หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ ‘คัมภีร์ สรวมศิริ’ หรือ ‘หมอเก๋อ’ หมอ ER ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินจากเรื่องราวการไปเป็นหมออาสาที่หิมาลัยในหนังสือ ‘หิมาลัยต้องใช้หูฟัง’ คราวนี้เขากลับมาอีกครั้งพร้อมเรื่องราวสดใหม่และหนังสือเล่มใหม่ในชื่อว่า ‘หิมาลัยต้องกลับไปฟัง’ ซึ่งเป็นบันทึกประสบการณ์หลังจากเขาได้กลับไปเป็นหมออาสาที่หิมาลัยเป็นครั้งที่สอง
เราเลยชวนหมอเก๋อคุยถึงที่มาที่ไปของการกลับไปหิมาลัยในครั้งนี้ว่า เพราะอะไรถึงต้องกลับไป แล้วการไปครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนยังไง แถมแอบให้หมอเก๋อเล่าถึงประสบการณ์สุดพีคที่ได้เจอให้ฟังด้วย ถ้าอยากรู้แล้วก็ไปอ่านพร้อมๆ กันเลย!
ทำไมถึงต้องกลับไปหิมาลัยอีกครั้ง?
เวลามีคนถามคำถามนี้ ผมจะตอบว่าเพราะเขาชวน เขาเล้าหลือ เขาถามหลายรอบแล้ว ก็เลยกลับไป แต่ถ้าเอาจริงๆ เลยน่าจะเป็นช่วงชีวิตที่เรารู้สึกไม่โอเคกับหลายๆ อย่าง ไม่โอเคกับตัวเองเป็นหลัก ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนก็คงมีช่วงชีวิตแบบนี้
มันเป็น Imposter Syndrome ว่าเฮ้ย! เราเชี่ยวชาญในงานที่ทำอยู่จริงมั้ย เป็น Identity Crisis เหมือนไม่แน่ใจว่าที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันโอเคหรือยัง ตอนนั้นก็ประมาณนี้เลย เครียด เบื่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วงานก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ ทุกอย่างทำเหมือนเดิม รู้สึกเหมือนกับว่าพอเห็นคนอื่นเขามีหน้าที่การงานที่ดีก็หันกลับมามองตัวเองว่าทำไมเราไม่มีอะไรแบบนี้บ้างวะ ก็เลยรู้สึกด้อยค่านิดหน่อย แล้วก็นึกถึงหนังสือของ ‘พี่โหน่ง วงศ์ทนง’ (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) เขาเขียนว่า “เมื่อไรที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีค่า จงออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์” ก็เลยรู้สึกว่ากลับไปอีกรอบก็ได้ แล้วมันพอดีว่าเราจัดตารางชีวิตได้ลงตัว ก็เลยตอบตกลงว่าจะไป
การไปครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกยังไง?
เป็นคนละค่าย คราวที่แล้วเป็นค่ายช่วงเดือนสิงหาคม ชื่อค่าย Kargiakh แต่ว่าครั้งนี้เป็นค่ายช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะชื่อค่าย Outer Himalayas ไปคนละที่กัน เป็นคนละเมือง เป็นคนละโซนของอินเดีย แต่ก็ถือว่าเป็นหิมาลัยอยู่ดี เพราะว่าหิมาลัยเป็นเทือกเขาที่พาดยาว
การไปครั้งนี้ก็ต่างจากครั้งก่อน เพราะว่าคราวก่อนเดินเป็นส่วนใหญ่ อาศัยการเดินเพื่อไปยังหมู่บ้านต่างๆ แต่ว่าคราวนี้ค่อนข้างอยู่ในเมือง มีถนนเชื่อมทุกหมู่บ้าน ก็เลยนั่งรถเยอะ ตอนแรกคิดว่านั่ง 4 ชั่วโมงคือนานแล้ว แต่อีกรอบต้องนั่ง 6 ชั่วโมง คือมันนานจังเลย ไม่มีอะไรทำ เบื่อ (หัวเราะ)
การเป็นหมออาสาที่นั่นเป็นยังไงบ้าง?
คราวนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมร่วม ก็คือมีหัวหน้าทีมสองคน เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนเพิ่มหน้าที่รับผิดชอบขึ้นมาจากเดิม
หน้าที่เดิมที่เคยทำตั้งแต่คราวที่แล้วก็คือดูแลนักศึกษาแพทย์ เวลานักศึกษาแพทย์ดูคนไข้ เขาก็จะเอาประวัติของคนไข้ กับการตรวจร่างกายมาเล่าให้เราฟัง แล้วก็ถกเถียงกันว่านึกถึงโรคอะไร จะรักษายังไงด้วยลิสต์ยาที่เรามี แต่ว่าพอขยับมาเป็นหัวหน้าทีมร่วม ก็จะต้องมาดูแลทั้งทีมเพิ่มเติม แก้ปัญหาในค่ายที่เกิดขึ้น เช่น คนนี้โดนหมากัด หรือว่าวันนี้นักศึกษาป่วยจะทำยังไง คือมันมีภาระหน้าที่ให้รับผิดชอบเพิ่มขึ้น
อีกเรื่องนึงที่พูดถึงในหนังสือจะเป็นเรื่องอัลตร้าซาวนด์ รอบนี้ไปแบบพกเครื่องอัลตร้าซาวนด์ไปด้วย ก็เลยต้องดูแลเครื่องอัลตร้าซาวนด์แสนแพงนี้ แล้วก็ต้องคอยสอนนักศึกษาใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์
เหตุการณ์ที่ไม่มีทางลืม?
