นอกจากสหายผู้กองจากซีรีส์เกาหลี ‘Crash Landing on You’ เราก็แทบจะไม่รู้จักประเทศ ‘เกาหลีเหนือ’ อย่างจริงจังเลย ไม่รู้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันยังไง ดูหนังแบบไหน ต้องบูชาท่านผู้นำเช้า-เย็นเหมือนที่เคยได้ยินมาหรือเปล่า วันนี้เราจึงไปรวบรวมภาพยนตร์และหนังสือที่อาจทำให้ทุกคนเข้าใจประเทศสุดลึกลับนี้มากขึ้น
ขนมาทั้งภาพยนตร์ที่ ‘คิม จองอิล’ ท่านผู้นำตัวจริงมีส่วนช่วยในการเขียนบทและกำกับ สารคดีที่ถูกทางการเกาหลีเหนือควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต แต่โดนผู้กำกับตลบหลังเอาเวอร์ชั่นอันคัตออกมาฉาย และบันทึกการเดินทางของหญิงสาวชาวไทยที่จะพาไปเปิดหนึ่งในหลายมุมมองของเกาหลีเหนือ
‘The Flower Girl’ (1972) ดัดแปลงจากหนังสือของ ‘คิม อิลซอง’ (Kim Il-sung) ผู้นำเกาหลีเหนือคนแรก ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมเกาหลีในยุคที่อยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นผ่าน ‘ก๊ตบุน’ เด็กสาวจากครอบครัวยากจน พ่อของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว แม่ป่วยหนัก น้องสาวตาบอด ส่วนพี่ชายติดคุก ทำให้เธอต้องออกไปขายดอกไม้ทุกวันเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวและชดใช้หนี้ให้เจ้าของบ้าน
เวลาผ่านไปไม่นานแม่ของก๊ตบุนก็เสียชีวิต เธอจึงตัดสินใจไปเยี่ยมพี่ชายที่คุก ก่อนจะพบว่าเขาก็เสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน ก๊ตบุนหอบหัวใจที่บอบช้ำกลับมาบ้าน แต่ความโชคร้ายยังคงตามติด เพราะน้องสาวหายตัวไปจากบ้าน ก๊ตบุนพยายามออกตามหาแต่ถูกเจ้าของบ้านทุบตีและขังไว้
เดชะบุญที่ความจริงแล้วพี่ชายของเธอยังไม่ตาย! เขาหนีออกจากคุกไปร่วมมือกับกองกำลังปฏิวัติ ระหว่างเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน พี่ชายเจอกับน้องสาวที่ตาบอดและได้รู้ว่าก๊ตบุนถูกทำร้ายและกักขัง เขาจึงรวบรวมไพร่พลในหมู่บ้านไปโค่นล้มเจ้าของบ้าน ช่วยเหลือก๊ตบุนออกมาได้สำเร็จ จากนั้นเธอก็ติดตามพี่ชายไปเข้าร่วมกองทัพต่อต้านญี่ปุ่น
นี่คือผลงานสุดที่รักของ ‘คิม จองอิล’ (Kim Jong-il) ผู้นำเกาหลีเหนือรุ่นที่สอง เขามีส่วนในการเขียนบทที่ดัดแปลง กำกับ คัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงการตัดต่อ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในประเทศเกาหลีเหนือและจีน สามารถคว้ารางวัลในเทศกาล Karlovy Vary International Film Festival ปี 1972 มาครองได้ อีกทั้งยังส่งให้ ‘ฮง ยองฮี’ (Hong Yong-hee) ผู้รับบทก๊ตบุนได้รับเกียรติขึ้นเป็นภาพบนธนบัตรหมื่นวอนเกาหลีเหนือด้วย
คิม จองอิลหลงใหลในโลกของภาพยนตร์มาก เขามีความฝันที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมวงการภาพยนตร์เกาหลีเหนือให้ทัดเทียมระดับโลก พร้อมๆ ทำหนังส่งเสริมอุดมการณ์รับใช้ชาติ จึงมีการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อและสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตระกูลคิมตั้งแต่ยุค 1970s เป็นต้นมา
‘Under the Sun’ (2015) คือภาพยนตร์สารคดีที่ร่วมทุนสร้างจาก 5 ประเทศ (รัสเซีย, เยอรมนี, สาธารณรัฐเช็ก, ลัตเวีย และเกาหลีเหนือ) เพื่อเผยแพร่ภาพชีวิตแสนสุขของประชาชนในเกาหลีเหนือ โดยเล่าผ่านเด็กหญิงวัย 8 ขวบผู้เตรียมตัวเข้าพิธีประดับเหรียญเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์ยุวชนเกาหลีที่จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ‘วันแห่งดาวจรัสแสง’ วันแห่งการรำลึกถึงวันเกิดของ ‘คิม จองอิล’ อดีตผู้นำสูงสุด
แน่นอนว่าทั้งสคริปต์ นักแสดง ตัวประกอบ โลเคชั่น ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่บนจอถูกควบคุมโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือทั้งหมด แต่สิ่งที่เกาหลีเหนือไม่รู้คือ ‘วิทาลี มันสกี’ (Vitalij Manskij) ผู้กำกับชาวรัสเซียแอบเก็บไฟล์สำรองไว้ที่เมมโมรีการ์ดอีกใบ และถ่ายเบื้องหลังการจัดฉากไว้ทั้งหมด
หลังถูกทางการจับได้และยกเลิกการเข้าประเทศ มันสกีจึงเอาฟุตเทจที่มีในมือมาตัดต่อเป็นผลงานความยาว 106 นาที ฉายภาพชีวิตประจำวันที่แปลกประหลาด ตีแผ่ความจริงที่เกาหลีเหนือไม่อยากให้โลกเห็น สารคดีนี้ทำให้มันสกีคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาล DocAviv Film Festival ปี 2016 มาครองได้ และถูกฉายไปมากกว่า 50 เทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก
ปิดท้ายด้วย ‘ไม่มีอะไรในเกาหลีเหนือ’ เรื่องเล่าผ่านสายตาและกรอบแว่นสุดจี๊ดจ๊าดของหญิงสาวชาวไทยชื่อ ‘จุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ’ เมื่อครั้งได้โอกาสเดินทางไปเยือนประเทศเกาหลีเหนือถึงสองหนก่อนจะมารับตำแหน่งทางการเมือง
เธอรู้อยู่แล้วว่าคณะทัวร์นำเที่ยวนี้เป็นหนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล แต่สิ่งที่จุ๊ยเก็บเกี่ยวมาไม่ใช่แค่ภาพที่รัฐบาลอยากให้เห็น เธอหยิบเอารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีเหนือมาบอกเล่าด้วยมุมมองของคนธรรมดา ดึงเศษเสี้ยวภาพความเป็นอยู่ของประเทศที่ลึกลับที่สุดในโลกออกมาเล่าเป็นตัวอักษร
ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลที่เด็กทุกคนเรียบร้อยกว่าปกติ การเดตของหนุ่มสาวเกาหลีเหนือด้วยการตีปิงปอง การเล่นเกมตอบคำถามสุดจริงจังเพื่อชิงเบียร์ฟรี และพลาดไม่ได้กับการรับชมการแสดงกายกรรมเปียงยาง!
salmonbooks