BUDDHA’S WORKPLACE วันหนึ่งพุทธะเดินเข้าป่า

10 กรกฎาคม 2025 | by salmonbooks

สุขสันต์วันหยุดชาวแซลมอนนนน แต่เอ๊ะ วันนี้มันหยุดเพราะอะไรกันนะ 🤔

เผื่อใครยังไม่รู้ วันนี้คือ ‘วันอาสาฬหบูชา’ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนา หรือแสดงธรรมครั้งแรกให้กับปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั่นเองงงง

เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันพระ เราเลยอยากเสิร์ฟคอนเทนต์พุทธๆ ให้นักอ่านโดยการพาทัวร์สถานที่ทำงานแห่งแรกของพระพุทธเจ้ากันสักหน่อย สถานที่ที่ว่านั้นก็คือ ‘สารนาถ’ หรืออีกชื่อคือ ‘ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน’ ซึ่งเชื่อว่าคงเป็นชื่อที่คุ้นหูทุกคนอยู่ไม่น้อย เพราะมักได้ยินอยู่บ่อยๆ เวลาเรียนวิชาพระพุทธศาสนา (นักอ่านบอกไม่คุ้น เพราะตอนเรียนหลับ…)

หากใครอยากรู้ว่าที่ทำงานแห่งแรกของพระพุทธเจ้าในทุกวันนี้หน้าตาเป็นแบบไหน แต่ละโซนมีความสำคัญอย่างไรบ้าง สามารถไปอ่านกันต่อได้เลย!

ส่วนคนที่ไปเยือนสถานที่เหล่านี้มาจริงๆ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ‘โจ้บองโก้’ และ ‘อาจารย์ดนัย’ ผู้เขียน ‘BUDDHIST HOLY DAY หนีตามพระพุทธเจ้า’ สองหนุ่มชาวพุทธที่ไปตามรอยเมืองและสถานที่สำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งบอกเลยว่าไม่ได้ไปแค่สารนาถ แต่ได้ไปเช็กอิน 4 สังเวชนียสถาน วิหาร รวมถึงสถูปต่างๆ ในอินเดีย-เนปาล พร้อมแวะเล่าถึงตำนานเรื่องนั้น ชาดกเรื่องนี้ หากใครอยากอ่านเพิ่ม ไปเติมความรู้ (และความสนุก) ได้ในเล่มนี้เลยนะ!

ปัจจุบัน เราเรียกออฟฟิศแห่งนี้ของพระพุทธเจ้าว่า ‘สารนาถ’ แต่ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า ‘ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน’ ตามที่ทุกคนเคยได้เรียนกันมา โดยถ้าย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล ชื่อนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี ‘อิสิ’ แปลว่า ฤาษีหรือผู้แสดงความดี ส่วน ‘ปตน’ แปลว่า การตกไป แต่ในที่นี้จะหมายถึง การชุมนุม เพราะว่ากันว่าเหล่าฤาษีจะมารวมตัวกันตรงนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร

ส่วน ‘มฤค’ แปลว่า กวาง และ ‘ทายวัน’ คือสวนป่าอภัยทาน จึงทำให้เมื่อพูดถึงป่าแห่งนี้ในแง่ศิลปะทีไร ภาพวาดหรือรูปปั้นเชิงพุทธมักจะใส่กวางเข้ามาเป็นส่วนประกอบเสมอ

แม้แต่ในชาดกเรื่องหนึ่งก็เล่าถึงที่มาของชื่อนี้ด้วยว่า สมัยพระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ มีชาติหนึ่งที่ท่านเกิดเป็นพญากวาง ปกครองกวางฝูงหนึ่ง ส่วนพระเทวทัตก็เกิดเป็นพญากวางปกครองกวางอีกฝูง

วันหนึ่งพระราชาของแคว้นมาล่าสัตว์ในป่า กราดยิงธนูจนกวางตายหมดฝูง พญากวางโพธิสัตว์จึงขอร้องพระราชาให้หยุดยิง เพราะเมื่อกวางทั้งฝูงตายพร้อมกันทีเดียว ไม่นานก็จะเน่าเปื่อย ทำอาหารกินก็ไม่ได้ พร้อมยื่นข้อเสนอแก่พระราชาว่าจะถวายกวางให้วันละหนึ่งตัวแทน พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ตอบตกลง

