ฝึกจนได้เขียน: จากประสบการณ์การฝึกงานสู่เรื่องราวบนหน้าหนังสือ

18 เมษายน 2022 | by salmonbooks

เพื่อนๆ เคยฝึกงานที่ไหนกันบ้าง?

นอกจากการฝึกงานจะเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้การทำงานจริงในภาคปฏิบัติที่สำคัญมากๆ การฝึกงานยังเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้นักเขียนของเรานำเรื่องราวมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าบนหน้าหนังสือให้ทุกคนได้อ่านกัน วันนี้เราเลยแอบชวนนักเขียนแซลมอนมาคุยเรียกน้ำย่อยกันสักหน่อยว่าพวกเขาฝึกงานที่ไหน เรื่องราวและประสบการณ์ตอนฝึกงานของพวกเขาเป็นอย่างไร ส่วนถ้าใครอยากอ่านต่อแบบเต็มๆ ก็ตามไปตำหนังสือของพวกเขากันได้เลยยยย :->

ไลลา ศรียานนท์
ผู้เขียน ‘Life in Flight Mode ไฟลต์ (ไม่) บังคับ’ และ ‘Mabuhay Manila มะนิลามาเมคอัพ

ฝึกงานที่ไหน
“เราไม่ได้ฝึกงานในสาขาวารสารศาสตร์แบบที่เรียนมา ไม่ได้ฝึกเพื่อให้เรียนจบแบบที่หลายคนอาจทำกัน แต่เราไปฝึกงานกับ Talent Agency แห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ช่วงนั้นเป็นช่วงปีสามจะขึ้นปีสี่ ดราม่ากับตัวเองว่านี่เป็นปิดเทอมใหญ่ครั้งสุดท้ายในชีวิต หลังจากนี้จะไม่มีช่วงเวลาหยุดยาวแบบไม่ต้องคิดอะไรมากแบบนี้อีกแล้ว ซัมเมอร์นี้เลยต้องหาอะไรปั๊วะปังทำสักหน่อย ช่วงนั้นหลังจากลงเรียนคอร์สแต่งหน้าไปหลายหมื่น เราก็เริ่มรับงานเป็นช่างแต่งหน้าฟรีแลนซ์ แต่ก็คิดว่ายังเห็นโลกแฟชั่นไม่มากพอ
.
ปลายทางการฝึกงานของคนทำงานแฟชั่น ใครๆ ก็คงปักหมุดไว้ที่นิวยอร์ก ลอนดอน หรือปารีส เราเองก็เช่นกัน แต่ด้วยชั่วโมงบินยังน้อย เราหวังไว้เล็กๆ ว่าคงมีโอกาสได้โลดแล่นเมืองใหญ่ๆ เหล่านี้ในอนาคต แต่ตอนนั้นจะมีแถวไหนใกล้บ้านบ้างที่พอจะใช้เวลาสามเดือนเพื่อให้เราได้เห็นโลก ฝึกภาษา แถมยังได้ทำในสายงานที่ชอบ
.
เราเคยได้ยินมาว่าพวกช่างแต่งหน้า ช่างภาพ สไตลิสต์ระดับอินเตอร์ เขาไม่ต้องมานั่งจดตารางงานตัวเอง แต่จะมีเอเจนซีคอยดูแล คอยรับงาน จัดตารางงาน และเลือกงานที่เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน เราเลยมุ่งเสิร์ชหา Talent Agency ในย่านเซาธ์อีสต์เอเชีย และก็พบว่าพวกคนทำงานเบื้องหลังย่านนี้ไม่ได้มีระบบเอเจนซีดูแลเหมือนฝรั่ง อาศัยแบบปากต่อปาก ช่างแต่งหน้าดีช่วยบอกต่อ เหมือนระบบงานในไทย แต่ก่อนจะถอดใจก็ดันมาเห็นเว็บไซต์ของเอเจนซีแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก พวกเขาเพิ่งมาเปิดสาขาแรกในเอเชียที่กรุงมะนิลา เราเลยลองส่งอีเมลไปขอฝึกงาน
.
เราคุยเมลตอบไปตอบมากับเอเจนต์คนหนึ่งในบริษัทที่ดูเหมือนจะสนใจเรา จนกระทั่งเขาตอบรับและเราได้ออกเดินทาง แม้ความรู้เกี่ยวกับฟิลิปปินส์ของเราแทบจะเป็นศูนย์ แต่อย่างน้อยก็ยังอุ่นใจว่าเป็นประเทศใกล้บ้าน ทุกอย่างดูเหมือนจะง่าย แต่สิ่งที่ยากน่าจะเป็นใจตัวเอง เราประหม่าทุกครั้งเวลาออกกองถ่ายตั้งแต่อยู่ไทย เราต้องเจอคนใหม่ ทีมใหม่ ในทุกกองที่ไปทำงาน และคงเป็นตัวเราเองในตอนนั้นที่ไม่ค่อยชอบเริ่มบทสนทนากับคนที่ไม่รู้จัก (หืม อย่าให้พูดถึงสกิลการเข้าหาคนแปลกหน้าตอนนี้นะ) การเป็นเด็กอายุ 18 ในหมู่คนทำงานมืออาชีพยิ่งทำให้เรากดดันเข้าไปอีก แต่ในเมื่อเราเชื่อแล้วว่ามาถูกทาง ความตื่นเต้น กระอักกระอ่วน ไม่ชินที่ทาง เดี๋ยวมันก็จะหายไปเองตามเวลา นี่คือสิ่งที่ทำให้เราน่าจะยังอยู่ในสายงานนี้ได้”

