คิดไม่ออก สมองตีบตัน นั่งจ้องหน้ากระดาษว่างเปล่า คงเป็นอาการที่เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ต้องเคยพบเจอกันมาบ้าง แล้วยิ่งพยายามเค้นสมองให้คิดก็ยิ่งหงุดหงิดกว่าเดิม สร้างความทรมานทั้งกายและใจ (โฮรลลลล)
วันนี้เราเลยขอคัด 4 เทคนิคจาก ‘SCRIPT INTRO หนังสือเล่มนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของบทภาพยนตร์’ ที่บรรดามือเขียนบทระดับโลกเลือกใช้เวลาที่พวกเขาเผชิญกับภาวะเขียนไม่ออก เผื่อทุกคนจะหยิบไปปรับใช้กับตัวเองได้บ้าง ซึ่งจริงๆ ในเล่มยังมีอีกหลายวิธีการ ใครมีแล้วลองหยิบเปิดอ่าน ใครยังไม่มีก็ลองไหม ลองมาเรียนรู้กัน ไม่ต้องชอบมากก็ได้ แค่ลองเปิดใจให้กันก็พอ

ขณะที่เหล่านักเขียนหรือมือเขียนบทส่วนใหญ่จะโปรดปรานความเงียบ เพื่อให้ตั้งสมาธิจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ ‘บง จุนโฮ’ (Bong Joon-ho) กลับชื่นชอบการออกไปเขียนงานนอกบ้านมากกว่า และเมื่อเกิดอาการตีบตันทางไอเดีย สิ่งที่เขาจะทำคือการแอบฟังโต๊ะข้างๆ คุยกัน เผื่อว่าจะหยิบฉวยบางอย่างมาใช้ได้
“ผมสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ” บง จุนโฮ บอกว่าตัวเองมีนิสัยแบบนั้น หลายครั้งไอเดียของเขามาจากสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น ไดอะล็อกหนึ่งใน ‘Parasite’ ที่พูดว่า “ยุคสมัยนี้ คนจบมหาวิทยาลัยยังต้องแย่งกันไปเป็นยาม” มาจากบทความหนึ่งที่เขาอ่านเจอว่ามีนักศึกษาจบใหม่กว่าห้าร้อยคนยื่นใบสมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั้งที่งานดังกล่าวเปิดรับแค่เพียงหนึ่งอัตรา
หรือในตอนจบของเรื่องที่ตัวละครพ่อซึ่งแอบกบดานอยู่ในห้องใต้ดินพยายามส่งข้อความถึงลูกชายผ่านการเปิดไฟกะพริบเป็นรหัสมอร์ส ก็มาจากตอนที่เขาเขียนสคริปต์ไปได้ครึ่งทางแล้วต้องหยุดพักเพื่อไปทำธุระเรื่องอื่นที่เมืองแวนคูเวอร์ เขาอยู่ที่นั่นราวๆ หนึ่งเดือน และมีวันหนึ่งขณะกำลังจะข้ามถนน เขาเห็นสัญญาณไฟกะพริบเป็นจังหวะ และสิ่งนั้นเองที่กลายมาเป็นตอนจบของภาพยนตร์

‘โซเฟีย คอปโปลา’ (Sofia Coppola) บอกว่าการเขียนสคริปต์เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำภาพยนตร์
ฟรานซิส—พ่อของเธอ (ผู้กำกับ The Godfather) เคยให้คำแนะนำเรื่องการเขียนสคริปต์ไว้ว่า จะเริ่มเขียนตอนไหนหรือเวลาใดก็ได้ แต่จุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการหยุดพักในแต่ละวันคือจุดที่เริ่มรู้สึกสนุกกับสิ่งที่เขียน เพื่อที่ว่าจะได้อยากกลับมาเขียนต่อในวันถัดไป ความคันไม้คันมืออยากจะเขียนคือสิ่งที่ต้องรักษาไว้จนกว่างานจะสำเร็จเสร็จสิ้น
แต่คอปโปลาค้นพบอีกวิธีที่สามารถใช้ควบคู่กันได้ สำหรับเธอแล้วการเขียนเป็นเรื่องยากตรงที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เขียนยังไม่ดีพอเสมอ ดังนั้นทริกที่คอปโปลาค้นพบจึงเป็นการลองเขียนไปก่อน เขียนไปเรื่อยๆ ให้จบโดยไม่ต้องไปอ่านทวนซ้ำในสิ่งที่เขียนไปแล้ว
“แค่เขียนต่อไปเรื่อยๆ” คอปโปลาพูดถึงวิธีการของเธอ “เพราะถ้าคุณเริ่มย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน คุณก็จะรู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ และเริ่มไม่อยากเขียนต่อ เพราะฉะนั้นฉันจึงพยายามไม่ย้อนกลับไปอ่าน และมุ่งมั่นกับการเขียนต่อไปเรื่อยๆ”

แม้ ‘เกรตา เกอร์วิก’ (Greta Gerwig) จะสนุกกับการเขียนสคริปต์ แต่เธอก็ยอมรับว่านี่เป็นขั้นตอนที่สร้างความทรมานพอๆ กัน เพราะการต้องอยู่ลำพังในความเงียบ ทำให้ระหว่างเขียนจะมีเสียงในหัวที่คอยบั่นทอนกำลังใจของเธอตลอดเวลา ว่าสิ่งที่เขียนมันไม่ดีพอ มันไม่ได้เรื่อง มันห่วยแตก และสิ่งที่คนเขียนพอจะทำได้ก็คือเขียนต่อไปเรื่อยๆ จนจบ
“เขียน เขียน เขียนไปเรื่อยๆ เท่าที่คุณจะเขียนได้ ซึ่งนั่นแหละที่เป็นเรื่องยาก” เกอร์วิกว่า “แต่อย่าด่วนตัดสินสคริปต์ของคุณในทันที อย่าเพิ่งรีบบอกตัวเองว่า ‘เฮ้อ มันห่วยชะมัด ฉันไม่ชอบมันเลย’ แล้วก็โยนมันทิ้งไปเสียก่อน”

‘แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์’ (Andrew Kevin Walker) มองว่าถ้าเรารู้สึกมีความสุขหรือสนุกระหว่างกำลังเขียนอาจแปลได้ว่าเรากำลังหลงทาง เพราะความทุกข์ทรมานต่างหากที่เป็นเข็มทิศคอยบอกว่ามาถูกทางแล้ว
“การเขียนที่ดีเรียกร้องความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ และนั่นหมายความว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องทำให้เราทุกข์ทรมาน แต่แบบนั้นแหละถึงจะดี ความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์จะผลักให้เรากลับมาเขียนแก้ใหม่อีกครั้ง การที่คุณรู้สึกหดหู่ระหว่างที่เขียนแปลว่าคุณเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว เพราะถ้าเป็นนักเขียนแล้วรู้สึกมีความสุข บางทีอาจเป็นไปได้ว่าคุณยังกดดันตัวเองไม่มากพอ”