WORK HARD, PRAY HARDER รวมประสบการณ์จากคนสู้งาน แต่งานสู้กลับ

5 พฤษภาคม 2023 | by salmonbooks

เลิกได้เลิกนะ การสู้งานแต่งานสู้กลับ ?

พอผันตัวเข้าสู่การเป็นคนทำงาน คนรักงานเต็มตัว คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอสารพัดประสบการณ์ทั้งดีและร้ายจากงานอันเป็นที่รัก แล้วเหมือนโชคชะตาจ้องจะกลั่นแกล้งแก๊งนักเขียนแซลมอน เพราะสู้งานอยู่ดีๆ งานก็สู้กลับรัวๆ เหมือนโกรธกัน แต่จะดุเดือดวายป่วงแค่ไหน ชวนไปดูเรื่องเล่าเบื้องหลังการทำงานแบบเรียลๆ ไม่ใช้ตัวแสดงแทนของพวกเขาที่รักงานยิ่งชีพกัน

สิ่งที่คนทำงานสำนักพิมพ์ต้องรีบเร่งทำให้เสร็จก่อนงานหนังสือคือการปิดเล่ม ตั้งแต่การอีดิตและคอมเมนต์ต้นฉบับ พิสูจน์อักษร ไปจนถึงงานฝั่งกราฟิกฯ อย่างจัดวางเลย์เอาต์และออกแบบปก ก่อนจะส่งเข้าโรงพิมพ์แล้วเฝ้ารอให้พิมพ์เสร็จทันวันแรกของงาน

แต่ใช่ว่าทุกกระบวนการนั้นจะราบรื่น ทำให้ครั้งหนึ่งช่วงใกล้จะถึงงานหนังสือชาวสำนักพิมพ์ต้องเข้าลูปช่วงเวลาแห่งการอดหลับอดนอน กว่าจะเลิกงานปาไปตีสอง ตีสาม ตีสี่ บางวันก็ถึงเช้า จนคนติดบ้านอย่าง ‘ปฏิกาล ภาคกาย’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอนในเวลานั้น ยังต้องขอยอมแพ้ ขอหอบถุงนอนมาค้างออฟฟิศ

เพราะแถวบ้านปฏิกาลนั้นไม่มีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน การจะมาทำงานได้คือต้องนั่งรถตู้ซึ่งจะวิ่งมาแถวพระราม 9 (อันเป็นที่ตั้งของออฟฟิศ) ถึงช่วงแปดโมงครึ่งเท่านั้น ส่วนรถตู้ขากลับจะหมดตอนหนึ่งทุ่มครึ่ง นั่นแปลว่าถ้าอยากประหยัดเงิน ขามาก็ต้องขึ้นรถตู้ให้ทันก่อนแปดโมงครึ่ง และขากลับก็ต้องทำงานให้เสร็จก่อนหนึ่งทุ่มครึ่ง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย สุดท้ายเลยต้องยกธงขาว เก็บข้าวของ ย้ายสำมะโนครัวมาประจำการที่ออฟฟิศชั่วคราว

เคยมีช่วงการปิดเล่มครั้งหนึ่งที่ทีมแซลมอนใช้ชีวิตเป็นผีออฟฟิศแบบนี้นานเป็นเดือน จนพ่อแม่พี่น้องต่างพากันงงว่านี่มันงานอะไร ทำไมถึงไม่กลับบ้าน และด้วยความที่ควบคุมตารางชีวิตกันไม่ได้ ทำให้ทีมแซลมอนในตอนนั้นพูดกันเองบ่อยๆ ว่า ใครมาทำงานที่นี่ ถ้ามีแฟนก็รีบเคลียร์กันตั้งแต่เนิ่นๆ เลย บอกให้เขาเข้าใจว่างานของเราคืออะไร ทำไมปิดเล่มแล้วถึงต้องหายหัว แถมมีอาถรรพ์ที่ว่าหลายคนพอทำงานไปสักพักจะต้องเลิกกับแฟน แล้วไอ้ช่วงที่เลิกส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นตอนปิดเล่มนี่แหละ (ปิดเล่มทั้งน้ำตา โฮฮฮฮ)