เรื่องประทับใจในการฝึกงาน

“การไปมะนิลาครั้งนั้นไม่ใช่เพียงได้เจอคนใหม่ ทีมใหม่ แต่ยังมีภาษาใหม่ด้วย! คนฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งรู้ว่าคนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวันเท่าคนฟิลิปปินส์ หลายครั้งเพื่อนที่ออฟฟิศพาเราไปจอยน์แก๊งเพื่อนชาวปินอยตามผับบาร์ พวกเขาเป็นมิตรกับเรา บทสนทนาตลอดทั้งคืนของแก๊งเพื่อนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมันทำให้เราไม่แปลกแยกและร่วมวงเมาท์ได้ เราเริ่มจากการพูดภาษาอังกฤษแบบ ‘I’m fine. Thank you, and you?’ และพูดแบบผิดๆ ถูกๆ จนเริ่มชินกับการผสมภาษาอังกฤษกับภาษาตากาล็อกในชีวิตประจำวันของคนในออฟฟิศ ‘Good morning’ เป็นคำที่ขาดไม่ได้ในยามเช้า ก่อนจะเข้าบทสนทนาภาษาโลคัล, ‘It’s okay’ ใช้บ่อยกว่า ‘No problem’, ‘compute’ แปลว่าคำนวณ ไม่ใช่แค่ ‘calculate’ และ ‘It’s a wrap’ แปลว่าเลิกกอง

การฝึกงานส่งผลต่อตัวเองในวันนี้ยังไงบ้าง

“อาจเรียกได้ว่าการฝึกงานครั้งนั้นเป็นทริปเปิดโลก แม้ว่าหลังจากมะนิลา เราจะเดินทางไปหลายประเทศ แต่ก็จำได้ว่าความรู้สึกของการ ‘ไปอยู่’ ต่างจากการ ‘ไปเที่ยว’ ยังไง ผ่านมาเจ็ดปีแล้ว เรื่องราวทุกวันที่เกิดขึ้นในทริปฝึกงานครั้งนั้นยังเป็นภาพสีคมชัดในความทรงจำของไลลา มาถึงตรงนี้ไม่ขายไม่ได้แล้วแหละค่ะ เรื่องราวแบบปินส์ๆ จากทริปฝึกงานมะนิลา ตอนนี้อยู่ในรูปเล่มหนังสือ ‘Mabuhay Manila มะนิลามาเมคอัพ’ บันทึกความทรงจำในช่วงเวลาที่เราแค่อยากทำงานแฟชั่นในดินแดนใหม่ๆ แต่กลับกลายเป็นการเดินทางที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น”

อัษฎาวุธ บุญฤทธิ์ศักดิ์

ผู้เขียนและถ่ายภาพ ‘#WhatsHappeningInThailand และแล้วความหวังก็ปรากฏ

ฝึกงานที่ไหน

“The MATTER ช่วงนั้นจำได้ว่าเพิ่งเปิดใหม่ๆ เลยลองยื่นฝึกงานดู”

