“ถ้าผอมกว่านี้หน่อย สวยแน่”
“พี่ใช้ความสวยได้ประหยัดมากอะค่ะ”
“ไม่ตรงปกขั้นสุด บีบรูปจนกำแพงเบี้ยวหมดแล้ว”
ยังมีอีกสารพัดคำพูดบนโลกโซเชียลฯ ที่เกิดขึ้นแบบแทบจะไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้หลายครั้งคำพูดเหล่านั้นจะเป็นคำที่คนพิมพ์ไปโดยไม่ได้คิดอะไร ไม่ว่าจะเป็นการคอมเมนต์ใต้ภาพ ข้อความในแฮชแท็ก รวมถึงกรุ๊ปไลน์ ล้วนเป็นการไซเบอร์บูลลี่ที่ทำร้ายจิตใจ ทิ่มแทงใจ และสร้างบาดแผลให้คนอื่นได้
‘HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา’ คือรวมเรื่องสั้นที่หยิบประเด็นการไซเบอร์บูลลี่ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย ตั้งแต่การวิจารณ์รูปร่าง การคุกคามทางเพศ การเหยียดเพศ ไปจนถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัว ถ่ายทอดความเจ็บปวดและความรู้สึกในใจของผู้ถูกกระทำที่เกิดขึ้นโดยสิบนักเขียนรุ่นใหม่ ที่ต่างคิดเห็นตรงกันว่า #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
เมื่อไซเบอร์บูลลี่เริ่มต้นจากคนในครอบครัว
หลายครั้งการวิจารณ์รูปร่าง (body shaming) ไม่ได้เกิดจากคนไกลตัว แต่กลับเป็นคนใกล้ตัวอย่างสมาชิกในครอบครัวเองที่เริ่มต้นวงจรการบูลลี่ และคงไม่เกินจริงนัก หากจะบอกว่าการถูกคนในครอบครัววิจารณ์รูปร่างหน้าตาเป็นสิ่งที่เด็กไทยส่วนใหญ่ต้องประสบพบเจอกันมาไม่มากก็น้อย
แม้จะอ้างว่าทำไปเพียงเพราะความเอ็นดูที่มีต่อลูกหลาน หรือ “แค่แซวเล่นขำๆ” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าคำพูดเหล่านั้นสร้างรอยแผลที่ไม่มีวันรักษาหายของใครหลายๆ คนไปแล้ว
เช่นเดียวกับสิ่งที่เด็กสาวคนหนึ่งต้องเผชิญในเรื่องสั้นจาก HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา กับการต้องเสียความมั่นใจและคุณค่าในตัวเองเพราะคำพูดอันหวังดีของคนในครอบครัว เพราะฉะนั้น การจะทำให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเราได้ ผู้ใหญ่หลายคนก็จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องนี้และเลิกอ้างเหตุผลว่าหวังดีด้วยเช่นกัน
ในวันที่โซเชียลฯ กลายเป็นอันตรายใกล้ตัว
เพราะเรากำลังอยู่ในโลกแห่งการจ้องจับผิดบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะโพสต์ชีวิตด้านไหนของตัวเอง หรือขีดเขียนข้อความคิดเห็นส่วนตัว ก็มักจะถูกสายตามากมายจับจ้องราวกับเล่นเกมจับผิดภาพ จับผิดคำพูด จับผิดอดีตที่ผ่านพ้น ผู้คนต่างพร้อมใจออกความเห็นโดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนที่ถูกวิจารณ์แม้แต่น้อย
จึงกลายเป็นว่านับวันโซเชียลฯ ที่เข้าถึงง่ายกลับกลายเป็นอันตรายใกล้ตัวมากกว่าที่เราคาดคิด และไซเบอร์บูลลี่ก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาเราได้ง่ายมากขึ้นทุกที
ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อยหากจะบอกว่าไซเบอร์บูลลี่สามารถทำลายชีวิตคนคนหนึ่งได้ในชั่วพริบตา และเพื่อ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา อย่างน้อยที่สุด การหยุดจับผิดชีวิตคนอื่นและคำนึงถึงความรู้สึกของคนที่ต้องเจ็บปวดเพราะถ้อยคำอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายแต่สำคัญมาก
“เด็กสมัยนี้มันก็แบบนี้ (?)”
จากแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ที่ทาง dtac เก็บข้อมูลความเห็นจากชาวเจนฯ Z เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนคติต่อการไซเบอร์บูลลี่ในสังคมไทย จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีเด็กเจนฯ Z จำนวน 313 คน เข้ามาตอบคำถามและเสนอทางออกเรื่องการวิจารณ์รูปร่าง โดยกว่า 15% ให้ความเห็นว่าต้องการให้ครอบครัวและโรงเรียนปลูกฝังทัศนคติการเคารพผู้อื่น
ทว่าหลายครั้ง ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญและความละเอียดอ่อนในประเด็นนี้มากเท่าไหร่ กลับถูกผู้ใหญ่ในสังคมวิจารณ์ว่า ‘เปราะบาง’ มากเท่านั้น เหมือนเรื่องราวของเด็กผู้หญิงในเรื่องนี้เล่มนี้กับการถูกบูลลี่ในไลน์กลุ่มครอบครัว หรือแม้แต่การถูก sexual harassment โดยญาติ แต่เมื่อเธอตัดสินใจพูดเพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของตัวเอง กลับถูกตำหนิจากผู้ใหญ่ว่า “เด็กสมัยนี้ ความอดทนต่ำ พูดอะไรก็ไม่ได้” เสียอย่างนั้น
ถึงที่สุด จะทำให้พฤติกรรมไซเบอร์บูลลี่ลดน้อยลงได้ วิธีการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและไม่อาจมองข้ามได้คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของไซเบอร์บูลลี่ คำพูดดูถูกเหยียดหยามที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่ความเปราะบางหรือความอ่อนแอของคนเพียงวัยใดหนึ่ง หากเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อผู้คนทุกกลุ่ม
คนพิมพ์ไม่เคยจำ-คนโดนกระทำไม่เคยลืม
หลายๆ ถ้อยคำที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลฯ นั้นมีพลังทำลายล้างชนิดที่แค่เป็นคนอ่านเฉยๆ ยังเจ็บยอกไปถึงหัวใจ แล้วคนที่ถูกพูดถึงโดยตรงล่ะจะเจ็บปวดขนาดไหน?
นี่เป็นคำถามที่เราอยากชวนทุกคนขบคิดไปพร้อมกัน ยิ่งในปัจจุบันที่ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างแอ็กเคานต์อวตารเป็นบุคคลนิรนามที่คอยสาดถ้อยคำรุนแรงบนโลกออนไลน์ใส่ใครก็ได้ ราวกับการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดจนถึงที่สุดคือความสุขของตัวเอง โดยไม่ได้ตระหนักว่าเมื่อเวลาผ่านไปแล้วถ้อยคำอันร้ายกาจนั้นจะกลายเป็นแค่อดีตที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ของคนพิมพ์ แต่เป็นความเจ็บปวดที่ไม่เคยลืมของคนโดนกระทำ
ท่ามกลางการเข้าถึงได้ง่ายของอินเทอร์เน็ต เราหวังอยู่เสมอว่า วิวัฒนาการที่ไม่มีวันหยุดนิ่งของยุคโลกาภิวัตน์จะดำเนินไปพร้อมๆ การตระหนักรู้และไตร่ตรองกันมากขึ้นว่าคำหรือประโยคสั้นๆ ที่เราพิมพ์ใส่คนบนโลกออนไลน์ด้วยความโกรธหรือหงุดหงิดใจเพียงชั่ววูบอาจสร้างบาดแผลให้คนคนหนึ่งไปตลอดชีวิต
เมื่อผู้คนอินกับโลกโซเชียลฯ จนเกินพอดี
แม้หนังสือ
‘HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา’ จะตีพิมพ์ปี 2022 ทว่าประโยคนี้กลับเกิดขึ้นก่อนหน้าและยังคงใช้กับหลายสถานการณ์ในทุกวันนี้ เพราะหลายครั้งผู้คนต่างอินและอิ่มเอมกับการตัดสินคนในโลกโซเชียลฯ กันเกินความพอดี ทั้งการขุดค้นอดีตและคาดคั้นข้อเท็จจริงจากฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้ความปราณี จึงไม่แปลกที่เราจะพบเจอแฮชแท็กใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
ท่ามกลางมหากาพย์ดราม่าที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน หากเรามองว่าเบื้องหลังของทุกแอ็กเคานต์บนโลกโซเชียลฯ ต่างเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิด มองว่าการพิมพ์ข้อความในโลกอินเทอร์เน็ตไม่ต่างอะไรจากการพูดคุยกับผู้คนในชีวิตจริง อาจทำให้ความรุนแรงของไซเบอร์บูลลี่ลดน้อยลงได้
salmonbooks ให้ไซให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา