AUTHOR MONEY TIPS ฮาวทูทำเงินนี้ให้ดีที่สุดของแก๊งนักเขียน

28 ตุลาคม 2024 | by salmonbooks

นอกจากเหล่านักเขียนแซลมอนต้องวางแผนเขียนหนังสือแล้ว (เล่มใหม่มากี่โมง) พวกเขาก็ไม่ต่างจากมนุษย์ปุถุชนคนอื่นที่ต้องวางแผนการเงินด้วย เราเลยชวน 6 นักเขียนมาเล่าสู่กันฟังถึงงานแรกที่พวกเขาทำ ความผิดพลาดทางการเงินที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต ไปจนถึงการตัดสินใจทางการเงินที่ชาญฉลาดที่สุด

หากใครอ่านจบแล้วอยากเรียนรู้โลกการเงินเพิ่มเติมตั้งแต่สเต็ปแรก ขอแนะนำ ‘HOW TO MONEY ทำเงินนี้ให้ดีที่สุด’ ฮาวทูเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่มาพร้อมภาพประกอบสุดน่ารัก เล่าเรื่องโดยพี่สาวผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอย่าง จีน แชตสกี, แคธริน ทักเกิล และทีม HerMoney ชุมชนให้ความรู้ด้านการเงิน ที่อยากเห็นคนทุกเพศมีอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม

นภษร ศรีวิลาศ
เจ้าของร้านนิตยสาร Rock Paper Scissors และ Freelance Project Designer
ผู้เขียน: ห้องลองเสื้อ และ LOVEZINE เรื่องจริงหวังแต่ง

• เล่าเรื่องการทำงานครั้งแรกให้เราฟังหน่อย
“เป็นน้องใหม่ในทีมแผนกใหม่ขององค์กรอิสระของรัฐ (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์: ก.ล.ต.) ตอนนั้นเข้าไปทำงานฝ่ายสื่อสารภาพลักษณ์และความสัมพันธ์องค์กร (Internal Brand Communication) ซึ่งเป็นการรีแบรนด์ในรอบ 25 ปีขององค์กร ทำให้เข้าใจอย่างมากว่ารีแบรนด์ไม่ใช่แค่เปลี่ยนโลโก้ แต่คือการหาตัวตนดีเอ็นเอของแบรนด์ แล้วสื่อสารความเชื่อให้ทุกคนในองค์กรแสดงออกมา เพื่อสอดคล้องกับทิศทางการทำงานภาพรวม เป็นงานที่แปลกใหม่เพราะเรียนเศรษฐศาสตร์มา แม้ตอนสอบเข้าทำงานยากมาก แต่เข้าไปแล้วได้เรียนกราฟิก ทำหนังสารคดี เขียนบทหนัง เพื่อให้ทำงานสื่อสารได้ เป็นความรู้ที่ติดมาจนทำงานวันนี้”

• ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคืออะไร
“ลาออกจากงานที่ ก.ล.ต. มาทำงานเป็นักเขียนในกองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ เพราะตอนนั้นอายุเยอะแล้ว ไม่ค่อยมีใครเริ่มงานกองบรรณาธิการตอนอายุใกล้สามสิบ แถมเงินเดือนลดลงจากที่เคยได้ครึ่งหนึ่ง ตอนนั้นคิดว่าจ่ายค่าเทอม ซึ่งงานก็สนุกมาก เปิดโลกมาก ทำไปสองปีเสียดายเงินเดือนที่หายไปเลยลาออกไปทำงานสายแบรนด์อย่างที่เคยทำมา”

• ครั้งไหนคือการตัดสินใจเรื่องเงินที่ชาญฉลาดที่สุด
“ไม่รู้ว่าชาญฉลาดไหม แต่ทุบหม้อข้าวสุดๆ คิดทีไรก็รู้สึกว่าถ้าไม่ใช่วันนั้นก็ไม่มีโมเมนต์แบบนี้เกิดขึ้นอีกแน่ๆ นั่นคือตอนที่ลาออกจากงานประจำเพราะคิดจะไปเปิดร้านทำธุรกิจขายนิตยสาร ไม่ได้วางแผนทางการเงินอะไรเลย แถมยังเอาเงินเก็บก้อนใหญ่ไปลงทุนทำรองเท้าขาย แล้วเรื่องมาก ใช้แต่ของดีทำให้ต้นทุนแพงกว่าชาวบ้าน ต้องขายแพงกว่า (นี่ก็ไม่ศึกษาคู่แข่งเลย) ก้มหน้าก้มตาขายรองเท้า ขายได้ช้าหน่อยแต่ขายได้เรื่อยๆ คิดในใจตลอด หาเรื่องทำไมวะ ถ้าเอาเงินก้อนนั้นไปเที่ยวป่านนี้สบายแล้ว ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร บทเรียนราคาแพงไม่เรียนวันนี้ ไม่รู้จะได้เรียนวันไหน ไปๆๆๆ ลุยต่อ เข้าประตูผู้ประกอบการแล้วออกไม่ได้”

มนสิชา รุ่งชวาลนนท์
เจ้าหน้าที่สื่อสารดิจิทัลและผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘พื้นที่ให้เล่า’
ผู้เขียน: WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ, HISTORY PALETTE ประวัติศาสตร์มีสี และ ROYAL LOVE ประวัติศาสตร์การครองรัก

• เล่าเรื่องการทำงานครั้งแรกให้เราฟังหน่อย
“หลังเรียนจบมาใหม่ๆ เพื่อนชวนให้ไปสัมภาษณ์งานเป็นเพื่อนที่บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง ระหว่างที่รอเพื่อนสัมภาษณ์ เจ้าของบริษัทถามว่าเราสนใจมาทำงานด้วยกันเลยไหม ตำแหน่งเกี่ยวกับการสื่อสารดิจิทัล ในใจคิดว่าน่าจะพอทำได้ บวกกับว่าถ้าได้ทำงานที่เดียวกับเพื่อนก็คงสนุกดีเลยรับปากไป ทุกวันนี้ถึงจะเปลี่ยนที่ทำงานไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังทำงานสาย Digital Communication ซึ่งไม่ใช่สายที่จบมาแต่อย่างใด”

• ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคืออะไร
“ขี้เกียจศึกษาเรื่องการลงทุน พอมีเงินก้อนแรกที่ต้องบริหารก็เดินไปธนาคารขอให้เจ้าหน้าที่แนะนำกองทุนให้ แล้วลงทุนไปตามนั้นโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละกองทุนคือสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง ปัจจุบันกว่าครึ่งของเงินลงทุนก้อนแรกติดดอย แม้จะผ่านเวลามาแล้วเกือบสิบปีก็ไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ คือความเข้าใจว่าถ้าลงทุนในกองทุนแล้ว อย่างไรก็ต้องกำไรแน่นอน”

• ครั้งไหนคือการตัดสินใจเรื่องเงินที่ชาญฉลาดที่สุด
“การตัดสินใจใช้เงินก้อนใหญ่ไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์เพราะแม้จะไม่ได้ทำงานตรงกับสายที่จบมา แต่ประสบการณ์และคอนเนกชั่นหลายๆ อย่าง รวมไปถึงมุมมองความคิดก็ทำให้เติบโตมาเป็นคนแบบที่ตัวเองในปัจจุบันพูดได้เต็มปากว่ารู้สึกภูมิใจ

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Climate Finance Network Thailand
ผู้เขียน: FATHER AND SUM บันทึกออมรัก ฉบับคุณพ่อนักออมเงิน
ผู้แปล: HOW TO MONEY ทำเงินนี้ให้ดีที่สุด

• เล่าเรื่องการทำงานครั้งแรกให้เราฟังหน่อย
“งานแรกของผมคือเจ้าหน้าที่สื่อสารงานอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เงินเดือน 15,000 บาทกับสวัสดิการต่อเดือนอีกนิดหน่อย ผมมองว่าเงินเดือนไม่เยอะไม่น้อยนะ ส่วนหนึ่งเพราะยังอยู่บ้านกับพ่อแม่ แถมที่ทำงานยังใกล้กับพ่ออีก
.
ผมจบด้านบัญชีและการเงินมา ดังนั้นงานที่ทำคือไม่ตรงสายเลย ยังแปลกใจที่เขารับ (ฮ่าๆ) แต่โดยรวมแล้วเรางานสนุกมาก ได้ทำอะไรใหม่ๆ ทั้งเข้าป่าไปเยี่ยมชุมชนและผู้พิทักษ์ป่า ร่วมเดินขบวนค้านเขื่อนแม่วงก์ แถมยังใช้ความรู้ช่วยวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในป่าอนุรักษ์ด้วยครับ”

• ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคืออะไร
“สมัยเรียนปี 4 ตอนนั้นเป็นนักศึกษาการเงินไฟแรงที่ความมั่นใจเต็มเปี่ยม เราร้อนวิชาเลยเอาเงินที่เก็บหอมรอมริบตั้งแต่สมัยมัธยมฯ จนถึงมหาวิทยาลัยไปลงเล่นหุ้น สรุปคือขาดทุนย่อยยับเลย ความล้มเหลวครั้งนั้นสอนให้เรารู้ว่าอย่ามั่นใจในตัวเองมากเกินไป และความรู้ทางทฤษฎีเพียงอย่างเดียวยังไม่พอที่จะเอาชนะได้ในตลาดหุ้น”

• ครั้งไหนคือการตัดสินใจเรื่องเงินที่ชาญฉลาดที่สุด
“การได้รู้จักหลักการออมเงินแบบอัตโนมัติ คือให้ระบบตัดเงินแบบอัตโนมัติไปเลยหลังจากได้รับเงินเดือน ตัดไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีสิ้นปีก็ได้เงินก้อนใหญ่

สมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมสมัครตัดบัญชีเดือนละ 2,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน ทำงานไปเพลินๆ รู้ตัวอีกทีก็มีเงินครึ่งแสนในธนาคาร ตอนนี้รายได้และความรู้ทางการเงินเรามีเพิ่มขึ้นก็เพิ่มวงเงินที่ออมแบบอัตโนมัติในแต่ละเดือน แล้วก็เริ่มลงทุนกองทุนเพิ่มมากขึ้นด้วยครับ”

LADYS
นักเขียนเต็มเวลา
ผู้เขียน: MS.KENT AND ME คุณเคนต์และข้าพเจ้า และ DEAD DARLING AND BURIED BAE พัทยาและมาหยา

• เล่าเรื่องการทำงานครั้งแรกให้เราฟังหน่อย
“เงินก้อนแรกจริงๆ คือเงินเดือนจากการเป็นบาร์เทนเดอร์ในช่วงที่ดร็อปเรียน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในชีวิตช่วงเดียวที่เราได้เงินเดือน เพราะอาชีพปัจจุบันเป็นนักเขียน ไม่มีเงินเดือน รับเงินเป็นงานๆ ไป”

ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคืออะไร
“ยังไม่รู้สึกว่ามีอะไรร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย อาจจะเพราะไม่มีหนี้ แต่ถ้าให้ลองนึกจริงๆ ก็อาจจะเป็นการตัดสินใจทำประกันชีวิตตัวหนึ่งไว้ ซึ่งเบี้ยต่อปีมันสูงอยู่สำหรับเรา ตอนทำก็คิดว่าเงินจำนวนนี้โอเคแหละ หามาจ่ายได้ อีกยี่สิบปีก็ได้คืน แต่ก็พบว่าเหนื่อยอยู่ กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายต่อปีสูงมาก และต้องหาเงินมาให้พอ แล้วได้เงินมามันก็ไม่สดชื่นเพราะกว่าจะได้ใช้ก็นู่น… อีกยี่สิบปี (ถ้าไม่ตาย)”

• ครั้งไหนคือการตัดสินใจเรื่องเงินที่ชาญฉลาดที่สุด
“การลงทุนเปิดสำนักพิมพ์ลาดิดและมูนสเคป เมื่อปลายปี 2565 ตอนนั้นเพิ่งทำอาชีพนักเขียนมาได้หนึ่งปี มีเงินเก็บอยู่นิดหน่อย (นิดจริงๆ เป็นการเปิดสำนักพิมพ์ที่มีทุนจดทะเบียนต่ำมาก) ก็นำเงินเก็บทั้งหมดนั้นมาเปิดสำนักพิมพ์ร่วมกับหุ้นส่วนอีกคน (มูนสเคป) ตอนถอนเงินออกมาก็โหวงๆ เพราะนั่นคือเงินทั้งหมด ไม่แน่ใจด้วยว่าตัดสินใจถูกแค่ไหน แต่มาจนถึงตอนนี้ก็ไม่มีอะไรเสียใจ คิดเสมอว่าดีแล้วที่ทำแบบนั้น การมีสำนักพิมพ์ของตัวเองถือเป็นอิสระทางการพิมพ์อย่างหนึ่ง ส่วนอิสระทางการเงิน ไว้ป้ายต่อไปค่ะ…”

