แต่งแต่จริง: ส่องความจริงในเรื่องแต่ง ‘เพลงรักนิวตริโน’

23 มิถุนายน 2021 | by salmonbooks

เมื่อพูดถึง ‘ฮ่องกง’ ทุกคนอาจมีภาพในหัวแตกต่างกัน บางคนอาจนึกถึงดิสนีย์แลนด์ บางคนอาจคิดถึงการช้อปปิ้ง บางคนที่เป็นสายกินคงนึกถึงอาหาร ส่วนคนชอบทำบุญอาจนึกถึงการไหว้พระขอพร 

แต่วันนี้เราอยากชวนทุกคนทำความรู้จักกับฮ่องกง สมัยที่ยังเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ ซึ่งเป็นฉากหลังในนิยายเรื่อง ‘เพลงรักนิวตริโน

แม้จะเป็นเรื่องแต่งจากปลายปากกาของ ‘อนุสรณ์ ติปยานนท์’ ที่พาคุณท่องไปกับบรรยากาศแสนลึกลับของความรักอันบริสุทธิ์ แต่ฉากหลังของมันกลับซ่อน ‘ความจริง’ ของชีวิตคนในฮ่องกงช่วงก่อนอังกฤษจะส่งคืนแผ่นดินทั้งเกาะให้ประเทศจีนในปี 1997 ซึ่งอนุสรณ์ใช้เวลากว่าห้าปีในการค้นคว้าหารายละเอียดเหล่านี้ 

เราขอชวนทุกคนมาร่วมย้อนเวลาไปฮ่องกงกับเรา เพื่อตามหาว่า ‘เรื่องจริง’ ไหนบ้างที่เป็นฉากหลังอยู่ใน ‘เพลงรักนิวตริโน’

ไปได้จริง

‘สมิทธิ’ ตัวเอกของเรื่องใช้รถไฟฟ้าเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่น่าสงสัยของภรรยา นิยายเล่มนี้จึงพูดถึงรถไฟฟ้าหลายสถานี 

ไม่ว่าจะเป็น ‘ไดมอนด์ฮิลล์’ สถานีที่ใช้เป็นจุดต่อรถเพื่อไปยังที่พักแสนสงบของเขา ‘โหล่วหวู่’ สถานีสุดท้ายของฮ่องกงก่อนจะเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ หรือ ‘เซ็นทรัล’ สถานีรถไฟที่สมิทธิพบกับชายชราปริศนาที่มีนัยน์ตาข้างขวาบอดสนิท ผู้ขอให้สมิทธิช่วยอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง แต่เมื่อถึงสถานีปลายทาง กลับหายตัวไปแบบที่สมิทธิไม่รู้ตัว

ปัจจุบัน หากนักอ่านย่างเท้าลงที่ ‘ย่านเซ็นทรัล’ ก็จะได้พบกับบรรยากาศเมืองเก่าผสมผสานกับความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงเรียงรายที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญ อย่างตึก HSCB หรือ Bank of China หรือถ้าเดินมาที่ทางออก C ก็จะพบกับ Hollywood Road ถนนซึ่งเต็มไปด้วยตึกที่ยังมีกลิ่นอายความคลาสสิก รวมถึงศิลปะกราฟฟิตี้ที่รอให้ทุกคนตามรอยไปชมกัน

อ่านได้จริง

ใน ‘เพลงรักนิวตริโน’ มีหนังสือที่ถูกพูดถึงและเกี่ยวข้องกับตัวละครอยู่หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่วางอยู่บนชั้นหนังสือในห้องพักของสมิทธิอย่าง ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ และหนังสือที่เขาอ่านจบภายในห้าชั่วโมงอย่าง ‘ความรักและปีศาจ’ ซึ่งเป็นผลงานของ ‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ นักเขียนชื่อดังชาวโคลอมเบียทั้งสองเล่ม รวมถึงหนังสือที่เขาพกติดตัวมาจากประเทศไทยอย่าง ‘สิทธารถะ’ เขียนโดย ‘เฮอร์มานน์ เฮสเส’ นักเขียนชาวเยอรมัน

แต่หนังสือเล่มสำคัญที่เราอยากพูดถึง เพราะเป็นหนังสือที่ทำให้สมิทธิได้พบกับหญิงสาวปริศนาซึ่งปรากฏตัวอย่างลึกลับในเกาะฮ่องกงก็คือ ‘The Catcher In The Rye’ ของ ‘เจ. ดี. ซาลินเจอร์’

วรรณกรรมเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘โฮลเดน คอลฟีลด์’ เด็กชายอายุ 16 ปี ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเนื่องจากคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ บวกกับนิสัยส่วนตัวที่ค่อนข้างขวางโลก ทำให้ตั้งคำถามกับเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอระหว่างเดินทางกลับบ้าน ซึ่งทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้เห็นภาพสังคมผ่านมุมมองของเด็กชายที่เราอาจเคยมองข้ามไป

