เรื่อง: วรรษชล ศิริจันทนันท์
1
“ถึงแม่
ผมเขียนเพื่อเอื้อมถึงแม่—แม้แต่ละคำที่เขียนลงไปจะห่างจากแม่หนึ่งระยะคำเสมอ…”
แม้จะผ่านงานเขียนงานแปลรูปแบบต่างๆ เรื่อยมา แต่การแปลหนังสือที่เรารักและชื่นชมอย่าง On Earth We’re Briefly Gorgeous เราต่างงดงามแล้วจางหาย กลับทำให้เรารู้สึกเหมือนเพิ่งจับงานแปลเป็นครั้งแรก การเขียนถึงการแปลครั้งนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่ได้บอกออกมาว่า ระหว่างนั้นเราสงสัยและตั้งคำถามกับตัวเองหนักข้อแค่ไหน และถึงจะไม่ได้พอใจกับผลงานอย่างถึงที่สุด แต่ตอนนี้ก็พูดได้แล้วว่า เราภูมิใจกับงานชิ้นนี้ และนี่คือประสบการณ์ที่เติมเต็มเรามากเหลือเกิน
เริ่มตั้งแต่นี่คือหนังสือที่แปลยากระดับปราบเซียน ทั้งจากสำนวนภาษาต้นฉบับที่สวิงสวายและความเป็นกวีไร้โครงสร้าง รายละเอียดและอุปมานิทัศน์ต่างๆ ในเรื่องที่ล้อไหลไปมากับฉากตอนก่อนหน้าตลอดทั้งเล่ม คำศัพท์ที่ผู้เขียนเลือกใช้ รวมถึงท่วงทำนองกับน้ำเสียงไม่เหมือนใคร เราต้องจับให้ได้ว่าช่วงไหนขึ้น-ลงหรือแฉลบซ้าย-ขวาอย่างไร และเช็กว่าระดับความเข้มข้นใกล้เคียงกันไหม โดยใช้หูฟังฉบับ audiobook ที่ โอเชียน วอง (Ocean Voung) เป็นคนอ่าน และใช้ตาอ่านฉบับภาษาไทยที่ตัวเองแปลไปพร้อมๆ กัน แต่สุดท้าย เราก็ใช้วิธีนี้กับแค่สองบทแรก เพราะคิดว่าเริ่มโดนเสียงของวองชี้นำมากเกินไปในบทที่สาม ซึ่งอาจทำให้เราไม่ซื่อสัตย์กับการตีความของตัวเองในฐานะผู้อ่านและผู้แปล
แต่สิ่งที่ทำให้ยากที่สุดคือการเขียนแบบซ้อนคำซ่อนความหมาย เราต้องอ่าน subtext ให้ออก มอง nuance ให้แตกตลอดเวลา พร้อมกับต้องเก็บจังหวะท่วงทำนองแบบกวีและความคล้องจองของรูปคำไว้ในจุดที่ควรเก็บ ซึ่งเป็นอะไรที่ดูดพลังสมองมหาศาล และหลายครั้งก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพราะจมเกินไป จึงต้องปรึกษาและโยนไอเดียกับเพื่อนพ้องที่ไว้ใจอยู่เรื่อยๆ ค่อยๆ ตบ ค่อยๆ เกลา สลับกับทำงานชิ้นอื่นไปด้วยตลอดหลายเดือน ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนปรับแก้ต้นฉบับกับบรรณาธิการเล่ม (ฆนาธร ขาวสนิท) ถกกันว่าจุดไหนมากไป จุดไหนน้อยไป จุดไหนต้องชัด จุดไหนต้องคลุมเครือ พลิกแพลงได้มากแค่ไหนโดยไม่เป็นการตีความแทน ฯลฯ และส่งไม้ต่อให้กองบรรณาธิการที่ทำงานหนักจนฉบับภาษาไทยออกมาสมบูรณ์เท่าที่จะสมบูรณ์ได้
ถึงจะเป็นงานที่ภาระหนักหนา แต่ถ้าไม่ได้อ่านเล่มนี้ซ้ำในฐานะผู้แปล ไม่ต้องมานั่งแคะ นั่งงม subtext และ nuance เราก็อาจมองข้ามประเด็นที่คิดว่าจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในหนังสือเล่มนี้ไป ซึ่งเป็นมุมที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงอย่างเจาะจง นั่นคือเรื่องของความอาทร (care) ที่ผู้เขียนตั้งใจโยงมุมมองระดับปัจเจกกับมุมมองระดับชาติเข้าด้วยกัน โดยวางทั้งสองไว้ใต้ร่มของวัฒนธรรมและค่านิยมร่วมเกี่ยวกับความรุนแรงที่ผู้คนยึดถือกันอยู่ในขณะนี้ ทั้งความรุนแรงทางเชื้อชาติและความรุนแรงทางเพศ
