สถานที่คุ้นหูกับความลับที่ซ่อนอยู่ใน ‘รู รัง เรือน’

31 กรกฎาคม 2021 | by salmonbooks

เราอาจเคยเห็นหรือรู้จักสถานที่สำคัญของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทั้งจากภาพยนตร์ ข่าวต่างประเทศ หรือบางคนอาจเคยไปเยือนสถานที่เหล่านั้นมาแล้ว แต่นอกจากชื่อ สถานที่ตั้ง และบรรยากาศโดยรอบ เชื่อมั้ยว่าแต่ละสถานที่อาจมีความลับซ่อนอยู่ในแบบที่เราคาดไม่ถึง

เราขอพาทุกคนไปล้วงความลับที่ซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมของแหล่งที่อยู่อาศัยทั่วโลก ผ่านหนังสือ ‘รู รัง เรือน’ ของ ‘ยรรยง บุญ-หลง’ ซึ่งจะพาไปสำรวจตั้งแต่มหาสมุทรขนาดใหญ่อย่างแอตแลนติก ย่านไชน่าทาวน์ในสหรัฐฯ หรือใกล้ๆ บ้านเราอย่างอินเดีย 

ถ้าคุณพร้อมที่จะไปขุดคุ้ย ดูความเป็นไปในสถานที่เหล่านี้แล้ว กางแผนที่แล้วออกเดินทางค้นหาไปพร้อมๆ เราได้เลย :->

ความลับที่ซ่อนอยู่บนผืนมหาสมุทรแอตแลนติก

สำหรับสถานที่แรก เราขอพาไป ‘มหาสมุทรแอตแลนติก’ มหาสมุทรที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเคยเป็นเส้นทางเดินเรือของ ‘ไททานิก’ เรือสำราญอันโด่งดังในช่วงปี 1912 แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้นสักราว 300 ปี ตอนนั้นก็เริ่มมีการเดินเรือขนส่งสินค้าออกจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปต่างๆ กว่า 54,200 เที่ยวโดยใช้มหาสมุทรแอตแลนติกเป็นเส้นทางหลักแล้ว หากเรือเหล่านั้นกลับอัดแน่นไปด้วย ‘สินค้า’ ที่มีชีวิต หรือที่คนสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘ทาส’

ธุรกิจการค้าทาสในช่วงศตวรรษที่ 18 รุ่งเรืองและทำรายได้มหาศาล โดยแรงงานทาสผิวดำชาวแอฟริกันจะถูกจัดส่งให้ไปเป็นแรงงานในทวีปอเมริกา สถาปนิกและเหล่าวิศวกรต้องออกแบบเรือขนทาสกันอย่างจริงจัง พวกเขาถึงกับคำนวณว่าในหนึ่งชั้นของเรือต้องบรรจุทาสกี่คนจึงจะใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด 

ผลลัพธ์ก็คือทาสต้องอยู่ในท่านอน เพราะเพดานของเรือต่ำมาก หากทาสคนไหนมีช่วงไหล่กว้างเกินไปก็จะไม่สามารถแม้แต่พลิกตัวตลอดการเดินทางได้เลย อีกทั้งลำคอกับข้อเท้าของพวกเขายังถูกล่ามโซ่ติดไว้กับพื้นเรืออีกด้วย เรือบางลำออกแล่นในมหาสมุทรได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีทาสเสียชีวิตเพราะไม่สามารถทนความแออัดของเรือได้ 

เมื่อเวลาผ่านไป ชาวอเมริกันหันมาให้ความสำคัญกับกระแสต่อต้านการค้าทาส จนทำให้บริษัทค้าทาสต้องปรับภาพลักษณ์ บ้างก็จัดการกุศลช่วยเด็กยากไร้ บ้างก็บริจาคเงินให้คริสตจักร สุดท้ายในปี 1853 การค้าทาสก็ถูกกำหนดให้เป็นธุรกิจผิดกฎหมายในทวีปยุโรปและอเมริกา เหลือไว้เพียงภาพทรงจำไม่น่าพึงพอใจ และกลิ่นสาบของเคหสถานที่บรรจุสินค้าที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ ในมหาสมุทรแอตแลนติก

