‘Michelle Zauner’ จากบันทึกส่วนตน สู่แห่งหนของการเยียวยา

28 ตุลาคม 2024 | by salmonbooks

เรื่อง: ฆนาธร ขาวสนิท

“ไม่มีทางให้หนี”

มิเชลล์ ซอเนอร์ (Michelle Zauner) นักร้อง นักดนตรีแห่งวงดรีม-ป๊อปสัญชาติอเมริกันชื่อดัง Japanese Breakfast ผู้เขียนหนังสือชื่อชวนเศร้า Crying in H Mart หรือในฉบับแปลไทย พื้นที่ให้เศร้า กล่าวถึงความตายของแม่ตนไว้ในหนังสือเล่มนี้แบบนั้น

แม่ผู้เปรียบเสมือนภาพแทนของสิ่งจับต้องได้ชิ้นสุดท้ายในฐานะรากเหง้าไกลโพ้นจากอีกฟากมหาสมุทรที่ปรากฏอยู่บนเนื้อหนังของลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกันเช่นเธอ

“…ทุกครั้งที่ฉันระลึกได้ว่าแม่ตายแล้ว มันเหมือนโดนอัดกระแทกกำแพงอย่างจัง ไม่มีทางให้หนี มีแค่ผนังแข็งๆ ที่ฉันเอาแต่วิ่งชนมันครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความจริงอันหนักแน่นที่ว่า ฉันจะไม่มีวันได้เจอแม่อีกแล้ว…”

แม้จะถือกำเนิดในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ บ้านเกิดเมืองนอนของแม่นาม ชองมี แต่ในช่วงวัยที่ยังไม่ประสีประสา ด้วยอายุเพียงหนึ่งขวบปี โจเอล—พ่อชาวอเมริกันผิวขาวของเธอ ก็พาซอเนอร์และครอบครัวย้ายมาตั้งรกรากยังเมืองยูจีนในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา เมืองที่เต็มไปวัฒนธรรมแบบคนขาวเข้มข้น และก็เหมือนคนเอเชียหรือลูกครึ่งเกือบทุกคน เธอกลายเป็นสิ่งแปลกแยกไปโดยปริยาย

“…ฉันใช้ชีวิตวัยรุ่นไปกับการพยายามทำตัวกลมกลืนกับเพื่อนๆ ในแถบชานเมืองของอเมริกา เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่โดยรู้สึกว่าความเป็นพวกเดียวกันคือสิ่งที่ฉันต้องพิสูจน์ เป็นสิ่งที่อยู่ในกำมือของคนอื่น แล้วแต่ว่าเขาจะมอบให้ฉันหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่ฉันคว้ามาได้ด้วยตัวเอง คนอื่นจะเป็นฝ่ายตัดสินว่าฉันอยู่ฝั่งไหน ฉันจะได้รับอนุญาตให้อยู่กับใคร ฉันไม่สามารถมีที่ยืนอยู่ในโลกทั้งสอง ขาทั้งสองข้างไม่อาจอยู่ฝั่งเดียวกัน รอวันที่จะถูกเตะออกมาตามอำเภอใจโดยใครสักคนที่อ้างสิทธิ์ได้มากกว่าฉัน คนที่เป็นคนแท้ คนที่สมบูรณ์ ฉันพยายามเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกามานานเหลือเกิน ต้องการมันมากกว่าอะไรทั้งหมด…”

ซอเนอร์เขียนไว้ในบทที่ 8 ชื่อ ออนนี เช่นนี้

ไม่ใช่แค่เพียงสังคมอเมริกาหรอก คำว่า “ขาทั้งสองข้างไม่อาจอยู่ฝั่งเดียวกัน” ยังหมายรวมถึงสังคมคนเกาหลีในอเมริกาด้วย 

ซอเนอร์มีหน้าตากระเดียดไปทางเกาหลีมากกว่าคนขาว เติบโตมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยของแม่ผิวเหลืองผู้เข้มงวด—หญิงสาวผู้ไล่ตามความสมบูรณ์แบบในทุกสิ่งอยู่ตลอด รวมกระทั่งความสมบูรณ์แบบในตัวลูกสาวเธอเองด้วยเช่นกัน 

และนั่นคือความขัดแย้งหลักของหนังสือเล่มนี้—‘ความรู้สึกของการเป็นคนนอก’ ในทุกที่ แม้กระทั่งกับครอบครัวตัวเอง 

