BEHIND THE PHRASE กว่าจะมาเป็นประโยคนี้ในภาพยนตร์เรื่องนั้น

11 เมษายน 2025 | by salmonbooks

ไดอะล็อกถือเป็นสิ่งสำคัญของภาพยนตร์ เพราะใช้ในการดำเนินเรื่อง บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร บางประโยคอาจเป็นถ้อยคำสุดเท่ บางประโยคอาจเป็นถ้อยคำที่นำไปสู่จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง หรือบางประโยคอาจเป็นเพียงถ้อยคำธรรมดา แต่คนดูกลับจดจำได้ยิ่งกว่าเนื้อหาของภาพยนตร์ก็มี

วันนี้เราเลยอยากชวนส่องที่มาที่ไปของสามไดอะล็อกจากภาพยนตร์อมตะทั้งสามเรื่อง ว่ากว่าคนดูจะได้ยินตัวละครพูดประโยคนั้น มันต้องผ่านความเป็นมาอย่างไรบ้าง 

และหากใครติดใจเรื่องเล่าเบื้องหลังภาพยนตร์และสารพัดเทคนิคของเหล่ามือเขียนบทเช่นนี้ สามารถตามอ่านกันเพลินๆ ใน ‘SCRIPT INTRO หนังสือเล่มนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของบทภาพยนตร์’ โดย ‘ทานเกวียน ชูสง่า’ คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ CONT. ได้แล้ววันนี้ในร้านหนังสือใกล้บ้านคุณ

หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

ความที่ ‘อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์’ เกิดและเติบโตที่ประเทศออสเตรีย ทำให้เขาพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องนัก 

“เรื่องที่ผมไม่อาจเข้าใจได้เลยไม่ว่าใครจะมาอธิบายกับผมก็ตาม คือพวกคำย่อทั้งหลาย ทำไมคุณถึงไม่พูดไปเลยว่า I have หรือ I will แทนที่จะเป็น I’ve กับ I’ll” 

ด้วยเหตุนี้ ชวาร์เซเนกเกอร์จึงไม่สามารถพูดคำว่า I’ll ในไดอะล็อก “I’ll be back.” ใน ‘The Terminator’ ได้ เขาพยายามต่อรองกับ ‘เจมส์ คาเมรอน’ ว่าขอเปลี่ยนเป็น ‘I will be back’ ได้ไหม โดยให้เหตุผลว่าหุ่นยนต์สังหารไม่น่าจะรู้จักคำย่อ และการไม่ย่อก็ให้ความรู้สึกคุกคามมากกว่า แต่โน้มน้าวยังไงคาเมรอนก็ไม่ยอม จนชวาร์เซเนกเกอร์ยกธงขาว เขายอมพูดว่า “I’ll be back” ตามที่สคริปต์เขียนไว้ หลังจากภาพยนตร์ออกฉาย ประโยคนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นประโยคประจำตัวของเจ้าตัวในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม คาเมรอนเผยว่าเขาก็ไม่ได้คาดคิดว่าไดอะล็อกดังกล่าวจะแมสไปทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดนั้น เขาแค่เห็นว่ามันเหมาะสมและเข้ากับภาพยนตร์

“ในทรีตเมนต์เขียนไว้ว่า ‘I’ll come back.’ แต่ในสคริปต์ผมเปลี่ยนเป็น ‘I’ll be back.’ ผมจำไม่ได้แล้วว่าทำไมถึงเปลี่ยน อาจจะแค่ฟังดูดีกว่าแค่นั้นเอง

“ไดอะล็อกนี้มีความพิเศษบางอย่าง มันไม่ใช่แค่วิธีการพูดของอาร์โนลด์เท่านั้น แต่เพราะคุณได้เห็นแล้วว่าตัวละครของเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง พอคุณเห็นเขาพูดว่า ‘เดี๋ยวผมมา’ คุณก็รู้เลยว่ามันจะต้องมีเรื่องไม่ดีตามมาแน่ 

“มันมีความแตกต่างกันอยู่ ระหว่างคำที่ฟังดูไร้พิษภัยกับคำที่ฟังดูคุกคามที่เป็นเหมือนการส่งสัญญาณบอกคนดู คนดูชอบอยู่ในจุดที่รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป พวกเขาอาจจะไม่รู้ทั้งหมด แต่รู้ว่าเดี๋ยวต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน แล้วพวกเขาก็ได้รับการตอบแทนอย่างสาสม อาร์โนลด์ขับรถพุ่งเข้ามาทางหน้าต่าง แล้วก็ล้างบางที่นั่นจนเหี้ยน สิ่งนี้คือการตอบสนองความคาดหวังของคนดูได้อย่างน่าพึงพอใจ” 

ระหว่างหาข้อมูลเพื่อเขียนบท ‘Jerry Maguire’ ผู้กำกับและมือเขียนบทอย่าง ‘คาเมรอน โครว์’ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ทิม แมคโดนัลด์’ นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล อดีตผู้เล่นของทีมฟีนิกซ์ คาร์ดินัลส์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นแอริโซนา คาร์ดินัลส์)

แมคโดนัลด์เล่าให้โครว์ฟังว่า ช่วงใกล้หมดสัญญากับคาร์ดินัลส์และกำลังจะกลายเป็นฟรีเอเจนต์ (ผู้เล่นไร้สังกัด) ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความเครียด เนื่องด้วยข้อเสนอจากทีมใหม่นั้นเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เขาจึงไปกดดันเอเจนต์ของตนเองอีกที ด้วยการบอกว่าไปหาเงินมากองให้เขาซะ