เรื่องประทับใจในการฝึกงาน

“ตอนฝึกงานเราฝึกตำแหน่งตัดต่อและถ่ายวิดีโออย่างเดียว มีอยู่ช่วงนึงบังเอิญไปเจอนิทรรศการช่ือว่า ‘For Those Who Died Trying’ เป็นนิทรรศการนักต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยที่ถูกอุ้มหาย เลยได้ไปถ่ายบรรยากาศงานนิทรรศการ แล้วบังเอิญเจอผู้จัดงาน เลยมีโอกาสสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ครั้งแรกของชีวิต (แต่ตัวคำถาม บ.ก.เป็นคนคิดให้) ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เลย เป็นครั้งที่รู้สึกว่าได้ลองทำอะไรใหม่ๆ”

การฝึกงานส่งผลต่อตัวเองในวันนี้ยังไงบ้าง

“ส่งผลมากๆ จากเดิมที่ตัดต่อวิดีโอเป็นอย่างเดียว ไม่เคยถ่ายรูป ไม่เคยถ่ายวิดีโอ ก็ทำให้ถ่ายรูปและวิดีโอเป็น โดยเฉพาะการถ่ายรูป ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อยอดไปในการถ่ายรูปประเภทต่างๆ”

พชร สูงเด่น

ผู้เขียน ‘ERASMUS GENERATION เผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้

ฝึกงานที่ไหน

“จริงๆ เราฝึกงานหลายที่ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี แต่ที่เล่าไว้ในหนังสือคือ UIL (UNESCO Institute for Lifelong Learning) อยู่ที่ฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ได้ฝึกที่นี่เพราะทำทีสิสเรื่องนี้เลยลองยื่นไป ยกความดีความชอบทั้งหมดให้ advisor ที่เขียนแนะนำเสียดิบดี ทั้งที่ทีสิสยังมีแค่ proposal”

เรื่องประทับใจในการฝึกงาน

“ไม่รู้ประทับใจไหม แต่เป็นเรื่องที่ยังจำได้จนถึงตอนนี้คือ เย็นวันศุกร์วันหนึ่งที่ยังเปิดคอมพ์ทำงานต่อไป ไม่มีท่าทีจะลุกออกจากโต๊ะ เพื่อนร่วมงานเดินมาบอกว่า ‘เธอควรดูคนรอบตัวบ้างว่าเขาทำอะไรกัน’ ตอนนั้นคือตกใจว่าทำอะไรผิดหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าเขาหมายถึงให้ดูคนรอบตัวที่เตรียมเก็บของ ไปแฮงเอาต์กันต่อ! พร้อมบอกว่า ถ้าเราอยู่นานเกินเวลา คนอื่นๆ เช่น คนที่คอยปิดประตู การ์ด ก็ต้องมารอเราไปด้วย มันค้านกับวัฒนธรรมการทำงานที่เคยเจอมา ว่าใครอยู่นานกว่าคนนั้นขยัน มันเป็นวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าเรื่องการเคารพกันจริงๆ เราจะมองแค่ฝั่งเราเองไม่ได้ แต่ต้องมองถึงส่วนรวมด้วย
.
“ส่วนเรื่องประทับใจจริงๆ คือบรรยากาศของเมืองฮัมบวร์กที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตมาก ทั้งค่าครองชีพ พื้นที่สาธารณะ และขนส่งมวลชน ถ้ากูเกิลแมพส์บอก 18 นาทีถึงที่ทำงาน คือ 18 จริงๆ ไม่ไถลไป 20 หรือ 30! ตอนกลางวันทีมพร้อมใจออกมากินข้าวที่สวนริมน้ำที่อยู่ถัดไปไม่ไกลด้วยกัน ใครจะนอน จะคุย จะกิน จะแวะตลาดนัดก็แล้วแต่ แต่พอถึงเวลากลับเข้าทำงาน ทุกคนตรงเวลามาก ถึงเวลาทำงานคือทำงาน ตอนพักก็พักกันจริงจัง ซึ่งมันเกิดขึ้นได้จากการที่แต่ละคนรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง และเคารพเวลาของกันและกัน”