ที่ผ่านมาซอเนอร์พยายามทำความเข้าใจ ยืนหยัดมีชีวิตต่อไป หรือพูดอีกแง่ อาจกล่าวได้ว่า เธอพยายามควานหา ‘ทางหนี’ ท่ามกลางภาวะครึ่งๆ กลางๆ นี้ ผ่านทั้งดนตรีและการรังสรรค์บทเพลง กระทั่งเธอได้ประจันหน้าตัวเองชัดกระจ่างตาผ่านกระจกอีกบานชื่อว่า ‘การเขียนหนังสือ’

20 สิงหาคม 2018 ความเรียงของซอเนอร์ในชื่อ Crying in H Mart ตีพิมพ์ใน The New Yorker เซกชัน Personal History ต่อมาเธอนำความเรียงชิ้นนี้มาปรับปรุงใหม่ และแล้วมันก็กลายเป็นบทแรกของหนังสือบันทึกความทรงจำถึงแม่ผู้จากไปในชื่อเดียวกัน

ความเรียงชิ้นนั้นเปิดเรื่องด้วยการบอกเล่าตรงๆ ชัดๆ ว่าแม่ของเธอตาย และตั้งแต่แม่ตาย “ฉันก็ร้องไห้ทุกทีที่ไปเอชมาร์ต” 

หลังแม่ของซอเนอร์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2014 บวกรวมกับความตายของยายและป้าชาวเกาหลี ซอเนอร์พบตัวเองไปเอชมาร์ตอยู่บ่อยครั้ง 

ณ ซูเปอร์มาร์เกตเปี่ยมล้นด้วยวัตถุดิบและเครื่องปรุงนานาชนิดจากเอเชียนี้เอง ที่หลากรสชาติจากความโหยหาอดีตทะยานขึ้นมาจนเธอต้องไล่คว้าและจดจารมันไว้ การไปเอชมาร์ตแต่ละครั้งประหนึ่งการออกเดินทางแสวงบุญ หรือการก้าวสู่ยอดเขาสูงทีละก้าวเพื่อแสดงความอาลัย 

ทว่า มิติซับซ้อนของเรื่องราวรายทางในชีวิตของทุกคนที่เมื่อหวนระลึกถึงใครบางคนย่อมนำมาซึ่งอารมณ์แตกต่างออกไปต่างหากที่ทำให้มันน่าสนใจ 

ความอาลัยของซอเนอร์เต็มไปด้วยความเศร้าโศก แต่ก็ยังมีความโกรธ สับสน ไม่เข้าใจ รวมถึงความวิตกกังวลฝังแน่นอยู่ภายในมากมายด้วยเช่นกัน และใช่หรือไม่ว่า ในประเด็นนี้แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่ง พื้นที่ให้เศร้า ในนามเอชมาร์ตนั้น ก็กลับกลายเป็น ‘ทางให้หนี’ สำหรับเธอ มากพอๆ กับความกล้าหาญในการขีดเขียนมันออกมาเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

เกือบๆ สามปีนับตั้งแต่ความเรียงไม่กี่หน้ากระดาษถูกเผยแพร่ใน The New Yorker หนังสือแห่งการประกอบสร้างความทรงจำต่อเนื่องถึง 20 บท นาม Crying in H Mart ก็ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในเดือนเมษายน ปี 2021 

ซอเนอร์ใช้เวลามากมายไปกับการประกอบภาพร่างของความทรงจำ ทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบ่งประเด็นแตกย่อยออกมา บันทึก เขียนซ้ำแล้วและอีก อ่านทวนอีกครั้งและอีกหน พิจารณา แก้ไข จนมันกลายเป็นหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง

“มีหลายอย่างที่ทำให้ฉันประสาทเสียสุดๆ” เธอให้สัมภาษณ์ “แล้วมันก็ต้องใช้เวลาในการเขียน ปรับปรุงแก้ไขใหม่ และพยายามดึงบางสิ่งออกมา หรือปัดบางอย่างทิ้งไปให้ไกล มีเรื่องให้ตัดสินใจว่าอะไรกันแน่จากรายละเอียดเหล่านี้ที่ฉันปรารถนาจะแบ่งปัน”

‘บทบันทึก’ 
หนึ่งในงานเขียนที่เกร่อล้นตลาดที่สุด

Memoir หรือ บทบันทึก นับได้ว่าเป็นงานเขียนประเภทหลักที่ได้รับความนิยมในหมู่นักอ่าน แต่หากซอยย่อยแบ่งลึกลงไปอีกนิด เราจะพบว่าหมวดย่อยที่ถูกตีพิมพ์สม่ำเสมอในแต่ละปีคือ ‘บันทึกความทรงจำถึงคนรักผู้จากไป’ ซึ่งมักวางเด่นหราอยู่บนชั้นวางในร้านขายหนังสือปกแล้วปกเล่า แถมบ่อยครั้งมันกลับติดอันดับหนังสือขายดีต่อเนื่องยาวนาน และ Crying in H Mart ก็คือหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าว หนังสือเล่มนี้ติดอันดับหนังสือขายดีจากการจัดอันดับของสื่อหลายเจ้าติดต่อกันเกิน 50 สัปดาห์ 

คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบแบบกำปั้นทุบดิน และออกจะกวนบาทาอยู่สักหน่อยคงเป็น ‘เพราะมนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ผู้ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้านเหนือสิ่งอื่นใด’ โดยเฉพาะเรื่องชาวบ้านที่เป็น ‘ซัมวัน’ แต่หากให้ตอบแบบไว้เชิงขึ้นอีกนิด และไม่ละทิ้งข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ก็อาจกล่าวได้ว่า ‘เพราะเราต่างมีวิถีทางไว้ทุกข์ในท่วงทำนองอันแตกต่าง’ และ ‘เพราะมนุษย์เสพติดเรื่องเล่าเข้าขั้นคลั่งไคล้’ เรื่องเล่าที่ไม่ซ้ำใครจึงขายได้เสมอ 

มากไปกว่านั้น ใช่ว่าการเป็น ‘ซัมวัน’ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หนังสือขายดีเสียเมื่อไหร่ หากเรื่องราวไม่น่าสนใจ ไร้สิ่งน่าดึงดูด สะเปะสะปะ ควานหาทิศทางไม่พบ และการบันทึกในตัวมันเองไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวผู้เขียนและผู้อ่านมากพอ หนังสือก็คงถูกหยิบออกจากชั้นวางในระยะเวลาอันสั้นโดยง่าย

ไข่ดองซีอิ๊ว ซุปหัวไชเท้าเสิร์ฟเย็น พื้นผิวยามกัดกินเกี๊ยวมันดู ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ซอเนอร์บอกกล่าวเรื่องราวของแม่และชีวิตตนออกมาได้เป็นฉากๆ 

อาหารล้วงเอาความจริงส่วนลึกของความรู้สึกในตัวซอเนอร์ออกมา เพราะนั่นคือวิธีที่แม่ผู้เข้มงวดใช้แสดงความรัก วัฒนธรรมอาหารเกาหลีจึงกลายเป็นโครงสร้างหลัก ร้อยเรียง Crying in H Mart ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นกระดูกสันหลังสุดแกร่งที่ทำให้นักอ่านติดหนึบวางหนังสือไม่ลง 

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมงานเขียนประเภท ‘บันทึกความทรงจำถึงคนรักผู้จากไป’ ที่ดูเหมือนจะเกร่อล้นตลาดเล่มนี้ จึงไม่เกร่อเลยสักนิด แถมยังมีเอกลัษณ์เฉพาะตัวโดดเด่น ไม่ต่างอะไรกับบทเพลงหลายเพลงที่นักดนตรีสาวผู้นี้รังสรรค์ขึ้นมา 

ในย่อหน้าที่สองของบท 1 ซอเนอร์เขียนไว้ว่า

“…ขณะสะอึกสะอื้นอยู่แถวแผงอาหารแห้ง ฉันได้แต่ถามตัวเองว่ายังเป็นคนเกาหลีอยู่ไหม ถ้าตอนนี้ไม่เหลือใครให้โทรถามยี่ห้อส่าหร่ายที่เคยซื้ออีกแล้ว…” 

