แฟชั่นเป็นสิ่งที่ดำเนินไปพร้อมกับการใช้ชีวิตของคนทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้แต่ในขณะเกิดสงคราม แฟชั่นไม่ได้ตายไปในสงคราม แต่กลับแทรกซึมเข้าไปอยู่ในสิ่งได้ต่างๆ อย่างแนบเนียน
หนังสือ ‘WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ’ ของ ‘มนสิชา รุ่งชวาลนนท์’ ได้กล่าวถึงเรื่องราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปรากฏอยู่ในสิ่งของต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวของแฟชั่นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามด้วย เราจึงเลือกเรื่องราวส่วนหนึ่งมาเล่าให้ฟังกันว่าการแทรกซึมของแฟชั่นที่อยู่ในสงครามนั้นน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากใครที่อ่านแล้วชื่นชอบก็สามารถติดตามต่อกันได้ในหนังสือ ‘WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ’ ได้เลย
CHANEL No.5
แบรนด์ Chanel มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘กาเบรียล ชาแนล’ (Gabrielle Chanel) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ ‘โคโค่ ชาแนล’ (Coco Chanel) แบรนด์ของเธอเริ่มต้นจากการดีไซน์หมวกและออกแบบเสื้อผ้า เมื่อธุรกิจเริ่มเป็นที่รู้จัก เธอก็เริ่มออกแบบผลงานใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือน้ำหอม CHANEL No. 5 ซึ่งมีชื่อเสียงมายาวนาน
เมื่อตอนที่ CHANEL No. 5 ติดตลาดและขายดีในปารีส ชาแนลต้องการทำให้น้ำหอมของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่วยุโรปและสหรัฐฯ ติดที่ว่าชาแนลไม่มีกำลังการผลิตมากพอ เธอจึงร่วมมือกับ ‘ทีโอฟิล บาแดร์’ (Théophile Bader) ผู้ก่อตั้ง Galeries Lafayette ห้างดังในปารีส และสองพี่น้องชาวยิว ‘ปิแอร์’ (Pierre) และ ‘ปอล เวิร์ตไฮเมอร์’ (Paul Wertheimer) ให้เข้ามาช่วยผลิต และทำการตลาดให้กับน้ำหอมภายใต้ชื่อบริษัท Parfums Chanel ซึ่งพวกเขาก็ทำให้ CHANEL No. 5 ตีตลาดสหรัฐฯ ได้จริง แต่ชาแนลเพิ่งรู้ตัวว่าทำพลาดไป เพราะเธอตกลงเรื่องผลประโยชน์ของตนเองไว้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นโอกาสของชาแนล เธอยินดีทำงานและใช้เส้นสายในวงสังคมชั้นสูงเพื่อหาข่าวให้กับนาซี แลกกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบายเหยียดยิวของเยอรมนี ช่วงทศวรรษ 1930 เยอรมนีออกกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวยิวเป็นเจ้าของกิจการในประเทศ รวมถึงพื้นที่ครอบครองของเยอรมนีด้วย ชาแนลชูประเด็นว่าน้ำหอม CHANEL No. 5 เป็นผลผลิตที่ยิ่งใหญ่ของเชื้อสายอารยัน ไม่ควรเลยที่จะถูกชาวยิวแย่งชิงไป แต่ความพยายามของเธอก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเวิร์ตไฮเมอร์คิดไวกว่าจึงส่งมอบกิจการให้กับผู้แทนชาวฝรั่งเศส และย้ายไปดูแลกิจการน้ำหอมที่สหรัฐฯ ทำให้ชาแนลไม่สามารถอ้างเรื่องเชื้อชาติในการเอาบริษัทมาอยู่ในความดูแลได้
สงครามน้ำหอมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด น้ำหอม CHANEL No. 5 กลายเป็นของฝากที่เหล่าทหารซื้อกลับบ้าน และขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าแห่งยุค แต่ชาแนลก็สูญเสียโอกาสที่จะได้ Parfums Chanel กลับมา ต้องรอจนปี 1954 สงครามน้ำหอมจึงจะจบลงเมื่อพี่น้องเวิร์ตไฮเมอร์ยอมถอยหนึ่งก้าว จ่ายส่วนแบ่งผลกำไรจากการขายน้ำหอมช่วงสงครามให้ชาแนลคิดเป็นเงินสดทั้งสิ้น 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นเธอยังจะได้รับเงินส่วนแบ่งในอัตรา 2 ข้อตกลงยังมีการระบุชัดว่าอนุญาตให้ชาแนลผลิตน้ำหอมกลิ่นอื่นได้ตามชอบใจ แต่น้ำหอมกลิ่นใหม่ที่ถูกผลิตขึ้นจากสองบริษัทจะต้องไม่มีคำว่า ‘No. 5’ เพื่อกันไม่ให้เกิดความสับสน
Uniform
เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หนึ่งในสิ่งที่หลายคนอาจนึกถึงคงเป็นเครื่องแบบทหารและสัญลักษณ์ของพรรคนาซี ทหารของฝ่ายนาซีจะมีเครื่องแบบที่หากใส่เดินไปที่ไหน คนก็จะต้องนึกออกทันทีว่าพวกเขาเป็นใคร ซึ่งเรื่องราวของเครื่องแบบเหล่านี้เริ่มต้นจากผู้นำของพรรคนาซี ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ (Adolf Hitler) มีความคิดที่จะเผยแพร่แนวคิดของพรรคผ่านการโฆษณาด้วยสิ่งต่างๆ เช่น พิธีเฉลิมฉลอง สิ่งก่อสร้าง หรือแม้แต่เสื้อผ้านั่นเอง