การฝึกงานส่งผลต่อตัวเองในวันนี้ยังไงบ้าง

“ไม่รู้ว่าเพราะเราเข้าไปช่วงเปลี่ยนผ่านหรือเป็นปกติของที่นั่นที่อินเทิร์นแต่ละคนเข้าไปก็คือบู้ม รับงานไปทำคนละโปรเจกต์ ไม่บอกวิธีใดๆ ให้หาทางจัดการเอง ตอนนั้นงานแรกที่เราได้รับมอบหมายคือ data migration จัดระเบียบฐานข้อมูลจากห้องสมุดเอามาขึ้นออนไลน์ ตอนแรกแอบผงะ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แต่มองย้อนกลับไป มันเป็นการ empower สุด ทุกคนมีหน้าที่และขอบเขตการตัดสินใจของตนเอง เขาไม่ได้มองเราว่าเป็น ‘แค่’ อินเทิร์น แต่เขามองว่าเราเป็นหนึ่งในทีมของเขา จำได้ว่าสัปดาห์แรกตั้งหลักนานมาก ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน จนได้คุยกับ supervisor และเพื่อนร่วมงาน ก็กลายเป็นว่าอ้าว นั่งเครียดเองอยู่ตั้งนาน ทุกคนพร้อมให้คำแนะนำ และยื่นมือเข้ามาช่วย ขอแค่เอ่ยปากถามเท่านั้นแหละ
.
“สิ่งที่เรียนรู้และฝึกตัวเองจากการทำงานที่นี่คือ sense of ownership เป็นเจ้าของงานตัวเองอย่างแท้จริง และความ initiative ไม่ต้องรอ เริ่มก่อน สงสัยถาม หรือถ้าอะไรที่ยังไมไ่ด้รับมอบหมาย แต่คิดว่าควรทำ ลองเอ่ยปาก หรือลองทำเลยถ้ามันอยู่ในสิ่งที่เราทำได้ และเราคิดว่ามันดีต่อประโยชน์ส่วนรวม”

ชยานันท์ เมฆสุต

ผู้เขียน ‘INTERNCHEF บันทึกไม่ลับ ฉบับนักศึกษาวิชาอาหาร

ฝึกงานที่ไหน

“ฝึกงานที่โรงแรม Quality Suite & Spa Arcachon ประเทศฝรั่งเศส คือคณะที่เราเรียนมีนโยบายให้นักศึกษาไปฝึกงานตั้งแต่ปี 1 ยันปี 4 แต่ว่าไฮไลต์อยู่ที่ปี 3 เพราะต้องเก็บกระเป๋าออกไปฝึกงานที่ประเทศฝรั่งเศส ระยะเวลาประมาณสามเดือน”

เรื่องประทับใจในการฝึกงาน

“ได้เงินครับ สามารถเอาไปซื้อ PS5 ได้สบายเลย รองลงมาคือเรื่องที่พนักงานปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของทีมจริงๆ คอยสอนคอยป้อนความรู้แบบไม่ยั้ง ราวกับว่าต้องการจะยกตำแหน่งหัวหน้าให้ เพราะเขาทราบดีว่าเรามาฝึกงานนะ เรามาไกลบ้านมาก ต้องตักตวงความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ไปให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะให้เราได้”

การฝึกงานส่งผลต่อตัวเองในวันนี้ยังไงบ้าง

“การฝึกงานคือการเตรียมพร้อมเข้าไปทำงาน เป็นประสบการณ์เส้นบางๆ ที่รอให้เราเดินข้ามเข้าไปสู่โลกของการเป็นผู้ใหญ่ เรียกว่าโชคดีก็ได้แหละที่เราได้ฝึกงานถึงสี่รอบ มันทำให้รู้จักตัวเองไวขึ้นว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร งานที่ทำอยู่เหมาะกับตัวเราจริงๆ ไหม ถ้าถามว่ามันส่งผลยังไงบ้างกับตัวเรา ตอบได้อย่างเต็มปากว่า ก็แค่ปวดหลังก่อนคนอื่นเขาแบบแทบจะขาดใจ”


salmonbooks

RELATED ARTICLES

VIEW ALL