ใครเป็นสายชอบเดินเล่นรอบเมืองที่มักเผลอไปสะดุดตากับการออกแบบตึกรามบ้านช่องรายทาง จะพลาดไม่ได้กับทัวร์เฉพาะกิจ นำเที่ยวโดย ‘ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’ สถาปนิกช่างสังเกต ที่จะพาทุกคนไปสำรวจดีไซน์และการดัดแปลง
แบบไทยๆ ผ่านโปรเจกต์ที่ตั้งใจเก็บและวาดภาพสิ่งที่พบเจอรอบตัวให้ครบ 365 ภาพ
บอกเลยว่างานนี้ชัชวาลไม่ได้ (วาด) มาเล่นๆ เพราะภาพสเกตช์ข้าวของและการออกแบบสไตล์ ‘ไทยแลนด์โอนลี่’ เหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาการออกแบบเมือง วิถีชีวิตของผู้คน ไปจนถึงการพยายามเอาตัวรอดในรูปแบบต่างๆ
หลังจากสำรวจภาพและข้อความเรี่ยราดที่เราคัดสรรมาครบแล้ว อย่าลืมไปชมความครีเอตของคนไทยแบบชุดใหญ่ต่อได้ใน ‘365 DAYS OF THAI URBAN MESS ARCHITECTURE สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด’ บันทึกภาพสเกตช์ที่จะทำให้คุณมองสิ่งของรอบตัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ของต้องห้าม (Parking Not)
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะใจดีให้ที่จอดรถฟรีบ่อยๆ และคงไม่มีใครอยากให้มีรถมาขวางหน้าบ้านตัวเองตลอดเวลา จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมป้องกันการจอดรถแบบไทยๆ ด้วยการจัดหาสิ่งของมาตั้งเพื่อกั้นห้ามจอดกันเองอย่างจริงจัง
ไม่ว่าจะเลือกใช้สิ่งของเบสิกอย่างเก้าอี้พลาสติกหรือกระถางต้นไม้มาวางกั้นที่หน้าบ้าน หรือประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อวางกั้นโดยเฉพาะ อย่างการใช้ท่อพีวีซีมาปักกับก้อนปูนหรือต่อโครงท่อทำให้เป็นแผงกั้นรถ
ซึ่งเราจะใช้วิธีการพิสดาร ผสมผสานวัสดุเก่าเหลือใช้ในการประกอบสร้างแค่ไหนก็ได้ มันไม่ได้มีความผิดถูกใดๆ ขอแค่วางตั้งได้และไม่ล้มก็พอ
โชว์ของ (Sale Display)
การโชว์ของขายสไตล์ไทยๆ ที่เห็นได้ทั่วไปอย่างการตั้งใจแขวนของเยอะๆ แน่นๆ อวดผู้ซื้อไว้ก่อนนั้นดูจะเป็นวิธีที่นิยม และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (หรือเป็นธรรมเนียม) ที่ร้านส่วนใหญ่มักทำตามกัน
ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือแขวนของโชว์ไว้กับราว โชว์ของตามผนัง ไปจนวิธีโชว์ของอย่างการใช้กล่องลังหรือเข่งที่ใช้เก็บของขายอยู่แล้ว รวมถึงเก้าอี้พลาสติกหรืออะไรที่ซ้อนเก็บง่ายๆ มาทำเป็นแท่นวางของขาย โดยที่ไม่ต้องไปใช้โต๊ะพับที่หยิบยกและเก็บลำบาก
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความตั้งใจใช้พื้นที่ในอากาศที่ไม่มีราคาให้เกิดมูลค่าทั้งนั้น และก็เท่ไม่หยอกที่ได้ทั้งโชว์ของ (สินค้า) และโชว์ของ (ความครีเอต) ของตัวเองที่อยู่ลึกๆ ไปพร้อมกันด้วย
กำบังสไตล์ (Sunshade)
รูปนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการดัดแปลงของรอบตัวเป็นจุดขึงผ้าบังแดด โดยใช้รั้วกั้นรถสองอันที่อยู่บนพื้นต่างระดับกัน เพื่อตรึงตัวผ้าใบเป็นหลังคาร่ม
สิ่งนี้สะท้อนถึงปัจจัยความไม่แน่นอนของทิศทางแดดที่อาจปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสภาพแวดล้อมในเมือง รวมถึงความครีเอทีฟและทักษะของบุคคลนั้นๆ ที่พยายามดีไซน์การใช้งานให้เข้ากับการใช้ชีวิตของตัวเอง
นับเป็นกำบังสไตล์ไทยๆ ที่คนไทยช่างหาทำ แบบแดดสู้มา สู้แดดกลับ ไม่โกง
เรื่องระบาย (Draining)
แม้เรื่องน้ำรอการระบายจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาความทุกข์ใจเหล่านี้ให้หมดไป แต่ในเมื่อฝนเมืองไทยยังตกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำให้รอเจ้าภาพไม่ไหว กลายเป็นว่าผู้คนในหลายพื้นที่ต้องหาทางรับมือปัญหาฝนอยู่บ่อยๆ
เช่น เวลาเราเจอการกรีดร่องที่พื้นแบบนี้ ให้ลองค่อยๆ กวาดตาตามเส้นทางร่องไปเรื่อยๆ เพราะมันคล้ายการลากเส้นต่อจุดที่ช่วยบอกเราได้ว่า ซอยหรือถนนตรงนี้มีแอ่งน้ำขังตรงไหนบ้าง
ท่อน้ำดี (ไอวาย) (Blue PVC Pipes)
เจ้าวัสดุสีฟ้านี้ เราเรียกกันว่าท่อน้ำพีวีซี ท่อที่ทำหน้าที่ได้มากกว่าการเป็นท่อน้ำ อาจด้วยความที่หาซื้อได้ง่ายและราคาประหยัด มีความง่ายในการนำมาดีไอวาย เพราะมีชิ้นส่วนท่อให้เลือกหลายแบบ เวลามีสิ่งของชำรุดหรือต้องการต่อเติมอะไรเพิ่ม การหยิบวัสดุนี้มาใช้จึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้คนมักนึกถึง
ฉากหน้าโควิดไทย (Covid-19 Protection)
เมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกๆ ช่วงปี 2020 ทางภาครัฐออกข้อกำหนดให้ร้านค้าต่างๆ สามารถเปิดให้นั่งในร้านได้ แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างของที่นั่งไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ซึ่งถ้าจัดการตามระยะนี้ไม่ได้ก็ต้องมี ‘ฉากกั้น’ ระหว่างบุคคลแทน
ด้วยความที่คนไทยมีฝีมือในการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งของเป็นจุดแข็ง กลายเป็นว่าหลายคนหาวิธีสร้างอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการทำฉากกั้นที่โต๊ะ (Table Shield) หรือฉากกั้นที่หน้าร้าน โดยไม่ต้องรอภาครัฐเข้ามาซัพพอร์ต
365DaysOfThaiUrbanMessArchitecture salmonbooks สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด