เชื่อว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นยาขมสำหรับหลายคนตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะวิชาที่มักมีชื่อเล่นว่า ‘อีซี’ (EC) กลับไม่ค่อยอีซี่อย่างเสียงเรียกเท่าไหร่ ซ้ำกลับเป็นความทรมานที่ต้องมาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาค ต้องมานั่งหมุนกราฟหาจุดตัดกันจนปวดหัว กว่าจะผ่านมาได้ก็สะบักสะบอม ซ้ำยังผ่านมาแบบเส้นยาดีด็อกผ่าแปด
ด้วยความน่าขนลุกของมัน ทำให้เมื่อเรียนจบ หลายคนจึงเลือกโบกมือลาวิชานี้อย่างไร้เยื่อใย แค่ได้ยินชื่อก็แทบอยากปิดหูแล้ววิ่งหนี ยิ่งถ้ามีใครยื่นหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มาให้ลองอ่านอาจต้องเจอมองตาขวาง เราเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น จนกระทั่งได้รู้จักหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่สนุกและเข้าใจง่ายของ ‘ณัฐวุฒิ เผ่าทวี’
ใครที่เป็นแฟนคลับของแซลมอนหรือแฟนคลับของนักเขียนคนนี้ คงพอรู้กันดีว่าหนังสือของเขานำเรื่องเศรษฐศาสตร์มาเล่าได้อย่างสนุก แถมยังเชื่อมโยงกับเรื่องราวส่วนตัวได้ง่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเล่าถึง ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเรานั่นเอง
แต่ถึงจะเข้าใจและเพลิดเพลินกับกรณีศึกษาต่างๆ ที่เขายกขึ้นมา หลายคนก็อาจจะยังไม่แน่ใจว่า ที่จริงแล้ว ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ คืออะไรกันแน่ รวมถึงบางคนที่อ่านแล้วเริ่มสนใจในแนวคิดนี้ ก็อาจยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อได้บ้าง วันนี้เราเลยชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแบบกระชับๆ
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคืออะไร?
เชื่อว่าหลายคนอาจพอรู้จัก ‘เศรษฐศาสตร์’ กันอยู่บ้าง แต่สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม เราขอสรุปใจความสำคัญของเศรษฐศาสตร์ให้ฟังอย่างกระชับว่าคือ ‘การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด’ และเมื่อลงรายละเอียดต่ออีกหน่อยก็จะพบว่าองค์ความรู้นี้สามารถแบ่งได้คร่าวๆ เป็นสองแบบ คือ ‘เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก’ (Mainstream Economics หรือ Orthodox Economics) และ ‘เศรษฐศาสตร์กระแสรอง’ (Heterodox Economics) ซึ่งแบบแรกอาจเป็นที่คุ้นหูทุกคนหน่อย เพราะมันคือแนวความคิดที่เชื่อมั่นในตลาดเสรีและกลไกราคา ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus) ที่มีเหตุและผลทางเศรษฐศาสตร์มากเพียงพอในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร และสามารถจัดการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้
แต่วิธีคิดรูปแบบนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องการตัดปัจจัยที่คำนวณไม่ได้หรือคำนวณได้ยาก เช่น พฤติกรรมของคน บริบทสังคม หรือรัฐบาลออกไป ทำให้เกิดการแตกแยกย่อยเป็นแนวคิดแบบอื่นๆ ซึ่งภายหลังถูกจัดรวมหมวดหมู่อย่างง่ายว่า ’เศรษฐศาสตร์กระแสรอง’ โดยมีจุดร่วมที่สำคัญคือจุดเน้นในการศึกษาที่แตกต่างจากแบบแรก เช่น เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics) เศรษศาสตร์แนวสตรีศึกษา (Feminist Economics) เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ (Ecological Economics) รวมถึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)
‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ คือส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสรองที่มีจุดสนใจแตกต่างไปจากแนวทางการศึกษารูปแบบเดิม แนวคิดนี้จึงเป็นการผสมกันระหว่างความรู้ด้านจิตวิทยากับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational) และถูกต้องเหมาะสม (optimal) ไปทั้งหมดแบบที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักคิด แต่มีเรื่องอื่นๆ ที่มาจากความเชื่อส่วนตัวและอิทธิพลของสังคมเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจมากมาย เช่น ความลำเอียง (bias) อารมณ์ (emotion) ความมั่นใจเกินเหตุ (overconfident) หรือการแห่ทำตามกัน (bandwagon