ไม่ว่าจะเป็นคนอเมริกัน คนเอเชีย หรือคนเชื้อชาติอื่นทั่วโลก
2
อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่เราเพิ่งได้หยิบ all about love: new visions (2000) ขึ้นมาอ่าน เป็นหนังสือว่าด้วยความรักในโลกที่ไร้รักและดูจะโหดร้ายขึ้นทุกวัน บอกเล่าผ่านมุมมองเชิงวัฒนธรรมและเฟมินิสต์ของ เบลล์ ฮุกส์ (bell hooks) นักเขียน นักวิชาการ และนักวิจารณ์วัฒนธรรมชาวอเมริกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ช่วงเดียวกับเรื่องราวใน On Earth We’re Briefly Gorgeous เราเลยกลับมาคิดถึงประเด็นนี้อีกครั้ง และเชื่อมโยงแก่นของทั้งสองเล่มได้ในทันที—ไม่ใช่แค่บริบทอเมริกันอย่างที่ผู้เขียนทั้งสองอ้างถึง แต่ในบริบทโลกด้วย
“บรรดาวัฒนธรรมแห่งการครอบงำพึ่งพาการบ่มเพาะความกลัวเพื่อนำมาซึ่งการสยบยอม ในสังคมของเรา เราต่างให้ความสำคัญกับความรักอย่างมาก แต่แทบไม่พูดถึงความกลัว ถึงอย่างนั้น เราทุกคนกลับรู้สึกหวาดกลัวอย่างยิ่งแทบจะตลอดเวลา…”
“การโอบกอดวิถีแห่งรักคือการใช้ประโยชน์จากทุกแง่มุมของความรัก ทั้ง ‘ความอาทร พันธะ ความเชื่อมั่น ความรับผิดชอบ ความเคารพนับถือ และความรู้’ ในชีวิตประจำวันของเรา เราจะทำสำเร็จได้ด้วยการบ่มเพาะความตระหนักรู้เท่านั้น เมื่อตระหนักรู้ เราจะสามารถพิจารณาการกระทำของตนเองเพื่อดูว่ามีอะไรที่ทำได้ เพื่อเราจะได้เอื้ออาทรต่อกัน มีความรับผิดชอบ แสดงความนับถือกัน และแสดงออกถึงความต้องการที่จะเรียนรู้…”[1]
— เบลล์ ฮุกส์ จาก all about love: new visions (แปลโดยผู้เขียนบทความ)
แม้จะเป็นเล่มที่อ่านแล้วรู้สึกว่าผู้เขียนเรียกร้องโลกในอุดมคติมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่หนังสือถูกเขียนและตีพิมพ์ รวมถึงช่วง 30 ปีก่อนหน้า ไล่มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดฯ เป็นช่วงเวลาที่แสนสั่นคลอนสำหรับสังคมอเมริกัน แต่ใช่หรือไม่ว่า การพยายามทำให้มันเกิดขึ้นบ้างย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
เราคิดว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่วองพยายามทำใน On Earth We’re Briefly Gorgeous ตลอดทั้งเล่ม
การพูดถึงความรุนแรงของวอง แม้จะเปิดด้วยความรุนแรงในรูปแบบของสงคราม แต่ก็ผ่านการขบคิดมาอย่างถี่ถ้วน เขาหยิบจับความรุนแรงมาขมวดทีละปมไปตามเส้นเรื่อง ตั้งแต่ความรุนแรงระหว่างทหารอเมริกัน-ยาย, ยาย-แม่, แม่-เจ้าหมาน้อย, เทรเวอร์-เจ้าหมาน้อย, นายทุนบริษัทยา-คนอเมริกัน และเหล่านักเขียนด้วยกัน ก่อนจะคลายปม ปลดความตึงแน่นของชีวิต ด้วยการรับความละเอียดอ่อน อ่อนโยน อ่อนไหวเข้ามาไว้ในใจ