ไม่ใช่แค่ซอเนอร์หรอกที่ไปเอชมาร์ตเพื่อหาซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหาร จนมันกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เธอเชื่อมต่อกับแม่และความเป็นเกาหลี (สิ่งที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าของตน แต่เธอกลับพูดออกมาได้ไม่เป็นประโยคด้วยซ้ำ) ผู้คนมากมายต่างมาที่นี่ ทั้งผู้อพยพรุ่นแรก และรุ่นถัดๆ มา กลุ่มก้อนที่ความเข้มข้นของรากเหง้าจากอีกฟากสมุทรได้เจือจางลงไปแล้วตามกาลเวลา นอกจากเพื่อซื้อหาวัตถุดิบก็เพื่อวัตถุประสงค์บางประการ—หลักๆ ก็น่าจะเป็นการค้นหาที่หยัดยืนของตัวเอง ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ซอเนอร์เฝ้ามองหญิงสาวชาวเกาหลีแบ่งปันมื้ออาหารและเรื่องราวระหว่างกันในฟู้ดคอร์ต เห็นกลุ่มนักเรียนจีนตามล่าหาเส้นก๋วยเตี๋ยวยี่ห้อโปรด เธอร่ำไห้เมื่อเด็กสักคนกวัดแกว่งถุงขนมป็องทเวกี—ข้าวเกรียบหน้าตาเหมือนแผ่นโฟม—ผ่านไป เพราะมันชวนให้เธอหวนรำลึกถึงวันชื่นคืนสุขเมื่อครั้งวัยเยาว์ และร่ำไห้อีกหน เมื่อเห็นคุณยายชาวเกาหลีคนหนึ่งกำลังนั่งกินบะหมี่หน้าทะเลอยู่ในฟู้ดคอร์ต ขณะจินตนาการถึงแม่ ว่ารูปลักษณ์ของเธอจะเป็นเช่นไรหากอยู่ครบจนถึงวัยเจ็ดสิบปีเหมือนคุณยายผู้นี้ 

ทั้งหมดทั้งมวลนี่คือเรื่องราวของเธอ และจะเป็นของซอเนอร์เสมอ—คนเดียวเท่านั้น

ถ้าฉันอยู่ข้างกายแม่ไม่ได้ 
ฉันก็จะให้แม่ปรากฏอยู่ในตัวฉันแทน

“…พอแม่ไม่อยู่แล้ว ฉันก็เริ่มทำความรู้จักแม่ในมุมที่ไม่เคยรู้จักอีกครั้ง ค้นดูข้าวของของแม่เพื่อค้นพบด้านใหม่ๆ พยายามทำให้แม่กลับมามีชีวิตอีกครั้งในทางที่ทำได้ ท่ามกลางความโศกเศร้า ฉันพยายามตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ในร่องรอยของแม่ด้วยความสิ้นหวัง…”

นั่นคือข้อความหนึ่งจากความเรียงบท 14 ชื่อว่า น่ารัก 

การเขียนบันทึกความทรงจำถึงผู้จากไปในรูปแบบหนังสือค่อนข้างแตกต่างจากการเขียนคำอาลัยเพื่อกล่าวต่อหน้าพิธีฝังศพอยู่พอสมควร เหมือนที่ซอเนอร์กล่าวไว้ถึงการนั่งลงเขียนคำไว้อาลัยสำหรับงานศพของแม่ในบทเดียวกันว่า “การเขียนถึงใครสักคนที่เราคิดว่ารู้จักเป็นอย่างดีนั้นทำได้ยาก มีแต่ถ้อยคำใหญ่โตและการอวยให้สวยหรู” 

ใช่ พื้นที่หนึ่งหน้ากระดาษไม่เปิดโอกาสให้ความเป็นไปได้อื่นมากนัก นอกจากแค่กล่าวถึงกันด้วยคำใหญ่โตโออ่าและสรรเสริญไปมาแค่ในเรื่องราวดีๆ แต่หากพื้นที่แห่งการไว้อาลัยนี้ขยายกว้างขึ้น ในรูปของการนั่งลงเขียนเรื่องราวที่ลึกไปกว่าคำบอกลา ผ่านการจดจารมันออกมาประโยคแล้วประโยคเล่า หน้าแล้วหน้าเล่า วันแล้ววันเล่าจนกลายเป็นหนังสือสักเล่ม เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะพาเราเข้าสู่สมรภูมิของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อกะเทาะเปลือกและทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง 