หนังสือเล่มนี้เคยถูกจัดเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ สำหรับนักเรียนในสหรัฐฯ เนื่องจากมันเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้ ‘มาร์ก เดวิด แชปแมน’ ลอบยิงนักแต่งเพลงระดับตำนานอย่าง ‘จอห์น เลนนอน’ ในปี 1980

 
ฟังได้จริง

ชื่อหนังสือก็บอกอยู่ว่า ‘เพลงรักนิวตริโน’ แล้วเราจะขาด ‘บทเพลง’ ในหนังสือไปได้อย่างไร

ที่โรงแรมในเซี่ยงไฮ้ที่สมิทธิเข้าพักเพื่อตามหาบางอย่างอยู่นั้น เขามีโอกาสได้ฟังเพลงจากนักดนตรีแจ๊ซคนหนึ่งที่มักเป่าทรัมเปตด้วยเพลงของเหล่านักดนตรีผู้จากโลกนี้ไปอย่างน่าหดหู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นบทเพลง ‘Tenderly’, ‘Delilah’, ‘Embraceable’, ‘Smoke Gets in Your eyes’ และ ‘Joy Spring’ ของ ‘คลิฟฟอร์ด บราวน์’ นักเป่าทรัมเป็ตแจ๊ซชื่อดังผู้ริเริ่มดนตรีแจ๊ซแบบฮาร์ดบอป และมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อวงการแจ๊ซในปัจจุบัน น่าเสียดายที่เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1956 และจากโลกไปด้วยวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีบทเพลงของ ‘ลี มอร์แกน’ นักเป่าทรัมเปตและแต่งเพลงแจ๊ซชาวอเมริกัน ผู้ที่จบชีวิตด้วยลูกกระสุนของภรรยาตัวเองในวัย 33 ปี อย่าง ‘Hocus Pocus’ และ ‘The Side Winder’ รวมถึงบทเพลง ‘Moonlight in Vermont’ ของ ‘เชต เบเกอร์’ นักเป่าทรัมเปตและนักร้องชาวอเมริกันที่อำลาโลกนี้ไปด้วยการพลัดตกจากหน้าต่างโรงแรมพร้อมร่องรอยการใช้สารเสพติด 

 
เกิดได้จริง

สมิทธิเลือกย้ายจากประเทศไทยมาใช้ชีวิตเป็นสถาปนิกอยู่ในฮ่องกงปี 1997 และนั่นทำให้เขาได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งในชุดกี่เพ้าอันแสนแปลกประหลาด ซึ่งนำไปสู่การออกตามหาความจริงทั่วอาณาเขตฮ่องกง ก่อนที่อีกไม่กี่เดือนเกาะแห่งนี้ก็จะกลับคืนสู่อ้อมกอดของประเทศจีน 

‘ฮ่องกงของบริเตน’ หรือในสมัยที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรนั้น แบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตนิวเทอร์ริทอรี่ส์ คาบสมุทรเกาลูน และเกาะฮ่องกง โดยในสงครามฝิ่นครั้งแรกที่จีนพ่ายแพ้ต่อสหราชอาณาจักร พวกเขาได้ตกลงในสนธิสัญญานานกิงว่าต้องยกเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษอย่างถาวร และในการพ่ายแพ้ครั้งที่สอง จีนก็ได้ตกลงในสนธิสัญญาปักกิ่งและเสียคาบสมุทรเกาลูนเพิ่มเติม แต่หลังจากนั้นจีนก็ปล่อยเช่าพื้นที่เขตนิวเทอร์ริทอรี่ส์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกง เป็นเวลา 99 ปีอีกด้วย

เมื่อครบกำหนดเวลา อังกฤษตัดสินใจคืนพื้นที่ทั้งหมดให้กับจีน เพราะต้องการผูกมิตรด้านการค้าด้วย แม้จะอยากเช่าเกาะฮ่องกงต่อก็ตาม เกาะฮ่องกงจึงกลายเป็นเขตปกครองของจีนภายใต้แนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยมีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษที่มีอิสระในการปกครองตัวเองในหลายๆ ด้าน ยกเว้นด้านทหารและการต่างประเทศที่ขึ้นตรงกับจีน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกิดขึ้น ‘จริง’ ท่ามกลางเรื่องแต่งในนวนิยายเรื่อง ‘เพลงรักนิวตริโน’ ยังมีอีกมากมาย สามารถไปหาอ่านเพื่อไปตามรอยกันต่อได้ที่ https://salmonbooks.net/product/neutrino/

เรื่อง: ณกมล ก่อรักเศวต

ภาพ: พันธชา ละอองจันทร์


fiction salmonbooks นวนิยาย เพลงรักนิวตริโน

RELATED ARTICLES

VIEW ALL