ปัจจุบันนี้ทั้งปฏิกาลและทีมแซลมอนเลิกพฤติกรรมการนอนค้างออฟฟิศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จะเป็นเพราะสาเหตุอะไรนั้นสามารถติดตามต่อ พร้อมเรื่องราวการทำสำนักพิมพ์แบบเต็มๆ ได้ใน SAL-ARYMAN กองงาน / พื้นฐาน / อาชีพ

ส่วนมากหนังของ Salmon House มักจะขายผ่านในครั้งแรกแบบพลิ้วๆ (อาจจะมีแก้นิดหน่อย) แต่ก็มีอยู่บางงานที่ต้อน ‘วิชัย’ จนหลังชนฝา หนึ่งในนั้นคืองานของ ‘Tinder’ ที่ปรับแก้ไปหลายแบบมาก ทั้งฝั่งของ Salmon House ไม่ให้ผ่านกันเอง และโดนปัดตกจากลูกค้า ถึงขั้นต้องคิดหนังใหม่ให้เสร็จภายในเวลาไม่ถึง 18 ชั่วโมง!

เรื่องมันเริ่มจากเอเจนซี่อยากแก้ปัญหาภาพจำในเรื่องใช้หาคู่นอนของ Tinder จึงคิดแคมเปญที่ชื่อว่า ‘เพื่อนสัมพันธ์’ ประมาณว่า Tinder ก็เป็นแอพหาเพื่อนได้นะ โดยมีสิ่งที่ลูกค้าอยากให้เล่าคือ วิธีตั้งรูปโปรไฟล์ให้เหมาะสม วิธีเขียนไบโอในหน้าประวัติให้ดึงดูด หรือวิธีการแชตกับเพื่อนใหม่ไม่ให้ดูหื่นเกินไป ซึ่งฟังๆ ดูแล้วเหมือนเอเจนซี่และลูกค้าอยากให้เล่าถึง ‘คู่มือการใช้ Tinder’ กลายๆ

ไอเดียเบื้องต้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายคือการทำหนังเป็นเวทีอบรมสัมมนาการใช้ Tinder โดยให้ตัวละครเดินเรื่องหลักเป็นป้าใส่ชุดผ้าไหม ทำผมทรงกระบัง แต่จริงๆ เป็น ‘นักเลง Tinder’ มาบรรยาย เพื่อให้พูดถึงเนื้อหาแนวฮาวทูได้อย่างไม่เคอะเขิน พอไปขายเอเจนซี่ซื้อ Tinder ประเทศไทยซื้อ แต่ Tinder อเมริกา… ไม่ซื้อ เพราะมองว่าหนังแนวสัมมนาไม่ขับเคลื่อนคอนเซปต์ ‘เพื่อนสัมพันธ์’ ที่เป็นธีมหลัก วิชัยและทีมจึงต้องคิดหนังใหม่ให้เสร็จภายในเวลาไม่ถึง 18 ชั่วโมง นั่นคือภายในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อขายเอเจนซี่ในตอนเย็น และขาย Tinder อเมริกาอีกครั้งในตอนค่ำวันเดียวกัน

รอบนี้วิชัยและทีมคิดกันว่ากลุ่มเป้าหมายของ Tinder คือคนที่จะเข้าไปหาคู่ และจากโจทย์ลักษณะฮาวทูใช้ Tinder ที่เอเจนซี่ให้มามันคือการสอนใช้ Tinder เพื่อให้คุณถูกเลือก ดังนั้นคนที่ต้องการดูเนื้อหาประเภทนี้ก็น่าจะเป็นคนที่เล่น Tinder แล้วยังไม่ถูกเลือกสักที แล้วถ้าสมมติว่าคนที่ไม่ถูกเลือกมาอยู่ด้วยกันเยอะๆ เขาน่าจะมาปรับทุกข์กัน คุยกัน บ่นกัน จึงกลายมาเป็นไอเดีย ‘กลุ่มบำบัดของคนไม่ถูกเลือกจาก Tinder’ ก่อนเอเจนซี่จะเข้ามาเหลาไอเดียอีกนิดหน่อย ปรับให้กลุ่มบำบัดนี้ชื่อ ‘Swipe Left Club’ ก่อนที่จะกลายเป็นชื่อคลิปว่า ‘ชีวิตแค่โดนปัดซ้าย’ 

สุดท้ายวิชัยและทีมก็ได้คิดหนังโฆษณาชิ้นนี้แบบคนหนีตายตอนกลางวัน ขายเอเจนซี่ตอนเย็น ปรับแก้เดี๋ยวนั้นแล้วขายลูกค้าตอนค่ำจนผ่านในวันเดียว!

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในประสบการณ์การทำงานในวงการโฆษณาแบบไฟลุกของวิชัยเท่านั้น ถ้าใครสนใจรวมเรื่องเล่าเบื้องหลังชีวิตการเป็นนักโฆษณาของ ‘วิชัย’ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ประจำ Salmon House สามารถตามไปอ่านกันต่อได้ใน INSIGHT JOB สิ่งมีชีวิตคิดโฆษณา

รับชม ‘ชีวิตแค่โดนปัดซ้าย’ ได้ที่ https://youtu.be/0-52OveVpGQ



การตรวจ ATK ก่อนถ่ายทำภาพยนตร์กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นปกติในยุคที่โควิด-19 ถ้าเกิดทีมงานเป็นโควิดขึ้นมาก็อาจยังพอหาคนมาทำแทนได้ แต่ถ้าทีมงานคนนั้นดันเป็นผู้กำกับที่ใครก็แทนไม่ได้น่ะสิ!

ผู้กำกับที่เราพูดถึงไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ ‘ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ ผู้กำกับแห่ง Salmon House ครั้งหนึ่งในการไปออกกอง ธนชาติก็แหย่จมูกตรวจ ATK ตามปกติ แต่ผลของ ATK สิที่ไม่ปกติ เพราะมันดันขึ้นสองขีด หลังจากไม่เชื่อ ลองเปลี่ยนยี่ห้อและตรวจใหม่ไปอีกสองรอบ ผลก็ยังออกมาเป็นแบบเดิม ทำให้ธนชาติต้องรีบออกจากกองถ่าย ขับรถกลับบ้านแล้วไปกำกับฟรอมโฮมแทน

ธนชาติกำกับงานผ่านการวิดีโอคอล โดยจะพูดผ่านซูมเพื่อบอกครีเอทีฟที่นั่งอยู่ในเต็นท์ผู้กำกับ เพื่อให้ครีเอทีฟวิทยุสื่อสารไปบอกผู้ช่วยผู้กำกับที่หน้าเซต และผู้ช่วยฯ ก็จะไปบรีฟนักแสดงอีกที ส่วนถ้าอยากให้นักแสดงทำท่าทางแบบไหนธนชาติก็ต้องทำให้กล้องดู จากนั้นก็เข้ากระบวนการบรีฟแอ็กติ้งเป็นทอดๆ เป็นการกำกับที่ธนชาติบอกว่าถ้าใครเปิดประตูเข้ามาในห้อง ก็คงจะเห็นภาพผู้ป่วยโควิดที่ประหลาดมาก อยู่ดีๆ ก็ชี้ไม้ชี้มือ ยกขา หันหน้าไปมา ยิ้ม หัวเราะอยู่คนเดียว เหมือนเล่นกับเพื่อนในจินตนาการ แต่สุดท้ายการถ่ายทำครั้งนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ใครอยากอ่านเรื่องราวบันทึกประสบการณ์ความทุลักทุเล ความเฟล และเรื่องปวดหัวในกองถ่ายจากประสบการณ์ของผู้กำกับมือไม่ใหม่อย่างธนชาติแบบเต็มๆ สามารถติดตามต่อได้ใน FILMMAKER, FAILMAKER บันทึกกำ (กับ)

ก่อนจะเข้าสู่วิถีคนรักงาน เชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านการสัมภาษณ์งานกันมาก่อน บางที่ก็คุยสบายๆ ราวกับมานั่งเล่นบ้านเพื่อน บางที่ก็สุดโหดหินจนนึกว่ามาแข่งรายการเซอร์ไววัล แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราต่างก็ต้องพยายามเต็มที่ในการแสดงความสามารถของตัวเองให้เห็นเป็นประจักษ์ เช่นเดียวกับ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ที่ต้องงัดทุกกระบวนท่ามาเอาชนะใจบริษัทระดับโลกอย่างไมโครซอฟต์ แม้การสัมภาษณ์นั้นจะกินเวลายาวนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ก็ตาม!

ก่อนได้เข้าไปเป็นโปรแกมเมอร์ในไมโครซอฟต์ สิ่งที่โสภณต้องเจอคือการสัมภาษณ์งานแบบมาราธอน ที่ดูจะเริ่มต้นแบบชิลล์ๆ ด้วยการพาไปเดินเล่น คุยกับคนนู้นคนนี้ แถมมีไส้กรอกกับสเต๊กให้กินฟรีอีกต่างหาก แต่อย่าเพิ่งตายใจไปเพราะนี่มันเพิ่งวันแรก หลังจากนั้นเขาต้องเจอกับอีกร้อยแปดด่านอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็นการไล่ซักประวัติอย่างเข้มข้น ชวนเขาเอาผลงานเก่ามาวิเคราะห์แบบไม่มีหยุดพักเที่ยง ให้โจทย์มานั่งแก้กันแบบสดๆ ไปจนถึงให้ลองเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง แต่พอเขียนกำลังจะเสร็จกลับเปลี่ยนโจทย์เสียอย่างนั้น! 

การสัมภาษณ์ที่ยาวนานทำให้โสภณแสนเหนื่อยล้า แถมยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาจะได้ไปถึงเส้นชัยที่คาดหวังไว้เสียที สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้เขาได้ระบายความกังวลออกมาบ้าง คือการได้พูดคุยกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะคุณลุงท่าทางใจดีที่เขาเจอแทบทุกครั้งเมื่อใช้บริการรถประจำทางในการมายังบริษัท และเมื่อวันสัมภาษณ์ล่วงเลยมาจนครบสัปดาห์ เขาก็ได้พบคุณลุงอีกครั้งและได้นั่งปรับทุกข์ให้ฟังอีกเช่นเคย

“วันนี้เป็นไงบ้างไอ้หนุ่ม?” ลุงคนเดิมบนบัสสาย 41 กล่าวทักทายในเช้าวันจันทร์ถัดมา

ผมหย่อนก้นลงนั่งข้างๆ “ก็โอเคลุง สัมภาษณ์มาหนึ่งสัปดาห์แล้ว ยังไม่รู้เลยว่าจะเป็นไง ลุงล่ะเป็นไงบ้าง”

“เอาหน่า Nothing Worth Having Comes Easy. (สิ่งที่มีค่าไม่ได้มาง่ายๆ)” เขาตบไหล่ผมเบาๆ ก่อนพูดต่อ “สัปดาห์ที่แล้วผมสบายหน่อย นั่งเคลียร์งานอยู่บ้านบ้าง บางวันก็นั่งรถบัสไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด Seattle Public กลางเมืองบ้าง ผมชอบที่นั่นนะ เงียบดี กาแฟหนึ่งแก้ว หนังสืออีกเล่ม เป็นวันที่ดีเลย” เขาลูบหนวดที่คางไปด้วยระหว่างเล่า 

“แล้วทีมที่ไปสัมภาษณ์เป็นไง ชอบไหม?”

“อืม…ผมชอบทุกคนนะ แต่ยังไม่เจอหัวหน้าทีมเลย เห็นบอกว่าลาหยุด” 

“ใช่ๆ ผมลาหยุดอยู่ ปราบูบอกว่าคุณทำได้ดีเลย ทีมก็ชอบคุณเหมือนกัน ข้อความในอีเมลที่ผมได้รับก็มีแต่เรื่องดีๆ นะ”

ผมหันไปมองลุงเต็มตา หมวกสีเทาใบเดิมถูกเปิดขึ้นเล็กน้อยจนเห็นดวงตาสีเทาซึ่งกำลังส่องประกาย

“ใช่สิ ยังไม่ได้แนะนำตัวเลย ผมชื่อไรอัน ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะโสภณ ยินดีต้อนรับสู่ไมโครซอฟต์และทีม Video on Demand”  

บางครั้งก่อนที่เราจะได้เข้าไปสู้งาน ก็อาจจะเจอเซอร์ไพรส์จากการสัมภาษณ์ของหัวหน้าทีมที่แอบเนียนมาเจอเราทุกเช้าก็ได้แฮะ

ติดตามเรื่องราวสุดมันจากประสบการณ์การทำงานในบริษัทไมโครซอฟต์ต่อได้ในหนังสือ THE NERD OF MICROSOFT



เชื่อว่าการติดปีกบินขึ้นฟ้าไปเป็น ‘แอร์โฮสเตส’ คงเป็นความฝันของใครหลายคน เพราะเพียงแค่นึกภาพการได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังหลากหลายประเทศพร้อมกับเงินเดือนก้อนโต ก็ทำเอาหลายคนเคลิบเคลิ้มด้วยความสุขใจ

แต่ภาพในฝันนั้นก็อาจแลกมาด้วยการทำงานอันเหน็ดเหนื่อยแบบสวนทางกับนาฬิกาชีวิต แถมยังต้องประคับประคองอารมณ์และใบหน้าให้สดใสตลอดเวลา ถึงแม้สถานการณ์ตรงหน้าจะเข้าขั้นวิกฤตแล้วก็ตาม อย่างเรื่องราวของ ‘ไลลา ศรียานนท์’ ที่เจอเมื่อครั้งยังเป็น ‘แอร์โฮสเตสฝึกหัด’ ที่ปะทะกับเหตุการณ์ที่ยังคงตรึงอยู่ในใจ (และในจมูก) 

ภาพเหล่าแอร์โฮสเตสและสจ๊วตร่วมไฟลต์ต้องนั่งยองๆ เช็ดอ้วกของผู้โดยสารชาวอินเดีย ที่ดื่มหนักจนเผลอปลดปล่อยความเมามายออกมาในช่องทางที่ไม่สมควร กับภาพที่เพิ่มดีกรีความโหด (และความเหม็น) อย่างตอนทำความสะอาดอุนจิที่ผู้สูงอายุอั้นไว้ไม่อยู่ จนน้องๆ พากันพรวดพราดออกมาทักทาย งานนี้ต้องทำความสะอาดตั้งแต่เบาะที่นั่ง ไปจนถึงช่วยทำความสะอาดตัวของคุณลุง ก่อนที่เพื่อนของเธอจะช่วยปิดงานด้วยการลบร่องรอยอารยธรรมในห้องน้ำ (หรือพูดง่ายๆ คือล้างห้องน้ำนั่นแหละ) อย่างทุลักทุเล เพราะอุปกรณ์บนเครื่องบินไม่ได้มีเพียบพร้อมมากนัก จึงต้องอาศัยสองมือและน้ำก๊อกที่ไหลเพียงทีละนิดในการบันดาลให้ห้องน้ำกลับมาสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเบื้องหลังอาชีพอันสวยหรูที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ซึ่งเธออาสามาเล่าให้ฟังอย่างหมดเปลือกตั้งแต่การคัดเลือกจนถึงเครื่องบินเทคออฟ ใครอยากอ่านเรื่องราวการเป็นแอร์ฯ เพิ่มเติม สามารถติดตามได้ในหนังสือ LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ


RELATED ARTICLES

VIEW ALL