กิตติศักดิ์ คงคา
เภสัชกร และเจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์
เขียน: CHECK YOUR BALANCE ยอดคนเงินเหลือ

• เล่าเรื่องการทำงานครั้งแรกให้เราฟังหน่อย
“ผมเรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์และเริ่มต้นทำงานแรกในบริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาของครอบครัว หากจะให้นิยามให้ถูกต้องที่สุด ผมคงต้องเรียกว่าทำงานในตำแหน่ง ‘ลูก’ เพราะผมได้ทำงานในตำแหน่ง C – level ขององค์กรตั้งแต่เรียนจบและไม่มีประสบการณ์การทำงานจริงเลยสักวันเดียว”

• ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคืออะไร
“ผมเคยถือหุ้นของบริษัทหนึ่งในปริมาณที่สูงมาก มากกว่า 50% ของความมั่งคั่งรวม และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้น ๆ ขององค์กร ผมกำไรสูงมากในช่วงที่กิจการรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่ในวันที่บริษัทเริ่มย่ำแย่ ผมไม่ยอมขายหุ้นออกไป กว่าที่ผมจะขายหุ้นออกมาจนหมด เงินผมก็หายไปมากกว่า 30 ล้านแล้ว”

• ครั้งไหนคือการตัดสินใจเรื่องเงินที่ชาญฉลาดที่สุด
“หลายปีก่อนผมตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่ง ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่มีแนวทางการสร้างรายได้และกำไรที่ชัดเจน แต่ผมเชื่อมั่นในความสามารถของผู้บริหาร หุ้นขึ้นมาตลอดทางและผมเลือกจะไม่ขาย ปัจจุบันราคาหุ้นขึ้นมามากกว่า 600 เท่าจากวันแรก และผมเชื่อว่านี่จะเป็นหุ้นเดียวในชีวิตที่ผมได้ผลตอบแทนมากกว่า 100,000%”

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
นักเขียนเต็มเวลา
ผู้เขียน: DIVINE BEING ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ

• เล่าเรื่องการทำงานครั้งแรกให้เราฟังหน่อย
“สมัยประถมฯ จะเอารองเท้าไปขายให้ครูที่โรงเรียนในราคาพิเศษ ทำให้ได้เงินมาคราวละราวๆ 400 บาท ทุกวันนี้ก็ยังแปลกใจที่ครูปล่อยเราดอดออกจากห้องไปส่งของให้ครูลูกค้าท่านอื่น ระหว่างที่เพื่อนๆ เรียนหนังสือ”

• ความผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตคืออะไร
“ไม่เชิงว่ามีการสูญเสียที่ก้อนใหญ่ เอาเป็นครั้งที่น่าหงุดหงิดรำคาญที่สุดแล้วกัน คือการทำธุรกิจกับเพื่อน แล้วปล่อยให้เพื่อนเป็นคนทำบัญชี แต่เพื่อนไม่ได้ทำเพราะเพื่อนชิลเวอร์ สรุปเงินหายไปไหนไม่รู้ เราคบกับเพื่อนที่ชิลเวอร์ได้ แต่ไม่ควรมีคนทำบัญชีที่ชิลเวอร์”

• ครั้งไหนคือการตัดสินใจเรื่องเงินที่ชาญฉลาดที่สุด
“ไม่มีการตัดสินใจที่ทำให้ได้เงินก้อนใหญ่ พอๆ กับไม่มีการตัดสินใจที่ทำให้เสียเงินก้อนใหญ่ ชีวิตการเงินของเราเป็นการตัดสินใจเล็กๆ กับเงินก้อนเล็กๆ สะสมทับถมมาเรื่อยๆ และชีวิตการเงินของคนทั่วไปมักเป็นแบบนั้น ผู้คนจึงควรให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ธรรมดาที่ต่อยอดไปถึงเงินในอนาคต”


ฮาวทู

RELATED ARTICLES

VIEW ALL