสแตนฟอร์ด มิเชลล์ เดาเบอร์ (Michele Daube) เป็นประธานกรรมการเรียกร้องให้ถอดถอนผู้พิพากษาเพอร์สกี ทั้งยังมีการล่ารายชื่อจำนวนมาก จนนำไปสู่การถอดถอนเพอร์สกีในที่สุด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 86 ปี ที่มีการปลดผู้พิพากษาในรัฐแคลิฟอร์เนีย

มากไปกว่านั้น จากการพิจารณาคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศของชาแนล ทำให้กฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่นั้นมา โดยร่างกฎหมายสองฉบับได้เพิ่มโทษจำคุกของผู้ต้องโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อบุคคลไม่ได้สติหรือมึนเมาขั้นต่ำเป็นสามปี และขยายคำจำกัดความของการ ‘ข่มขืน’ ในรัฐแคลิฟอร์เนียให้ครอบคลุมถึงการล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบ


salmonbooks

RELATED ARTICLES

VIEW ALL