นั่นยังไม่นับรวมอุปมาอย่างการบุกไปยังนรกหรือสวรรค์ เพื่อชิงตัวคนรักผู้จากไปคืนกลับสู่ชีวิต—ชีวิตที่ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องราวดีๆ แต่คือทุกเรื่องทุกราว ทุกๆ มิติ ชีวิตที่ทั้งชำรุด ทนทุกข์ และสุขสันต์ นั่นก็เพื่อให้ผู้ที่ยังมีลมหายใจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

“ฉันคิดว่าเราต่างคิดถึงอะไรประมาณนี้นี่แหละ” เธอให้สัมภาษณ์ “แต่เราแค่ไม่ได้สำรวจตรวจสอบพวกมันในระดับละเอียดถี่ยิบเหมือนเวลาที่ฉันเขียนถึงความทรงจำเหล่านั้น และย้อนกลับไปเยี่ยมเยียนมัน ตอกเสาประกอบโครงสร้าง และถักทอพวกมันเข้าด้วยกัน”

กระนั้นเธอก็ยอมรับ เมื่อพิจารณาว่า ‘ความอาลัย’ ในชีวิตจริงไม่มีหน้าสุดท้ายให้วางประโยคจบและเคาะจุดฟูลสตอป 

“แน่นอนว่าฉันไม่รู้เลยว่าหนังสือเล่มนี้ควรปิดฉากแบบไหน …คุณคงไม่ต้องการย่อหน้าสุดท้ายหวานหยาดเยิ้ม ประมาณว่า ‘แล้วจากนั้น ผ่านกระบวนการทำกิมจิ ฉัน… ก็… พิชิตมันได้แล้วในตอนนี้’”

ไม่ว่าหนังสือเล่มนี้จะจบแบบใด แต่ในบท 19 ตู้แช่กิมจิ เธอกล่าวถึงการหมักดองกิมจิ โดยยกมันมาเปรียบเทียบกับการเก็บรักษาความทรงจำของตัวเองไปพร้อมกัน นั่นคือตอนเดียวกับที่เธอได้ตกผลึกว่าตัวเองควรมีชีวิตต่อไปกับการขาดไร้สิ่งสำคัญในชีวิตอย่างแม่ด้วยหนทางไหน 

การหมักดองกิมจิทำให้รสชาติดั้งเดิมของกะหล่ำปลีเปลี่ยนไป กล่าวคือสีและเนื้อสัมผัสของมันจะแปรสภาพ และรสชาติจะเปรี้ยวและมีกลิ่นแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้รูปลักษณ์จะเปลี่ยนไปมากมายแค่ไหน ในความคิดของเธอ แก่นแท้ดั้งเดิมบางประการของสสารก็ยังดำรงอยู่ ในฐานะ “การเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างดงาม” เธอเขียนไว้เช่นนั้น

ผ่านการเขียน การทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า การร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีก การหมักบ่มความทรงจำจนมันแปรสภาพและเปลี่ยนรสไปบ้างนี้เอง กลับกลายเป็นหนทางรักษาลมหายใจของผู้สิ้นอายุขัยให้ดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านั้น ดำรงอยู่ต่อมากกว่าแค่ในหน้ากระดาษ ดำรงอยู่ต่อแม้ประโยคปิดบทและจุดฟูลสตอปในหน้าสุดท้ายจะถูกเคาะลงไปแล้ว 

ซอเนอร์ตระหนักดีว่าเธอจำเป็นต้องดูแลความทรงจำและมรดกของเธอในลักษณะเดียวกันกับการหมักดองกิมจิ 

“…วัฒนธรรมที่เรามีร่วมกันยังคงดำเนินต่อไป มีชีวิตชีวาอยู่ในเลือดเนื้อของฉัน และฉันต้องคว้าจับมันเอาไว้ อุ้มชูเลี้ยงดูเพื่อไม่ให้มันตายไปกับฉัน สักวันหนึ่งจะได้ส่งต่อมันไปให้คนอื่นได้ บทเรียนที่แม่เคยมอบให้ หลักฐานว่าแม่เคยมีชีวิตอยู่ยังดำรงต่อไปในตัวฉัน ในทุกท่วงท่าและการกระทำ ฉันคือสิ่งที่แม่ฝากเอาไว้ ถ้าฉันอยู่ข้างกายแม่ไม่ได้ ฉันก็จะให้แม่ปรากฏอยู่ในตัวฉันแทน”



salmonbooks

RELATED ARTICLES

VIEW ALL