การทำเช่นนี้ไม่ง่าย แต่วองก็กล้าหาญพอจะทำมันผ่านการเขียน การเลือกใช้กลวิธีแบบจดหมายอนุญาตให้บุคคลที่หนึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวกับผู้อ่านโดยตรงไม่บิดพลิ้ว ส่วนการเลือกจ่าหน้าจดหมายถึงแม่อนุญาตให้เขาใช้น้ำเสียงที่จะไม่มีวันใช้กับคนอื่น น้ำเสียงที่ใช้พูดกับคนที่เขารักและทะนุถนอม น้ำเสียงที่เลือกแล้วว่าจะใช้เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความห่วงใย ห่วงหา เคารพ ชื่นชม และหวังดี
“แม่ฮะ ผมไม่รู้ว่าแม่จะอ่านมาถึงตรงนี้ไหม—ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม่จะได้จดหมายฉบับนี้หรือเปล่า แม่บอกผมเสมอว่าสายไปแล้วที่แม่จะฝึกอ่าน เพราะตับอันอ่อนระโหย ท่อนกระดูกอันโรยแรง และทุกอย่างที่แม่ประสบมา ตอนนี้แม่แค่อยากพักผ่อน แม่บอกว่าการอ่านคืออภิสิทธิ์ที่แม่ต้องเสียบางสิ่งเพื่อแลกมาให้ผม ผมรู้ว่าแม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ผมไม่รู้ว่าผมเชื่อไหม แต่ผมหวังให้มันเป็นจริง เพราะชาติหน้าแม่อาจจะกลับมาที่นี่ แม่อาจจะเกิดเป็นผู้หญิง แม่อาจจะชื่อโรสอีกครั้ง และแม่จะมีห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือกับพ่อแม่ที่คอยอ่านนิทานให้ฟังก่อนนอนในประเทศที่ไม่ถูกแตะต้องโดยสงคราม บางทีตอนนั้น ในชาตินั้นและอนาคตครานั้น แม่จะพบหนังสือเล่มนี้ และแม่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา และแม่จะจดจำผมได้ หวังว่าอย่างนั้น”
เหล่านี้คือพื้นฐานของความอาทร ซึ่งวองเคยพูดถึงในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งที่เราชอบและยังจำได้
เขาพูดถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่มีรากมาจากยุคกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นยุคที่การใช้กำลังและมันสมองต่อสู้แย่งชิงอำนาจเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ (ว่ากันอย่างง่ายๆ อาจคือสังคม ‘ชายล้วน’) ชาวอเมริกันรับสิ่งนี้มาใส่ตัวและบ่มเพาะให้เข้มข้นขึ้นด้วยอิทธิพลจากวิกฤตการณ์ทางสังคมและการเมืองโลกที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจ ผู้คนจากทั่วโลกที่นำป๊อปคัลเจอร์และแมสมีเดียอเมริกันมาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ใหม่ก็รับเอาสิ่งนี้เข้ามาโดยอัตโนมัติ โดยไม่ได้ตั้งคำถามหรือรู้ตัวว่าการกระทำในชีวิตประจำวันของตัวเองบิดผันไปทางใด เราใช้ชีวิตเหมือนออกรบตลอดเวลา ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังรบกับใคร และหลายต่อหลายครั้ง คนที่เรารบพุ่งด้วยก็ไม่พ้นตัวเราและคนที่เรารักที่สุด
วองออกแบบและจับประเด็นนี้ไว้มั่นเหมาะมั่นมือตลอดการเขียน ‘เจ้าหมาน้อย’ ในเรื่องและวองในฐานะผู้เขียนยกคนที่เขารักให้อยู่ในจุดสูงสุด แม่ ยาย และเทรเวอร์ ถูกเทินขึ้นเหนือทุกข้อขัดแย้ง ปมปัญหา และจุดหักเหของเรื่อง ไม่ว่าเรื่องจะดำเนินไปทางไหน หรือเกิดเหตุการณ์อะไรในชีวิตตัวละคร สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของเรื่องยังคงวางอยู่บนนั้น เป็นนัยประหวัดของทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ
วองได้แสดงให้เห็นว่า ในโลกที่ความรุนแรงขยายใหญ่จนไม่มีใครหนีพ้น เจ้าหมาน้อยในฐานะ ‘ลิงเหลือง’ ผู้ถูกกระทำจากแนวคิดชายเป็นใหญ่แบบอเมริกันและผู้สังเกตการณ์ความรุนแรงในปริมณฑลอื่น ค่อยๆ สังเกต เรียนรู้ เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความอาทรอย่างไร และเราในฐานะลิงเหลืองอีกตัวจะปลดเปลื้องตัวเองจากความกลัวได้จริงไหมหากใช้สิ่งนี้เป็นหลักยึด
‘ลิงเหลือง’ ‘เซาธ์อีสต์เอเชียน’ ‘เซาธ์อีสต์เอเชียนในอเมริกา’
เหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ที่เรารับมาโดยไม่ได้เลือกเองแต่ถ่ายเดียว หากถูกแปะป้าย ทาสีให้ใหม่ หรือไม่ก็ “ถูกลบออกจากสารบบก่อนจะมีโอกาสได้เลือกว่าตัวเองเป็นใคร” อย่างที่วองว่าไว้
เซาธ์อีสต์เอเชียนที่เราเป็น ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่เราจะภาคภูมิใจได้โดยไม่มอบความหมายใหม่ให้มัน เพราะความหมายที่พ่วงมา (หรืออาจเป็นความหมายโดยแท้ในตอนแรกด้วยซ้ำ) คือ การเป็นผู้ถูกกดขี่
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สงครามตัวแทนเกิดขึ้นที่เวียดนาม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่รัฐบาลเผด็จการรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราเป็นภูมิภาคที่มักจะถูกโลกลืม
เราเคยได้ยินมาว่า สังคมอเมริกันในปัจจุบัน ชาวเซาธ์อีสต์เอเชียนเป็นจุดต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร ในยุคที่ชาวเอเชียตะวันออกที่ร่ำรวยมาท่องเที่ยว ใช้ชีวิต ตั้งรกรากอยู่ในประเทศโลกที่หนึ่งได้สำเร็จ คนก็เริ่มแยกออกว่า เราไม่ใช่จีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่เราตัวเล็กจ้อยกว่านั้น—ไม่มี ‘ภาพ’ ที่บอกว่าเราเป็นเหยื่อของการถูกกระทำโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ไม่มี ‘มูลค่า’ มากพอให้ใครมาสนใจหรือใส่ใจด้วย
ถึงอย่างนั้น เราคิดว่าที่วองทำสำเร็จมาจากหลายเหตุผล
ความสามารถและกลวิธีทางวรรณกรรมของวองเป็นเรื่องที่ไม่ต้องถกเถียงกัน การที่วองขวนขวายจนเป็นคนแรกของครอบครัวที่อ่านเขียนภาษาอังกฤษจนมาเขียนกวีนิพนธ์และวรรณกรรมได้ก็ไม่อาจปฏิเสธ การที่เขาในฐานะมนุษย์ได้ผ่านการทำงานและตกผลึกกับความรู้สึกตัวเอง จนสามารถโอบกอดความเจ็บปวดและมองโลกด้วยสายตาอ่อนโยนได้อย่างเต็มหัวใจก็เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ทันทีเมื่อได้อ่าน
หากยังมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ สำหรับชาวอเมริกัน เวียดนามเป็นเซาธ์อีสต์เอเชียที่โดดออกมา และเป็นที่จดจำมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะคนอเมริกันต่างรู้ดีว่า อเมริกาทำกับเวียดนามไว้ไม่น้อย และคนอเมริกันที่ถูกส่งไปรบก็ไม่ได้ถูกกระทำหรือบอบช้ำน้อยไปกว่ากัน