เบื้องหลังการปฏิวัติจีนที่ซ่อนอยู่ในไชน่าทาวน์ เมืองซานฟรานซิสโก

ไปต่อกันที่ประเทศสหรัฐฯ กับเมืองท่าสำคัญที่อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีสะพานโกลเด้นเกตตั้งตระหง่านอยู่เป็นแลนด์มาร์กอย่าง ‘ซานฟรานซิสโก’ แต่เราจะไม่พาไปแวะที่สะพานโกลเด้นเกตนะ เพราะจุดหมายของเราคือ ‘ย่านไชน่าทาวน์’ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างลับๆ กับ ‘การปฏิวัติจีน’ หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีน จากระบบราชวงศ์สู่ประชาธิปไตยในปี 1911 โดยการนำของ ดร.ซุน ยัต-เซน (Sun Yat-sen)

การเหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะกับชาวเอเชียในสังคมอเมริกันสมัยนั้นเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมานาน อีกทั้งกฎหมายเมืองซานฟรานซิสโกเองก็ตอกยํ้าความจริงเหล่านี้ โดยมีกฎห้ามไม่ให้คนจีนซึ่งมีอยู่ราวๆ 15,000 คนออกนอกบริเวณพื้นที่ชุมชนชาวจีนเดิมที่มีเพียงไม่กี่ซอย

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ชุมชนจะโดนรัฐบาลจำกัดพื้นที่ประกอบการ แต่ทุกอย่างกลับรุ่งเรืองมากขึ้นอย่างน่าสงสัย ความลับที่ซ่อนอยู่ก็คือการร่วมมือกันสร้างตรอกย่อยจำนวนมาก ซึ่งทำให้พื้นที่ในชุมชนเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ ‘ไชน่าทาวน์’ ที่มีทุกอย่างตั้งแต่ตลาด คลีนิก ร้านขายยาจีน โรงเรียน โรงละคร ร้านหนังสือ แหล่งอบายมุข บ่อนพนัน โรงนวด รวมถึงโรงน้ำชาที่มีออฟฟิศของขบวนการปฏิวัติโดย ดร.ซุน ยัต-เซน เช่าพื้นที่อยู่ข้างๆ 

หลังจากการปฏิวัติจีนสำเร็จ ผู้ประกอบการในไชน่าทาวน์จัดงานฉลองใหญ่โต ถึงขั้นมีขบวนแห่และเสียงประทัดดังกึกก้องไปทั่วเมืองซานฟรานซิสโก แม้ช่วงเวลานั้นจะล่วงเลยมาเป็นร้อยปี ประชากรไม่ได้แออัดเท่าเดิม แต่ภาพตรอกซอกซอยเหล่านั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงการถูกเลือกปฏิบัติผ่านการจำกัดพื้นที่อย่างชัดเจน

แฟลตจิ้งหรีดในนิวยอร์กกับปฏิบัติการลับของเจ้าพ่อ

เรายังอยู่กันที่สหรัฐฯ แต่เดินทางต่อไปที่ ‘นิวยอร์ก’ สถานที่ในฝันของนักอ่านหลายๆ คน พวกเราอาจเห็นนิวยอร์กเป็นฉากหลังจากภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง รวมถึงภาพยนตร์เจ้าพ่อสุดฮิตอย่าง ‘The Godfather’ ซึ่งเราจะพาไปล้วงเรื่องราวความลับของตัวละครอย่าง ‘วีโต้ คอร์ลีโอเน’ (Vito Corleone) ว่าก่อนจะกลายเป็นเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลของชุมชนลิตเติลอิตาลีในนิวยอร์ก เขามีชีวิตและอาศัยอยู่ในบ้านพักแบบไหน

‘ย่านลิตเติลอิตาลี’ เต็มไปด้วยนักแสวงโชคและโรบินฮูดที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย อาศัยอัดแน่นอยู่ในแฟลตจิ้งหรีดเก่าๆ อีกทั้งมีการปกครองกันเองภายในชุมชนด้วยระบบของนักเลงประจำถิ่น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของย่านลิตเติลอิตาลีในเวลานั้น

