ทำหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์มาก็เยอะ เราก็อยากจะเอาใจนักอ่านที่อินเรื่องราวความรักความสัมพันธ์กันหน่อย เลยถือโอกาสเปิดสถานีพิเศษ ‘แซลทอล์ก-มอนโทร’ พร้อมตั้งวงตอบคำถามเรื่องความสัมพันธ์จากมิตรรักนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหัวใจรูปแบบไหน พี่แซลก็พร้อมรับฟังและให้คำแนะนำทุกคน
พิเศษสุดๆ คราวนี้เราได้ยกทัพนักทฤษฎีหลากสัญชาติ หลายยุคสมัย มาจับเข่าคุยเปิดใจรับฟังปัญหาความรักของนักอ่านทุกสถานะ พร้อมไขคำถามหัวใจที่มีหลักทฤษฎีและปรัชญารองรับ
ถ้ารู้สึกว่ารายการแอร์ไทม์น้อยไป ยังมีคำถามอีกมากที่อยากให้นักทฤษฎีของเราช่วย พี่แซลขอชวนไปทำความเข้าใจความรักผ่านบททฤษฎีของเหล่านักปรัชญา นักเขียน และนักคิดภายในเล่ม ‘IN THEORIES ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี’ โดย ‘กิตติพล สรัคคานนท์’ กับ 16 บทความที่จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ดียิ่งขึ้น
ในเรื่องความสัมพันธ์ ยิ่งเรามีอำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือ อาจทำให้เผชิญกับคำถามที่ว่า “จะคบกับคนนี้ดีไหม” หรือ “ยังมีคนที่ดีกว่านี้รออยู่อีกไหม” หลายคนจึงเลือกทดลองรักไปเรื่อยๆ และเมื่อยังไม่รู้สึกพึงพอใจ ก็เลือกยุติความสัมพันธ์นั้นลง เพื่อไปค้นหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่อาจดีกว่า ทว่าท้ายที่สุดกลับพบว่ายังไม่มีใครที่ ‘ดีพอ’ จะตกลงปลงใจด้วยเสียที
เมื่อ ‘การเลือกได้’ กลายเป็นคุณค่าสำคัญในชีวิตของคนสมัยใหม่ หลายครั้งจึงกลายเป็นว่าเราต่างพยายามงมหาความสัมพันธ์ที่ให้ความสุขอย่างเพียงพอแก่ตัวเรา จนหลงลืมไปว่าความสัมพันธ์สมบูรณ์แบบที่ใฝ่หาอาจไม่เคยมีอยู่จริง และทำให้แก่นแท้ของรักที่ต้องการเกาะกุมอยู่ที่ตนเอง ไม่ใช่ผู้ที่เข้ามาสานสัมพันธ์ด้วย
หากอธิบายผ่านกรอบคิดด้านสังคมวิทยา บยอง-ชอล ฮาน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาร่วมสมัยชาวเกาหลี-เยอรมัน เห็นว่า ทางเลือกที่มากมายนั้นอาจไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่แท้จริง มากเท่ากับการที่เราไม่ตระหนักถึงการมีอยู่ของคนอื่น
กล่าวในอีกทางก็คือ จุดสิ้นสุดของความรักมาจากการที่เราไม่สามารถรักใครได้เลยนอกจากตัวเอง หรือเป็นการทำให้ผู้อื่นอันตรธานไป
หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคเปรียบเปรยที่ว่า การรักตัวเองกับหลงตัวเองมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ ซึ่งในทางปรัชญา การรักตัวเองอย่างลุ่มหลง (narcissistic love) กับการรักตัวเอง (self-love) มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
การรักตัวเองอย่างลุ่มหลง หรืออาจเรียกได้ว่าการหลงตัวเอง ถือเป็นผลผลิตจากสังคมสมัยใหม่ที่เราต่างให้ความสำคัญกับตัวเองเหนือสิ่งอื่นใด เพราะการรักตัวเองจะกำหนดขอบเขตระหว่างตัวเรากับคนอื่น ขณะที่การรักตัวเองอย่างลุ่มหลงจะทำให้ขอบเขตทั้งหมดพร่าเลือนไป โลกที่เราอยู่จึงถูกปกคลุมด้วยภาพเงาที่ทอดออกจากตัวเราเอง
ความรักเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการหลงรักภาพสะท้อนของตัวเอง และสิ่งใดก็ตามจะมีความหมายก็เมื่อผู้ตกหลุมรักตัวเองมองเห็นภาพสะท้อนของเขา/เธอในสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น
จะมีความรักทั้งที หลายคนย่อมอยากเจอคู่ที่เข้าใจกันมากที่สุด และปรารถนาคู่ครองที่มีความเหมือนตัวเราเอง ทั้งความสนใจและไลฟ์สไตล์ แต่การพบเจอคนที่เหมือนกับเราในหลายๆ ด้านโดยบังเอิญนั้นมีเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ
แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางให้เกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันความรักที่มีลักษณะผันผวน ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความเสี่ยง ได้กลายเป็นความรักที่ผู้คนคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจน วัดค่าได้ พร้อมการการันตีถึงความแน่นอนและไร้ความเสี่ยง เห็นได้ชัดจากความนิยมใช้บริการจัดหาคู่หรือการใช้ระบบอัลกอริทึมคัดกรองหาคู่ที่เหมาะสมกับตนมากที่สุด
ดังนั้น การเติบโตและแพร่ขยายของทินเดอร์หรือแอพพลิเคชันอื่นๆ จึงไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ต้องการความรักที่เสี่ยงหรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เรายังต้องการคนรักที่เหมือน หรือมีบางสิ่งบางอย่างเช่นที่เรามี
จะเป็นนักปรัชญากรีกโบราณหรือกูรูความรักที่ไหนก็ไม่สามารถการันตีคำตอบให้ได้ กับปัญหาหัวใจที่ว่า “ต้องทำยังไงถึงจะมูฟออนจากเขาหรือเธอได้สักที”
บารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) นักคิดชาวยิวจากศตวรรษที่ 17 มองว่า ความรักแบบมนุษย์ไม่อาจกำหนดหรือควบคุมได้ ความรักระหว่างบุคคลย่อมแปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ความสุขจึงอาจกลายเป็นความทุกข์ หรือที่สปิโนซาเรียกว่า ‘sad passion’ อันเป็นอุปสรรคสำคัญของการมีชีวิตอยู่
ในเมื่อเราไม่สามารถห้ามไม่ให้ตัวเองทุกข์ทรมานจากความรักได้ สิ่งที่เราทำได้และควรทำคือการแลเห็นว่า ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของความรัก เพราะรักเราจึงต้องเจ็บปวด ร้องไห้ นึกโทษว่าตัวเองหรือคนอื่น
หากถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีคำแนะนำไหนดีไปกว่า ต่อให้จะเจ็บปวดหรือช้ำเพราะรักถึงเพียงไหน เราก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป
InTheories ReadSalmon salmonbooks ในความรักเราต่างเป็นนักทฤษฎี