effects) เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การสรุปขึ้นมาเองจากความเชื่อส่วนตัว แต่เป็นการวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ได้แบ่งการทำงานของสมองมนุษย์ออกเป็นสองด้าน คือด้านอารมณ์ที่มักใช้งานในการตัดสินใจที่รวดเร็ว และด้านเหตุผลที่มักใช้ในการตัดสินใจที่ไตร่ตรองลึกซึ้ง ทำให้ช้ากว่าแบบแรก ซึ่งหากมองตามวิธีคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจมีสมมติฐานว่า เราตัดสินใจทั้งหมดโดยใช้แค่ด้านเหตุผลเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วเรากลับใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเป็นหลัก
สรุปง่ายๆ ว่า ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ มองว่ามนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ควบคุมตัวเองได้ดี หรือยึดมั่นในเป้าหมายอย่างแข็งแรงอะไรขนาดนั้น เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นในทางเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องใส่ปัจจัยด้านพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ของมนุษย์เข้าไปมากขึ้น เพื่อที่การออกแบบนโยบายของภาครัฐ หรือการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัทเอกชนจะได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็ไม่มีทางเข้าใจความคิดของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะรู้แน่ชัดว่าสิ่งที่อยู่ในหัวของเราคืออะไรบ้าง และวิธีการทำงานที่แท้จริงเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำได้จึงเป็นเพียงเก็บข้อมูลจากการทดลองทางสังคมแบบต่างๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตหากมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากกว่านี้ ไม่แน่เราอาจจะเข้าใจมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้มากกว่าปัจจุบันก็เป็นได้
อ้างอิง
- pokpong.org/writing/two-econ-schools/
- pokpong.org/writing/heterodox-econ-schools/
- medium.com/@treewanchai/เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับนโยบายของเมือง-29634eb18a05
- the101.world/behavioral-economics/
- newschool.edu/nssr/story/democratizing-economics-the-heterodox-approach/
- bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/Doc_Publication/Book_Economic2555.pdf
- news.uchicago.edu/explainer/what-is-behavioral-economics
- thechicagoschool.edu/insight/business/what-is-behavioral-economics/
การเอาหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน
เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่สามารถใช้แนวคิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาให้ดูกันเสียหน่อย โดยนำมาจากหนังสือ ‘The Whys of Life ชีวิตต้องสงสัย’ ของ ‘ณัฐวุฒิ เผ่าทวี’
ไม่ว่าใครก็คงจะเคยผ่านสถานการณ์ที่ต้องพยายามจูงใจให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่เราพูดหรือนำเสนอกันมาบ้าง แต่รู้ไหมว่าเราสามารถนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาช่วยได้ โดยวิธีนี้เราหยิบมาจากตอน ‘อะไรคือวิธีการโน้มน้าวใจคนง่ายๆ ในแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ที่ผู้เขียนได้ยกเอาสามวิธีของ ‘ไบรอัน อเฮิร์น’ (Brian Ahearn) มาเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวใจคนอย่างถูกศีลธรรม
เริ่มจากข้อแรก ‘กลยุทธ์ของการเปรียบเทียบ’ เชื่อว่าเวลาต้องตัดสินใจว่าอะไรดีหรือไม่ดี หลายคนมักใช้การเปรียบเทียบ ซึ่งอเฮิร์นแนะนำว่า เราสามารถเอาความชอบเปรียบเทียบนี้มาเป็นหนึ่งในตัวช่วยโน้มน้าวใจคนได้ โดยเขายกตัวอย่างจากสถานการณ์ของตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งภรรยามาถามว่า เขาจะโอเคไหม หากเธอจะจองตั๋วพาเขาไปเที่ยวอิตาลีในช่วงที่เขางานยุ่งอยู่ แต่ก็เพราะงานที่รัดตัวมากจริงๆ เขาจึงปฏิเสธเธอไป ทำให้ภรรยาของเขาเปลี่ยนมาขอเป็นไปเที่ยวกับเพื่อนสนิทที่เมืองใกล้ๆ แทน ซึ่งเขาเองก็ยินดีและปล่อยให้เธอไปโดยไม่ว่าอะไร