ส่วนในภาพยนตร์ ก่อนที่คอร์ลีโอเนจะได้กลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพล เขาเป็นแค่พนักงานขายของชำ แต่ถูกนายจ้างไล่ออกโดยให้เหตุผลว่า หลานชายของ ‘ดอน ฟานุชชี่’ (Don Fanucci) ผู้มีอิทธิพลในเวลานั้นต้องการงาน เลยต้องจ้างเขาแทน คอร์ลีโอเนโกรธมากจึงคิดวางแผนลอบสังหารฟานุชชี่ แม้การฆ่าหลานชายผู้มีอิทธิพลจะฟังดูยากและท้าทาย แต่ความจริงไม่ยากอย่างที่คิด เพราะรูปแบบสถาปัตยกรรมของแฟลตจิ้งหรีดเอื้อต่อแผนการของคอร์ลีโอเน่มากๆ

สิ่งแรกคือบันไดสาธารณะที่ตั้งอยู่ด้านนอกของแฟลต ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงภายในอาคารได้ง่าย คอร์ลีโอเนจึงขึ้นไปดักรอหน้าห้องของฟานุชชี่ได้อย่างไม่ยากเย็น ข้อที่สอง ความหนาแน่นของแฟลตจิ้งหรีดทำให้การหาต้นตอของเสียงปืนเป็นไปได้ยาก ข้อที่สาม ช่องว่างระหว่างอาคารเปิดโอกาสให้ทิ้งชิ้นส่วนของอาวุธได้ง่ายๆ และสุดท้ายคือดาดฟ้าอาคารที่เชื่อมต่อกันหมดทั้งชุมชนนั้น กลายเป็นช่องทางที่สะดวกในการหลบหนี

อาจสรุปได้ว่า ด้วยลักษณะพื้นที่แบบแฟลตจิ้งหรีดที่ไม่เหมือนใครนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คอร์ลีโอเนได้กลายมาเป็นเจ้าพ่อปกครองย่านนี้ พิสูจน์ได้จากการที่ลูกชายของเขาที่รับช่วงต่ออำนาจมา พยายามขยายอำนาจออกไปในพื้นที่อื่นๆ นอกอาณาเขตแฟลตจิ้งหรีด แต่กลับทำให้พวกเขาควบคุมอำนาจไม่ได้และเสื่อมสลายในเวลาต่อมา

ผู้ดีอังกฤษในอินเดียกับความลับของห้องข้างๆ

ขอวกกลับมาทวีปเอเชียบ้าง ประเทศ ‘อินเดีย’ ที่เราอาจคุ้นเคยกันดีกับภาพของอนุสรณ์แห่งความรักอย่างทัชมาฮาล หรือสถานที่สำคัญทางศาสนามากมาย แต่หากแวะเข้าไปดูในบ้านคนอินเดียที่มีฐานะ คุณก็อาจพบกับ ‘กุลี’ หรือแรงงานชาวอินเดียที่ทำงานให้กับเหล่าผู้ดีชาวอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมหรือประมาณ 200 กว่าปีก่อน 

สมัยนั้นการที่เหล่าผู้ดีอังกฤษนอนหลับใหลอยู่บนเตียง แล้วมีลมเย็นสบายจาก ‘พัดลมพันขา’ ที่ตรึงอยู่บนเพดานพัดสู่ร่างกายนั้น ต้องแลกมากับแรงงานของ ‘กุลีพันขา’ ชาวอินเดียที่นั่งอยู่อีกห้องหนึ่งแล้วใช้กล้ามแขนของพวกเขาดึงเชือกตามสายรอกเพื่อให้ใบพัดหมุน

ทุกๆ ห้องในบ้านของเหล่าผู้ดีอังกฤษ จะมีพัดลมพันขาติดตั้งเสมอ ด้วยความที่นั่งอยู่ห้องข้างกัน กุลีพันขาที่ดีจะทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เวลาได้ยินเรื่องราวความลับต่างๆ ที่เหล่าสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีคุยกัน ส่วนเหตุผลที่กุลีพันขาต้องอยู่อีกห้องหนึ่ง ก็เพราะภาพของชาวอินเดียที่ต้องออกแรงดึงเชือก มันอ่อนไหวเกินไปสำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีจากเมืองผู้ดี

นอกจากจะต้องนั่งแยกห้องกับเจ้านายแล้ว อินเดียสมัยนั้นยังมีผังเมืองแบบแบ่งแยกชนชั้นด้วย โดยในเมืองกัลกัตตา (โกลกาตาในปัจจุบัน) จะพบชุมชนชาวอินเดียอาศัยอยู่ทางตอนเหนือหรือที่เรียกกันว่า ‘เมืองดำ’ เป็นเมืองที่อยู่กันแบบไม่มีการแบ่งแยกคนจนกับคนรวย 

