The 6 October 1976 massacre ความทรงจำที่ลืมไม่ได้ของ ‘มนุษย์ 6 ตุลา’

6 ตุลาคม 2022 | by salmonbooks

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองและอาชญากรรมโดยรัฐครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนั้นด้วย

ด้วยวาระครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราจึงอยากชวนอ่านถ้อยคำบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งจาก 38 บทสัมภาษณ์ที่อยู่ในหนังสือ ‘มนุษย์ 6 ตุลา’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตและความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งเพื่อจดจำเหตุการณ์ที่โหดร้ายเกินกว่ามนุษย์จะพึงกระทำต่อกัน โดยหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

“…ช่วงนั้นผมไปร่วมชุมนุมทุกวัน ตั้งแต่ยังอยู่สนามหลวงจนย้ายเข้าไปในธรรมศาสตร์ บางวันก็ค้างคืนที่นั่น พอคืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมต้องกลับมาทำธุระที่คณะ (มหาวิทยาลัยมหิดล) ตั้งใจไว้ว่าวันรุ่งขึ้นจะกลับไปธรรมศาสตร์อีกครั้ง วันนั้นผมนอนอยู่หอพักนักศึกษาแพทย์ของรุ่นพี่ แต่ยังไม่ทันจะตื่นก็มีคนโหวกเหวกโวยวาย ทำนองว่าเกิดเรื่องใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ เวลานั้นฟ้าสว่างแล้ว ผมก็งัวเงียรีบล้างหน้าล้างตาแล้วนั่งรถเมล์ไปเลย ระหว่างทางคิดว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าอย่างมากก็อาจมีกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มประชาชนบางส่วนใช้ความรุนแรง อาจมีระเบิดลงบ้าง ในใจคิดแค่นั้นเลย

“ผมลงรถเมล์ตรงโรงแรมรัตนโกสินทร์ เดินผ่านสนามหลวงไปธรรมศาสตร์ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ระหว่างเดินข้ามฝั่งไปก็ได้ยินเสียงปืนและเสียงระเบิดประปราย มีกลิ่นไหม้ของอะไรสักอย่างลอยมา พอเดินเข้าไปก็เห็นควัน มันคือร่างของคนอยู่บนยางรถยนต์ ผมไม่กล้ามองไปตรงๆ จากตรงนั้นไปไม่ไกลมาก ผมเห็นคนถูกแขวนคอที่ต้นมะขาม มีคนจำนวนหนึ่งมุงอยู่ ผมใจเต้นแรง ไม่กล้าปะทะสายตากับคนตรงนั้น เป็นบรรยากาศที่รุนแรงมาก ผมเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ๆ ถึงมีภาพแบบนี้ได้…”


เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

คือนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“…ช่วงปี 2519 ที่ประภาสและถนอมกลับมาเมืองไทย คนออกมาชุมนุมขับไล่ บทบาทหลักของดิฉันคือการขึ้นเวทีกับวงต้นกล้า เป็นโฆษกพูดให้กำลังใจคนในม็อบ คืนวันที่ 5 ตุลาคมคนข้างบ้านบอกแม่ว่า ‘ฟังวิทยุยานเกราะมา ธรรมศาสตร์น่าจะมีอันตราย’ แม่ขึ้นรถเมล์จากบ้านมาธรรมศาสตร์ เดินตามหาลูก เจอพี่สาวก็พากลับไปด้วย แต่ดิฉันบอกไปว่าตัวเองต้องขึ้นเวที แม่ก็พยักหน้าว่าเข้าใจ เช้าวันที่ 6 ตุลาคม ดิฉันนั่งรอการแสดงอยู่ใต้เวที ได้ยินเสียงตึงตังๆ มีคนวิ่งมาบอกให้หนี ฝากให้ดูแลน้องผู้หญิงปี 1 และฝากเทปที่อัดเสียงเพลงต่างๆ เพื่อจะเอามาทำเพลงไปด้วย มือหนึ่งถือย่ามใส่เทป อีกมือจูงน้องวิ่งไปทางประตูท่าพระจันทร์