ภายหลังภรรยาของเขามาเฉลยว่า ที่จริงเธอไม่ได้อยากไปอิตาลีเลย เธอแค่อยากไปเที่ยวกับเพื่อนโดยไม่ต้องมีสามีไปด้วยต่างหาก แต่เธอก็กลัวว่าเขาจะน้อยใจ และถึงขั้นไม่ยอมให้ไปได้ เธอจึงนึกถึงกลยุทธ์ของการเปรียบเทียบที่เขาเคยเล่าให้ฟัง และเริ่มใช้การไปเที่ยวอิตาลีสร้างค่าการเปรียบเทียบที่สูงมากขึ้นในหัวของเขา ซึ่งทำให้สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ อย่างการไปเที่ยวกับเพื่อนดูเล็กกว่ามากไปโดยปริยาย …แหม่ วางแผนได้ดีสมกับเป็นภรรยานักเศรษฐศาสตร์จริงๆ
นอกจากนี้ อเฮิร์นยังแนะนำอีกสองวิธีในการช่วยโน้มน้าวใจคนคือ ‘การตอบรับคำขอบคุณที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีกว่าเดิม’ เขาอธิบายว่าเวลาที่ใครขอบคุณเราอย่างใหญ่โต เรามักมีการตอบรับหลากหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการบอกว่า “ไม่เป็นไร เรื่องเล็กน้อย” หรือแม้แต่ไม่พูดอะไรเลย ซึ่งเขาอธิบายว่าการที่เราทำแบบนี้อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เพราะเขาอาจคิดว่าเป็นเพียงหนึ่งในหลายคนที่คุณเคยช่วย หรือกระทั่งคิดว่าสิ่งที่เขามองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่กลับดูเล็กน้อยในสายตาคุณ
วิธีการตอบรับคำขอบคุณที่ดีจึงควรพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ โดยอเฮิร์นแบ่งวิธีการเอาไว้ให้ใช้อย่างง่ายๆ สองแบบคือการตอบรับคำขอบคุณลูกค้า ที่ควรใช้ประโยคเช่น “คุณเป็นลูกค้าคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของเรา เรายินดีอย่างมากที่มีโอกาสช่วยคุณ” และการตอบรับคำขอบคุณคนรู้จักหรือคนใกล้ชิด ที่ควรใช้ประโยคประมาณว่า “ถ้าเป็นคนอื่นนี่ไม่ทำให้เลยนะ แต่เพราะเป็นคุณฉันจึงยินดีมากที่จะช่วย” แค่นี้ฝั่งตรงข้ามก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำกับคุณนั้นมีคุณค่าแล้ว
วิธีสุดท้ายคือ ‘การให้เหตุผลเพิ่มเพื่อโอกาสสำเร็จของคำร้องขอที่มากขึ้น’ หลายคนอาจเคยประสบปัญหาเวลาที่ต้องขออะไรจากใครแล้วมันช่างยากเย็นเหลือเกิน อเฮิร์นจึงแนะนำให้เราใส่เหตุผลเข้าไปให้ละเอียดมากที่สุด เพราะมันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้สิ่งที่ต้องการมากยิ่งขึ้น อีกทั้งคนที่เราไปขอยังมีแนวโน้มจะรู้สึกดีกว่าเดิมอีกด้วย โดยเขายกตัวอย่างงานวิจัยของ ‘เอลเลน แลงเกอร์’ (Ellen Langer) นักพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่ทดลองส่งคนไปขอลัดคิวผู้คนที่กำลังต่อแถวใช้เครื่องเอกสาร โดยแบ่งเป็นการขอแบบไม่ให้เหตุผล, การขอแบบดูมีเหตุผลที่จำเป็นอยู่บ้าง และการขอแบบดูมีเหตุผล แต่ไม่ใช่เหตุผลที่ดีเลย ปรากฏว่าการขอแบบมีเหตุผลทั้งสองแบบให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการขอแบบแรกเกินเท่าตัว ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่าการให้เหตุผลประกอบการขอมีพลังมากกว่าจริงๆ
การใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาออกแบบนโยบายสาธารณะ
นอกจากใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมช่วยในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตแล้ว เรายังเอาวิธีคิดนี้มาช่วยออกแบบนโยบายสาธารณะได้อีกด้วย
วิธีการส่วนใหญ่ที่ผู้ออกแบบนโยบายเลือกใช้คือ ‘การสะกิด’ หรือ ‘การดุน’ (nudge) หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขที่จูงใจให้ประชาชนตัดสินใจตามแบบที่ภาครัฐคาดหวังเอาไว้ โดยไม่ได้ไปออกกฎบังคับแต่อย่างใด
หลายประเทศใช้แนวคิดนี้เป็นตัวช่วยออกแบบนโยบายต่างๆ ขณะที่บางประเทศจริงจังกันถึงขนาดตั้งหน่วยงานไว้ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น ประเทศอังกฤษมีหน่วยงาน ‘The Behavioural Insight Team’ หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า ‘Nudge Unit’ คอยให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี โดยใช้การทดลองและวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาช่วย จนกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่มีบทบาทในการจัดการปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลอังกฤษ
เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น เราเลยยกเอาตัวอย่างแคมเปญสนุกๆ ที่ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นหลักคิดมาให้ดูกันพอหอมปากหอมคอ