หลังจากนั้น กวางทั้งสองฝูงก็ผลัดกันส่งกวางไปให้พระราชา จนกระทั่งถึงคิวของนางกวางในฝูงพญากวางเทวทัตที่กำลังตั้งท้อง เธอจึงขอร้องให้พญากวางเทวทัตช่วยให้ลูกกวางในท้องไม่ต้องตาย พญากวางเทวทัตได้ฟังก็โกรธ ตวาดนางอย่างดุร้าย นางกวางจึงไปขอความช่วยเหลือจากพญากวางโพธิสัตว์แทน ซึ่งพญากวางโพธิสัตว์เกิดเห็นใจ จึงอาสาไปส่งตัวเองไปแทน

เมื่อพระราชาเห็นพญากวางโพธิสัตว์ก็สอบถามจนได้ความว่ามาเป็นตัวแทนแม่กวางที่ต้องการปกป้องลูกในท้อง เมื่อฟังได้ดังนั้น พระราชาก็ตื้นตันใจ หลังจากนั้น พระราชาก็สั่งให้ไว้ชีวิตกวางทั้งฝูง ที่นี่จึงได้ชื่อว่า ‘มฤคทายวัน’ หรือ ป่าที่อภัยทานแก่ฝูงกวาง

ขยับมาที่หน้าทางเข้าของสารนาถ จะพบกับพระพุทธรูปตกแต่งด้วยศิลปะรูปหล่อต้นโพธิ์ กวาง และธรรมจักร ซึ่งหากเดินชมสถานที่เหล่านี้ทั่วทุกจุด ก็จะพบกับ 3 องค์ประกอบนี้อยู่เรื่อยๆ จนถ้าพูดกันในเชิงงานออกแบบกราฟิก องค์ประกอบพวกนี้ก็เป็นเสมือน CI ของสารนาถไปแล้ว

‘ธัมเมกขสถูป’ เป็นสถูปทรงโอคว่ำก่อด้วยอิฐ ซึ่งเชื่อกันว่านี่เป็นตำแหน่งที่พุทธะแสดงปฐมเทศนาถึงอริยสัจ 4 แก่ปัญจวัคคีย์ 

“ธรรมจักรเป็นจักรที่ไม่มีผู้ใดในมนุษยโลก เทวโลก มารโลกหรือสมณพราหมณ์ใดๆ ต้านให้หยุดได้ เพราะจักรนี้เป็นอริยสัจหรือความจริงแท้แห่งทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางดับทุกข์” อาจารย์ดนัยบรรยายเอาไว้เมื่ออยู่หน้าธัมเมกขสถูป

สันนิษฐานกันว่าชื่อ ‘ธัมเมกข-’ มาจากคำว่า ธัมมะ + อิกขะ แปลว่า ดวงตาเห็นธรรม อีกทั้งมีการค้นพบจารึกคาถาเย ธัมมา ซึ่งเป็นเหมือนบทคัดย่อของอริยสัจ 4 ภายในสถูป ที่นี่จึงเป็นธรรมเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงธรรมนั่นเอง

สุดท้ายแต่ไม่สุด รอบบริเวณสารนาถยังมี ‘ธัมมราชิกสถูป’ ซึ่งปัจจุบันพังเหลือแค่ฐาน โดยผู้แสดงบุญเชื่อกันว่าจุดนี้ถูกสร้างขึ้นในตอนที่พุทธะแสดงธรรมชื่อ ‘อนัตตลักขณสูตร’ ซึ่งหมายถึงคำสอนที่อธิบายว่า ‘ขันธ์ 5’ นั้นล้วนเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวคน ไม่อาจบังคับให้เรื่องต่างๆ เป็นได้ดั่งใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยไข้ การเสื่อมลง ไปจนถึงความเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นคำสอนที่ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด


RELATED ARTICLES

VIEW ALL