“ผมเอาประโยคนั้นออกไปจากหัวไม่ได้เลย” โครว์เล่า “ยิ่งพอได้ใช้เวลากับเขาอีกพักหนึ่ง ผมก็พบว่าเขาไม่ใช่คนที่โลภมากอะไรเลย แต่เขามีครอบครัวให้ต้องดูแล และเขาเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีที่จะทำเงินได้จากอาชีพของเขาก็เท่านั้นเอง”

โครว์จึงเขียนตัวละคร ร็อด ทิดเวลล์ (รับบทโดย คิวบา กูดิง จูเนียร์ ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ไปครองได้จากบทนี้) จากประโยคนั้น นักอเมริกันฟุตบอลที่ใกล้จะหมดสัญญากับคาร์ดินัลส์ และเรียกร้องสัญญาฉบับใหม่ที่มากกว่าต้นสังกัดยื่นมาให้ คนที่ เจอร์รี แม็กไกวร์ (รับบทโดย ทอม ครูซ) พระเอกของเรื่อง โทรไปหาเพื่อโน้มน้าวให้เลือกเขาเป็นเอเจนต์ต่อไป หลังจากลูกค้าคนอื่นๆ ในการดูแลของแม็กไกวร์หนีเขาไปหมดแล้ว เพราะแม็กไกวร์ถูกไล่ออกจากบริษัท

ทิดเวลล์ร่ายปัญหาค่าใช้จ่ายมากมายที่เขาต้องแบกรับให้แม็กไกวร์ฟัง ทั้งเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว ก่อนจะตบท้ายด้วยการบอกแม็กไกวร์ว่า ถ้ายังอยากเป็นเอเจนต์ของเขาต่อ ก็จง “Show me the money.” (ไปหาเงินมากองให้เขาซะ)

‘แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์’ มือเขียนบทของ ‘Se7en’ มีไอเดียเกี่ยวกับตอนจบของภาพยนตร์ไว้ตั้งแต่เขียนเค้าโครงเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง ‘หัว’ ที่อยู่ในกล่อง ทำให้เขาเขียนบทโดยหยอดคำใบ้และความหมายแฝงไว้ตลอดทั้งเรื่อง 

ทว่า เมื่อสคริปต์นี้ไปถึงมือสตูดิโอ วอล์กเกอร์กลับถูกขอให้ปรับเปลี่ยนตอนจบให้ลดโทนความหม่นลง ด้วยความที่ยังเป็นหน้าใหม่ในวงการทำให้เขายอมแก้ไปเรื่อยๆ และเริ่มทำใจรับสภาพว่านี่คงไม่ใช่ผลงานที่เขาภาคภูมิใจเท่าไหร่

“มันไม่ใช่ว่าผมรังเกียจตอนจบแบบแฮปปี้หรอกนะ แต่ตอนจบแบบมืดหม่นของ ‘Se7en’ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญ การเปลี่ยนตอนจบให้เป็นอย่างอื่นก็เหมือนการถอดหัวใจสำคัญของหนังออกไป” วอล์กเกอร์กล่าว

แต่ความบังเอิญก็คือ เมื่อสตูดิโอติดต่อให้ ‘เดวิด ฟินเชอร์’ มารับหน้าที่เป็นผู้กำกับ พวกเขาไม่ได้ส่งสคริปต์ดราฟต์ที่แก้ไขล่าสุดไปให้ แต่ดันพลาดส่งสคริปต์ดราฟต์แรกไปแทน 

ทั้งฟินเชอร์และนักแสดงอย่าง ‘แบรด์ พิตต์’ กับ ‘มอร์แกน ฟรีแมน’ ต่างสนับสนุนตอนจบแบบดั้งเดิมของวอล์กเกอร์ โดยพิตต์ถึงขั้นให้มีการระบุลงไปในสัญญาเลยว่าต้องมีหัวอยู่ในกล่อง แต่ทางสตูดิโอก็ยังไม่ยอมง่ายๆ จนฟินเชอร์ต้องไปเกลี้ยกล่อมอย่างจริงจัง

“ผมบอกพวกเขาว่า อีกสัก 50-60 ปีนับจากนี้ ซึ่งพวกเราคงจะตายกันไปนานแล้ว จะมีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งในงานปาร์ตี้ค็อกเทลพูดคุยกันเรื่องภาพยนตร์ที่พวกเขาเพิ่งได้ดูมาเมื่อคืน ไอ้ภาพยนตร์เรื่องที่มีหัวอยู่ในกล่อง ผมบอกว่านี่แหละคือภาพยนตร์เรื่องนั้น ทุกคนที่ผมได้คุยล้วนจดจำภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีหัวอยู่ในกล่อง ดังนั้นคุณจะเอาหัวในกล่องออกไปจากไอ้ภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่ามีหัวอยู่ในกล่องไม่ได้”

การโน้มน้าวของฟินเชอร์ได้ผล พิตต์จึงได้พูดไดอะล็อก “What’s in the box” ซึ่งนำไปสู่ตอนจบสุดอมตะที่ยกระดับผลงานที่ทำท่าว่าจะเป็นภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องธรรมดาๆ ให้กลายเป็นงานขึ้นหิ้ง


RELATED ARTICLES

VIEW ALL