เริ่มที่แคมเปญของ Financial Services Authority (FSA) อดีตองค์กรอิสระที่เคยมีหน้าที่ควบคุมและดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงินของอังกฤษในช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนั้นทางหน่วยงานประสบปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนมักตัดสินใจผิดทางการเงิน หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งทางหน่วยงานพยายามให้ความรู้เรื่องการเงินกับประชาชนให้มากที่สุด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พวกเขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากลุ่มอาจารย์ด้านการบริหารของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) เพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจารย์กลุ่มนี้ได้สรุปต้นตอของปัญหาที่แท้จริงออกมาเป็นสามประเด็นคือ การให้ข้อมูลมากเกินไปอาจไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่คิด, ผู้ขายผลิตภัณฑ์ (seller) มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค และความรู้ทางการเงินแทบไม่มีส่วนช่วยอะไรเลย เพราะคนมักตัดสินใจด้วยอารมณ์และอคติส่วนตัวมากกว่า
จากการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้ทาง FSA เข้าใจมากขึ้นว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากประชาชนขาดความรู้ทางการเงิน หากแต่เป็นเรื่องธรรมชาติของนิสัยมนุษย์ พวกเขาจึงเปลี่ยนจากการอัดข้อมูลให้กับประชาชน หรือการบังคับให้สถาบันทางการเงินที่ขายผลิตภัณฑ์เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน มาเป็นการออกกฎเพื่อเปลี่ยนวิธีที่สถาบันการเงินเหล่านี้ปฏิบัติแทน ทำให้ในเวลาต่อมา หน่วยงานนี้ (ซึ่งภายหลังได้ล้มเลิกไปและถูกแทนที่ด้วยหน่วยงานกำกับทางการเงิน Financial Conduct Authority) ได้ออกกฎห้ามไม่ให้ผู้ให้คำแนะนำทางการเงินได้รับค่านายหน้า (commission) จากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ส่งผลให้พวกเขาเริ่มให้คำแนะนำที่ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น แทนที่จะเลือกแนะนำแต่ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองกำลังทำยอดอยู่
อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นแคมเปญจากศาลแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ประสบปัญหาจำเลยจากคดีความรุนแรงในครอบครัวผิดนัดขึ้นให้การหลายครั้ง มีข้อมูลว่ากว่าร้อยละ 25 มักไม่มาปรากฏตัวในวันไต่สวน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเก็บข้อมูลทำงานลำบาก อีกทั้งยังทำให้ศาลไม่สามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ได้ ซึ่งกรณีหลังอาจส่งผลให้เหยื่อมีโอกาสเจอกับเหตุการณ์ซ้ำเดิม หรือแม้แต่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม จนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ศาลจึงร่วมมือกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อหาวิธีให้จำเลยยอมมาตามนัดของศาลมากขึ้น ซึ่งพวกเขาใช้วิธีธรรมดามากคือ ส่งข้อความเตือนก่อนวันนัดประมาณหนึ่งวัน แต่ไปๆ มาๆ กลับให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ โดยปัจจัยสำคัญคือข้อความที่ถูกส่งออกไปทำให้อีกฝ่ายมีเวลาวางแผนได้
ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่รับเอาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาช่วยแก้ปัญหาภายในองค์กร เช่น การให้เงินรางวัลแก่พนักงานที่เลิกบุหรี่สำเร็จแทนการห้าม หรือการปรับระบบออมเงินของพนักงานให้เป็นแบบหักจากเงินเดือนอัตโนมัติ แล้วให้สมัครใจลาออกจากโครงการได้ในภายหลัง ซึ่งนำมาใช้แทนระบบสมัครใจยอมหักเงินเดือน
อ้างอิง
- bi.team/about-us/
- lse.ac.uk/Research/Assets/impact-pdf/consumer-decisions-behavioural-economics.pdf
- behaviouraleconomics.pmc.gov.au/sites/default/files/resources/behavioural-insights-public-policy.pdf
- hbr.org/2017/10/the-rise-of-behavioral-economics-and-its-influence-on-organizations
ควรไปเรียนที่ไหน และเรียนจบแล้วมีงานอะไรให้ทำบ้าง?