การดีไซน์ของเครื่องแบบนาซีถูกทำขึ้นมาตามความคิดเรื่องชาวอารยันมีร่างกายที่สมบูรณ์กว่าใคร เสื้อผ้าจะช่วยส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ ซึ่งคนที่จะเข้าใจและออกแบบเสื้อผ้าให้ชาวอารยันได้ต้องเป็นชาวอารยันด้วยกัน สิ่งที่ตามมาคือนโยบายการกวาดล้างดีไซเนอร์ชาวยิว ธุรกิจสิ่งทอที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวยิวจะถูกสั่งปิด และกำหนดให้ธุรกิจนี้ดำเนินการด้วยชาวเยอรมันเท่านั้น
เบื้องหลังการผลิตของเครื่องแบบของเยอรมนีในช่วงหนึ่งอยู่ในการควบคุมของ ‘ฮิวโก บอส’ (Hugo Boss) เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า ผู้หาช่องทางกอบกู้การล้มละลายด้วยการเข้าร่วมกับพรรคนาซี ทั้งเครื่องแบบสีดำของหน่วย SS, เสื้อเชิ้ตของหน่วยกองกำลังปกป้องนาซี และเครื่องแบบของยุวชนฮิตเลอร์ ล้วนอยู่ในสายการผลิตของบอสทั้งสิ้น กิจการของบอสดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นสุดสงคราม เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้ บอสถูกตัดสินโทษในเรื่องการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และถูกปรับทัศนคติเพื่อขจัดระบอบนาซี ก่อนจะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา ปัจจุบันแม้จะไม่ได้ผลิตเครื่องแบบทหารแล้ว แต่แบรนด์ Hugo Boss ก็ยังคงดำเนินกิจการในด้านแฟชั่นต่อไป และยังถูกนำไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของนาซีอยู่เสมอ
Fashionista
“ดอกไม้ พืชผัก เศษฟาง ริบบิ้น หรือแม้แต่นกกลับหัว เหล่านี้คือความพยายามของชาวปารีสที่ดิ้นรนใช้ชีวิตอันสูงสง่าในภาวะสงคราม” คำจากบันทึกของซิโดนี-กาเบรียล โคเลตต์ (Sidonie-Gabrielle Colette) นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่กล่าวถึงสตรีฝรั่งเศสในระหว่างช่วงสงคราม
เมื่อพูดถึงฝรั่งเศส เราก็จะนึกถึงเรื่องของศิลปะและแฟชั่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปารีสตกอยู่ในการปกครองของเยอรมนี ฮิตเลอร์ต้องการทำให้ปารีสหมดคุณค่า ไม่ใช่ด้วยการทำลายเมือง แต่เป็นการย้ายบรรยากาศอันน่าประทับใจของปารีสมาไว้ที่เยอรมนี และทำให้อาณาจักรไรช์เป็นศูนย์รวมของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งใหม่
ความคิดนี้ของฮิตเลอร์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงการแฟชั่นของฝรั่งเศส ประกอบกับที่กำลังอยู่ในช่วงสงคราม กรุงปารีสจึงต้องเจอกับสภาวะขาดแคลน สินค้าแฟชั่นหลายอย่างกลายเป็นของที่ฟุ่มเฟือยและหาได้ยาก แต่ชาวฝรั่งเศสยังพยายามอย่างมากที่จะคงเอกลักษณ์ของแฟชั่นเอาไว้ อย่างไอเทมยอดฮิตสำหรับสาวปารีสสมัยนั้น นั่นคือถุงน่อง เมื่อมาถึงช่วงเวลาสงคราม
ถุงน่องกลายเป็นสิ่งที่หายาก และราคาสูงจนสู้แทบไม่ไหว Elizabeth Arden แบรนด์ขึ้นชื่อในด้านเครื่องสำอางจึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นกระปุกน้ำยาย้อมเพื่อนำไปใช้ทาขาแทนการใส่ถุงน่อง เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงการดิ้นรนในเรื่องแฟชั่นของชาวฝรั่งเศสในยุคสงคราม
Red Lipstick
ฮิตเลอร์มองว่าผู้หญิงเยอรมันในอุดมคติต้องปราศจากเครื่องสำอางและการแต่งแต้ม การทาปากทำให้นึกถึงผู้หญิงในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่มีอิสระเสรี ออกไปทำงานนอกบ้าน ละทิ้งงานครัวซึ่งควรเป็นงานของสตรี สตรีในประเทศเยอรมนีในยุครุ่งเรืองของฮิตเลอร์จึงต้องแต่งหน้าแต่น้อย และไม่ทาลิปสติกสีแดงซึ่งเป็นสีที่โดดเด่น
ลิปสติกสีแดงจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านความเชื่อการกดทับเพศสตรีของฮิตเลอร์ เป็นการแสดงจุดยืน และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในแง่มุมต่างๆ ทั้งในเรื่องของการแสดงความรักชาติ หรือเป็นการให้กำลังใจ โดยการทาลิปสติกได้รับความนิยมมากทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐฯ แบรนด์เครื่องสำอางพากันออกลิปสติกสีแดง และสื่อต่างๆ เองก็เผยแพร่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับลิปสติก และพร้อมสนับสนุนความคิดของเหล่าสตรีที่ต้องการแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง และต้องการสนับสนุนการต่อสู้ในสงครามนี้
เรื่อง: จริยา สุขวรรณวิทย์
worldwartools