เวียดนามกับอเมริกามีความสัมพันธ์กันโดยตรง และเป็นความสัมพันธ์ที่มองเห็นได้ชัดกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค การที่บาดแผลของคนเวียดนามเคยถูกมองเห็นมาก่อน บวกกับเทรนด์เอเชียนที่กำลังมาในวัฒนธรรมอินดี้ และกระแส ultra-woke ที่ช่วยขีดเส้นใต้บาดแผลนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในอเมริกา และเมื่อวัฒนธรรมอเมริกันแทรกซึมไปทุกหนแห่งมาเป็นเวลานาน และความเป็นชายแบบอเมริกันที่วองวิพากษ์ก็เป็นสิ่งที่ ‘ใครๆ ก็เป็น’ เราจึงไม่แปลกใจที่มันถูกแปลไปกว่าสี่สิบภาษา และกุมหัวใจกลุ่มคนรุ่นใหม่หลากหลายสัญชาติในที่นั้นๆ
3
แม้จะเขียนเรื่องนี้ขึ้นในบริบทอเมริกัน แต่วองก็ไม่ลืมอุทิศพื้นที่หนึ่งของหนังสือให้กับ ‘ผู้มาก่อน’ อย่าง ชิว เมี่ยวจิน (Qiu Miaojin) นักเขียนเควียร์ชาวไต้หวันจากยุค 1990s ผู้ย้ายไปใช้ชีวิตที่ปารีส ก่อนปลิดชีพตัวเองที่นั่นในวัย 26 ปี
เมี่ยวจินเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ความเจ็บปวดของการเป็นเควียร์ในไต้หวันช่วงนั้น การอพยพ และความขัดแย้งระหว่างค่านิยมตะวันออกกับโลกตะวันตก ผ่านงานที่เข้มข้น อื้อฉาว และรวดร้าว อย่าง Notes of a Crocodile (1994) และ Last Words from Montmartre (1996) โดยเรื่องหลังเขียนขึ้นในรูปแบบ epistolary novel ประกอบด้วยจดหมาย 20 ฉบับที่จะอ่านฉบับไหนก่อนหลังอย่างไรก็ได้
“…แค่คิดว่าคุณกำลังเดินอยู่ในทะเลทราย ฉันก็ทนไม่ไหว ฉันอยากมอบดินเนื้อแน่นผืนเล็กๆ ให้คุณได้เหยียบยืน หรืออย่างน้อยก็โอเอซิสสีเขียวเล็กจ้อยให้คุณได้มองจากระยะไกล ยึดคุณไว้ไม่ให้คุณลอยห่างจากความเป็นจริง ไม่ให้คุณหลบลี้เข้าไปในมโนคิดของคุณ ทั้งหมดนี้เป็นความผิดของฉัน! ฉันปล่อยให้โอกาสหลุดมือ แต่ลองมาดูกันว่า หากถ้อยคำเหล่านี้เป็นดั่งที่ดินผืนเล็กๆ ที่มีทั้งชีวิตฉันเป็นฐาน ฉันจะช่วยให้เธอยืนหยัดมั่นคงได้ไหม ลองดูนะ”[2]
— ชิว เมี่ยวจิน จาก Last Words from Montmartre (แปลโดยผู้เขียนบทความ)
ส่วนที่ยกมาเป็นส่วนที่ตัวละครหลักเขียนลงนามถึงคนรักเก่า หากเสมือนสนทนากับตัวเอง และเป็นจดหมายรักถึงการเขียนไปในตัว
วองยกประโยคสุดท้ายที่ว่า “แต่ลองมาดูกันว่า หากถ้อยคำเหล่านี้เป็นดั่งที่ดินผืนเล็กๆ ที่มีทั้งชีวิตฉันเป็นฐาน ฉันจะช่วยให้เธอยืนหยัดมั่นคงได้ไหม” เป็น epigraph แรกของเล่ม และเคาะบรรทัดเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้ตอบรับกับสิ่งที่เขาพยายามทำผ่านชิ้นงาน
