PAPER MECHANICS: พื้นที่ใหม่ในการออกแบบ

19 พฤศจิกายน 2019 | by salmonbooks

“ปกติเมื่อต้องพิจารณากระดาษสำหรับใช้พิมพ์ปก ผมมักเลือกจากคุณสมบัติทั่วไปของมัน เช่น แกรมของกระดาษหรือผิวสัมผัส นานวันเข้าก็กลายเป็นความคุ้นชินที่ตีกรอบความคิด ผมเลยย้อนกลับไปศึกษาโครงสร้างส่วนประกอบของหนังสือใหม่ ตั้งแต่การเข้ารูปเล่ม การเลือกกระดาษแกรมบางเพื่อพับหุ้มแกนกระดาษของหนังสือปกแข็ง หน้าที่ของปีกปก การตีดเจียน ฯลฯ

“…เมื่อทำความเข้าใจใหม่ ผมพบคุณสมบัติพื้นฐานที่สุดของกระดาษ นั่นก็คือการพับ แค่เปลี่ยนวิธีพับกระดาษก็สร้างมุมมองใหม่ ทำให้พื้นที่ที่เคยรู้สึกถูกตีกรอบหายไป…”

ชวนดูผลงานออกแบบปกหนังสือของ ‘wrongdesign’ หรือ ‘กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล’ ที่ใช้กลไกและโครงสร้างของ ‘กระดาษ’ ในการขยายขอบเขตพื้นที่ออกแบบชิ้นงาน จนกลายเป็นปกหนังสือที่โดดเด่นและน่าจดจำ ซึ่งเป็นผลงานเพียงส่วนหนึ่งจาก 215 ปก คัดสรรจากการทำงานตลอด 20 ปีของเขา อัดแน่นอยู่ในหนังสือ ‘WRONGDESIGN: A SELECTION OF COVER DESIGNS 2002-2020’

“…ตอนออกแบบปกเล่มนี้เป็นช่วงที่ผมสนใจกลไกกระดาษ เพราะโดยปกตินักออกแบบสิ่งพิมพ์มักเริ่มคิดจากเฟรมงานที่จะพิมพ์ลงกระดาษ ขนาดของเฟรมงานจึงมีผลไปถึงองค์ประกอบของทุกสิ่ง
.
“…ผมศึกษาการพับและโครงสร้างชิ้นส่วนกระดาษที่ประกอบขึ้นเป็นหนังสือ เช่น ปีกปก ซึ่งหน้าที่ของมันคือมีไว้เพื่อใส่ข้อความพิเศษนอกจากบนปก เช่น ประวัติผู้เขียน ผมเปลี่ยนหน้าที่ของมันด้วยการพับกลับออกมาทับบนปก มันทำให้เฟรมของงานปกหนังสือเปลี่ยน เกิดมุมมองใหม่และพื้นที่ใหม่ของงานออกแบบปกหนังสือ…”

“พื้นที่ใหม่เช่นด้านหลังปกก็สามารถนำมาใช้ออกแบบได้ ข้อความตัวหนังสือก็สามารถถูกพับเก็บเหลือไว้เพียงแต่ภาพปกที่สวยงามสะอาดตา ผมได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาทักษะในการออกแบบไม่ใช่แต่เพียงการออกไปค้นหาแรงบันดาลใจ หากแต่ยังสามารถทำได้จากการย้อนกลับไป ‘เรียนใหม่’ ที่จุดเริ่มต้น”

“ปัจจุบันคือยุคโซเชียลมีเดีย (…) ผู้อ่านสามารถพบเห็นหนังสือเล่มนั้นได้ก่อนที่มันจะวางแผงและสามารถตัดสินใจสั่งซื้อหนังสือได้ทันที ความรวดเร็วของการซื้อ-ขายหนังสือแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ปกหนังสือในยุคนี้เลยแทบจะเป็นทุกสิ่ง ทั้งการสื่อสาร การสร้างแรงจูงใจ การกระตุ้นความต้องการครอบครองก่อนใคร”

“ในอดีตปกหนังสือยังต้องอ้างอิงการสื่อสารผ่านข้อความจำนวนมาก ชื่อหนังสือต้องเป็นภาษาไทยเท่านั้น ข้อความโปรยปกที่เยอะและยาว คำนิยมจากคนดังเพื่อการันตีคุณภาพของหนังสือ ตอนนี้วิธีคิดเหล่านี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว หนังสือไทยหลายเล่มเลือกใช้ชื่อภาษาอังกฤษ หนังสือแปลก็มักใช้ชื่ออังกฤษจากต้นฉบับ ข้อความโปรยปกเริ่มหายไป (…) สิ่งที่ทดแทนเข้ามาคือความสวยงาม ความประณีต ความพิถีพิถันในการออกแบบปกและรูปเล่ม”


ดูรายละเอียดของหนังสือ ‘WRONGDESIGN: A SELECTION OF COVER DESIGNS 2002-2020’ ได้ที่ https://salmonbooks.net/product/wrongdesign-a-selection/


RELATED ARTICLES

VIEW ALL