ถึงตรงนี้ บางคนอาจเริ่มสนใจเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกันมากขึ้น และอาจอยากรู้กันต่อว่าหากจะศึกษาด้านนี้อย่างจริงจังควรเริ่มตรงไหน บ้านเรามีการเรียนการสอนในสาขานี้บ้างหรือเปล่า และที่สำคัญ คือเรียนจบมาแล้ว นอกจากการเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์ ยังมีงานอะไรให้ทำอีกบ้าง
สำหรับในประเทศไทยเอง ยังไม่พบข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยใดเปิดสอนสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่หากไปดูหลักสูตรของคณะเศรษฐศาสตร์ตามหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ จะพบว่ามีวิชาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมให้เลือกเรียนอยู่หลายตัว รวมถึงบางที่ยังมีการตั้งศูนย์วิจัยที่เน้นศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง (Chulalongkorn Experimental Economics Center: CEEC) ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้ผู้เรียนได้ทดลองและพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้
ส่วนคณะเศรษฐศาสตร์และคณะบริหารของมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นแถบเอเชีย ก็มีหลายแห่งที่เปิดการเรียนการสอน เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ที่มีการตั้งศูนย์วิจัยด้านนี้เป็นของตนเอง แต่ถ้าเป็นประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็มีตัวเลือกที่หลากหลายมากกว่า เช่น วิทยาลัยธุรกิจบูธ (Booth School of Business) ของมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ประเทศสหรัฐฯ ที่มี ‘ริชาร์ด เธเลอร์’ (Richard Thaler) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมระดับรางวัลโนเบล ผู้ปลุกกระแสให้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างประจำอยู่ หรือใครอ่านหนังสือเกี่ยวกับเศรษศาสตร์พฤติกรรมจนติดใจอยากไปเรียนกับ ‘ณัฐวุฒิ เผ่าทวี’ โดยตรง ก็สามารถเลือกมหาวิทยาลัยวอร์ริก (University of Warwick) ประเทศอังกฤษเป็นจุดมุ่งหมายได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับสาขาวิชานี้ เช่น มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (Nottingham University) ประเทศอังกฤษ หรือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีหลากหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ ตั้งแต่เรื่องธุรกิจไปจนถึงเรื่องการออกแบบนโยบาย
มาถึงคำถามสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ คือเรียนจบมาแล้วมีงานอะไรให้ทำบ้าง? จำเป็นต้องเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยตามมหาวิทยาลัยอย่างเดียวเลยหรือเปล่า? คำตอบคือไม่ เพราะปัจจุบัน ศาสตร์นี้กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก ถึงขนาดว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งแผนกซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานด้านนี้โดยตรง เช่น กูเกิลก็จ้างนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economist) มาคอยวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์มากขึ้น หรือ Grab กับเว็บไซต์ amazon ก็มีการจ้างงานตำแหน่งที่คล้ายกัน และนอกจากการทำงานตามบริษัทข้ามชาติ ก็ยังมีงานอื่นให้เลืิอกทำอีกหลายอย่าง เช่น การเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายแก่ภาครัฐ การเป็นนักวิเคราะห์การเงิน การเป็นนักวิเคราะห์ประจำองค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ
เรียกได้ว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมถือเป็นหนึ่งในสาขาที่กำลังมาแรง และมีความต้องการในตลาดสูง ที่สำคัญคือตำแหน่งงานส่วนใหญ่มักจะประจำการอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เหมาะเหลือเกินสำหรับใครที่กำลังหาลู่ทาง #ย้ายประเทศ ในช่วงนี้
อ้างอิง
- chicagobooth.edu/executiveeducation
- bschool.nus.edu.sg/cbe/about-cbe/
- warwick.ac.uk/
- hbs.edu/Pages/default.aspx
- econ.chula.ac.th/research/research-centers/ceec/
- careers.google.com/jobs/results/79365040865452742-behavioral-economist-global-business-marketing/
- thechicagoschool.edu/insight/career-development/6-career-paths-with-a-masters-in-behavioral-economics/
สำหรับใครที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ติดตามผลงานหนังสือที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://salmonbooks.net/author/powdthavee
salmonbooks the whys of life ชีวิตต้องสงสัย