เช่นนี้ เราคิดว่าคงไม่มากไปหากจะสรุปว่า ความอาทรที่วองมีให้ตัวเองคือการเขียน และเมื่อเขียน เขาก็ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ อย่างที่เราได้ยินเสมอมา นักเขียนจำนวนมากจรดปากกาเพื่อบำบัด ปลอบประโลม และทำความเข้าใจตัวเอง ใช้ปลายปากกากรีดลึกถึงภายใน ฝืนทนความเจ็บปวดให้ไหว จนพร้อมก้าวข้ามอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคตที่อ่อนโยนกับหัวใจของตัวเอง ของคนรอบตัว และของเพื่อนมนุษย์ที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน หรือมีประวัติศาสตร์ส่วนตัวร่วมกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ในฐานะเซาธ์อีสต์เอเชียนคนหนึ่งที่พยายามหาที่ทางของตัวเองในสังคมโลก และคนเล่าเรื่องที่อยากถ่ายทอดปมในประวัติศาสตร์ของตนที่พันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่เกิดมาและอาศัย เรารู้สึกเสมอมาว่า เรื่องราวของเราไม่มีอะไรที่ ‘visually traumatic’ มากพอให้คนต้องรับฟัง แต่เมื่อได้พบงานที่ทรงพลังพอให้เราอยากถ่ายทอดประเด็นนี้สู่ผู้อ่านในอีกวัฒนธรรมผ่านอีกภาษา และได้อยู่กับมันนานพอระหว่างกระบวนการ เราก็ค่อยๆ พบว่า จริงอยู่ที่วองมีแต้มต่อจากเชื้อสายเวียดนาม แต่เขาก็ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่ว่า หากใจดีกับตัวเอง ซื่อสัตย์กับรากของตัวเอง และเชื่อในสิ่งที่เขียนมากพอ เรื่องราวที่เราเขียนจะเปิดโอกาสให้ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างที่เขาว่าไว้ และมันจะพาเราไปต่อได้—ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
“บางทีในภพหน้า เราจะพบกันเป็นครั้งแรก—เราจะเชื่อในทุกอย่างเว้นก็แต่สิ่งเลวทรามที่มนุษย์จะทำได้ บางทีเราอาจจะเป็นขั้วตรงข้ามของฝูงควาย เราจะติดปีกและพุ่งทะยานจากหน้าผา กลายเป็นผีเสื้อจักรพรรดิอีกรุ่นหนึ่ง…”
[1] “Cultures of domination rely on the cultivation of fear as a way to ensure obedience. In our society we make much of love and say little about fear. Yet we are all terribly afraid most of the time. […] Embracing a love ethic means that we utilize all the dimensions of love—“care, commitment, trust, responsibility, respect, and knowledge”—in our everyday lives. We can successfully do this only by cultivating awareness. Being aware enables us to critically examine our actions to see what is needed so that we can give care, be responsible, show respect and indicate a willingness to learn.”
[2] “I can’t stand the thought of you walking in the desert. I want to give you a little patch of solid ground to stand on, or at the very least some small green oasis you can look at in the distance, to keep you from drifting away from reality, from escaping back into your mind. It’s all my fault! I missed my chance. But let me see if—using these words as a little plot of land and my life as a cornerstone—I can build you a center. Alright?”
ReadSalmon salmonbooks