ถ้าเคยไปอินเดียจะรู้ว่าชื่อเสียงของแท็กซี่อินเดียค่อนข้างร้าย เรื่องที่เราจำได้ไม่ลืมคือตอนนั่งแท็กซี่จากโรงแรมไปสนามบิน ปกติคนขับก็จะชวนคุยไปเรื่อย อายุเท่าไร มาทำไม อยู่นานแค่ไหน แต่คำถามที่ไม่มีวันลืมคือ คนขับแท็กซี่ถามว่า คุณมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตอนอายุเท่าไร…
เรื่องที่ประทับใจที่สุด?
คงจะเป็นการได้กลับไปเจอบรรยากาศเดิมๆ การได้กลับไปเจอคนเดิมที่เคยเจอเมื่อค่ายที่แล้ว อย่างเช่น ราวี เป็นหัวหน้าของโครงการ นีม่า เป็นคนดูแลลูกทีม เป็นคนจัดการต่างๆ ซึ่งเป็นคนที่พูดภาษาไทยได้ เขาก็จำเราได้ เราก็จำเขาได้
การได้กลับไปเจอคนที่หน้าคุ้นๆ มันก็ชุ่มชื่นหัวใจดี การได้กลับไปนอนในเตนท์ ซึ่งก็คือเตนท์เดิมตั้งแต่ครั้งที่แล้วที่ได้นอน หรือว่าการได้กินชาไชของค่ายที่เรารู้สึกว่าอร่อยมาก มันคือการกลับไปเจอสิ่งที่เราโหยหา เราคิดถึง ถือเป็นความประทับใจส่วนตัวของเรา
เรื่องที่ไม่ประทับใจที่สุด?
ไม่ชอบความรู้สึกของตัวเราเองตอนต้นๆ ของค่าย จู่ๆ เราก็จะพบว่าเข้ากับใครไม่ได้ แล้วก็เครียด เราจดบันทึกทุกวัน ในบันทึกก็จะเขียนประมาณว่า ‘เขาแปลกหรือกูแปลกวะ’ ทำไมเราไม่สนุก ไม่รู้สึกเอนจอยที่จะอยู่ที่นี่ โทษตัวเองว่าเราคาดหวังเยอะเกินไปที่จะเจอเพื่อนที่ดีสักคนนึงในค่าย เหมือนอารมณ์ค่ายที่แล้ว แต่ว่าพอไม่เจออะไรเลย ก็จะเริ่มไม่สนุก คิดว่าเรามาทำอะไรที่นี่
แต่ว่าพอช่วงท้ายๆ เราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ไม่ได้แย่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดไว้ ทุกๆ คนเขาก็เป็นของเขาแบบนั้น เราไปตัดสินเขาตั้งแต่ตอนแรกว่าเขาเป็นคนยังไง แต่เอาเข้าจริง เขาก็อาจไม่ใช่คนแบบนั้น
การที่เราไม่มีความสุข ก็อาจเป็นเพราะเรามัวแต่ไปคาดหวังกับความสุขแบบอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วเราสามารถมีความสุขกับสิ่งตรงหน้า ชาแก้วนี้ก็อร่อย อยู่กับนักศึกษาแล้วเราถกเถียงเรื่องนี้ได้ มันก็เป็นความสุขที่มีได้ ทำไมเราต้องคิดไปไกลขนาดนั้นด้วย
ถ้าเลือกได้จะกลับไปอีกมั้ย
ถ้าถามตอนเขียนเล่มแรกจะบอกว่าไม่กลับ เพราะว่าเดี๋ยวมันไปทำลายประสบการณ์เดิมที่เรามี ที่เราประทับใจมันมาก แต่ถ้าถามตอนนี้รู้สึกว่าจริงๆ การเดินทางแต่ละครั้งมันก็ต้องได้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำตอบคงจะเป็น ‘ไม่แน่ คงจะไป ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น’
ขายหนังสือตัวเองหน่อยจ้า
เราเข้าใจนะว่าหนังสือประสบการณ์การท่องเที่ยวอาจไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันสักเท่าไร เพราะว่าทุกคนเดินทางไม่ได้ แต่ว่ามันไม่ใช่หนังสือนำเที่ยว แต่เป็นหนังสือเล่าประสบการณ์ เพราะฉะนั้นก็น่าจะพาทุกๆ คนกลับไปยังบรรยากาศของการเดินทาง หรือกลิ่นอายของหนังสือเล่มแรก (หิมาลัยต้องใช้หูฟัง) ได้ค่อนข้างเยอะ ก็อยากให้ทุกคนกลับไปสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้ ประสบการณ์เหล่านี้ไปด้วยกัน
ใครสนใจอ่าน ‘หิมาลัยต้องกลับไปฟัง’ แบบเต็มๆ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/3uIosdq เลยจ้า
salmonbooks หิมาลัยต้องกลับไปฟัง