6 เมนูอาหารเกาหลีและความทรงจำของ ‘มิเชลล์ ซอเนอร์’ ใน ‘CRYING IN H MART’

5 กุมภาพันธ์ 2023 | by salmonbooks

อาหารที่อยู่ในความทรงจำ เมนูที่กินแล้วส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิตและความคิดถึงใครสักคนพรั่งพรูออกมาชัดเจนของทุกคนคืออะไร

ถ้าตอบแทน ‘มิเชลล์ ซอเนอร์’ ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกา นักร้องประจำวง Japanese Breakfast ผู้เขียน ‘CRYING IN H MART พื้นที่ให้เศร้า’ ได้ คำตอบก็คงไม่พ้นอาหารเกาหลี เพราะเรื่องราวชีวิตตั้งแต่เด็กจนเติบโตมาอยู่ในจุดรับมือความสูญเสียที่เธอเล่าไว้ในเล่ม ทำให้เห็นแล้วว่านอกจากอาหารเกาหลีจะแสดงถึงความเป็นเกาหลีในตัวเธอ มันเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่ด้วย

สำหรับมิเชลล์ อาหารเป็นมากกว่าการกินอิ่ม มันคือการแสดงความรักของแม่ เพราะในขณะที่แม่คลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ เลี้ยงดูเธอด้วยความเคร่งครัด แต่กับเรื่องอาหารนั้นให้อิสระเต็มที่ และช่วงโมงยามดีๆ ระหว่างทั้งคู่มักเกิดขึ้นระหว่างมื้ออาหารสักมื้อ ไม่ว่ามิเชลล์จะทำอาหาร หรือกินอะไร จึงมักมีภาพความผูกพันกับแม่ฉายซ้ำเสมอ

เราเลยอยากพาทุกคนไปขุดคุ้ยดูความทรงจำผ่านอาหารเหล่านั้นของมิเชลล์ เผื่อว่าอ่านจบแล้ว คุณจะได้ลิสต์เมนูอาหารประกอบการอ่านเล่มนี้ หรือได้นั่งหวนนึกถึงเมนูเหล่านั้นของตัวเองอีกครั้ง  : )

ซันนักจี (San-nakji)

เมนูแห่งความภาคภูมิใจ

เมนูที่หลายคนอาจพอคุ้นจากการดูซีรีส์เกาหลีมาแล้ว อย่างการนำหนวดปลาหมึกยักษ์มาสับๆๆๆ แล้วเสิร์ฟใส่จานให้กินแบบสดๆ จนบางทีก็เห็นชิ้นเนื้อกระดุกกระดิกอยู่ในจาน (…) บ้างกินสด บ้างจิ้มน้ำจิ้ม เป็นเมนูที่มักกินคู่กับโซจู หรือเบียร์

ด้วยความที่แม่ของมิเชลล์เป็นคนเนี้ยบสุดๆ ทุกอย่างต้องเป๊ะ แม่จึงพยายามขัดเกลามิเชลล์ให้เป็นเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบตลอดเวลา ช่วงชีวิตวัยเด็กของมิเชลล์จึงเต็มไปด้วยสารพัดกฎเกณฑ์ และความคาดหวังสูงลิบ แต่ท่ามกลางการใช้อำนาจในฐานะผู้ปกครอง สิ่งหนึ่งที่แม่ไม่เคยบังคับมิเชลล์คือเรื่องการกิน ไม่จำเป็นต้องกินข้าวหมดจาน หรือต้องกินเมนูนั้น เมนูนี้ แม่เชื่อว่าคนเราควรมีความสุขกับการกิน มีกฎเพียงว่าอยากให้ลองกินทุกอย่างสักครั้งหนึ่งก่อน

และโอกาสนั้นของมิเชลล์ก็มาถึง ในช่วงฤดูร้อนวันหนึ่งที่เธอ แม่ ป้า และน้า ไปเที่ยวตลาดปลาโนรยังจิน แหล่งรวมสารพัดอาหารทะเล ซันนักจีก็เป็นหนึ่งในเมนูที่ถูกสั่งมาวางบนโต๊ะ เธอตาโตที่เห็นแม่คีบหมึกที่ดิ้นดุกดิกจิ้มซอสโคชูจังกับน้ำส้มสายชูแล้วใส่ปาก ก่อนจะบอกเธอว่า “ลองสิ”

สำหรับการเป็นเด็กแล้ว เราก็ต่างอยากจะพิสูจน์ตัวเอง หรือทำอะไรให้คนรอบกายรู้สึกภูมิใจในตัวเราบ้าง มิเชลล์ไม่รอช้า ลองคีบหมึกสดๆ จิ้มซอสแล้วลิ้มรสชาติ ทุกคนชื่นชมในความกล้าหาญนี้ กลายเป็นว่าเมนูเจ้าหมึกก็เรียกความมั่นใจ และปลุกไฟในการชิมอาหารของมิเชลล์ขึ้นมาทันที

คเยรันจิม (Gyeran-jjim)

เมนูโปรดวัยเด็ก

ไข่ตุ๋นนุ่มฟูในหม้อดิน เมนูทำง่ายใช้วัตถุดิบแค่ไข่ น้ำซุป น้ำมันงา เกลือ พริกไทย ต้นหอมหรือผักตามชอบ เครื่องเคียงรสชาติอ่อนละมุนลิ้นที่นิยมเสิร์ฟในร้านอาหารเกาหลี

อาจเพราะความกินง่าย รสชาติไม่แรง ไข่ตุ๋นเด้งดึ๋งจึงเป็นเมนูโปรดปรานของเด็กหลายคน แน่นอนว่ารวมถึงมิเชลล์ด้วย มิเชลล์เติบโตมาด้วยสารพัดเมนูอาหารเกาหลีที่แม่ทำ อาหารกลายเป็นสิ่งย้ำเตือนความเป็นเกาหลีในตัวเธอ เป็นสิ่งผูกสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่ และทำให้ความคิดถึงก่อตัวขึ้นบ่อยๆ

ช่วงที่มิเชลล์ทราบผลวินิจฉัยว่าแม่เป็นมะเร็ง เธอจึงกลับไปดูแลและอยู่เคียงข้างแม่ ขณะที่แม่คอยทำอาหารให้เธอตั้งแต่ยังเด็ก มิเชลล์กลับไม่ค่อยรู้วิธีทำอาหารเกาหลีมากนัก แถมการทำอาหารสำหรับแม่ที่ป่วยอยู่ก็ต้องเลือกเมนูที่กินง่าย ย่อยง่าย รสอ่อน เธอจึงไม่รอช้า เสิร์ชวิธีทำคเยรันจิมมาทำให้แม่กิน (หนึ่งคำถ้วน)

“ออมม่า หนูทำมาให้”

“อย่างน้อยก็ชิมสักคำไม่ได้เหรอ อย่างที่แม่เคยบอกหนูไง”

ชัตจุก (Jatjuk)

เมนูเยียวยาความรู้สึกผิด

โจ๊กเมล็ดสน ทำจากข้าวเคี่ยวนานๆ ใส่เมล็ดสนปั่นหรือบด ปรุงรสด้วยเกลือ เมนูเนื้อสัมผัสแสนนุ่มหอมกลิ่นถั่วที่คนเกาหลีนิยมทำให้คนป่วยหรือผู้กำลังพักฟื้นกิน เพราะย่อยง่ายและเต็มไปด้วยสารอาหาร ถึงจะดูเป็นเมนูที่มีวัตถุดิบไม่มากแต่ถือว่าใช้เวลาในการทำยาวนานมากๆ เป็นเมนูที่แสดงถึงความใส่ใจเป็นพิเศษของคนทำได้ด้วย

เมนูนี้เป็นอีกหนึ่งเมนูที่แม่มิเชลล์กินได้ และป้า (พี่สาวแม่) มักทำให้แม่กินบ่อยๆ มิเชลล์จึงอยากจะเรียนรู้วิธีทำบ้างเพื่อลงมือทำให้แม่ได้ แต่ป้าก็ดันไม่สอนให้ซะงั้น จนวันเวลาผ่าน ยามต้องรับมือความสูญเสียมิเชลล์หัดทำอาหารเกาหลีเพื่อเยียวยาตัวเองและปลุกความเป็นเกาหลีอีกครั้ง ซึ่งมีเรื่องราวมากมายถึงกับเป็นชื่อบทหนึ่งในเล่มด้วย

มันเป็นเมนูที่เธอบอกไว้ว่า “การได้ทำชัตจุกด้วยตัวเองคล้ายจะเป็นการเยียวยาตัวเองจากความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลแม่ได้ดีพอ”

ทเว็นจังจิเก (Doenjang jjigae)

เมนูปลอบประโลมใจ

ซุปเต้าเจี้ยวรสเข้มข้น ที่มีวัตถุดิบหลักๆ อย่างเต้าเจี้ยว ไชเท้า กระเทียม แอนโชวีตากแห้ง พริกเขียว ต้นหอม เต้าหู้ ซุกกินี มันฝรั่ง แต่บางทีคนเกาหลีก็นิยมใส่เนื้ออาหารทะเลเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งแม่ของมิเชลล์ก็เลือกใช้กุ้งเป็นส่วนประกอบ มักทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ และเครื่องเคียง

ช่วงที่มิเชลล์ออกไปผจญภัยโลกกว้าง ออกไปเรียนต่อและใช้ชีวิตของตัวเองในเมืองอื่น ทุกครั้งที่กลับมาบ้านก็จะมีเมนูอาหารเกาหลีหลากหลายจานที่แม่คอยเตรียมไว้ต้อนรับ ซึ่งเจ้าซุปนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น มิเชลล์ได้ทำเมนูนี้ครั้งแรกตอนอยู่ช่วงทำใจ โดยเปิดหาสูตรในอินเทอร์เน็ตจนได้รู้จัก ‘มังจี’ ฟู้ดครีเอเตอร์ที่ภายหลังกลายเป็นตัวช่วยตอนมิเชลล์ทำอาหารหลายเมนู ทั้งนี้มิเชลล์ก็หวังว่าการลงมือทำและได้ชิมรสชาติอาหารที่คุ้นเคยนี้จะช่วยปลอบประโลมใจเธอได้บ้าง

มีย็อกกุก (Miyeok-guk)

เมนูเฉลิมฉลองให้แม่

ซุปสาหร่าย ปรุงรสอ่อนถึงอ่อนมากด้วยเกลือ ซีอิ๊วขาว กระเทียม น้ำมันงาคั่ว ความที่สาหร่ายอุดมไปด้วยไอโอดีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม จึงนิยมทำให้ผู้หญิงเพิ่งคลอดกินเพื่อบำรุงร่างกาย อีกทั้งยังเป็นเมนูที่คนเกาหลีกินในวันเกิด เพื่อเฉลิมฉลองและเป็นเกียรติกับแม่ผู้ให้กำเนิด

ถึงมิเชลล์จะเป็นลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกา และย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อวันเกิดในฤดูใบไม้ผลิมาเยือนเมื่อไหร่ก็จะได้กินมีย็อกกุกฝีมือแม่เสมอ จนกระทั่งปีหนึ่งที่เธอก็พบว่าไม่มีแม่มาคอยทำเมนูนี้ให้อีกแล้ว

กิมจิ (Kimchi)

เมนูในทุกช่วงเวลา

  

ปิดท้ายด้วยเครื่องเคียงที่เชื่อว่าคนร้อยละ 99.99% เคยกินอย่างกิมจิ ซึ่งมีทั้งแบบกิมจิไชเท้า กิมจิผักกาดขาว กิมจิแตงกวา นอกจากเป็นเครื่องเคียงแล้วยังนำไปทำอาหารเมนูอื่นๆ ได้อีกด้วย 

กิมจิเติมเต็มความสมบูรณ์อยู่ในมื้ออาหารฉันใด ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ก็อยู่ในทุกเมนูอาหารฉันนั้น ตั้งแต่ครั้งหนึ่งที่อยู่โซลแล้วมิเชลล์กับแม่ย่องไปเปิดตู้เย็นของยายกินสารพัดเครื่องเคียง ช่วงแม่ป่วย ช่วงแต่งงาน ไปจนช่วงเยียวยาตัวเองที่มิเชลล์ก็ค้นพบว่าการลงมือทำกิมจิก็ถือเป็นการบำบัดได้ดีเหมือนกันแฮะ

แถมแม่ยังเคยทิ้งคติสอนใจถึงกิมจิไว้อีกว่า “อย่าไปตกหลุมรักใครที่ไม่ชอบกิมจิ เพราะกิมจิจะติดตัวแกอยู่ตลอด ซึมซาบอยู่ในรูขุมขน” หรือคล้ายจะบอกว่า “กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น” นั่นแหละมิเชลล์

ใครสนใจเรื่องเล่าเคร้าน้ำตา ชีวิตและการเติบโตของมิเชลล์ สามารถติดตาม ‘CRYING IN H MART พื้นที่ให้เศร้า’ ต่อได้ที่นี่


cryinginhmart

RELATED ARTICLES

VIEW ALL