ต่างกันกับชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในย่านที่เรียกว่า ‘เมืองขาว’ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมือง ฝั่งนี้มีการแบ่งโซนตามฐานะอย่างชัดเจน พนักงานทั่วไปมักอยู่ใกล้โรงงานและอยู่ในตัวเมืองที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน ส่วนผู้มีฐานะจะนิยมบ้านสวนที่มีบริเวณกว้างขวางและอยู่ไกลออกไปจากตัวเมือง การใช้ชีวิตของชาวผู้ดีจึงต้องพึ่งแรงงานกุลีชาวอินเดีย ไม่ว่าจะขี่ม้าเพื่อเดินทางข้ามไปมาระหว่างโซนชาวอังกฤษ หรือมีกุลีไว้คอยช่วยปรนนิบัติภายในบ้าน อย่างที่กุลีพันขาใช้หยาดเหงื่อเพื่อสร้างความเย็นแก่พวกเขา

ถึงแม้ปัจจุบันกุลีพันขาจะกลายเป็นอาชีพที่ถูกลืม แต่กลิ่นอายของเชือกรอกที่ขับเคลื่อนด้วยกล้ามเนื้อของพวกเขา

ยังอบอวลอยู่ในห้องนอนผู้ดีอังกฤษเหล่านั้นเสมอมา

สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในเมืองไคโรกับศพของเหล่าฟาโรห์

ปิดท้ายกันที่ ‘อียิปต์’ ซึ่งผู้อ่านอาจคุ้นเคยกับภาพพีระมิดน่าตื่นตาตื่นใจ และทะเลทรายผืนใหญ่ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายอารยธรรมโบราณ แต่จริงๆ แล้วภายใต้ความสวยงามเหล่านั้นอาจมีความลับแสนน่ากลัวซ่อนอยู่

แทนที่เมืองหลวงของอียิปต์อย่าง ‘ไคโร’ จะเป็นพื้นที่แห่งความเจริญ ปัจจุบันมันกลับถูกเรียกว่า ‘เมืองของคนตาย’ เพราะมีประชากรกว่าล้านคนที่ไม่มีบ้าน จึงต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่สุสานเก่า บ้างก็สร้างบ้านทับหลุมศพ บ้างก็สร้างแฟลตบนฐานของโครงสร้างสุสานเดิม

อย่างบ้านของชายคนหนึ่ง มีโต๊ะอาหารที่ดูแข็งแรงกว่าโต๊ะทั่วไป เพราะทำมาจากหินแผ่นเรียบแข็งแรง ว่ากันว่าเคยเป็นฝาปิดโลงศพของนางสนมร่างงามในยุคมืดของอียิปต์มาก่อน เท่านั้นไม่พอ ในห้องครัวยังมีโลงศพของนางสนมอีกถึงหกคนกระจายอยู่ทั่ว เพราะแต่ก่อนพ่อของเขาเคยประกอบอาชีพค้าวัตถุโบราณ ซึ่งเป็นอาชีพเดียวกับเพื่อนบ้านชาวสุสานอีกหลายแสนคนในเมืองนี้ แม้จะผิดกฎหมายในอียิปต์ แต่ก็ถือเป็นงานที่สร้างรายได้ไม่น้อย

รัฐบาลอียิปต์พยายามแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแออัดบริเวณพื้นที่สุสาน ด้วยการจัดหาบ้านราคาถูกไว้ให้ตามชานเมือง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะมันตั้งอยู่ไกลจากแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน พวกเขาเลยเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่บนสุสานต่อไป ถึงแม้บางบ้านจะไม่มีแม้แต่นำ้ประปาหรือไฟฟ้าใช้ก็ตาม

หากผู้อ่านคนไหนอยากรู้ว่าจะมีความลับอะไรซ่อนอยู่ในซอกมุมไหนของโลกอีกบ้าง ตามไปค้นหากันได้ในหนังสือ ‘รู รัง เรือน’ จ้า https://salmonbooks.net/product/holehivehouse/

เรื่อง: ณกมล ก่อรักเศวต

ภาพ: นวนันท์ จิตตะยโศธร


salmonbooks รูรังเรือน

RELATED ARTICLES

VIEW ALL