“ระหว่างทางเห็นคนล้มลงต่อหน้า แต่คนข้างหลังก็ดันให้วิ่งต่อ มีเสียงตะโกนบนเวทีว่า ‘อย่ายิงเข้ามา พวกเราไม่มีอาวุธ’ แต่จำได้ไม่แม่นว่าใครพูด พอพ้นประตูท่าพระจันทร์ มีคนเรียกให้วิ่งไปหลบในบ้าน แต่สักพักก็มีเจ้าหน้าที่บุกเข้ามา เขาพาออกไปนอกบ้าน สั่งให้นอนคว่ำหน้าที่พื้น สั่งให้ลุกขึ้น สั่งให้ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง ตอนนั้นคิดว่า โอเค เขาคงยิงจากข้างหลัง กระสุนผ่านเข้ามาคงเจ็บ ถ้าวิญญาณมีจริงจะกลับไปขอบคุณแม่ และจะบอกว่าไม่ต้องเสียใจ แม่เลี้ยงลูกมาดีที่สุดแล้ว…”

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

คือนักศึกษาชั้นปี 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“…เวลาตีห้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ยิงระเบิด M79 มาที่สนามบอลธรรมศาสตร์ ฟ้าเริ่มสางไก่เริ่มขัน ผมได้ยิงเสียงปังๆๆๆ เป็นเสียงปืน M16 แล้วดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่าเห็นคนถูกยิงวิ่งสวนมา ท่าทางเหมือนคนเมา เดินกะโผลกกะเผลก เสื้อเชิ้ตสีขาว ด้านหน้ามีรู เลือดค่อยๆ ไหลซึม บรรยากาศสับสนวุ่นวน ผมวิ่งขึ้นตึกนิติศาสตร์ เจ้าหน้าที่ยิงปืนขึ้นไปบนตึกทั้งสองฝั่งแล้วประกาศว่า ‘ลงมา ถ้าไม่ลงจะยิง’ ผมเลยต้องลงมา เจ้าหน้าที่สั่งให้ถอดเสื้อ นอนคว่ำ ใครเงยหน้าโดนเตะด้วยคอมแบต

“หมอบอยู่สักพัก เจ้าหน้าที่สั่งให้คลาน วินาทีนั้นสถานการณ์เริ่มมั่ว ผมเลยวิ่งหนีไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา เสียงปืนดังมาจากทุกฝั่ง ผมกระโดดลงน้ำ ช่วงนั้นน้ำลงในระดับที่เดินได้ เลยค่อยๆ เดินไปทางท่าพระจันทร์ อยู่ๆ เรือเร็วแล่นมา ตำรวจบนเรือเอาปืนจ่อหัวแล้วพูดว่า ‘ไอสัด มึงจะไปไหน’ ผมเลยถูกจับขึ้นเรือแล้วพาขึ้นฝั่ง สักพักเรือใหญ่ถึงมารับข้ามฟากไปศิริราชฯ พยาบาลยืนเต็มท่าน้ำ ส่งเสียงด่าตำรวจ ‘ตำรวจเหี้ย รังแกเด็กไม่มีอาวุธ’ พอได้ยินแบบนั้นแล้วรู้สึกดีนะ พวกเขาเข้าใจเรา…”

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

คงเจตน์ พร้อมนำพล

คือนักศึกษาชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“…เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมไปที่สนามหลวงด้วยความอยากรู้ เห็นคนมุงกันเต็มหน้าธรรมศาสตร์ มีคนส่งเสียงว่า ‘จับตัวพวกมันมาเลย พวกคอมมิวนิสต์ พวกทำลายล้างสถาบันฯ’ บรรยากาศน่ากลัวมาก ใครหนีออกมาก็โดนทำร้าย ผมยืนอยู่แถวใต้ต้นมะขาม ใส่ชุดสีกากี คนตรงนั้นคงคิดว่าผมมาสังเกตการณ์ ผมอยู่ตรงนั้นสักพักก็เดินเข้าไปในธรรมศาสตร์ วันนั้นมีทั้งทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เขาประกาศว่า ‘พวกที่อยู่ในตึกออกมาให้หมด’ แล้วสั่งให้คลาน สั่งให้นอนคว่ำหน้าตรงสนามบอล สั่งให้ถอดเสื้อ ผู้หญิงบางคนเหลือแต่ยกทรง เสื้อกองรวมกันเป็นภูเขาเลากาเลย ผมเห็นคนโดนยิงตายอยู่ข้างบันไดหอประชุมใหญ่หลายศพ หลังจากนั้นสักพักเจ้าหน้าที่ก็เอารถเมล์มาขนคนออกไป

“เวลานั้นผมไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน ไม่เข้าใจการเมืองนัก และไม่มีคำตอบว่าใครถูกหรือผิด แต่เห็นภาพแบบนั้นก็เสียใจนะครับ (เงียบคิด) เราเกิดมาเพิ่งเคยเห็นคนจำนวนมากนอนคว่ำเต็มสนามบอล เพิ่งเคยเห็นคนโดนทำร้ายถึงขนาดนั้น และเพิ่งเคยเห็นคนตายต่อหน้าต่อตา ภาพที่จำได้จนถึงทุกวันนี้คือ มีคนหนึ่งโดนทำร้าย ไม่รู้ว่าตายหรือยัง แต่คนที่โกรธแค้นก็เอาเขาไปแขวนคอที่ต้นมะขาม แล้วเอาเก้าอี้ฟาดๆๆๆ ผมเห็นกับตาทุกขั้นตอน…”

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

วรัญชัย โชคชนะ

คือข้าราชการครู

“…ระหว่างชุมนุมขับไล่จอมพลถนอม ผมอยู่ที่ธรรมศาสตร์ตลอดคนอื่นสลับกันกลับบ้านบ้าง แต่ผมไม่มีบ้าน ผมนอนที่ชุมนุมก็เลยได้อยู่ตลอด เช้าวันที่ 6 ตุลาคม ผมอยู่สนามบอล ฝั่งตึกบัญชี ติดกับหอประชุมเล็ก ชุมนุมวรรณศิลป์รับผิดชอบพื้นที่ตรงนั้น คือเวลามีม็อบ เราแบ่งกันดูแลพื้นที่เป็นโซนๆ รับผิดชอบดูแลประชาชนถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น

“ระเบิด M79 ลูกแรกเข้ามาตอนตีห้า พอเริ่มสว่างก็ยิงกราดมาจากด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เราอยู่ในวิถีกระสุนพอดี ผมกับคนที่อยู่ตรงนั้นก็หนีเข้าตึกบัญชี โดยมีคนพังประตูเข้าไป อนุวัตร (อ่างแก้ว) โดนยิงตอนพังประตูเพื่อจะช่วยเพื่อนและประชาชนที่มาชุมนุมให้เข้าไปหลบในตึกบัญชี แต่เป็นคนละประตูกับที่ผมเข้าไป เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

“ผนังตึกบัญชีเป็นคอนกรีตหนา น่าจะป้องกันกระสุนได้ ตชด.ใช้ปืนไร้แรงสะท้อนยิงมาที่พวกเรา อาคารแค่สะเทือนนิดหน่อย แต่เราก็ยังออกมาไม่ได้ จนกระทั่งทหารบุกเข้ามา ผมโดนทหารเอาพานท้ายปืนทุบหน้าอก ตะโกนด่าเป็นคอมมิวนิสต์ บังคับให้ถอดเสื้อ นอนที่สนามฟุตบอลแล้วเอาไปโรงเรียนพลตำรวจบางเขน…”

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

อธึกกิต แสวงสุข

คือนักศึกษาชั้นปี 3 คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ไม่กี่ชั่วโมงในเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังส่งผลกับชีวิตของผู้คนอีกมากมาย และสำหรับบางคน ชีวิตหลังจากนั้นก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีกเลย

ร่วมรำลึกและซึมซับประสบการณ์บาดแผลที่ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่าน 38 บทสัมภาษณ์โดย ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ และคำตามโดย ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ และ ‘อานนท์ นำภา’ ในหนังสือ ‘มนุษย์ 6 ตุลา’ 

พรีออร์เดอร์หนังสือได้ที่ bit.ly/3e1oOb4 (เริ่มจัดส่งหนังสือวันที่ 13 ต.ค. 2565) หรือซื้อได้ที่บูทแซลมอน G39 งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 วันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 เวลา 10:00-21:00 น. ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


6 ตุลา มนุษย์ 6 ตุลา มนุษย์กรุงเทพฯ

RELATED ARTICLES

VIEW ALL